วรากร(นามสมมุติ) นักศึกษาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในมหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ได้เล่าสิ่งที่คอยรบกวนจิตใจของเขามาหลายปีให้ฟังว่า “ผมมักจะสะดุ้งตื่นกลางดึกเสมอ เพราะทนเสียงร่ำร้องของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มารบกวนในความฝันอยู่ดสมอ บางครั้งเป็นสุนัข เป็นแมว เป็นนก ที่มาบ่อยที่สุดคือวัว ธรรมดาของปุถุชนอย่างผมแหละครับย่อมฆ่าสัตว์ทั้งหลายมาบ้าง เช่นสุนัขและแมวผมก็จำได้ว่าเคยฆ่าไปหลายตัว ลืมบอกไปว่าบ้านผมอยู่สกลนคร แถวนั้นการกินเนื้อสุนัขและแมวเป็นเรื่องธรรมดา สุนัขและแมวมารบกวนผมในความฝันผมไม่แปลกใจหรอกครับ แต่เจ้าวัวนี่สิ ผมไม่เคยฆ่าเลย แต่ทำไมมันจึงมารบกวนผมในความฝันเสมอ” หรือว่าตอนนั้นจิตใจผมคงโหดร้ายกลายเป็นมารไปแล้ว
วรากรเล่าต่อไปว่า “ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งตอนที่ผมบวชพระในช่วงสั้นๆในวัดป่าแห่งหนึ่ง เย็นวันหนึ่งขณะกำลังเดินจงกรมอยู่ภายในบริเวณทางเดินแคบๆ พลันต้องหยุดกลางครันเมื่อได้ยินเสียงเหมือนมีอะไรที่วิ่งมาจากที่ใดสักแห่ง เจ้าวัวตัวเล็กมาหยุดยืนมองด้วยท่าทางที่หวาดกลัวเหมือนกำลังวิ่งหนีอันตรายบางอย่างมา มันยืนนิ่งไม่นานก็มีชาวบ้านในมือถือมีดถือฆ้อนวิ่งเข้ามาในวัด จึงได้มองเห็นพระและวัวกำลังยืนจ้องหน้ากันอยู่ เมื่อเจ้าวัวตัวเล็กเห็นคนตามมาทันจึงวิ่งหนีต่อไป แต่เจ้าวัวตัวเล็กจ้องมองผมด้วยสายตาที่อ้อนวอนเหมือนขอชีวิต แต่เราให้ชีวิตเขาไม่ได้” ใจผมตอนนั้นอยากเป็นเทวดาจะได้ช่วยชีวิตที่กำลังตกยากให้พ้นทุกข์
วันนั้นชาวบ้านนิมนต์มาร่วมงานทำบุญงานทำบุญอุทิศให้กับคนตายที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก จึงได้พักที่วัดป่าแห่งนั้น เห็นทางจงกรมน่าเดินจึงเดินเล่นๆ แต่เหตุการณ์ในเย็นวันนั้นวัววิ่งหนีเพื่อเอาชีวิตรอด ชาวบ้านก็ต้องการเนื้อวัวเพื่อไปทำบุญ ครั้นจะร้องขอชีวิตขอไถ่ชีวิตวัวตัวนั้นให้รอดก็ไม่มีเงินสักบาทเดียว สุดท้ายลูกวัวตัวนั้นคงต้องสิ้นใจโดยฝีมือของชาวบ้าน แม้จะไม่ได้เห็นเขาฆ่ากับตาก็ตาม คนทั่วไปมีทั้งใจร้ายและใจบุญอยู่ในคนๆเดียวกันคือฆ่าสัตว์ตอนนั้นคงไม่ต่างจากมารร้ายสักเท่าใด แต่การฆ่าก็เพื่อนำเนื้อมาเพื่อทำบุญตอนนั้นจิตใจก็คงไม่ต่างจากการเป็นเทวดา จิตใจของมนุษย์บางครั้งก็เป็นมาร บางกาลก็เป็นเทวดา ในช่วงเวลาใกล้ๆกัน
รุ่งเช้าชาวบ้านนำอาหารมาถวายมีเนื้ออยู่ด้วยคงเป็นเนื้อของวัวตัวนั้น เพียงแต่เห็นก็ฉันไม่ลงได้ แต่เมื่อเพ่งพินิจจะมองเห็นภาพซ้อนของสายตาของเจ้าวัวตัวนั้น ที่มองมาด้วยสายตาอ้อนวอน อุตส่าห์วิ่งเข้าวัดเพื่อจะเอาชีวิตรอดแต่สุดท้ายก็ช่วยอะไรไม่ได้
เหตุการณ์ในครั้งนั้นยังติดตาตรึงใจ ยังจำสายตาของเจ้าวัวตัวนั้นได้ ต่อมาผมได้ลาสิกขาและได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เหตุการณ์ก็คงดำเนินไปเป็นปกติ จนกระทั่งคืนวันหนึ่งจะเป็นเพราะอุปาทานคิดไปเองหรือวิญญาณของวัวตัวนั้นก็ไม่รู้มาเข้าฝัน เจ้าวัวตัวนั้นได้พรรณาให้ฟังว่า “เจ้าช่างใจจืดใจดำยิ่งนัก แม้ว่าจะมาขอชีวิตแล้วก็ยังไม่ช่วย ปล่อยให้พวกใจมารทั้งหลายเข่นฆ่าให้สิ้นชีพไปต่อหน้า ชีวิตเจ้าก็คงไม่ต่างจากข้ามากนักหรอก อาจจะถูกฆ่าในวันใดวันหนึ่งก็ได้” จากนั้นวัวตัวนั้นก็เดินลับหายไปในม่านหมอก คิดถึงวัวตัวนั้นเมื่อไหร่จะนอนไม่หลับทุกที ต้องลุกขึ้นมาสวดมนต์ นั่งสมาธิและอุทิศส่วนกุศลไปให้วิญญาณวัวตัวนั้นทุกครั้งไป
หลายปีมาแล้วที่เจ้าวัวตัวนั้นหายไป จู่ๆเมื่อคืนวันหนึ่งเจ้าวัวตัวนั้นย้อนกลับมาอีก มาปลุกกลางดึกก็ต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน เจ้าวัวตัวนั้นมีสีทองประดับด้วยทองคำทั้งตัว ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ไม่พูดอะไร เพียงแต่เดินผ่านไปอย่างสบายอารมณ์ แต่เหตุการณ์นั้นก็ทำให้หลับต่อไม่ได้ คิดหาเหตุผลว่า ทำไมวัวตัวนั้นเปลี่ยนไป
ก็พลันนึกขึ้นมาได้ว่าสองสามวันก่อนได้บริจาคเงินไถ่ชีวิตโคสองแม่ลูกที่มีคนซื้อมาจากโรงฆ่าสัตว์ เป็นสัตว์ที่กำลังถูกฆ่าจริงๆ แต่รอดตายเพราะมีคนใจบุญไปไถ่ชีวิตมา พิจารณาเห็นว่าเป็นการกระทำที่ดีจึงได้ร่วมบริจาคเงิมสมทบทุน แม้จะไม่มากแต่ก็ให้ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์จริงๆ เมื่อบริจาคแล้วจำได้ว่าได้อุทิศส่วนกุศลไปให้เจ้าวัวที่ถูกฆ่าเมื่อหลายปีก่อน เป็นไปได้หรือที่เจ้าวัวที่เสียชีวิตไปหลายปีแล้วจะยังคงได้รับส่วนบุญ
จึงบอกวรากรไปว่าในพระพุทธศาสนามีวิธีทำบุญอย่างหนึ่งคือการทำบุญด้วยการอุทิศส่วนกุศลที่เรียกว่า “ปัตติทานมัย” หมายถึงบุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ ในปุญญกิริยาวัตถุอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต (23/126/187)ได้แสดงวิธีทำบุญไว้สามประการความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุสามประการนี้คือบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา”
ในอรรถกถาปุญญกิริยาวัตถุสูตร ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม 1 ภาค 4 หน้าที่ 386 ได้อธิบายว่า บรรดาบุญกิริยาวัตถุคือความอ่อนน้อม (อปจายนมัย) ความขวนขวาย (เวยยาวัจจมัย) สงเคราะห์เข้าในสีลมัย การเพิ่มให้ซึ่งส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) และการพลอยอนุโมทนาส่วนบุญ (อนุโมทนามัย) สงเคราะห์เข้าในทานมัย การแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) และการฟังธรรม(ธัมมัสสวนนัย) สงเคราะห์เข้าในภาวนามัย ส่วนความเห็นตรง(ทิฏฐิชุกรรม) สงเคราะห์เข้าในบุญกิริยาวัตถุได้ทั้งสามอย่าง
เมื่อกล่าวตามปุญญกิริยาวัตถุและอรรถกถาวิธีการทำบุญึงมีถึง 10 ประการ แต่ก็แสดงโดยย่อได้สามประการคือบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา
การทำบุญแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หากวิญญาณของเขาพร้อมที่จะรับก็สามารถรับส่วนบุญได้ ดังกรณีของเจ้าวัวตัวนั้นที่วรากรได้เล่าให้ฟัง คงเป็นเพราะการไถ่ชีวิตโคที่กำลังจะถูกฆ่าให้รอดชีวิต วัวตัวที่สิ้นชีวิตคงจะได้รับส่วนบุญที่เขาอุทิศไปให้จึงมีรูปร่างลักษณะอย่างที่เขาฝัน วันนั้นก่อนจบการสนทนาจึงบอกวรากรไปว่า บุญบาปมีจริง แม้ว่าโลกจะเจริญด้วยเทคโนโลยีเพียงใดก็ตาม บุญที่เราทำ กรรมที่เราก่อจะต้องให้ผลไม่ช้าก็เร็ว
ก่อนจากกันจึงบอกวรากรไปว่า “ต่อไปก็ทำบุญเลี้ยงสุนัขและแมว ที่มีคนนำมาปล่อยวัดมากขึ้นทุกวัน จนแทบจะไม่มีที่อยู่แล้ว จากนั้นก็อุทิศส่วนกุศลไปให้สุนัขและแมวที่เคยฆ่าในอดีตบ้าง วิญญาณพวกนั้นคงจะหายไปในไม่ช้าไม่ตามมาหลอกหลอนในฝันอีกต่อไป”
ที่วัดมัชฌันติการาม บางซื่อ กรุงเทพมหานครจะมีพิธีไถ่ชีวิตโค กระบือทุกปี โดยเฉพาะในช่วงวันคล้ายวันเกิดเจ้าอาวาสประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน จะมีพิธีไถ่ชีวิตโค กระบือปีละหลายตัว และนำไปให้เกษตรกรแถวๆจังหวัดสกลนครเลี้ยง ป่านนี้คงมีโค กระบือเกือบทุกหมู่บ้าน เพราะหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการามกระทำติดต่อกันมาหลายปีแล้ว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
17/10/53