ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

         พระพุทธศาสนาได้จำแนกพระสงฆ์ออกเป็นสองประเภทคือพระสงฆ์ฝ่ายคันถธุระ ซึ่งเป็นพระในฝ่ายที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับคัมภีร์ หนังสือ ตำรับตำราต่างๆ ส่วนมากจะพำนักอยู่ในวัดที่เป็นคามวาสีหรือวัดใกล้บ้าน อีกฝ่ายหนึ่งคือพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระเป็นพระที่เน้นการปฏิบัติบำเพ็ญกรรมฐานอยู่ตามป่า ภูเขา ถ้ำ หรืออยู่ในวัดฝ่ายอรัญวาสีแต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าวัดป่า ชีวิตอยู่กับการฝึกอบรมจิตของตัวเอง ชาวบ้านนิยมเรียกว่าพระธุดงค์กรรมฐาน 
         ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอันเป็นผลงานของพระพุทธโฆษาจารย์มีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงการที่พระภิกษุจะบวชอยู่ได้นานนั้นมีอยู่สามประเภทคือพระผู้บำเพ็ญวิปัสสนา พระผู้ศึกษาพระปริยัติและพระนวกรรม หรืออาจสรุปได้ง่ายๆว่าพระกรรมฐาน พระนักศึกษาและพระก่อสร้าง ทำไมพระสามประเภทนี้จึงบวชอยู่ได้นาน เพราะมีงานที่ต้องทำหรือทำแต่ยังไม่เสร็จนั่นเอง
         หลายปีมาแล้วท่านสุธัมโมภิกษุได้พักจำพรรษาที่ถ้ำสุคโต อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ได้แวะมาหาแจ้งข่าวว่าอยากได้ที่พักกันฝนสักหลัง เพราะในฤดูฝนอากาศในถ้ำอับชื้นไม่สะดวก อาจจะทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย จึงได้ตกลงใจไปเยือนท่านสุธัมโมภิกขุที่ถ้ำแห่งนั้น

         ท่านสุธัมโมภิกขุเป็นพระป่าชอบธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ มักจะพักอยู่ไม่ค่อยเป็นที่ ท่านเรียนจบเพียงนักธรรมชั้นโทท่านบอกว่าเคยสอบนักธรรมชั้นเอกหลายปีแต่สอบไม่ผ่านจึงเลิกสอบ แต่ความรู้ในระดับนักธรรมเอกของผมมีอยู่ ผมอ่านผมศึกษาด้วยตนเองมาหลายปีจนเข้าใจในหลักการปฏิบัติที่สอนอยู่ในนักธรรมชั้นเอก เพียงแต่ว่าผมสอบไม่ผ่านเท่านั้นเอง แต่เราทั้งสองก็เป็นเพื่อนกันคนหนึ่งเป็นพระมหาเปรียญเอก ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นพระมีชีวิตอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร อยู่ตามถ้ำไม่มีหลักแหล่งที่ชัดเจน ท่องเที่ยวธุดงค์ไปเรื่อยตามแต่โอกาสจะอำนวย พอเข้าพรรษาที่ก็หาวัดที่ไหนสักแห่งอยู่จำพรรษา ออกพรรษาแล้วก็สะพายบาตรแบกกลดท่องเที่ยวต่อไป ชีวิตมีอิสระเสรีไม่ต้องเป็นกังวลกับสิ่งอื่นใด จะตายวันไหนก็ไม่ได้กังวลสนใจ ไม่มีชื่อเสียง อาจเรียกได้ว่าเป็นพระที่ไร้รูปไร้นามก็ได้
         เมื่อเดินทางไปยังถ้ำสุคโตครั้งแรกนั้น ที่พักของท่านสุธัมโมเป็นเพียงกระท่อมของชาวไร่กลางสวนลำไยซึ่งนานๆเจ้าของไร่จะแวะมาเยือนสักครั้ง ท่านสุธัมโมเล่าให้ฟังว่า “ผมพักอยู่เพียงตอนกลางคืนเท่านั้น ส่วนตอนกลางวันผมมักจะหลบอยู่ในถ้ำ เพราะที่นั่นอากาศเย็นสบายไม่มีผู้คนคอยรบกวน บางคืนอาจพักผ่อนในถ้ำเลย การเดินบิณฑบาตต้องเดินผ่านป่าเขา ข้ามลำธารไปอีกไกล ระยะทางไปกลับน่าจะประมาณสิบกิโลเมตรเห็นจะได้ ผมมาพักที่นี่ได้พรรษาหนึ่งแล้ว เพราะโยมแม่อายุแปดสิบแล้วไม่ค่อยสบายมีอาการที่หมอวินิจฉัยไม่ได้ว่าป่วยเป็นโรคอะไร บางครั้งขาบวมเดินไม่ได้ บางครั้งบวมทั้งตัว 
         ผู้เขียนกับสามเณรอีกสามรูปช่วยกันสร้างเพิงที่พักไว้บริเวณหน้าถ้ำ พร้อมกับช่วยกันตั้งชื่อถ้ำแห่งนั้นว่า “ถ้ำสุคโต” มีความหมายว่าผู้ไปดี ถ้ำนั้นปากถ้ำไม่ใหญ่นักเป็นเนินพอจะใช้เป็นที่พักได้เพียงแต่ใช้ไม้ผูกเป็นห้างให้สูงขึ้นก็สามารถป้องกันอันตรายจากสัตว์ป่าเช่นงูหรือสัตว์ร้ายอื่นๆได้ แม้ตามปรกติท่านสุธัมโมจะอ้างเสมอว่า “งูจะไม่เข้าถ้ำ เพราะงูกลัวว่าจะออกจากถ้ำไม่ได้” แต่เพื่อความปอดภัยก็ต้องกันไว้ก่อน

