เดือนตุลาคมเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวหลายจังหวัดอากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่บางจังหวัดน้ำยังคงท่วมอย่างต่อเนื่อง อุทกภัยเกิดขึ้นในเมืองไทยในปีนี้มีผลกระทบในหลายจังหวัด ประชาชนต่างก็เดือดร้อนกันถ้วนหน้า บางแห่งพระภิกษุต้องเดินบิณฑบาตลุยน้ำ ปีนี้หลายแสนคนเดือดร้อนเพราะภัยพิบัติ อุทกภัยจึงจัดเป็นภัยของมนุษย์ประการหนึ่ง นอกจากนั้นคนกรุงเทพยังต้องคอยหลบเสียงระเบิดอยู่แทบทุกวัน เดือนตุลาคมมักจะมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแทรกเข้ามาให้เห็นเป็นประจำ
ผู้ที่มีถิ่นพำนักในกรุงเทพคงเคยได้ยินคำนี้ "ยิ้มได้เมื่อภัยมา" เพราะมีป้ายติดอยู่ทั่วกรุงเทพ ตอนแรกก็สงสัยว่ารัฐบาลอยากให้คนไทยมีใบหน้าที่มีรอยยิ้มเข้าหากัน แต่พออ่านจากตัวอักษรเล็กๆกลับกลายเป็นป้ายโฆษณาของบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง บริษัทนี้ช่างสรรหาคำพูดที่ตรงกับจริตนิสัยของคนไทย เพราะในอดีตประเทศไทยได้รับการขนานนามว่า “สยามเมืองยิ้ม”แต่ปัจจุบันยิ้มไม่ค่อยออกแล้ว
ชื่อเรื่องวันนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องบริษัทประกันภัยใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่ยืมมาเป็นชื่อเรื่องเท่านั้นเอง เห็นว่าเป็นคำพูดที่ฟังดูแล้วเท่ห์ดี อีกอย่างหนึ่งก็มีป้ายโฆษณาตามที่ต่างๆทั่งกรุงเทพมหานคร ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาจะต้องพบเห็นข้อความนี้แทบทุกคน นัยของประโยคนี้คือต้องการให้คนทำประกันชีวิตกับบริษัท เพราะมีความน่าเชื่อถือและหวังได้ว่าเมื่อประสบกับภัยพิบัติจะได้ยิ้มออกเพราะบริษัทจะจ่ายค่าประกันภัยให้ แต่จะจ่ายง่ายหรือยากนั้นต้องไปถามบริษัทเอาเอง
มนุษย์ทุกคนต่างก็กลัว ต่างก็ต้องประสบกับความน่าสะพรึงกลัวอยู่ตลอดเวลาทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จึงทำให้เกิดธุรกิจประเภทนี้ขึ้นมา และแพร่หลายไปทั่วโลก เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นบนธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ เพราะทุกกคนมีความกลัวฝังแน่นอยู่ในจิตใจกันทุกคน
ตามทัศนะของพระพุทธศาสนา คำว่า “ภัย” หมายถึงสิ่งที่น่ากลัว ภัยของมนุษย์มาจากทั้งภายในและภายนอก เราต้องทำความเข้าใจในภัยเหล่านี้ ถ้าหากป้องกันได้ก็จะเป็นการดี แต่ถ้าป้องกันไม่ได้จะได้ทำใจยอมรับภัยนั้นอย่างอาจหาญ
ภัยภายนอกมีอยู่แทบทุกแห่งอาจจะมาจากธรรมชาติเช่นเมื่อไม่มีฝนมนุษย์ก็จะประสบกับภัยแล้ง พืชพรรณธัญญาหารเมื่อไม่ได้รับน้ำอย่างเพียงพอก็จะเหี่ยวแห้งตาย แต่เมื่อฝนตกมากจนเกินไปก็จะทำให้เกิดน้ำท่วม ผลิตผลของเกษตรกรก็จะได้รับความเสียหายเหมือนกัน สรุปว่าเรื่องฝนเรื่องเดียวก็จัดเป็นภัยธรรมชาติที่รับมือยาก ในพระพุทธศาสนาแสดงถึงภัยที่มาจากภายนอกไว้ในทุติยภยสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต 21/119/120)ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัยสี่ประการนี้คืออัคคีภัย อุทกภัย ราชภัย โจรภัย นี้แลคือภัย” ภัยเหล่านี้เป็นภัยที่มาจากธรรมชาติบ้าง จากมนุษย์บ้าง เป็นภัยภายนอกที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา เดี๋ยวนี้โจรขโมยยิ่งมีวิธีการปล้นที่คาดคิดไม่ถึง ส่วนภัยคือระเบิดอาจเกิดขึ้นในบางครั้ง แต่ก็ไม่ควรไว้ใจ เดี๋ยวนี้ประเทศไทยมีระเบิดเกิดขึ้นบ่อยๆ บางครั้งเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เหมือนกับว่าจะระเบิดฟังเสียงเล่นๆทำให้รัฐบาลปวดหัวไปวันๆ
ภัยภายนอกเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการสูญเสียได้อย่างมหาศาล อย่างกรณีของน้ำท่วมไร่นาของชาวไร่ชาวนา ในขณะที่ข้าวกำลังออกรวง ผลผลิตที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ต้องพลันสลายไปในพริบตา สงสารชาวไร่ชาวนากว่าที่จะปลูกข้าวจนออกรวงได้ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน อย่างนี้ใครจะไปยิ้มออก ต้องทนระกำซ้ำซอกติดหนี้กันต่อไป แต่จะทำอย่างไรได้ใครจะสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ แม้จะสูญเสียก็ต้องยิ้มสู้กับชะตากรรม
ภัยอีกอย่างหนึ่งคือภัยที่มาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่มักจะถูกปิดบังซ่อนเร้นไว้เพื่อไม่ให้มนุษย์กังวลกับภัยที่น่ากลัวซึ่งมีอยู่ประจำกายของแต่ละบุคคล ภัยชนิดนี้ในพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นภัยภายในดังที่ท่านแสดงไว้ในปฐมภยสูตร อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต (21/119/316) “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภัย (สิ่งที่น่ากลัว) 4 ประการนี้คือชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย” เมื่อภิกษุเห็นภัยทั้งสี่ประการนี้จึงได้ออกบวชและบำเพ็ญสมณธรรม หรือแม้แต่พุทธศาสนิกชนหากมองเห็นว่าชีวิตเต็มไปด้วยภยันตราภายในก็ควรพิจารณาให้เห็นความจริงจะได้ไม่เศร้าโศกเกินไปเมื่อพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจไป ภัยทั้งสี่เป็นเรื่องจำเพาะบุคคลจะแก่เจ็บตายแทนกันไม่ได้
ที่ว่ายิ้มได้เมื่อภัยมาหมายถึงการทำใจให้ยอมรับกับสภาพของการเปลี่ยนแปลงภายในของมนุษย์ การได้เกิดมาเป็นมนุษย์แม้จะเป็นสิ่งที่ได้มาโดยยาก แต่การเกิดก็เป็นทุกข์อย่างอย่างหนึ่ง เพราะการเกิดนี่เองที่ทำให้มนุษย์ต้องดิ้นรนต่อสู่กับการเป็นอยู่ ต้องดูแลรักษาสุขภาพร่างกายไม่ให้เจ็บป่วย แต่ถึงแม้จะพยายามดูแลรักษาอย่างดีสักเท่าไหร่ก็ตาม โรคภัยไข้เจ็บก็ต้องมาเยือนจนได้ แม้แต่แพทย์ที่ที่รักษาคนไข้ก็ยังป่วยเป็นมะเร็งได้ และที่สำคัญที่สุดทุกคนต้องตายเหมือนกัน แต่ใครจะตายก่อนตายหลังนั้นเป็นเรื่องของกรรมใครกรรมมัน
หลวงวิจิตวาทการเขียนบทกลอนไว้อย่าน่าคิดสำหรับคนที่มีจิตใจที่เข้มแข็งว่า “เป็นการง่ายยิ้มได้ไม่ต้องฝืน เมื่อชีพชื่นเหมือนบรรเลงเพลงสวรรค์ แต่คนที่ควรชมนิยมกัน ต้องใจมั่นยิ้มได้เมื่อภัยมา” ในยามที่มีความสุขคนย่อมมีรอยยิ้มที่เปี่ยมสุขซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่ในเวลาที่ประสบกับภัยพิบัติทั้งหลายยังยิ้มได้ คนประเภทนี้จึงจะเรียกว่าเป็นผู้มีจิตใจที่เข้มแข็ง
การยิ้มได้แม้ในเวลาที่ประสบกับปัญหานั้นต้องได้รับการฝึกฝน โดยการทำความเข้าใจสภาพของธรรมชาติซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา ความเจ็บ ความแก่ ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ครั้งหนึ่งพระมหากัสสปะได้เตือนภิกษุทั้งหลายในการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าในทีฆนิกาย มหาวรรค (10/156/133) ว่า "อย่าเลยอาวุโส พวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสอนไว้อย่างนี้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่นจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ต้องมี เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้” แม้แต่พระพุทธเจ้าบุคคลผู้เป็นเลิศในโลกก็ยังต้องปรินิพพานเหมือนคนอื่นๆที่จะต้องตายเหมือนกัน
ปัจจุบันเมื่อเกิดภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุต่างๆผู้คนมักจะคิดถึงบริษัทประกันภัย ที่ควรจะจ่ายค่าตอบแทนจากการประกันภัย แต่บริษัทประกันภัยทั้งหลายก็ต้องหวังว่าอย่าให้ผู้ประกันประสบกับเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดเลย พวกเขาต้องการเงินที่ผู้ประกันจ่ายไปเรื่อยๆ ธุรกิจประเภทนี้ทำมาหากินจากความกลัวของมนุษย์โดยแท้ ถ้าเราทำความเข้าใจว่าธรรมชาติจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง หาทางป้องกันไว้ก่อนเมื่อเวลาที่เกิดปัญหาจะได้ยิ้มออก แม้จะเป็นรอยยิ้มจืดๆยิ้มแห้งๆก็ยังดีกว่าเสียงร้องให้มิใช่หรือ เราประกันจิตใจตัวเองไม่ให้หวั่นไหวตามกระแสของการเปลี่ยนแปลง แม้ในยามที่สูญเสียของรักก็ไม่เศร้าโศกจนเกินไป ยังยิ้มได้เมื่อภัยมาถือได้ว่าเป็นคนที่เข้าใจความเป็นมนุษย์และเข้าใจธรรมชาติอย่างแท้จริง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/10/53