ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

         วันนี้เริ่มต้นของวันเข้าพรรษาแล้ว มีหลายหน่วยงานประชาสัมพันธ์เรื่อง “ลด เลิก ละ อบายมุข” ส่วนใครจะลดหรือเลิกอะไรนั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลว่ากันไม่ได้ นั่งสนทนากับบรรดาพุทธศาสนิกชนที่มาปฏิบัติธรรมในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา แต่ละท่านบอกว่าจะอธิษฐานจิตเพื่อจะได้ทำดีในช่วงสามเดือนต่อจากนี้ไป บางคนบอกว่าตั้งใจจะใส่บาตรทุกวัน บางท่านบอกว่าจะไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิทุกวัน บางท่านบอกว่าจะพูดแต่มธุรสวาจา จากนั้นก็หันมาถามว่าท่านจะอธิษฐานอะไร
 

         ตอนนั้นคิดไม่ออกว่าจะอธิษฐานอะไร แต่มีคำสามคำพลันอุบัติขึ้นมาในบัดเดี๋ยวนั้นคือ “ไม่ถือ ไม่เถียง ไม่ถาม” หลายท่านหันมามองหน้าเหมือนกับจะตั้งคำถามว่าหมายความว่าอะไร เมื่อพูดออกไปแล้วจึงต้องอธิบายขยายความ แต่การอธิบายในตอนนั้นตอบเพียงสั้นๆว่า “ไม่ถือตนว่าเป็นคนวิเศษกว่าคนอื่น ไม่เถียงโดยไม่มีเหตุผล และไม่ถามเรื่องส่วนตัวของบุคคล” ดูเหมือนทุกคนฟังแล้วจะเข้าใจ จากนั้นก็ปิดวงสนทนา

 


         แต่พอมานั่งคิดคนเดียวเงียบๆกลับมีคำตอบผุดขึ้นมาในใจมากมาย เริ่มต้นจากคำว่า“ไม่ถือ” หมายถึงที่ตอบไปว่าไม่ถือตนว่าเป็นวิเศษเหนือบุคคลอื่น มาจากคำในภาษาบาลีว่า “มาน” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์ แปลว่าการวัด การนับ การถือตัว  ดังนั้นคำว่า “ไม่ถือ” ในที่นี่จึงหมายถึง “ไม่ถือตัว” คนที่ไม่ถือตัวนั้นต้องเริ่มต้นจากความคิดที่ว่าทุกคนย่อมมีสิทธิ์เท่าเทียมกันตามฐานะความเป็นมนุษย์ สมมุติว่าเราเดินเข้าวงสนทนาใดก็ตามโดยที่คิดไว้เบื้องต้นก่อนว่า เรานั้นมีฐานะสูงส่งเหนือกว่าบุคคลอื่น ก็จะทำให้มองคนอื่นด้อยกว่า หากคิดในใจว่าตัวเรามีฐานะด้อยกว่าคนก็จะกลายเป็นจุดด้อยไม่กล้าแสดงความคิดเห็น หรือหากคิดว่าตัวเราก็มีฐานะเท่ากับคนอื่นก็จะกลายเป็นผู้ที่ตีตนเท่าเทียมกับคนอื่น 
         ทั้งหมดนั้นเป็น “มานะ ความถือตัว” คือความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ถือสูงถือต่ำ ยิ่งใหญ่เท่าเทียมหรือด้อยกว่าคนอื่น ความอยากเด่นอยากชูตนให้ยิ่งใหญ่ มานะจัดเป็นกิเลสเครื่องเนิ่นช้าอย่างหนึ่ง เป็นอนุสัยอย่างหนึ่งคือกิเลสที่นอนเนื่องในสันดาน มานะความถือตัวนั้นมีแสดงไว้ในขุททกนิกาย มหานิทเทส(29/102/73) อธิบายขยายความไว้หลายอย่างคือ มานะความถือตนนั้นมีถึงสิบอย่างตามลำดับคือ คำว่า “มานะ” ได้แก่ความถือตัวอย่างหนึ่งคือความที่จิตใฝ่สูง ความถือตัวสองอย่างคือความยกตน  และความข่มผู้อื่น ความถือตัวสามอย่าง คือความถือตัวว่า เราดีกว่าเขา  เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา
         ความถือตัวสี่อย่าง คือบุคคลยังความถือตัวให้เกิดเพราะลาภ  ยังความถือตัวให้  เกิดเพราะยศ  ยังความถือตัวให้เกิดเพราะความสรรเสริญ  ยังความถือตัวให้เกิดเพราะความสุข 

 

 

