ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          คืนที่ผ่านมาเฝ้าดูจันทรุปราคาจนดึก คิดว่าวันนี้คงมีโอกาสได้เห็นจันทรุปราคาเต็มดวง ก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อยออกจากห้องมองไปที่ท้องฟ้า มีแต่เมฆหมอกปลุกคลุมไปทั่ว มองหาดวงจันทราไม่พบ ในที่สุดก็เลิกล้มความตั้งใจ วันนี้ดวงจันทร์เศร้าหมองแล้ว คงต้องรออีกในครั้งต่อไป ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ ฉันมีคติประจำใจอย่างอย่างหนึ่งว่า “ยอมให้เป็น เย็นให้พอ รอให้ได้” เสี้ยวชีวิตส่วนหนึ่งจึงเป็นฝ่ายยอมและรอคอย สักวันโอกาสคงเป็นของคนรอ


          จันทรุปราคาคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ เรียงอยู่ในแนวเดียวกันพอดี ดวงจันทร์ผ่านเงาของโลกจะเรียกว่า “จันทรุปราคา” จันทรุปราคาเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ โอกาสที่ดวงอาทิตย์ โลกและดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกันในแต่ละปีมีน้อยเต็มที ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นบางคนจึงถือเป้นปรากฎการณ์ที่เหนือธรรมดา ในอดีตมีความเชื่อของคนโบราณเรียกว่า “กบกินเดือน” เพื่อจะทำให้กบตกใจจึงมีการตีเกราะ เคาะกะลา จุดประทัดเพราะเชื่อกันว่าเมื่อกบตกใจก็จะปล่อยดวงจันทร์ให้เป็นอิสระ บางแห่งก็มีความเชื่อว่าราหูกำลังอมจันทร์ ต้องทำให้ราหูตกใจจะได้ปล่อยดวงจันทร์เป้นอิสระ

 


          ในพระพุทธศาสนามีพระสูตรที่แสดงถึงพระจันทร์ซึ่งเป็นเทพบุตรองค์หนึ่งถูกอสุรินทราหูไล่จับ คล้ายๆกับการเกิดจันทรุปราคาในสมัยปัจจุบัน แสดงไว้ใน จันทิมสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/241/62) ความว่า “สมัยนั้นจันทิมเทวบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว ครั้งนั้นจันทิมเทวบุตรระลึกถึงพระผู้มีพระภาค ได้ภาษิตคาถานี้ในเวลานั้นว่า   “ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์ พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ข้าพระองค์ถึงเฉพาะแล้ว ซึ่งฐานะอันคับขัน ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแห่งข้าพระองค์นั้น”
          พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภจันทิมเทวบุตรได้ตรัสกะอสุรินทราหูด้วยพระคาถาว่า จันทิมเทวบุตร ถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นที่พึ่ง  ดูกรราหู ท่านจงปล่อยจันทิมเทวบุตร พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้อนุเคราะห์แก่โลก
          อสุรินทราหูได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้า จึงปล่อยจันทิมเทวบุตรแล้ว มีรูปอันกระหืดกระหอบเข้าไปหาอสุรินทเวปจิตติถึงที่อยู่ ครั้นแล้วก็เป็นผู้เศร้าสลด เกิดขนพอง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง       
          ฝ่ายอสุรินทเวปจิตติ ได้กล่าวกะอสุรินทราหู ผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งด้วยคาถาว่า   ดูกรราหู ทำไมหนอ ท่านจึงกระหืดกระหอบปล่อยพระจันทร์เสีย ทำไมหนอ ท่านจึงมีรูปสลด มายืนกลัวอยู่

 


          อสุรินทราหูกล่าวว่า ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า หากข้าพเจ้าไม่พึงปล่อยจันทิมเทวบุตร ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยงมีชีวิตอยู่ ก็ไม่พึงได้รับความสุข
          จันทิมสูตรจบลงด้วยการที่อสุรินทราหูจำเป็นต้องปล่อยจันทิมเทพบุตร เพราะคาถาของพระพุทธเจ้า เพราะถ้าหากยังขืนจะกลืนกินจันทิมเทพบุตรอยู่ต่อไปศีรษะจะต้องแตกออกเป็นเจ็ดเสี่ยง
          ในอรรถกถาสุริยสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม 1 ภาค 1  หน้าที่ 344 ราหูมีอัตภาพใหญ่มากว่าโดยส่วนสูง สูงถึง   4800 โยชน์ ช่วงแขนยาว 1200 โยชน์  ว่าโดยส่วนหนา  600 โยชน์  ศีรษะ  900 โยชน์  หน้าผาก  300 โยชน์ ระหว่างคิ้ว 50 โยชน์  คิ้ว 200 โยชน์  ปาก  200 โยชน์ จมูก  300โยชน์ ขอบปากลึก 300 โยชน์ ฝ่ามือฝ่าเท้าหนา  200 โยชน์ ข้อนิ้ว  15 โยชน์ 
           ราหูนั้นเห็นจันทิมะและสุริยะ  ส่องสว่างอยู่  มีความริษยาเป็นปกติอยู่แล้ว  ก็ลงสู่วิถีโคจรของจันทรและสุริยะนั้น ยืนอ้าปากอยู่. จันทรวิมานหรือสุริยวิมานก็เป็นประหนึ่งถูกใส่เข้าไปในมหานรก 300โยชน์  เทวดาทั้งหลายที่สถิตอยู่ในวิมานถูกมรณภัยคุกคาม  ก็ร้องเป็นอันเดียวกัน ราหูนั้นบางคราวก็เอามือบังวิมานบางคราวก็ใส่ไว้ใต้คาง บางคราวก็เอาลิ้นเลีย บางคราวก็วางในกระพุ้งแก้มเหมือนกินทำแก้มตุ่ย  แต่ราหูนั้นไม่อาจชลอความเร็วได้คิดว่าเราจักฆ่าเสีย  ก็ยืนอมทำแก้มตุ่ย หรือคิดว่าขมองของเทพบุตรนั้นจักแตกออกไป ราหูก็คร่าวิมานนั้นน้อมเข้ามา  เพราะฉะนั้นเทพบุตรนั้น จึงไปพร้อมด้วยกันกับวิมาน”  

 

 

         สมัยโบราณวัดกันเป็นโยชน์ สมัยนี้วัดกันเป็นกิโลเมตร หากจะเทียบเคียงน่าจะได้ดังนี้1 โยชน์เท่ากับ 400 เส้น 1 เส้นเท่ากับ 20 วา 1 วาเท่ากับ 2 เมตร 1000 เมตรเป็น 1 กิโลเมตร ดังนั้น 1 โยชน์เท่ากับ16,000 เมตร (16 กิโลเมตร) หนึ่งโยชน์จึงเท่ากับ 16 กิโลเมตร  คิดดูเอาเองก็แล้วกันว่าใหญ่ขนาดไหน ร่างกายใหญ่โตขนาดนี้นึกภาพไม่ออกว่าอสุริทราหูจะอยู่ที่ไหน  
         อ่านจันทิมสูตรและสุริยสูตรพร้อมทั้งอรรถกถาจบลงแล้วยังสงสัยว่าอสุรินทราหูร่างกายใหญ่ขนาดนั้นจะสถิตย์อยู่ที่ไหน ทำไมไม่มีใครเคยเห็น แต่มีบางเรื่องที่ไม่ควรคิด เพราะหากภูมิธรรมไม่ถึงจริงๆถึงคิดไปก็หาคำตอบไม่ได้ เรื่องนี้ควรรับฟังไว้เพราะมีปรากฎในพระไตรปิฎกจริงๆ พระอรรถกถาจารย์คงพิจารณาแล้วจึงได้แต่งอรรถกถาอธิบายข้อความในพระไตรปิฎกแม้จะฟังแล้วค่อนข้างจะพิสดารเกินไปก็ตาม

 


         จันทรุปราคาได้ถูกอธิบายตามหลักการทางดาราศาสตร์ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตามธรรมชาติ แต่ทว่าเหตุการณ์อย่างนี้คงเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ในยุคนั้นไม่มีวิชาดาราศาสตร์มาอธิบายอย่างในปัจจุบันคนโบราณจึงยกให้เป็นเรื่องของเทพทั้งหลาย กลายเป็นเรื่องของเทพและอสูรคือจันทิมเทพบุตรและอสุรินทราหูซึ่งไม่ค่อยถูกกัน หากโคจรมาพบกันเมื่อไหร่ก็จะไล่จับกันอยู่แทบทุกครั้ง จันทิมะนั้นอรรถกถาแสดงว่าเป็นโสดาบันในคราวที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงมหาสมัยสูตร ดังนั้นหากพบกับอสรินทราหูเมื่อใดก็จะนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าขึ้นมาทันที อสุรินทราหูก็จำเป็นต้องปล่อยทุกครั้ง การจองเวรกันมีอยู่ในที่ทุกสถาน ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่เทพทั้งหลาย ดังกรณีของจันทิมเทพบุตรและอสุรินทราหู จะป่วยกล่าวไปไยถึงโลกมนุษย์ ไฉนจะหนีพ้นการจองเวรกันด้วยเล่า แต่ถ้าหากทำได้การจองเวรนั้นอย่าให้เริ่มต้นที่ตัวเรา อาจพอจะแบ่งเบาลดการจองเวรลงได้บ้าง 


 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
16/06/54

 

 

ภาพประกอบ: ขอบคุณสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) http://www.narit.or.th

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก