ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

             ภูเก้าอยู่ในจังหวัดหนองบัวลำภูและมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในจังหวัดขอนแก่น ในอดีตก่อนที่จะมีจังหวัดหนองบัวลำภู ภูเก้าอยู่ในจังหวัดอุดรธานี แม้ว่าภูเก้าจะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนภูกระดึง จังหวัดเลย ซึ่งมีอาณาเขตติดกับจังหวัดหนองบัวลำภู แต่ทว่าปัจจุบันภูเก้าได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ในอดีตมีความเป็นป่าที่อุดุมสมบูรณ์เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด พระธุดงค์กรรมฐานนิยมเดินทางไปเพื่อบำเพ็ญสมณธรรมที่ภูเขาแห่งนี้เพราะมีความสงบและเงียบสงัด 


               ธัมมวิริโยภิกขุเพื่อนเก่าของเว็บมาสเตอร์ไซเบอร์วนารามเมื่อครั้งบวชใหม่ๆ มาพบกันโดยบังเอิญ ที่วัดป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ ท่านเป็นพระป่าบวชมานานกว่าสามสิบปีแล้ว แต่มองดูเหมือนเป็นพระที่พึ่งบวชใหม่ เพราะปฏิปทาที่เรียบง่าย ไม่ค่อยพูดของท่าน เวลามีงานที่ไหนหากไม่มีใครรู้จักท่านชอบนั่งท้ายๆภิกษุรูปอื่น แต่หากมีภิกษุรูปอื่นๆที่รู้จักท่านจึงจะแสดงตัว บางครั้งก็ต้องทำหน้าที่เป็นประธานสงฆ์ เพราะบวชมานานนั่นเอง

 

               สนทนาสักพักจึงถามถึงประสบการณ์ในการเดินธุดงค์ ท่านไม่ค่อยเล่าให้ใครฟังนัก แต่เพื่อนเก่าอายุไล่เลี่ยกัน บวชมาพร้อมๆกัน รูปหนึ่งอยู่กับป่าเขา ลำเนาไพร ส่วนอีกรูปหนึ่งเป็นพระที่มุ่งหน้าทางด้านการศึกษากลายเป็นพระมหาเปรียญ เมื่อพบหน้ากันจึงฟื้นความหลังขึ้นมาอีกครั้ง “ผมว่าป่าเขาลำเนาไพรมีปาฎิหาริย์ บางครั้งอธิบายไม่ได้”ท่านธัมมวิริโยภิกขุเริ่มต้นช้าๆ ดวงตามุ่งมั่นเหมือนกำลังทบทวนความหลัง ก่อนจะเริ่มต้นเล่าประสบการณ์ธุดงค์ครั้งหนึ่งว่า
               วันนั้นตะวันเริ่มจะลับเหลี่ยมเขาแล้ว แสงสีทองเหมือนจะกล่อมป่าให้หลับไหลก่อนจะลาจาก ได้ยินเพียงเสียงหริ่งเรไรและแมลงกลางร้องระงมทั่วแนวป่า ขุนเขาภูเก้ายังคงสงัดเงียบ ทั่วหุบเขาดูเหมือนจะมีเพียงพระภิกษุหนุ่มสองรูปที่พยายามเดินลัดเลาะบนแนวเขาเพื่อหาทางออกจากภูเขาแห่งนั้น แต่ดูเหมือนว่ายิ่งพยายามก็ยิ่งพบกับทางตัน เราเดินกลับไปกลับมาที่เก่าสามรอบแล้ว ก็ยังหาทางออกไม่พบ ผมเดินทางจากวัดป่าบ้านสร้างเสี่ยน อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดอุดรธานี(สมัยนั้น)มีเป้าหมายที่วัดหินหมากเป้ง หนองคาย ไปกันสองรูปคือผม(ธัมมวิริโย)และปุญญราโม ท่านบวชก่อนผมหนึ่งปี”

