เพื่อนคนหนึ่งเรียนจบปริญญาเอก แกซ้อมใส่ชุดครุยปริญญาเพื่อเตรียมตัวเข้ารับปริญญาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งก็เป็นเวลาเกือบเดือน ชุดสีขาวพร้อมครุยปริญญาที่ใส่ถ่ายภาพแล้วถ่ายภาพอีก เหมือนคนหนุ่มที่พึ่งเคยเข้าร่วมพิธีประทานปริญญาครั้งแรกในชีวิตทั้งๆที่เรียนจบมาหลายปริญญาแล้ว เห็นคนกำลังมีความสุขก็พลอยสุขใจไปกับเขาด้วย แม้ว่าตัวเองจะไม่มีสิทธิ์เข้ารับปริญญากับเขาในครั้งนี้ เพราะเรียนยังไม่จบสมบูรณ์ แม้จะสอบผ่านไปแล้ว แต่การแก้ไขก็ต้องใช้เวลานานกว่าสองเดือน
เมื่อเห็นเขามีความสุขจึงถือโอกาสสัมภาษณ์ว่าทำอย่างไรจึงเรียนจบ มานพ(นามสมมุติ) จึงเริ่มเล่าให้ฟังว่า “ผมเรียนไม่เก่ง แต่เรียนไม่หยุด จบปริญญาตรีตั้งแต่ปี 2520 ซึ่งก็เป็นเวลานานกว่าสามสิบปี มีโอกาสเรียนปริญญาโทตอนอายุสี่สิบแล้ว ทั้งๆที่ตอนนั้นทำงานไปด้วย มีครอบครัวที่จะต้องดูแลอีก จากนั้นจึงได้เข้าเรียนในระดับปริญญาเอกใช้เวลาห้าปีจึงเรียนจบตามหลักสูตร เรียนไปทำงานไปทั้งเหนื่อยทั้งท้อแต่ไม่ยอมเลิกในที่สุดก็จบตามหลักสูตร
เมื่อถามว่าจะเรียนไปทำอะไร อายุก็เลยวัยกลางคนไปแล้ว ควรถึงเวลาพักผ่อนอยู่กับลูกหลาน หาความสงบสันติให้กับชีวิต
มานพตอบว่า “ผมไม่ได้เรียนไปสมัครงาน ผมมีงานทำอยู่แล้ว แต่ผมอยากรู้ว่าปริญญาเอกเขาเรียนกันอย่างไร ที่สำคัญผมอยากศึกษาพระพุทธศาสนา แต่ครั้นจะศึกษาอย่างเดียวก็ไม่ค่อยมีเวลา ผมจึงตัดสินใจเรียนเพื่อปฏิบัติธรรมไปด้วย เป็นสาขาวิชาที่เรียนแล้วรู้สึกว่าตัวเองได้บุญกุศล มานพเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สาขาพุทธศาสน์ศึกษา เน้นหนักที่การศึกษาพระพุทธศาสนาและศาสตร์สมัยใหม่ สาขาวิชานี้พึ่งมีผู้เรียนจบไม่ถึงสิบคน
ก่อนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมานพไม่เคยบวชเรียนมาก่อน ไม่ค่อยได้เข้าวัด เพราะทำแต่งาน เป็นชาวพุทธประเภทบรรพบุรุษพาถือ มีชื่อในสัมมโนครัว แต่พอจบปริญญาเอกปัจจุบันกลายเป็นนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ทั้งสอนและบรรยายตามหน่วยงานต่างๆ มานพสรุปว่า “เรียนไม่หยุดแม้สดุดก็ไม่ทิ้ง คนทำจริงย่อมสำเร็จ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร แต่ผมเรียนจบได้เพราะความพยายามเหมือนกัน เพราะความเพียรพยายามจึงทำให้ประสบความสำเร็จ”
ฟังมาถึงตอนนี้ทำให้คิดถึงคำตอบที่พระพุทธเจ้าตอบเทวดาในโอฆตรณสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/1/1) สรุปความว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้วเทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงามยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จากนั้นได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระองค์ ข้ามโอฆะได้อย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว”
เทวดาทูลถามต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พักไม่เพียร ข้ามโอฆะได้ อย่างไรเล่า”
พระพุทธเจ้าตอบว่า “ท่านผู้มีอายุเมื่อใด เรายังพักอยู่ เมื่อนั้นเรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้นเรายังลอยอยู่โดยแท้ ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก เรา ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้”
ข้อความในพระสูตรมีเนื้อหาสั้นๆดูเหมือนว่าพอพระพุทธเจ้ากล่าวจบเทวดาได้ชื่นชมและลากลับไปเทวโลกตามเดิม เทวดารีบมาแล้วก็รีบไป นัยว่าเพราะทนสูดดมกลิ่นกายมนุษย์นานไม่ได้ กลิ่นมนุษย์นั้นอาจจะหอมในหมู่มนุษย์ด้วยกัน แต่สำหรับเทวดาแล้วกลิ่นมนุษย์เหม็นมาก เทวดาอยากรู้ก็เข้ามายืนถามพระพุทธเจ้าไม่นั่ง ถามแล้วก็รีบกลับ ดังนั้นข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรคส่วนหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่มาจากคำสนทนาปัญหาระหว่างเทวดากับพุทธเจ้า
ความหมายในคำว่า “พัก”หรือ “หยุด” หมายถึงในการปฏิบัติธรรมต้องทำอย่างต่อเนื่อง ถ้าหยุดเมื่อใดเมื่อนั้นก็จะจมลงในอำนาจของกิเลสตัณหาทั้งหลายที่คอยจ้องหาโอกาสจะครอบงำจิตมนุษย์อยู่ตลอดเวลา เป็นเหมือนมารที่ตามผลาญอย่างหนึ่ง หากไม่ระวังมีหวังถูกมารชักนำไปในทางผิดได้ง่าย แม้การศึกษาเล่าเรียนหรือการทำงานก็คล้ายกัน พักนานหยุดนานเมื่อใดจะจมลงสู่ความขี้เกียจกลับมาทำต่ออีกก็ยากอย่างยิ่ง
คำว่า “ยังเพียรอยู่” หรือ “พยายาม” หมายถึงการกระทำด้วยอำนาจของทิฏฐิหรือความเห็น ซึ่งถ้ามีมากจนเกินพอดีจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความจริง พระพุทธศาสนาเรียกว่า “มิจฉาทิฏฐิ” แปลว่าผู้มีความเห็นผิด ทำให้ลอยไปห่างไกลจากอริยสัจ
หากจะแปลความง่ายๆด้วยภาษาที่ฟังแล้วน่าจะง่ายขึ้น คำว่า “ไม่พักไม่เพียรจึงข้ามโอฆะได้” จะแปลด้วยสำนวนที่นำไปใช้ได้ในการศึกษาก็จะได้ความว่า “ไม่หยุดไม่พยายามจึงประสบความสำเร็จ” หากหยุดเมื่อใดจะจมลงในความขี้เกียจ แต่หากพยายามเกินไปอาจคุมสติไม่อยู่เข้าใกล้ความเป็นบ้าได้ง่ายๆ ทางสายกลางในการศึกษาจึงอยู่ที่ “ความต่อเนื่อง” คือกระทำโดยความต่อเนื่องนั่นเอง
มานพอายุห้าสิบปีปลายแล้ว หลายคนอาจจะมองว่าเขามีอายุมากเกินกว่าจะเข้ารับปริญญา แต่ดูจากรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ การพูดคุยสนทนาในวันที่มาลองสรวมครุยปริญญาแล้ว หากใครไม่รู้จักอายุของเขามาก่อนก็ต้องบอกว่าเหมือนคนหนุ่มที่พึ่งเรียนจบปริญญามีโอกาสเข้ารับปริญญาบัตรครั้งแรก แต่ข้อเท็จจริงคือเขาเรียนจบปริญญาเอกทางด้านพุทธศาสน์ศึกษา ได้รับปริญญาศาสนศาสตรดุษฎบัณฑิต จะเข้ารับปริญญาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2553 ที่หอประชุมสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา นครปฐม ใครจะไปร่วมงานขอเชิญได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
05/11/53