         สุธัมโมเล่าให้ฟังว่า “ผมมาที่นี่ครั้งแรกกลางกลดนอนใต้ต้นไม้ข้างนอกทางเข้าถ้ำ ในคืนนั้นตกดึกจะได้ยินเสียงเหมือนมีคนเดินค่อยๆส่งเสียงดังขึ้นตามลำดับ ผมนอนไม่หลับ มิใช่กลัวแต่คิดว่าคงมีพรานป่าชาวบ้านออกล่าสัตว์ พอนิ่งฟังเสียงนั้นกลับเหมือนเสียงสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งที่ถูกขัง หรือว่าวิญญาณที่สิงสถิตย์ในภายในถ้ำต้องการความช่วยเหลือ ผมพยายามสวดมนต์แผ่เมตตา ผมสวดดังๆเพื่อที่ว่าเจ้าวิญญาณที่ผมเข้าใจจะได้ยิน สักพักเสียงนั้นก็เงียบหายไป ไม่นานนักเสียงนั้นก็คล้ายๆกับนกกำลังกระพือปีกบินเหมือนจะออกมายังปากถ้ำ นกนั้นคงตัวใหญ่มากเพราะเสียงคล้ายกระพือปีกดังมาก ผมหยุดสวดมนต์นิ่งฟัง เสียงนั้นก็เงียบไป ผมอยู่กับเสียงนั้นจนรุ่งสาง ออกบิณฑบาตกลับมาเสียงนั้นก็เงียบแล้ว ผมทนฟังเสียงนั้นอยู่สามคืน พอรุ่งเช้าวันที่สี่จึงตัดสินเตรียมอุปกรณ์คือเทียน ไฟฉาย คบเพลิงให้พร้อม ชักชวนลุงเจ้าของสวนลำไยไปเป็นเพื่อนแกถือขดด้ายขนาดใหญ่ติดมือมาด้วย ตอนนั้นไม่ได้ถามว่าเอามาทำอะไร  เดินเข้าไปดูภายในถ้ำให้เห็นกับตาว่าเสียงนั้นคืออะไรกันแน่
         ลึกเข้าไปภายในถ้ำที่มีทางเดินสลับซับซ้อน มีซอกหลืบของโขดหินบางครั้งต้องค่อยๆคลานเข้าไปตอนนั้นพึ่งได้เห็นว่าด้ายขดนั้นได้ทำหน้าที่มาตั้งแต่ต้นแล้ว ลุงเจ้าของสวนลำไยผูกปลายข้างหนึ่งที่ต้นไม้ปากทางเข้าถ้ำจากนั้นค่อยๆปล่อยเส้นด้ายให้ยาวออกตามทางที่เดินเข้าไป นี่เป็นความรู้ของชาวไร่ลุงบอกว่ากันหลงเผื่อบางทีเข้าไปลึกมากจะได้จำทางกลับได้เพียงสาวเชือกก็สามารถเดินกลับทางเดิมได้แล้ว เรื่องนี้เป็นความรู้พื้นฐานของชาวบ้านที่พำนักอยู่ใกล้ถ้ำ บางครั้งภายนอกที่เราคิดว่าไม่น่าจะลึกนัก แต่พอเข้าไปจริงๆกลับหาทางกลับไม่ได้ อาจขาดอากาศหายใจและอาจจะทำให้เสียชีวิตได้
         พอเดินลึกเข้าไปในถ้ำนั้นกลับกลายเป็น เหมือนห้องโถงขนาดใหญ่ เสียงดังเหมือนนกกระพือปีกดังแว่วมาจากมุมถ้ำ สุธัมโมและอุบาสกจึงตัดสินใจเข้าไปดูให้เห้นกับตา พอเข้าใกล้เสียงยิ่งดังมากขึ้น แสงไฟที่ส่องสว่างทำให้มองเห็นสิ่งที่ก่อให้เกิดเสียงดังได้ชัดเจน มันคือนกขนาดใหญ่ไม่เคยเห็นมาก่อน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นนกแร้งที่ขาติดบ่วงนายพรานจึงทำให้ไปไหนไม่ได้ ตอนนั้นสิ่งที่คาดคิดมาก่อนพลันหายไปหมด ความกลัวก็ไม่หลงเหลืออยู่เลย คิดได้อย่างเดียวว่าต้องหาทางช่วยนกตัวนั้นให้หลุดจากบ่วงให้ได้  ในที่สุดก็สามารถปลดปล่อยนกให้เป็นอิสระได้ พอได้รับอิสรภาพนกนั้นยังพอมีแรงและบินหาทางออกก่อนลับหายไป จากนั้นมาไม่นานอาการป่วยของโยมแม่ผมก็ค่อยๆหายเป็นปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจะเป็นเพราะการที่ผมปลดปล่อยนกแร้งตัวนั้นให้เป็นอิสระก็ได้ แม่ผมอาจเคยผูกกรรมจองเวรกับนกตัวนั้นในอดีตชาติมาก่อนก็ได้




         ท่านสุธัมโมลให้ฟังว่า “สิ่งที่เราคิดไว้อาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎก็ได้ ได้ฟังเรื่องนี้ครั้งแรกคิดถึงผีหรือปีศาจที่กำลังหลอกหลอน หรือวิญญาณร้ายหาทางออกจากฑัณฑทรมาน ถ้ำก็เหมือนกายมนุษย์นี่แหละกว้างศอก ยาววา หนาคืบ แต่เราไม่เคยเห็นสิ่งที่อยู่ภายในกายเลย ทุกอย่างเพียงแต่คาดเดาเอาเท่านั้น อวัยวะภายในก็เคยเห็นแต่ของคนอื่นเช่นตับ ไต ไส้ พุง แต่ของตนเองที่มีเหมือนกันกลับมองไม่เห็น พระพุทธศาสนามีหลักการพิจารณากรรมฐานคือกายคตาสติได้แก่การพิจารณากายในกาย ซี่งมีคำเจริญกายคตาสติทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย แม้ผมจะไม่ได้เรียนภาษาบาลีมาก่อนแต่ผมก็ท่องจำจนขึ้นใจและจะสวดสาธยายก่อนนอนทุกวันเพื่อจะได้ศึกษาและเข้าใจถ้ำคือกายนี้ จากนั้นท่านสุธัมโมก็เริ่มสาธยายว่า
         “อะยัง โข เม กาโย กายของเรานี้แล อุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา อะโธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป ตะจะปะริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ปูโร นานัปปะการัสสะ อะสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ อัตถิ อิมัส๎มิง กาเย มีอยู่ในกายนี้ เกสา คือผมทั้งหลาย โลมา คือขนทั้งหลาย นะขา คือเล็บทั้งหลาย ทันตา คือฟันทั้งหลาย ตะโจ คือหนัง  มังสัง คือเนื้อ นะหารู คือเอ็นทั้งหลาย  อัฏฐี คือกระดูกทั้งหลาย อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก  วักกัง ม้าม หะทะยัง หัวใจ  ยะกะนัง ตับ กิโลมะกัง พังผืด  ปิหะกัง ไต ปัปผาสัง ปอด อันตัง ไส้ใหญ่ อันตะคุณัง ไส้น้อย อุทะริยัง อาหารใหม่ กะรีสัง อาหารเก่า  มัตถะเกมัตถะลุงกัง เยื่อในสมองศีรษะ ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด ปุพโพ น้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท น้ำมันข้น อัสสุ น้ำตา วะสา น้ำมันเหลว เขโฬ น้ำลาย  สิงฆาณิกา น้ำมูก ละสิกา น้ำไขข้อ  มุตตัง น้ำมูตร เอวะมะยัง เม กาโย กายของเรานี้อย่างนี้ อุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา อะโธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป ตะจะปะริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ปูโร นานัปปะการัสสะ อุสะจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ อย่างนี้แล” ผิดตรงไหนช่วยแก้ไขให้ผมด้วย ท่านสุธัมโมบอกหลังจากสาธยายจบ

         ผู้เขียนจึงบอกว่า ไม่มีอะไรผิดพลาดสาธยายได้ถูกต้องตามภาษาบาลีแล้ว การสวดที่มีภาษาบาลีอยู่ด้วยทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้ามีความถูกต้องมากขึ้น แม้บางครั้งภาษาไทยแต่ละสำนักจะแปลไม่เหมือนกันก็ยังมีภาษาบาลีไว้ให้ตรวจสอบ ใครจะแปลอย่างไรก็ว่ากันไป แต่ภาษาบาลีจะรักษาความหมายดั้งเดิมไว้ได้ ด้วยวิธีการที่สวดภาษาบาลีไปด้วยและภาษาแปลไปด้วย สำเนียงภาษาของแต่ละประเทศอาจต่างกัน แต่ภาษาบาลีเหมือนกัน ชาวพุทธทั่วโลกจึงเข้าใจความหมายได้เหมือนกัน เนื่องจากภาษาบาลีเป็นภาษาเก่ามีแต่เสียง ไม่มีตัวอักษร เมื่อไปอยู่ในภาษาของประเทศใดก็ตามก็ใช้ตัวอักษรของประเทศนั้นเป็นเกณฑ์ แต่เสียงเหมือนกันเช่นคำว่า “นโม”  “Namo” จะไปอยู่ในตัวอักษรภาษาก็ตามก็จะออกเสียงเหมือนกัน
         มนุษย์เราส่วนหนึ่งมักจะคิดอะไรมากจนเกินไป และมักจะทำอะไรมากจนเกินเหตุ จนลืมนึกถึงตัวเอง พระพุทธศาสนาเริ่มต้นคำสอนจากตัวเองโดยการพิจารณาสภาวธรรมที่เราคุ้นเคย เห็นอยู่ทุกวัน อัตภาพร่างกายนี้แหละคือตัวทุกข์ การปฏิบัติธรรมก็เริ่มจากตัวเอง อยู่กับลมหายใจเข้าออก โดยการกำหนดรู้ให้เท่าทัน เมื่อความโกรธ ความรัก ความหลง ราคะ ตัณหา ความอยากเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่ามันเกิดขึ้น โดยที่เราไม่วิ่งตามความอยากของตัวเอง ยอมรับกับสภาพที่เกิดขึ้น ปล่อยให้มันเป็นไปโดยเราไม่ต้องวิ่งตามมัน
        จุดประสงค์ของการเจริญกรรมฐานอย่างหนึ่งก็คือการคลี่คลายปมปัญหายุ่งเหยิงทั้งภายนอกและภายในใจเรานั่นเอง กรรมฐานไม่มีสูตรสำเร็จสูตรหนึ่งสูตรใดที่ใช้ได้กับทุกๆคน เพราะคนเรามีความแตกต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การปฏิบัติก็ต้องพลิกแพลงยืดหยุ่นไปตามจริตนิสัยของแต่ละคน การเจริญกรรมฐานเริ่มต้นที่จุดที่เราอยู่นั่นแหละและต้องเป็นไปตามธรรมชาติพร้อมๆกับการดำเนินชีวิต ทุกเวลา ทุกหนทุกแห่งโดยไม่มีข้อจำกัด

