ตามปรกติในประเทศแถบเอเชียช่วงเวลากลางวันและกลางคืนมักจะมีระยะไม่แตกต่างกันมากนัก หรือบางประเทศกลางวันกับกลางคืนจะแบ่งเป็นคนละครึ่งคือกลางวันสิบสองชั่วโมงและกลางคืนสิบสองชั่วโมง ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณหกโมงเช้าและตกประมาณหกโมงเย็น เผื่อเหลือเผื่อขาดไม่เกินหนึ่งชั่วโมง แต่หากหลงไปอยู่ในประเทศที่พระอาทิตย์ตกตอนสี่ทุ่มและขึ้นอีกทีตอนตีสี่จะทำอย่างไร หากวิ่งตามตะวันจะกลายเป็นคนขยันเพราะต้องทำงานในเวลากลางวันๆละสิบเก้าชั่วโมง ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงจะนอนไม่หลับ เหตุการณ์อย่างนี้คือความเป็นปรกติของคนที่นี่.....สวีเดน ขอเรียกวันเวลาตามความรู้สึกว่า ดวงอาทิตย์ขยันในวันที่ขี้เกียจ
รถไฟจากกรุงสต็อกโฮล์มมุ่งหน้าสู่เมืองบูแลงเง่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตภาคกลางตอนเหนือของสวีเดนใช้เวลาในการเดินทางประมาณสองชั่วโมงยี่สิบนาที ก็ถึงจุดหมายปลายทาง อย่างที่เคยบอกไว้ในวันก่อนว่ารถไฟของที่นี้ตรงเวลามาก คนที่มารับหากรู้เวลารถไฟออกจากสถานีก็สามารถกำหนดเวลาในการถึงปลายทางได้ คนสวีเดนจึงต้องกลายเป็นคนที่ตรงเวลามากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
ประเทศสวีเดนมีพื้นที่ของประเทศ 486601 ตารางกิโลเมตร ดูเหมือนจะมีขนาดไม่ต่างจากประเทศไทยมากนัก แต่มีจำนวนประชากรประมาณเก้าล้านคนเท่านั้น พื้นที่จึงมีเหลือเป็นจำนวนมาก อีกอย่างประเทศนี้ไม่เหมาะกับการทำการเกษตร เพราะมีหิมะตกปกคลุมยาวนาน มีหน้าร้อนเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ พืชพันธ์ธัญญาหารจึงไม่สามารถทนทานความหนาวเย็นได้ เกษตรกรสวีเดนจึงเลี้ยงสัตว์เช่นวัว ม้า เป็นต้น พื้นที่ส่วนหนึ่งจึงปลูกหญ้าเขียวขจีสำหรับไว้เลี้ยงสัตว์ พื้นที่อีกส่วนหนึ่งจึงทำการเกษตรโดยปลูกพืชล้มลุกต้องเก็บเกี่ยวให้เสร็จก่อนหิมะจะมา ตามท้องทุ่ง เชิงเขาต่างๆจึงเห็นข้าวสาลีเขียวขจีเต็มท้องทุ่ง สลับกับทิวสนจำนวนมาก
คนที่นี่ดูเหมือนจะเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพราะอากาศคาดเดาอะไรไม่ค่อยได้ ยืนผิงแสงแดดอุ่นๆอยู่ดีๆ ฝนก็ตกลงมาบางแห่งอาจจะมีลูกเห็บมาด้วย ฝนตกไปได้สักพักเหมือนกับว่าฝนขี้เกียจพลันก็มีแสงแดดออกมาอีกครั้ง จู่ๆก็มีกระแสลมแรงนำเอาความหนาวเย็นมาเยือนอีก เจอกับอากาศสามฤดูในช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาทีแบบนี้ ผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงที่มาเยือนโดยฉับพลันแบบนี้ปรับตัวไม่ค่อยทัน
หากจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงคือสิ่งนิรันดร์น่าจะนำมาใช้ได้กับประเทศทางแถบยุโรป จะหลับจะตื่นโดยไม่ต้องคำนึงถึงดวงอาทิตย์ กลางวันและกลางคืนมีเวลายาวนานไม่เท่ากัน ช่วงนี้มีคนบอกว่าอยู่ในช่วงหน้าร้อน หิมะพึ่งละลายหมดไปเมื่อสองอาทิตย์ก่อนนี่เอง ยังมีบางแห่งที่ยังเห็นหิมะเป็นหย่อมๆโดยเฉพาะตามเชิงเขาที่ยังละลายไม่หมด
วัดดอลาร์น่าวนารามอยู่กลางป่าสนมีขนาดสูงใหญ่ ข้างๆมีทะเลสาบน้ำใสตลอดปี มองผ่านหน้าวัดออกไปทะเลสาบสะท้อนแสดงแดดเป็นภาพจิตรกรรมแห่งธรรมชาติเงาต้นสนสูงเสียดป่าสะท้อนลงมายังผืนทะเลสาบตัดกับแสงแดดอ่อนๆมองด้วยสายตางดงามเป็นอย่างยิ่ง แต่พอถ่ายภาพออกมากลับได้ภาพที่ไม่ค่อยสวยนัก เพราะเงาสะท้อนของดวงอาทิตย์ทำให้ภาพกลายเป็นภาพที่จะต้องถ่ายในสภาพสะท้อนแสง กล้องที่บันทึกภาพในวันนี้เป็นเพียงกล้องที่แสนธรรมดา หรืออาจจะเรียกตามภาษาช่างถ่ายภาพว่า “กล้องโหล” ซึ่งสื่อความหมายถึงกล้องแบบนี้ใครๆเขาก็มีกัน แต่จะทำยังไงได้มีภาพให้ดูก็ถือว่าใช้ได้แล้วกล้องอะไรก็ตามอยู่ที่ฝีมือคนถ่ายด้วย หากเป็นช่วงฤดูหนาวทะเลสาบก็จะกลายเป็นหิมะขาวโพลนสามารถเดินเล่นได้อย่างสะดวก
พระที่จำพรรษาที่วัดดอลาร์น่าวนรามเล่าให้ฟังว่าวัดแห่งนี้สมเด็จพระญาณวโรดม อดีตกรรมการมหาเถรสมาคมได้ประทานนามวัดเป็นทางการว่า “วัดดอลาร์น่าวนาราม แปลว่าวัดที่สถิตย์อยู่ในเขตป่าเขาลำเนาไพรแขวงดอลาร์น่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2549 ดำเนินงานในรูปแบบของมูลนิธิซึ่งเป็นเจ้าของวัดและรองรับสถานะหลักนิตินัยของวัดตามกฎหมายประเทศสวีเดน นอกจากนั้นยังมีสมาคมเพื่อวัดดอลาร์น่าวนารามซึ่งเป็นองค์การสมาพันธ์ประสานเพื่อพุทธศาสนาแห่งประเทศสวีเดน
วัดดอลารณ์น่าวนารามตั้งอยู่บนทำเลที่อยู่ติดทะเลสาบและล้อมรอบไปด้วยป่าไม้สนธรรมชาติ อยู่ในเขตแซทเตอร์คอมมูน ตั้งอยู่ในกลางประเทศสวีเดน ปัจจุบันมีพระมหาเอกพล พลปัญญโญ เป็นเจ้าอาวาส และมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาห้ารูป
ถัดจากนี้ไปทางตอนเหนือนั่งรถไฟไม่กี่ชั่วโมงก็เข้าเขตประเทศนอร์เวย์แล้วครับ ที่นั่นดวงอาทิตย์บางช่วงไม่เคยตกดินเลยครับ มันเหมือนกันจะอยู่ค้างฟ้าเป็นเวลาครึ่งปี ฟังแล้วอยากไป แต่ติดขัดที่เราเดินทางมาร่วมประชุมงานจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี่อยู่แล้ว นัยว่ามีวัดไทยในนอร์เวย์ด้วย ไว้พบหน้าเจ้าอาวาสจะสอบถามความเป็นมาเป็นไปของวัดไทยในนอร์เวย์
วันนี้มาถึงวัดดอราน่าวนารามสถานที่ที่จะมีการประชุมคณะสงฆ์ในสหภาพยุโรปแล้ว แต่วันนี้ยังเงียบเหงา มีเพียงพระภิกษุสี่ห้ารูปที่กำลังจัดเตรียมสถานที่ มีอุบาสิกาสองสามท่านกำลังหาดอกไม้มาประดับตกแต่งรอบๆบริเวณ ในสายตาของเจ้าอาวาสที่ออกมาต้อนรับคล้ายๆกับจะส่งสายตาถามว่าจะรีบมาทำอะไรตอนนี้ เพราะการประชุมจะเริ่มต้นในวันที่ยี่สิบพฤษภาคมโน่น
เมื่อมาพักที่วัดดอลารณ์น่าวนารามเฝ้าดูว่าเมื่อไหร่ดวงอาทิตย์จะลาลับจากขอบฟ้าเสียที สี่ทุ่มแล้วดวงอาทิตย์ยังลอยอ้อยอิ่งเหมือนเวลาประมาณห้าโมงเย็นที่เมืองไทย หากจะรอจนพระอาทิตย์ตกดินก็คงต้องรออีกนาน จะหลับนอนตามรัศมีและเปลวแสงแห่งดวงอาทิตย์ร่างกายคงรับไม่ไหว ในช่วงกลางคืนมีเพียงห้าชั่วโมง เหลือเวลาไว้เป็นตอนกลางวันถึงสิบเจ็ดชั่วโมง ก็ต้องอ่อนล้าจนเหมือนขี้เกียจ อยู่ประเทศสวีเดนดูเหมือนกับว่าดวงอาทิตย์ขยันในวันที่ขี้เกียจ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
บันทึกจากวัดดอลาร์น่าวนาราม บูแลงเง่ สวีเดน
18/05/54