               รัศมีแห่งตะวันกำลังจะจางหาย ได้ยินเสียงปุญญราโมภิกขุถอนหายใจอันอ่อนล้าพลางขอพักเหนื่อยบนชะง่อนหินแห่งหนึ่ง และได้กล่าวขึ้นว่า “ผมว่าเราหยุดพักกันตรงนี้แหละ ผมจำได้ว่าเราเดินกลับมาทางเก่ารอบที่สามแล้ว ดูต้นไม้ต้นนั้นสิมันโผล่ขึ้นมาบนก้อนหิน ซึ่งผมเคยบอกท่านเมื่อพบมันครั้งแรก ผมบอกว่ามันแปลกประหลาดที่สุดต้นไม้อะไรเกิดบนก้อนหิน ตอนนี้เรากลับมาที่เก่าอีกแล้ว หากขืนเดินต่อไปคงต้องกลับมาที่เก่าอีก เราหลงทางเสียแล้ว” 
               ธัมมวิริโยภิกขุยอมรับก่อนจะทรุดกายลงนั่งบนหินก้อนนั้น ก่อนจะเอ่ยขึ้นว่า “ผมจำได้แล้ว เราคงหลงทางจริงๆอย่างท่านว่า ตะวันก็เริ่มจะลับขอบฟ้าแล้ว เราคงไม่มีทางออกจริงๆ หรือว่าเราเดินข้ามเครือเขาหลงกันตามที่ชาวบ้านเขาเล่าลือว่าหากใครเดินข้ามเถาวัลย์ชนิดนี้จะหลงทางย้อนกลับทางเก่าครั้งแล้วครั้งเล่า”
  วันนั้นพระภิกษุทั้งสองจึงต้องนอนพักแรมบนยอดภูเก้าแห่งนั้น  ท่ามกลางวความเงียบสงัดแห่งรัตติกาล แยกย้ายหาที่พักแต่ไม่ไกลกันนักพอมองเห็นกันได้  ก่อนจะพักผ่อนก็ยังทำกติกากันว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราไม่มาพบกันก่อนฟ้าสาง” จากนั้นก็หาที่กางกลดพักผ่อน

               ปฐมเหตุเกิดจากธัมมวิริโยภิกขุที่เอ่ยชวนปุญญราโมภิกขุในเช้าวันหนึ่งหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จว่า “ผมกำลังคิดจะเดินธุดงค์ผ่านภูเก้าแห่งนี้ ทะลุไปยังหนองวัวซอ ต่อไปยังอุดรธานีและสิ้นสุดที่วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคาย แต่ผมอยากมีเพื่อนร่วมเดินทาง ใครจะไปกับผมบ้าง” 
               ธัมมวิริโยภิกขุเอ่ยขึ้นมาลอยๆ แต่ปุญญราโมกับเห็นชอบด้วย เมื่อสอบถามจากครูบาอาจารย์ที่เคยเดินทางสายนั้น ท่านก็ให้คำแนะนำง่ายๆว่า “เดินเท้าไปที่ภูเก้าก็จะลงเขาที่อำเภอหนองวัวซอ จากนั้นก็เดินตามทุ่งนาผ่านไปที่บ้านผือ ไม่เกินเจ็ดวันก็จะถึงวัดหินหมากเป้ง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย”ท่านให้คำแนะนำเพียงเท่านั้น

