ขณะที่รถวิ่งอยู่บนถนนที่คดเคี้ยวเลี้ยวลดไปตามสันเขา เดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำเดี๋ยวเลี้ยวเดี๋ยวตรงที่เมืองนูวารา เอลิยา ประเทศศรีลังกา สองข้างทางเต็มไปด้วยไร่ชากว้างไกลสุดลูกตาเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด สองข้างทางมีต้นกล้วยและมะพร้าวปลูกแซมเป็นหย่อมๆ ข้างถนนมีร้านค้าขายผลไม้นานาชนิดเช่นมะละกอ กล้วย มะพร้าว เป็นต้น บนรถโดยสายที่มีนักทัศนาจรเพียงสามสิบคน ใครคนหนึ่งเอ่ยขึ้นมาว่ากล้วยลูกโตๆและมะพร้าวสีทองคงหวานดี พระ ดร.คิริเมติยาเน วิมลวังสะ ผู้นำทางบอกว่าเดี๋ยวคงได้ลิ้มรส แต่จนแล้วจนรอดตั้งแต่เช้ายันบ่ายไม่มีใครได้มีโอกาสได้ชิมกล้วยและน้ำมะพร้าวเลยพระวิมลวังสะยังบอกว่ามะพร้าวที่เมืองแคนดี้มีรสหวานและอร่อยกว่าที่เมืองนูวารา เอลิยา รอไว้วันพรุ่งนี้คงมีโอกาสได้ทดลอง คำที่ท่านพูดนั้นยังจำได้ติดหูไม่มีวันลืม Tomorrow better หากจะแปลเป็นไทยคงได้คำง่ายๆว่า พรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้
คณะนักเดินทางจากเมืองไทยสู่ศรีลังการในครั้งนี้ไม่มีใครเคยเดินทางไปศรีลังกามาก่อนเลย ทุกท่านต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเคยมาครั้งแรกเหมือนกันหมด การเดินทางในวันแรกจึงขึ้นอยู่กับว่าแล้วแต่รถจะพาไป เราได้พระ ดร.คิริเมติยาเน วิมลวังสะ เจ้าอาวาสวิทยาพันธุปริเวณวิหาร ศรีลังกาเป็นผู้นำทางซึ่งท่านวิมลวังสะพูดภาษาอังกฤษสำเนียงศรีลังกาผสมญี่ปุ่นฟังเข้าใจค่อนข้างยาก งานนี้ไม่มีการแปลเพราะต่างก็คิดว่าคงฟังรู้เรื่องกันทุกคน เพราะมีดอกเตอร์เกือบสิบคน มีผู้ช่วยศาสตราจารย์อีกหลายท่าน
แม้จะฟังไม่ค่อยทันแต่ก็พยายามจับใจความตามประสาของผู้ที่ไม่ได้เรียนจบมาจากเมืองนอกสรุปใจความได้ว่า “หุบเขานูวารา เอลิยานั้นตั้งอยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 1800 -2000 เมตร อุณภูมิประมาณ 11-20 องศา อากาศหนาวเย็นตลอดตลอดปี เมื่อครั้งที่อังกฤษครอบครองศรีลังกานั้น เซอร์เอ็ดเวิร์ด บาร์เน็ตได้เข้าครอบครองดินแดนแห่งนี้ในปีคริสตศักราช 1826 (พ.ศ. 2369) ในสมัยนั้นเต็มไปด้วยไม้สักและป่าไม้นานาชนิด แต่ข้าหลวงอังกฤษสั่งให้ตัดไม้สักจนหมดภูเขาเพื่อจะใช้พื้นที่ในการปลูกชาแทน ถึงแม้จะเป็นข้ออ้างในการนำไม้สักกลับประเทศก็ตาม แต่ผลที่ตามมาคือเมืองนูวารา เอลิยาได้กลายเป็นแหล่งผลิตชาชั้นดีของศรีลังกา จนปัจจุบันกลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ"
บางคนอาจจะมีคำถามว่าชาผลิตที่ประเทศไหนดีที่สุด บางคนบอกว่าชาเขียวจากญี่ปุ่น ชาอู่หลงจากประเทศจีน ชาระมิงค์จากประเทศไทย หรือชาซีลอนจากประเทศศรีลังกา คำตอบนี้คงแล้วแต่คนชอบแต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าชาจะดีหรือไม่นั้นให้ดูที่ความสูงของพื้นที่ในการปลูกชา พื้นที่ยิ่งสูง อากาศยิ่งหนาวเย็นย่อมเป็นแหล่งผลิตชาที่มีคุณภาพดีที่สุด แต่ทว่าคำว่า “ชาดีที่สุด” คงไม่มีใครยอมใคร ใครชอบชาประเภทไหนก็เลือกได้ตามใจชอบ แต่ทว่าชาที่ขายดีที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้คือชาโออิชิ เพราะมีขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปมีให้เลือกซื้อหลายชนิด เปิดขวดดื่มได้ทันที
รถยนต์พาคณะเดินทางไปถึงโรงงานผลิตชามีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่บรรยายขั้นตอนการผลิตชา แต่คงนำมาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะมีหลายขั้นตอนต้องผ่านเครื่องอบ เครื่องบด เครื่องอะไรอีกหลายอย่าง และให้พักดื่มชา เลือกซื้อชาเป็นของระลึกตามใจชอบ ได้สูดอากาศบริสุทธิ์บนยอดเขาสูงท่ามกลางหมอกที่เคลื่นตัวผ่านร่างกายเหมือนกับจะจับต้องได้ทำให้หายเหนื่อยจากการเดินทางได้และลืมมะพร้าวไฟสีเหลืองไปโดยปริยาย
คืนนั้นพักแรมบนยอดดอยในใจยังคิดถึงมะพร้าวไฟลูกสีเหลืองน้ำคงมีรสหวานอร่อย และคิดถึงกล้วยลูกโตๆที่มองเห็นตามสองข้างทาง สายฝนยังคงตกพรำตลอดทั้งคืน ตื่นเช้าแบกกล้องไปถ่ายภาพทะเลสาบข้างๆที่พักได้ภาพสวยๆมาหลายภาพ พอถึงเวลาอาหารเช้าสิ่งแรกที่มองหายังคงเป็นน้ำมะพร้าว แต่จนแล้วจนรอดก็มองไม่เห็น สิ่งที่ได้สัมผัสกลับเป็นไข่ดาวหมูแฮมน้ำชาและกาแฟเท่านั้น แต่ก็อิ่มท้องดี สายตายังมองดูต้นมะพร้าวและลูกมะพร้าวที่เรียงรายตามสองข้างทาง แต่ทว่าวันนี้คงหมดโอกาสได้ชิมแล้ว
พระ ดร.คิริเมติยาเน วิมลวังสะซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำทางยิ้มเหมือนกับจะรู้ทันว่าในใจคณะเดินทางจากประเทศไทยกำลังคิดอะไรอยู่ ท่านยังพูดประโยคเดิมเมื่อวันวานเหมือนแผ่นเสียงตกร่องว่ามะพร้าวที่เมืองแคนดี้อร่อยกว่าที่มะพร้าวที่เมืองนูวารา เอลิยา รอถึงวันพรุ่งนี้คงได้ชิมน้ำมะพร้าว อดใจรอหน่อยพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้ Tomorrow Better ช่างละม้ายคล้ายกับประธานาธิบดีบารัค โอบามาพูดไว้ไม่มีผิดว่า Make tomorrow Better แต่จะจริงหรือไม่นั้น พรุ่งนี้อาจจะมีคำตอบ หรือไม่ก็พรุ่งนี้อาจจะไม่มีเลยก็ได้ สุภาษิตของคนไทยนั้นหากจะทำอะไรควรรีบทำไม่ควรรอถึงวันพรุ่งนี้ ทำวันนี้ให้ดีที่สุดพรุ่งนี้ก็จะดีไปเอง
พระพุทธศาสนามีคำสอนอยู่บทหนึ่งดังที่ปรากฎในภัทเทกรัตตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ (14/527/265) ตอนหนึ่งว่า “บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง”แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เรามองเห็นในวันนี้ แต่เอื้อมไม่ถึงนั้นมันรบกวนจิตใจเป็นอย่างยิ่ง พระ ดร.คิริเมติยาเน วิมลวังสะคงลืมนึกถึงพุทธพจน์บทนี้กระมังจึงไม่ยอมให้รถจอดข้างทางให้คณะนักเดินทางซื้อมะพร้าวมาดื่มให้หายสงสัย หรือว่าน้ำมะพร้าวมันไม่ได้หวานอย่างที่เราจินตนาการไว้ ท่านจึงพยายามเลี่ยงไปพูดเรื่องอื่นแทน เอาเถอะถึงอย่างไรก็ยังมีความหวังว่าวันพรุ่งนี้ย่อมดีกว่าวันนี้ น้ำมะพร้าวที่เมืองแคนดี้คงหวานกว่าที่เมืองนูวารา เอลิยา อย่างที่พระ ดร.คิริเมติยาเน วิมลวังสะแห่งศรีลังกาว่าไว้ หวังว่าพรุ่งนี้คงดีกว่าวันนี้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
29/12/53