         หากลองสำรวจจิตใจของตนเองดู ชีวิตเราต้องขึ้นอยู่กับผู้คน สังคม ตำรับตำราและการทำงานมามากมายเพียงใด บางครั้งทำงานด้วยความเบื่อหน่าย เบื่อทั้งผู้คนและเบื่อตัวเอง แต่เมื่อย้อนคิดว่าเราจะอยู่กับความเบื่อนี้โดยไม่สนใจกับมัน โดยปล่อยให้มันเป็นไปโดยไม่ทำอะไรเลย การไม่ทำอะไรเลยนั่นดูเหมือนจะง่าย แต่เอาเข้าจริงไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะจิตมันจะพยายามวิ่งวุ่นชวนไปที่นั่นที่นี่ แต่เมื่อเราไม่ยอมเดินตามเจ้าความคิดปรุงแต่งในที่สุดมันก็นิ่ง 
         การไม่ทำอะไรนั้นแท้จริงแล้วก็คือการที่กำลังทำอะไรอีกอย่างหนึ่ง กรรมฐานก็เกิดขึ้นจากตรงนี้ ที่สำคัญต้องหาจุดเริ่มต้นให้ได้ การเจริญกรรมฐานก็เหมือนกับการหัดขี่จักรยานตอนแรกๆ ซึ่งผู้เริ่มครั้งแรกมักจะตั้งใจจนเกินไปและผลที่ตามมามักจะล้มคว่ำล้มหงาย แต่พอหัดไปนานๆเข้าก็จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเองว่าควรจะออกแรงแค่ไหนจึงจะทำให้นั่งอยู่บนจักรยานได้ และก็ใช้แรงนั้นขับเคลื่อนจักรยานไปข้างหน้า ในที่สุดก็จะสามารถขี่จักรยานได้ แต่หากทิ้งไปสักพักก็อาจจะต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ดังนั้นคนที่มีความชำนาญจึงต้องทำบ่อยๆหรือที่เรียกว่าความต่อเนื่อง
         สิ่งที่สุธัมโมภิกษุกระทำอยู่ประจำคือการสาธยายอาการของร่างกายสามสิบสองประการก็คือการบำเพ็ญกายคตาสติกรรมฐานนั่นเอง แต่จะเรียกอย่างไรก็แล้วแต่เมื่อกระทำเป็นประจำด้วยความต่อเนื่องก็จะเกิดความชำนาญ จนสามารถอยู่กับตัวเองได้อย่างไม่รู้สึกสึกรำคาญ จะอยู่คนเดียวกลางป่าเขาหรือในถ้ำก็ไม่เดือดร้อนใจ เพราะมีธรรมอันเป็นที่อยู่หรืออาจเรียกว่า “สุขวิหารธรรม” นั่นเอง

         ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาพระมหาเปรียญเอกก็กลายเป็นลูกศิษย์ของพระป่าที่มีความรู้เพียงนักธรรมชั้นโท ความรู้ในตำรากับความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติแม้จะมาจากแหล่งเดียวกันแต่ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติมีความละเอียดลึกซึ้งมากกว่า ออกพรรษาแล้วจะแวะไปกราบท่านสุธัมโม ไปขอเรียนวิชากรรมฐานจากท่าน เพราะอ่านตำรามามากพอแล้ว ตอนนี้น่าจะถึงเวลาวางตำราหันมาอ่านจิตตัวเองได้แล้ว อยู่กับตำราแม้จะได้วิชา แต่การอยู่ป่าจะได้ความสงบ


พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
29/10/53

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก