ใครที่เคยเดินเข้าป่าทึบจะมองเห็นแต่ต้นไม้ระรานตาเต็มไปหมด จนจำได้ไม่หมดว่าต้นไหนชื่ออะไร ต้นไหนมีประโยชน์ ต้นไหนเป็นพิษ เพราะต้นไม้เหล่านั้นต่างก็ดำรงตัวอยู่ได้ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด หากต้นไหนไม่แข็งแรงเพียงพอสู้ต้นอื่นไม่ได้ก็ต้องตายไป ธรรมชาติเที่ยงตรงเสมอมาใครแข็งแรงกว่าผู้นั้นมีสิทธิ์อยู่รอด ดูการแข่งขันกีฬาเอเซี่ยนเกมส์ที่กว่างโจ่วเกมส์แล้วก็ต้องยอมรับความเก่งของนักกีฬาเจ้าภาพที่ได้เหรียญทองเกินร้อยเหรียญไปแล้ว ในขณะที่ทีมนักกีฬาไทยคว้ามาได้หนึ่งเหรียญทองแล้ว จากนักกีฬาเทควันโด้
ผู้ที่สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาก็เหมือนคนที่กำลังเดินเข้าป่าใหญ่ เห็นแต่ต้นไม้ที่มีรูปร่างคล้ายๆกัน จนแยกไม่ออกว่าต้นไหนคือต้นอะไร จำชื่อได้ไม่หมด บางคนมุมานะอ่านพระไตรปิฎกจนจบแต่ดูเหมือนว่ายิ่งอ่านยิ่งหาบทสรุปไม่ได้ เพราะธรรมมีหลากหลายเหลือเกิน พระภิกษุบางรูปท่องจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมดแต่ก็ยังมีกิเลส ความรู้ที่ได้จากการจำจึงเป็นความรู้ระดับสัญญาคือการจำได้ ยังไม่ใช่การรู้จริงและแจ้ง ซึ่งการรู้จริงและรู้แจ้งนั้นเกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าเคยเปรียบสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้มีมากเหมือนใบไม้บนต้น ซึ่งต้นไม้ที่สมบูรณ์จะมีใบดกหนามากมายจนนับไม่ถ้วน เหมือนธรรมที่พระองค์ตรัสรู้มีมากมายแต่สอนได้เพียงบางส่วนเหมือนใบไม้เพียงกำมือเดียว คำสอนนี้มีปรากฎในสีสปาสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (19/1712/434) สรุปความว่า “สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงถือใบประดู่ลายสองสามใบด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ใบประดู่ลายสองสามใบที่เราถือด้วยฝ่ามือกับใบที่บนต้น ไหนจะมากกว่ากัน
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลายสองสามใบที่พระผู้มีพระภาคทรงถือด้วยฝ่าพระหัตถ์มีประมาณน้อย ที่บนต้นมากกว่า พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกเธอทั้งหลายมีมาก ก็เพราะเหตุไรเราจึงไม่บอก เพราะสิ่งนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่บอก”
จากพระสูตรนี้แสดงว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนมีเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ซึ่งมีจำนวนมากกว่า พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้จึงเทียบได้กับใบประดู่เพียงสองสามใบ ยังมีความรู้อื่นๆที่ไม่ได้มีการจดบันทึกอีกมากมายกว่า พระไตรปิฎกจึงมิใช่คำตอบทั้งหมดของพระพุทธศาสนา แต่เป็นเหมือนแผนที่ที่ทำให้ผู้ศึกษาไม่หลงทาง
พระพุทธเจ้าได้สรุปคำสอนของที่พระองค์ทรงสอนไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเราได้บอกแล้ว เราได้บอกแล้วว่า นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ก็เพราะเหตุไรเราจึงบอก เพราะสิ่งนั้นประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ... นิพพาน เพราะฉะนั้น เราจึงบอก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”คำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาจึงสรุปลงได้ที่อริยสัจสี่คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ในหนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” ซึ่งเป็นหนังสือบันทึกคำสอนของหลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ ครั้งหนึ่งหลวงปู่ดุลย์ได้ปรารภธรรมให้ลูกศิษย์ฟังว่า “เรา(หลวงปู่ดุลย์) เคยตั้งสัจจะอ่านพระไตรปิฎกจนจบ ในพรรษาที่ 2495 เพื่อสำรวจดูว่าจุดจบของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงไหน ที่สุดของทุกข์นั้นอยู่ตรงไหน พระพุทธองค์ทรงกล่าวสรุปไว้ว่าอย่างไร ครั้นอ่านไปตริตรองไปจนจบก็ไม่เห็นตรงไหนที่มีสัมผัสอันลึกซึ้งถึงจิตของเรา ให้ตัดสินได้ว่านี่คือที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ ที่สุดแห่งมรรคผล หรือที่เรียกว่านิพพาน”
มีอยู่ตอนหนึ่งที่กล่าวถึงพระสารีบุตรที่พึ่งออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามเชิงสนทนาธรรมว่า “สารีบุตร สีผิวของเธอผ่องใสยิ่งนัก วรรณะของของเธอหมดจดผุดผ่องย่องนัก อะไรเป็นวิหารธรรมของเธอ”
พระสารีบุตรกราบทูลว่า “ความว่างเปล่า(สุญญตา) เป็นวิหารธรรมของข้าพระองค์”
หลวงปู่ดุลย์ อตุโลสรุปสั้นๆว่า “ในพระไตรปิฎกก็เห็นมีเพียงแค่นี้แหละที่มาสัมผัสจิตของเรา” หลวงปู่ช่างสรุปเนื้อหาในพระไตรปิฎกได้รวบรัด สั้น ย่อและกระชับได้ดีแท้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/11/53