               แต่ทว่าภิกษุหนุ่มทั้งสองที่พึ่งบวชเพียงสองพรรษาก็เชื่อมั่นในพลังศรัทธาของตนเอง ต่อมาอีกสามวันฉันภัตตาหารเสร็จจึงออกเดินทาง สามสิบปีที่แล้ว ถนนหนทางยังไม่ค่อนสะดวก ยังเป็นถนนลูกรัง บางแห่งเป็นทางเกวียน เรื่องรถยนต์โดยสารวิ่งวันละรอบเท่านั้น จากบ้านป่ามายังตัวอำเภอซึ่งห่างกันไม่ถึงยี่สิบกิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาไปกลับถึงหนึ่งวัน
               การเดินทางจึงต้องผ่านทุ่งนา เทือกสวนไร่นาของชาวบ้านที่ปล่อยทิ้งร้างหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้น ผมจำได้ว่าเป็นเดือนมีนาคม เพราะเราออกเดินทางก่อนสงกรานต์ประมาณเดือนหนึ่ง เรื่องของการเดินทางของพระภิกษุในดินแดนแถบนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะในแต่ละวันจะมีพระธุดงค์เดินทางขึ้นภูเก้าอยู่เป็นประจำ
             คำเล่าลือของชาวบ้านแถบนั้นบอกว่า “ผีที่ภูเก้าดุร้ายน่ากลัวเป็นที่สุด ในแต่ละปีมีผู้สังเวยชีวิตบนภูเขาแห่งนี้ปีละหลายคน คนที่เสียชีวิตส่วนหนึ่งมาจากพวกที่ไปเลื่อยไม้ในป่า บางคนนอนหลับอยู่ดีๆก็ไม่มีโอกาสตื่นอีกเลย ชาวบ้านเรียกว่าไหลตาย แต่บางคนบอกว่าเป็นเพราะทำผิดต่อผี บางคนเป็นไข้ป่า(ไข้มาลาเรีย)ความตายที่หาสาเหตุไม่ได้ชาวบ้านก็จะยกให้ผี เพราะไม่ต้องอธิบายต่อ หรือไม่ก็หาคำอธิบายตามหลักวิชาการสมัยใหม่ไม่ได้ เพราะชาวบ้านที่นี่เรียนจบแค่นั้นประถมปีที่สี่เทานั้นเอง บางคนกว่าจะจบตามหลักสูตรก็ต้องเรียนซ้ำชั้นหลายปี เพื่อนบางคนเรียนจบไปแต่งงานมีครอบครัวแล้ว แต่ยังมีบางคนเรียนไม่ยอมจบ ครูสมัยนั้นท่านเอาจริงสอบตกก็ต้องเรียนใหม่ 

               ดึกสงัดความเงียบแห่งขุนเขาน่ากลัวนัก ไม่มีอะไรเลยนอกจากเสียงลมและเสียงสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางคืน ผมสวดมนต์ แผ่เมตตาบอกเจ้าที่เจ้าทางขอพักพาอาศัย และพรุ่งนี้ขอให้หาทางออกจากหุบเขาแห่งนี้ได้ด้วย จากนั้นก็เริ่มนั่งสมาธิตามแบบที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนมาคือการกำหนดลมหายใจเข้าออก โดยใช้คำบริกรรมว่า “พุทโธ” 

               ผ่านไปนานเท่าไหร่ไม่ได้กำหนด จิตผมสงบนิ่งในสมาธิอันแน่วแน่ คงเพราะการเดินทางทั้งวันนั่นเองที่ทำให้จิตสงบง่ายกว่าปกติ พลันก็เหมือนกระแสลมแรงพัดพาต้นไม้หักโค่นไปตามๆกัน ผมไม่ได้ออกจากสมาธิยังคงเฉยกำหนดรู้ตามปกติ ไม่นานก็เหมือนมีฝนเทลงมาอย่างหนัก แต่แปลกกลดผมไม่ไหวติงเลย ลมและฝนดูเหมือนจะตกทั่วภูเขา แต่ไม่ตกที่กลดผม ไม่นานนักก็เหมือนมีบุรุษร่างยักษ์สูงขนาดลำตาล ยืนตระหง่านที่เบื้องหน้า เปล่งเสียงหัวเราะลั่น ก่อนจะบอกว่า “เพื่อนท่านดูหมิ่นผม กล่าวหาผมว่าไม่มีอยู่จริง เป็นวิญญาณที่ดุร้าย ขาดเมตตาธรรม แต่พวกมนุษย์ทั้งหลายต่างก็ไร้สัจจะ ไม่มีใครรักษาสัจจะได้สักคน พูดอย่างทำอย่าง วันนี้ผมมาเตือนท่าน อย่าได้โยนความผิดให้พวกผม คนตายเหล่านั้นเขาถึงฆาตต่างหาก ไม่เกี่ยวกับวิญญาณหรือผีร้ายตนใดเลย ถึงพวกผมจะเป็นผีแต่มีสัจจะ ไม่ทำร้ายใครโดยไร้แหตุผล คนพวกนั้นสมควรตายทั้งนั้น ฝากเตือนเพื่อนท่านด้วย” ผมแค่นั้นร่างก็พลันหายสาบสูญไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
               ผมออกจากการนั่งสมาธิแสงสีทองเริ่มจับขอบฟ้าเบื้องบุรพทิศแล้ว มองดูรอบอาณาบริเวณว่าต้นไม้หักโค่นที่ไหนบ้าง แต่ทุกอย่างยังอยู่ในสภาพเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ป่ายังคงเป็นป่า ต้นไม้น้อยใหญ่ยังยืนหยัดอย่างยืนยงคงคู่ป่าเขา ได้ยินเสียงไก่ขันแว่วมาจากที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ค่อยๆเงี่ยหูฟังก็สามารถจับทิศทางได้ ปุญญราโมเก็บบริขารเสร็จแล้ว ก่อนออกเดินทางจึงบอกท่านไปว่า ให้ขอขมาเจ้าป่าเจ้าเขาเสีย ท่านคิดอะไรไว้เมื่อวานรีบขอโทษเขาเสีย ปุญญราโมไม่ได้ว่าอะไรแต่จุดธูปขึ้นหนึ่งดอกจากนั้นก็พนมมืออธิษฐานอะไรบางอย่าง ควันธูปลอยขึ้นบนท้องฟ้า ก่อนจะค่อยๆพัดไปอีกทางอย่างสงบนิ่ง ผมจึงบอกว่า “เราเดินไปทางที่ควันธูปลอยไปนี่แหละ” จากนั้นก็ออกเดินทาง