         ความถือตัวห้าอย่างคือ บุคคลยังความถือตัวให้เกิดว่า เราได้รูปที่ชอบใจ ยังความถือตัวให้เกิด ว่าเราได้เสียงที่ชอบใจ ยังความถือตัวให้เกิดว่า เราได้กลิ่นที่ชอบใจ  ยังความถือตัวให้เกิดว่า เราได้รสที่ชอบใจ ยังความถือตัวให้เกิดว่า เราได้โผฏฐัพพะที่ชอบใจ
         ความถือตัวหกอย่าง คือบุคคลยังความถือตัวให้เกิดด้วยความถึงพร้อมแห่งจักษุ ... ความถึงพร้อมแห่งหู ... ความถึงพร้อมแห่งจมูก ... ความถึงพร้อมแห่งลิ้น ... ความถึงพร้อมแห่งกาย ความถึงพร้อมแห่งใจ 
         ความถือตัวเจ็ดอย่างคือ ความถือตัว  ความถือตัวจัด  ความถือตัวและความถือตัวจัด ความถือตัวเลว  ความถือตัวยิ่ง ความถือตัวว่าเรามั่งมี ความถือตัวผิด
         ความถือตัวแปดอย่างคือบุคคลยังความถือตัวให้เกิด เพราะลาภ ยังความถือตัวเลวให้เกิดเพราะความเสื่อมลาภ ยังความถือตัวให้เกิดเพราะยศ ยังความถือตัวเลวให้เกิดเพราะความเสื่อมยศ ยังความถือตัวให้เกิดเพราะสรรเสริญ ยังความถือตัวเลวให้เกิดเพราะนินทา ยังความถือตัวให้เกิดเพราะสุข ยังความถือตัวเลวให้เกิดเพราะทุกข์ 

         ความถือตัวเก้าอย่าง คือ ความถือตัวว่าเราเป็นผู้ดีกว่าคนดี ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เสมอกับคนดี  ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เลวกว่าคนดี ความถือตัวว่าเราเป็นผู้ดีกว่าคนชั้นเดียวกัน ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เสมอกับคนชั้นเดียวกัน ความถือตัวว่าเราเป็นผู้เลวกว่าคนชั้นเดียวกัน ความถือตัวว่า เราเป็นผู้ดีกว่าคนเลว ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เสมอกับคนเลว ความถือตัวว่า เราเป็นผู้เลวกว่าคนเลว

 

 

         ความถือตัวสิบอย่าง คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ยังความถือตัวให้เกิดเพราะชาติ  เพราะโคตร  เพราะความเป็นบุตรแห่งสกุล เพราะความเป็นผู้มีรูปงาม  เพราะทรัพย์  เพราะการเชื้อเชิญ  เพราะหน้าที่การงาน  เพราะหลักแหล่งศิลปศาสตร์  เพราะวิทยฐานะ เพราะการศึกษา เพราะปฏิภาณ  เพราะวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง  ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว ความที่จิตถือตัว ความใฝ่สูง ความฟูขึ้น ความทนงตัว ความยกตัว ความที่จิตใคร่สูงดุจธง นี้เรียกว่า ความถือตัว
         คำว่า “ไม่ถือ” อย่างเดียวอธิบายขยายความได้ยืดยาว “มานะ” ความถือตัวนั้นจัดเข้าเป็นสังโยชน์เบื้องบน ผู้ที่จะละมานะได้หมดจะต้องเป็นพระอรหันต์  คำว่าสังโยชน์หมายถึงกิเลสอันผูกใจสัตว์ ธรรมที่มัดสัตว์ไว้ในวัฏฏะทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับผล แสดงไว้สิบประการมีปรากฎในสังโยชนสูตร อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต(24/03/16) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์สิบประการนี้คือ สังโยชน์เป็นไปในส่วนเบื้องต่ำห้าประการ สังโยชน์เป็นไปในส่วนเบื้องบนห้าประการ
         สังโยชน์ เป็นไปในส่วนเบื้องต่ำห้าประการคือสักกายทิฐิ  วิจิกิจฉา  สีลพัตตปรามาส กามฉันทะ  พยาบาท 
         สังโยชน์เป็นไปในส่วนเบื้องบนห้าประการคือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา 

 

 

         ในช่วงเข้าพรรษานี้ต้องการเริ่มต้นด้วยการไม่ถือตนในเบื้องต้นเท่านั้น แม้จะละไม่ได้หมดแต่จะพยายามทำให้เบาบางหรือเหลือน้อยลง ละไปเรื่อยๆกี่ภพกี่ชาติไม่อาจจะรู้ได้ ไม่ได้หมายความรวมถึงว่าจะเป็นพระอรหันต์จนขจัดมานะให้หมดไปจากจิตใจได้หมดสิ้น  ในชาตินี้ตั้งใจจะดำเนินปฏิปทาความไม่ถือตนให้เบาบางลงให้ได้สักสองสามอย่างคือ “ความที่จิตใฝ่สูง ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น  จะไม่ถือตัวว่าเราดีกว่าเขา  เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา”  ส่วนมานะในระดับที่สูงขึ้นไปก็ต้องค่อยๆขจัดออกไปจากจิตใจไปเรื่อยๆ  แม้ในชาตินี้ยังทำไม่ได้แต่ก็ถือว่าได้เริ่มต้นเดินตามแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนไว้แล้ว
         ส่วนคำว่า “ไม่เถียงและไม่ถาม” นั้น เห็นว่ายังอธิบายต่อไม่ได้ เพราะเพียงคำว่า “ไม่ถือ” อย่างเดียวก็เห็นว่ายาวเกินไปแล้ว ขอยกประโยชน์ไว้อธิบายขยายความในวันต่อๆไป หรือใครจะเปิดวงสนทนาอธิบายร่วมก็ได้ ยินดีรับฟัง

 

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
16/07/54

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก