การจัดประกวดเรียงความเรื่อง “แม่” ในวันแม่แห่งชาติของเว็บไซต์ไซเบอร์วนาราม ตอนที่เริ่มประกาศออกไปก็ไม่ได้คิดว่าจะมีคนส่งเรื่องมาจริงๆ แต่อยากให้ผู้อ่านหากคิดจะร่วมสนุกด้วยก็สามารถส่งเรื่องมาร่วมสนุกด้วยเท่านั้น ส่วนเงินรางวัลนั้นให้จริง แม้จะเป็นเงินรางวัลที่ไม่มากนัก แต่การได้ร่วมแบ่งปันความรักความผูกพันธ์เกี่ยวกับแม่ให้คนอื่นได้อ่านด้วยนั้นเป็นจุดประสงค์เบื้องต้น แต่พอประกาศไปได้สี่วันมีผู้ส่งเรื่องมาจริงๆ โดยผู้ใช้นามว่า “สิน สีหานาท” เขียนเรื่อง “แม่คนที่สอง” ต่อไปนี้คือเรื่องที่ส่งเข้าประกวดเรื่องแรก ขอเชิญพิจารณา
แม่คนที่สอง
โดย สิน สีหานาท
คนที่ยังมีแม่ให้ดูแลกลับไม่ยอมดูแล แต่วันใดที่แม่ไม่อยู่ให้เห็นแล้วกลับคิดถึงแม่ เรื่องนี้นับเป็นความเศร้าอย่างหนึ่งของมวลมนุษยชาติ ผมมักจะเกิดความอิจฉาคนที่มีพ่อมีแม่ที่อยู่พร้อมหน้ากัน เพราะสำหรับผมแล้วแม่ผมเป็นเพียงผู้ให้กำเนิดเท่านั้น ผมจำหน้าแม่ไม่ได้ มีเพียงภาพถ่ายของแม่ภาพเดียวที่ทำให้ผมมีความรู้สึกแม่ยังอยู่กับผมตลอดเวลา ผมนำภาพแม่ทำเป็นจี้ห้อยคอเป็นเครื่องรางติดตัวเสมอ มนุษย์ทั่วไปมีแม่ผู้ให้กำเนิดเพียงคนเดียว แต่สำหรับผมแล้วผมมีแม่สองคน
แม่ผู้ให้กำเนิดผมเสียชีวิตหลังที่ให้กำเนิดผมเพียงสามเดือน ผมจึงเป็นคนกำพร้าแม่ตั้งแต่ยังนอนแบเบาะ พ่อแต่งงานใหม่ แม่เลี้ยงจะให้ความรักความเอ็นดูผมมาโดยตลอด แต่เมื่อผมมีน้องสาว แม่ก็หันไปทุ่มเทความรักให้กับน้องสาว ผมเลยกลายเป็นคนโดดเดี่ยวมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรมาก เพราะผมมีแม่ในจินตนาการอยู่แล้ว แต่แม่คนที่สองนี่สิครับ ผมแทบจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย พูดกันคนละภาษา แต่สนทนากันเข้าใจ เหตุมันเกิดขึ้นในฤดูหนาวอันโหดร้ายครั้งหนึ่ง ผมมีแม่คนใหม่โดยบังเอิญ แต่ทว่าความรักความผูกพันนั้นยาวนานนับสิบปีแล้ว
ผมเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอินเดีย มีช่วงหนึ่งที่ได้เดินทางไปยังเมืองธัมมศาลา เมืองที่ตั้งอยู่บนเชิงเขาหิมาลัย เป็นที่ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบต และมีวัดของลามะหลายแห่ง องค์ดาไล ลามะเป็นผู้นำสูงสุดทั้งทางการเมืองและทางศาสนา เรียกว่าเป็นทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นผู้นำทางการเมืองในขณะเดียวกัน ในขณะที่ชาวทิเบตเรียกร้องเอกราชเพื่อปลดปล่อยตนเองจากจีน เป็นระยะเวลายาวนานกว่าห้าสิบปีแล้ว แต่ไม่มีที่ท่าจะประสบความสำเร็จ จนกระทั่งได้ข่าวว่าองค์ดาไล ลามะประกาศเลิกต่อสู้ในการเรียกร้องอิสรภาพจากจีนและวางมือทางการเมืองโดยเลือกผู้นำคนใหม่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งทางการบริหารแทน
ผมเดินทางไปที่เมืองธัมมศาลาพักอยู่ข้างๆวัดของลามะโดยเช่าห้องเป็นรายเดือนในราคาที่ถูกที่สุดเดือนละห้าร้อยรูปี เป็นห้องเช่าที่ราคาถูกที่สุด ในห้องมีเพียงเตียงเก่าๆอันเดียว เวลานอนก็ใช้ถุงนอนเพราะอากาศหนาวเย็นตลอดปี อาหารการกินก็อาศัยจากร้านขายอาหารที่เรียกว่าร้านขายอาหารราคาถูกอิ่มละสิบรูปี วันหนึ่งรับประทานสองครั้ง แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับการมีชีวิตรอดในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย สิ่งที่ผมต้องการในตอนนั้นคืออยากศึกษาพระพุทธศาสนาแบบทิเบต ผมไปนั่งฟังลามะบรรยายธรรมทุกวัน เวลาที่เหลือส่วนหนึ่งเรียนภาษาทิเบต ส่วนตอนเย็นไปเรียนภาษาอังกฤษจากพวกอาสาสมัครซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวมาสอนภาษาอังกฤษให้แก่ผู้ที่สนใจโดยไม่เลือกชนชาติและอายุ ในแต่ละวันจึงมีนักเรียนเรียนภาษาอังกฤษทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่อายุน้อยที่สุดเจ็ดชวบ จนถึงอายุมากที่สุด 80 ปี
ส่วนช่วงเช้าในชั่วโมงเรียนภาษาทิเบต พวกอาสาสมัครที่สอนภาษาอังกฤษเหล่านั้นก็จะมาเป็นนักเรียนๆภาษาทิเบต ผมเรียนภาษาทิเบตอยู่หลายเดือนจนสามารถสื่อสารกับคนทิเบตได้บ้าง เมื่อใช้ภาษาอังกฤษและภาษาทิเบตผสมกันผมก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้อาศัยที่เมืองธัมมศาลาเหมือนเป็นพลเมืองที่ไม่ได้รับเชิญ
ข้างๆห้องพักมีครอบครัวของชาวทิเบตพักอยู่ด้วย ครอบครัวหนึ่งมียายแก่อายุเจ็ดสิบปีกับหลานสาวอายุสิบขวบพักอยู่ ผมใช้ภาษาทิเบตที่พึ่งเรียนมาคุยกับหลานสาวและยายรู้เรื่องบ้างไม่รู้บ้าง แต่เข้าใจความหมาย จึงอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ผมเรียกยายว่า “แม่” และยายก็เรียกผมว่า “ลูก” หลานสาวของยายจึงกลายเป็นน้องสาวของผมไปโดยปริยาย เมื่อคนจรโดยเจตนาและคนจรโดยจำเป็นมาพบกันจึงกลายเป็นเหมือนครอบครัวโดยไม่เกี่ยวกับข้องกันทางสายเลือด เป็นครอบครัวที่เกิดจากความคุ้นเคยโดยแท้
แม่ชาวทิเบตคนนั้นมีชื่อว่า “เคซัง” ส่วนหลานสาวชื่อว่า “ดอนมา” เวลาว่างคุณแม่เคซังมักจะเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงตะกุกตะกักว่า “เดินทางมาจากทิเบตพร้อมกับองค์ดาไลลามะ หนีจากการรุกรานของทหารจีน หลบๆซ่อนตามหุบเขา จนในที่สุดได้มาตั้งรกรากที่นี่ สามีเสียชีวิตในการต่อสู้ในครั้งนั้น ส่วนลูกชายได้พบกันที่หลัง และได้นำลูกสาวมาฝากให้เลี้ยง ห้าปีมาแล้วยังไม่ทราบข่าวของลูกชายคนนั้นเลย ไม่รู้เป็นตายร้ายดีอย่างไร” พอยายพูดถึงลูกชายทีไรนัยน์ตาจชุ่มด้วยน้ำตาทุกที
ผมจำได้ว่าในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีจะมีงานฉลองรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่องค์ดาไล ลามะได้รับ งานนี้เป็นงานใหญ่มีผู้คนมาร่มวงานจำนวนมาก บริเวณวัดใหญ่หรือที่คนทั่วไปเรียกติดปากว่า “เมนเทมเปิล” คราคร่ำไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศ ผมก็ไปร่วมงานในวันนั้นด้วย
ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ ลมหนาวกระหน่ำมารุนแรงเหมือนกำลังแห่งความพิโรธ ผู้คนที่เบียดเสียดกันในวันนั้นไม่ยอมหนีไปไหน เหมือนกับว่าหากงานไม่เลิก ผู้คนก็จะไม่เลิกรา องค์ดาไลลามะยังสรวมชุดประจำพระองค์นั่งเด่นเป็นสง่า พระองค์จะปรบมือและทรงพระสรวลอย่างสำราญเมื่อการแสดงแต่ละชุดจบลง ที่ลานพิธีมีการละเล่นของพวกสาวๆพวกเธอร้องรำทำเพลงเหมือนกำลังประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ การแสดงตรึงผู้คนให้หยุดนิ่ง แม้ลมหนาวจะกรำหน่ำมารุนแรงสักปานใดก็ตาม ไม่นานนักเมื่อสายลมแผ่วเบาลงหิมะเริ่มโปรยปรายมาเป็นฝอยเหมือนฝนพรำ แต่เป็นฝนหิมะ ตามปกติหิมะจะมาในช่วงเดือนมกราคมหรือเดือนกุมภาพันธ์ แต่นี่เป็นหิมะที่มาผิดเวลา
ผมยืนเหน็บหนาวอยู่ริมขอบลานเฝ้าดูการแสดงโดยไม่ละสายตาไปไหน แทบจะไม่ได้รู้สึกถึงความหนาวแห่งหิมะที่ค่อยเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ กว่างานจะเลิกเวลาก็เลยเที่ยงวันไปแล้ว อาหารในวันนั้นคือขนมที่ทำจากแป้งใส่นมและโรยด้วยน้ำตาลทรายเหมือนขนมเบื้องของชาวมคธเป็นแผ่นก็มีเป็นแท่งยาวๆก็มี ผมอยู่ร่วมงานจนพิธีเสร็จจึงได้เดินทางกลับที่พัก
คงเพราะไม่เคยอยู่ท่ามกลางหิมะมาก่อน เพราะผมเกิดในหมู่บ้านที่มีอากาศร้อนตลอดปี เมื่อพบกับความหนาวจึงรู้สึกปวดหัว จึงนอนพักผ่อน ผมหลับไปนานเท่าไหร่ไม่รู้ ตื่นขึ้นมาใบหน้าแรกที่ผมเห็นคือยายชราชาวทิเบตคนนั้นนั่งยิ้มอยู่ตรงหน้า คำแรกที่ออกจากปากผมในตอนนั้นผมเรียกยายเคซังได้เต็มปากว่า “แม่” เอ่ยออกไปเป็นภาษาไทยเพราะผมกำลังฝันถึงแม่ผู้ให้กำเนิด คนที่ผมไม่เคยเห็นหน้าที่แท้จริงมาก่อนเลย ในความฝันแม่มาเฝ้าดูอาการไข้ของผมตลอดเวลาที่ผมหลับไป พอตื่นขึ้นมาจึงเข้าใจว่าแม่มาเยี่ยม แต่คนที่ผมเห็นในวันนั้นเป็นเพียงยายชราชาวทิเบตนามเคซังคนนั้น
ในเสี้ยวแห่งความรู้สึกลึกๆในใจผมยังคิดถึงแม่ แม้ว่าแม่จะไม่เคยเห็นหน้าเลยหรือเคยเห็นแต่ก็จำไม่ได้เพราะยังเด็กอยู่มาก แต่แม่ในจินตนาการของของนั้นเป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตย์อยู่ในใจผมตลอดเวลา แต่แม่ชาวทิเบตคนนั้นผมรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นที่แผ่ซ่านออกมาจากดวงตาอันฉายแววแห่งความรักที่มีต่อลูก ในใจของเธอตอนนั้นอาจกำลังคิดถึงลูกชายที่ไม่เคยได้ข่าวคนนั้นก็ได้ เธอจึงปฏิบัติตนต่อชายที่อยู่ตรงหน้าเหมือนกำลังดูแลลูกชายของตัวเอง
แม่ชาวทิเบตของผมคนนี้คอยดูแลผมในยามที่เจ็บป่วย มีความคุ้นเคยที่ไม่ได้กำหนดด้วยเงื่อนไขของกาลเวลาหรือถูกคั้นด้วยภาษาเพราะเธอพูดได้ภาษาเดียวคือภาษาทิเบต วิญญาณความเป็นแม่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องเอ่ยปาก ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง แม้จะไม่ได้เกี่ยวพันด้วยสายเลือดแต่ทว่าเจ้าความห่วงใยและเอื้ออาทรนั้นได้ก้าวผ่านสายสัมพันธ์ทางเครือญาติไปแล้ว
ผมจะหาเวลาว่างไปเยี่ยมแม่เคซังชาวทิเบตคนนั้นเสมอ ได้เห็นรอยยิ้มอันไม่เสแสร้งแกล้งทำ พลางกุลีกุจอหุงหาอาหารออกมาต้อนรับ ได้ทานอาหารทิเบตจากฝีมือแม่คนที่สองเมื่อไหร่ ใจผมรู้สึกสงบและสัมผัสได้ถึงความรักความห่วงใยของแม่ที่มีต่อลูก แม้จะไม่ใช่ลูกที่เกิดจากอุทรก็ตาม
สิน สีหานาท
09/08/54
ภาพประกอบ:ชาวทิเบตที่พุทธคยา อินเดีย