               กว่าจะพบหมู่บ้านกลางหุบเขาก็ปาเข้าไปบ่ายคล้อยแล้ว มีเพียงบ้านของชาวบ้านสามสี่หลังเท่านั้น ชาวบ้านหาหมากพลูบุหรี่มาถวาย แต่เนื่องจากเลยเวลากระทำภัตตกิจไปนานแล้ว เราทั้งสองรูปจึงต้องอดอาหารตลอดวัน แต่ทว่าการอดอาหารไม่ได้ทำให้เราเหน็ดเหนื่อยเลย ชาวบ้านบอกทางว่า “เดินไปอีกไม่เกินค่ำก็จะถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง หลวงพี่จะพักที่นี่หรือจะเดินต่อไป”
              เราตัดสินใจเดินทางต่อไป กระทั่งค่ำจึงมองเห็นควันไฟลอยมาจากหมู่บ้าน วันนั้นจึงหาที่พักไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก รุ่งเช้าจึงได้ออกบิณฑบาต ได้อาหารพอประทังชีวิตและออกเดินทางมุ่งหน้าตามเส้นทางบนยอดเขาไปเรื่อยๆ ต่อมาผมได้ถามท่านปุญญราโมถึงเรื่องวันนั้น 
               ท่านเล่าให้ผมฟังว่า “ผมด่าวิญญาณพวกนั้นจริง เพราะผมเชื่อว่าผีพวกนั้นที่ทำให้ญาติผมเสียชีวิต ญาติผมคนนั้นเสียชีวิตเพราะเชื่อกันว่าเป็นไข้ป่า เขามาเลื่อยไม้บนภูเก้าแห่งนี้แหละ แต่ผมเชื่อในใจลึกๆว่าเขาตายเพราะผีภูเก้า จึงเผลอกล่าวหาพวกเขาไป แต่คืนนั้นเขามาบอกผมเหมือนกันว่า พวกเขาไม่ได้ทำอะไรญาติผมเลย พวกเขาเสียชีวิตเพราะเป็นไข้ป่าจริงๆ ผมจึงขอขมาที่ได้กล่าวโทษเขาไป ท่านจะเชื่อหรือไม่ก็ตามควันธูปนั่นเป็นเพราะวิญญาณแห่งขุนเขาเปิดทางให้ ท่านและผมจึงได้มาถึงหมู่บ้าน ไม่อย่างนั้นพวกเราคงหลงทางบนยอดภูเก้าอีกหลายวัน”

               ธัมมวิริโยภิกขุสรุปสั้นๆว่า “ผมเชื่อว่าผีและวิญญาณมีอยู่จริง” จึงบอกท่านไปว่าในพระไตรปิฎกก็ยืนยันไว้ชัดเจนดังที่ปรากฎใน สังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/281/195) กล่าวถึงสัตว์ทั้งหลายมีคติที่ไปห้าประการคือนิรยะ(นรก) ติรัจฉานโยนิ (สัตว์ดิรัจฉาน) ปิตติวิสัย(ภูมิแห่งเปรต)มนุสสะ (มนุษย์)และ เทวะ  (เทวดา)” บางตำรายังมีอสูรกายแทรกอยู่ระหว่างปิตติวิสัยกับมนุษย์อีก  กำเนิดเหล่านี้ย่อมมีผู้ไปเกิด แต่ภพไหนภูมิไหนจะมีมากกว่ากันนั้น ตอบไม่ได้ เราเห็นเพียงภพมนุษย์อย่าพึ่งด่วนสรุปว่ามีมนุษย์เท่านั้นในโลกนี้ ภพอื่นภูมิอื่นอาจจะมีจำนวนมากกว่ามนุษย์นับร้อยนับพันเท่าก็ได้ ในธัมมจักกัปปวัตนสูตร ก็มีเทวดา พรหมพากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้าจำนวนนับไม่ถ้วน มนุษย์จึงเป็นเพียงเศษเสี้ยวของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
               พวกเทวดาก็มีจำนวนมากถึงหกชั้น พรหมโลกอีกสิบหกชั้น ยังมีอรูปาวจรภูมิอีกสี่ชั้น   ดังนั้นในโลกนี้จึงไม่ได้มีอยู่เฉพาะมนุษย์อย่างเดียว ยังมีภูมิอื่นแทรกอยู่ด้วย แต่ทว่าเรามองไม่เห็นด้วยตาธรรมดา  อีกอย่างหนึ่งต่างฝ่ายต่างอยู่ถ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันก็จะไม่ปรากฎกายให้เห็น วิญญาณก็เหมือนมนุษย์บางพวกก็เป็นฝ่ายดี แต่บางทีก็เป็นฝ่ายร้าย แม้แต่พวกเทพก็ยังมีเทพฝ่ายดีและเทพฝ่ายร้าย

               เมื่อถามถึงปุญญาราโม ท่านธัมมวิริโยบอกว่า “ไม่ได้พบกันมาสิบกว่าปีแล้ว แต่ได้ข่าวว่าท่านธุดงค์อยู่ทางภาคเหนือ คงมีประสบการณ์ที่น่าสนใจ”จึงตั้งจิตว่าหากปุญญราโมยังอยู่ในเพศพรหมจรรย์ขอให้ได้พบท่านอีกครั้ง ยังสงสัยและติดใจเรื่อง “ปรากฎการณ์ผีแม่หม้าย” ระหว่างชายแดนอำเภอโนนสังและหนองวัวซอที่ท่านเคยเล่าให้ฟังเมื่อหลายปีก่อน

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
24/03/54

ภาพประกอบ: ถ้ำแก้ว-ถ้ำพระ อำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ

หมายเหตุ:ปัจจุบันภูเก้าได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติภูเก้า -ภูพานคำ เป็นพื้นที่ในบริเวณที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งอยู่ในบริเวณตอนล่างของจังหวัดหนองบัวลำภู และตอนบนของจังหวัดขอนแก่น สภาพธรณีเป็นภูเขาหินทราย ซึ่งมีชั้นของหินทรายอยู่ด้านบนระดับผิวดิน โดยมีชั้นของหินดินดาน หรือหินดินดานปนทรายเป็นฐานด้านล่าง มีดินประเภทดินลูกรังและดินร่วนปนทรายกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า ทิวทัศน์ที่สวยงามตามธรรมชาติ และสภาพป่าโดยทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง มีเนื้อที่ประมาณ 322 ตารางกิโลเมตร หรือ 201,250 ไร่ 

ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.hamanan.com/tour/nongbualumpu/utayanphukaowphuphankhum.html  

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก