คิดว่าหลายท่านคงเคยได้ยินประโยชน์อมตะที่ว่า “โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก” ฟังแล้วทำให้รู้สึกว่าคนที่ได้เป็นใหญ่เป็นโตมักจะเป็นคนที่โง่เป็น แต่หากฟังโดยไม่พินิจพิเคราะห์อาจจะเข้าใจผิดคิดว่าคนที่ได้ดิบได้ดีมีหน้าที่สำคัญจะต้องเป็นคนโง่ หรือว่าคนที่จะเป็นผู้นำได้นั้นคือคนโง่ ผู้ที่พูดประโยคนี้จนติดปากคนมาจนถึงปัจจุบันคือสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)อดีตเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพมหานคร
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เขียนไว้ในหนังสือ “ลบไม่ศูนย์” เสียดายที่หาคำอธิบายที่มาของประโยคนี้ไม่ได้ ไม่รู้ว่าท่านต้องการพูดถึงอะไร วันนี้ขออนุญาตอธิบายเองก็แล้วกัน คนโง่มาจากภาษาบาลีว่า “พาล”ถ้าเป็นคำนามเป็นเพศชายแปลว่าลูก เด็ก คนโง่ คนพาล ผมหรือขน แต่ถ้าเป็นคำคุณศัพท์จะแปลว่าอ่อน โง่ เขลา (พระอุดรคณาธิการ,จำลอง สารพัดนึก,พจนานุกรมบาลี-ไทย,กรุงเทพฯ: ธรรมสาร,หน้า 374) คนพาลอาจจะแปลว่าเด็กก็ได้ ถ้าเป็นเด็กหนุ่มก็จะใช้คำว่า “พาลก” แต่ถ้าเป็นเด็กหญิงก็จะใช้คำว่า “พาลา”แต่บางครั้งอาจจะใช้ในความหมายในทางที่สวยงามก็ได้เช่นคำว่า “พาลสุริยา”หมายถึงพระอาทิตย์ซึ่งมีแสงอ่อนๆพระอาทิตย์ซึ่งพึ่งขึ้นใหม่ๆ หรือ “พาลบุปผา” หมายถึงดอกไม้ตูม ดอกไม้ที่อ่อนที่ยังไม่บาน เป็นต้น
ในพระไตรปิฎกก็ใช้คำว่า “พาล”หลายแห่ง ส่วนมากจะใช้ในความหมายถึงคนโง่ดังที่ปรากฎในขุททกนิกาย ธรรมบท(25/15/17) ตอนหนึ่งว่า “ผู้ใดเป็นพาลย่อมสำคัญความที่ตนเป็นพาลได้ ด้วยเหตุนั้นผู้นั้นยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง ส่วนผู้ใดเป็นพาลมีความสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้นั้นแลเรากล่าวว่าเป็นพาล”ในที่นี้คำว่าพาลมาคู่กับคำว่าบัณฑิต หากจะแปลตามภาษาไทยก็น่าแปลได้ว่าคนพาลหมายถึงคนโง่ บัณฑิตมาจากคำภาษาบาลีว่า “ปณฺฑิต”หมายถึงฉลาด คนฉลาด บัณฑิต
ในพุทธภาษิตนี้อธิบายไว้ชัดเจนคือถ้าใครรู้ตัวว่าโง่ และพยายามศึกษาค้นคว้าเพื่อจะทำให้หายโง่ คนๆนั้นอาจจะกลายเป็นคนฉลาดได้ในอนาคตอีกไม่ไกล ส่วนใครที่โง่แต่คิดว่าตนฉลาดนั่นคือคนโง่แท้ ในประโยคที่ว่า “โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก” น่าจะตรงกับพุทธภาษิตนี้ เพราะบางครั้งผู้นำก็ต้องแกล้งโง่เพื่อที่จะได้ฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้อื่นได้ แต่ถ้าบ้านเมืองใดมีผู้นำที่รู้ทุกเรื่องก็ไม่มีใครกล้าให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำได้ โอกาสที่จะอยู่ในตำแหน่งต่อไปอาจจะเหลือน้อยลง
ทุกวันนี้สื่อต่างๆที่เผยแพร่โดยสื่อของรัฐบาลดูเหมือนว่าจะทำให้ประชาชนโง่มากขึ้นเช่นข่าวเรื่องดาราหญิงมีลูกกับดาราชาย ต่างก็โต้แย้งกันไปมา ไม่ยอมให้ข้อเท็จจริงยุติสักที ซึ่งเรื่องอย่างนี้รู้กันอยู่สองคนเรื่องน่าจะจบแต่ทำไมทั้งโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ยังคงลงข่าวอยู่แทบทุกวัน แม้จะไม่อยากรับรู้เรื่องราวของคนอื่นแต่ก็ต้องดูเพราะเปลี่ยนช่องแล้วก็ยังมีอีกช่อง ข่าวทางร้ายสื่อไทยชอบนัก ข่าวร้ายลงให้ฟรี ส่วนข่าวดีต้องเสียเงิน
การที่จะบอกว่าใครเป็นคนโง่หรือคนฉลาดนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะสรุปได้ง่ายนัก เพราะความเป็นคนโง่ในบางเรื่องแต่อาจจะมีความฉลาดในอีกเรื่องก็ได้ ลักษณะของคนโง่และคนฉลาดนั้นมีแสดงไว้ในพาลบัณฑิตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ (14/468/240) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะเครื่องหมาย เครื่องอ้าง ว่าเป็นพาลของคนพาลนี้มีสามอย่างคือคนพาลในโลกนี้มักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว มักทำการทำที่ชั่ว ถ้าคนพาลจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ชั่ว พูดคำพูดที่ชั่ว และทำการทำที่ชั่ว บัณฑิตพวกไหนจะพึงรู้จักเขาได้ว่าผู้นี้เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษเพราะคนพาลมักคิดความคิดที่ชั่ว มักพูดคำพูดที่ชั่ว และมักทำการทำที่ชั่วฉะนั้น พวกบัณฑิตจึงรู้ได้ว่านี่เป็นคนพาล เป็นอสัตบุรุษ ดูกรภิกษุทั้งหลายคนพาลนั้นนั่นแล ย่อมเสวยทุกข์โทมนัสสามอย่างในปัจจุบัน”การสังเกตคนจึงต้องดูให้ครบคือการคิด พูดและการกระทำของเขา บางคนพูดดีมาก แต่ทำตรงกันข้ามกับที่ตนพูด
ส่วนลักษณะของบัณฑิตมีแสดงไว้ว่า(14/484/247) “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะ เครื่องหมาย เครื่องอ้างว่าเป็นบัณฑิตของบัณฑิตนี้มีสามอย่างคือดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตในโลกนี้มักคิดความคิดที่ดี มักพูดคำพูดที่ดี มักทำการทำที่ดี ถ้าบัณฑิตจักไม่เป็นผู้คิดความคิดที่ดี พูดคำพูดที่ดี และทำการทำที่ดีบัณฑิตพวกไหนจะพึงรู้จักเขาได้ว่าผู้นี้เป็นบัณฑิต เป็นสัตบุรุษ เพราะบัณฑิตมักคิดความคิดที่ดี มักพูดคำพูดที่ดี และมักทำการทำที่ดีฉะนั้น พวกบัณฑิตจึงรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นบัณฑิตเป็นสัตบุรุษดูกรภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตนั้นนั่นแลย่อมเสวยสุขโสมนัสสามอย่างในปัจจุบัน” ในทำนองเดียวกันจะดูคนฉลาดก็ต้องดูให้ครบ บางคนพูดไม่เก่ง พูดไม่เพราะ แต่การกระทำของเขาอาจมุ่งสู่ความดีก็ได้
คนโง่หรือคนพาลกับคนฉลาดหรือบัณฑิตย่อมเรียนรู้ได้แตกต่างกันดังที่แสดงไว้ในในขุททกนิกาย ธรรมบท(25/15/17) ความว่า “ถ้าคนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้ตลอดชีวิต เขาย่อมไม่รู้แจ้งธรรมเหมือนทัพพีไม่รู้จักรสแกงฉะนั้น ถ้าว่าวิญญูชนเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้ครู่หนึ่ง ท่านย่อมรู้ธรรมได้ฉับพลันเหมือนลิ้นรู้รสแกงฉะนั้น
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) คงต้องการพูดเพื่อให้คนได้คิดเป็นคติเตือนใจไม่ให้คนประมาท แม้จะเป็นผู้นำมีอำนาจหรือรู้ทุกเรื่อง แต่ถ้าต้องการจะมีอำนาจมีตำแหน่งบางครั้งก็ต้องแสร้งโง่และต้องโง่ให้เป็น จึงจะได้เป็นใหญ่มีอำนาจที่แท้จริง คนฉลาดเขาโง่เป็น เพราะถ้าโง่ให้เป็น มีโอกาสเป็นใหญ่ได้ไม่ยาก
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
04/10/53