ปัญหาเด็กนักเรียนยกพวกตีกันมีให้เห็นบ่อยๆ ไม่เว้นแต่ละวัน จนกลายเป็นปัญหาของสังคมไทยมานาน โรงเรียนบางแห่งต้องปิดตัวลงเพราะแก้ปัญหานี้ไม่ได้ หรือเด็กนักเรียนบางคนต้องเสียอนาคตเพราะไปพัวพันกับการก่อเหตุทะเลาะวิวาท บางคนต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร ประชาชนผู้บริสุทธิ์บางคนต้องได้รับบาดเจ็บเพราะการก่อเหตุของนักเรียนนักเลงเหล่านั้น การแก้ปัญหานี้มีหลายวิธีอาจแก้ปัญหาจากโรงเรียนเองหรืออาจแก้ที่วัดก็ได้ ปัญหาของชาติบางอย่างก็มาจากสิ่งเล็กๆนี่แหละ แต่วิธีแก้ปัญหาอาจคิดคนละมุม ทหารบางคนต้องปฏิวัตินัยว่าเพื่อแก้ปัญหาของชาติ วันนี้ครบสี่ปีของการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ดูเหมือนยิ่งแก้ยิ่งยุ่งเหมือนลิงติดตัง
ทุกวันธรรมสวนะนักเรียนจากโรงเรียนวัดมัชฌันติการาม จะมาฟังพระธรรมเทศนาเป็นประจำผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาจากชั้นที่เล็กที่สุดคืออนุบาลจนถึงชั้นสูงสุดของโรงเรียนแห่งนี้ นอกจากนั้นในวันเสาร์ วันอาทิตย์ยังมีการเรียนธรรมศึกษาเพื่อเข้าสอบธรรมในสนามหลวง ปีนี้มีนักเรียนส่งชื่อเข้าสอบเกือบสองร้อยคน พระสงฆ์จากวัดมัชฌันติการามจะเป็นครูสอน ในแต่ละปีมีนักเรียนสอบธรรมศึกษาได้หลายคน อย่างนี้น่าจะเรียกได้ว่า “แก้ที่โรงเรียน เปลี่ยนที่วัด”
วันหนึ่งได้แสดงธรรมสรุปความว่า “หน้าที่ของนักเรียนนั้นอาจสรุปได้สั้นๆว่า นักเรียนที่ดีต้อง “มีความเคารพ คบการศึกษา กล้ารับความผิด คิดช่วยครู กตัญญูต่อสถาบัน” จากนั้นก็อธิบายไปเรื่อยๆเท่าที่เวลาจะมีให้ ซึ่งแต่ละครั้งจะไม่เกินสามสิบนาที เพราะเด็กส่วนมากจะมีสมาธิสั้นฟังไปได้สักพักก็ต้องหาเรื่องคุยกัน การที่จะแสดงเนื้อหาของธรรมะจริงๆจึงทำได้ไม่เต็มที่ ต้องมีนิทานประกอบ
นักเรียนนั้นต้องมีความเคารพในครูอาจารย์ เคารพในโรงเรียน เคารพในพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น เพราะการแสดงความเคารพนั้นเป็นการแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ผู้มีการศึกษาคือจะต้องอ่อนน้อมถ่อมตน เคารพกันตามอายุ ดังมีเรื่องเล่าว่า “วันหนึ่งสัตว์ป่าสามตัวคือช้าง นกกระเรียนและลิงมาพบกันที่ต้นไทรต้นหนึ่ง ต่างก็ถามไถ่กันว่าใครเป็นผู้มาพบก่อน ช้างบอกว่าตอนเล็กๆตามแม่มาได้มาพักที่ใต้ต้นไทรนี้ครั้งหนึ่ง ลิงบอกว่าตอนต้นไทรนี้ยังเล็กข้าฯได้มาหักกิ่งไม้เล่นอยู่ นกกระเรียนจึงบอกว่าต้นไทรนี้ตอนนั้นข้าฯยังเด็กได้กินลูกไทรจากในป่าลึก เผอิญพอบินมาถึงสถานที่แห่งนี้เกิดท้องเสียจึงแวะถ่ายอุจจาระ เมล็ดไทรคงออกมากับอุจจาระนั้น”
สัตว์ทั้งสามตัวนั้นได้ตกลงสาบานเป็นพี่น้องกันโดยนับตามอายุ นกกระเรียนเกิดก่อนเป็นพี่คนโต ลิงเป็นน้องรอง ส่วนช้างแม้จะตัวโตแต่ก็เกิดทีหลังจึงเป็นน้องเล็ก สัตว์ทั้งสามอยู่ร่วมกันอย่างสันติเพราะเคารพนับถือซึ่งกันและกันตามอายุ มีเรื่องใดเกิดขึ้นก็ปรึกษาหารือและช่วยกันแก้ปัญหา
วันหนึ่งนกกระเรียนพี่คนโตเกิดพลัดหลงไปติดบ่วงนายพรานเข้า ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ยิ่งดิ้นบ่วงก็ยิ่งรัดแน่น ฝ่ายช้างและลิงครั้นไม่เห็นนกกระเรียนมาพบกันเหมือนทุกวันจึงออกตามหาและได้พบนกกระเรียนติดบ่วงนายพรานจึงช่วยกันแก้บ่วง แต่ก็ไม่สำเร็จ ฝ่ายลิงไปขอความช่วยเหลือจากสัตว์อื่นๆเช่นกระต่าย เสือ หนูเป็นต้นให้มาช่วยแก้บ่วง ส่วนช้างและเสือก็ไปยืนขวางทางนายพรานเพื่อให้เวลาเพื่อนสัตว์ทั้งหลายได้ช่วยแก้บ่วงออกจากขาของนกกระเรียน นายพรานเห็นช้างและเสือยืนขวางทางก็ไม่กล้าเดินทางต่อ ในที่สุดเพราะความช่วยเหลือของสัตว์ต่างๆนกกระเรียนก็หลุดจากบ่วง
สิงสาราสัตว์ทั้งหลายยังมีความเคารพกันตามอายุ และช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามที่มีภัย บางครั้งน้องช่วยพี่ บางทีพี่ช่วยน้อง สัตว์ป่าจึงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เพราะมีความเคารพรักใคร่ซึ่งกันและกัน นักเรียนก็ต้องมีรุ่นพี่คอยให้คำแนะนำในบางเรื่อง นอกจากนั้นที่สำคัญยังมีครูคอยสอนวิชาความรู้ต่างๆ ครูคอยแก้นิสัยปรับเปลี่ยนให้นักเรียนเป็นคนดีของสังคม การอยู่ในโรงเรียนตั้งแต่เช้าจนเย็นก็เพื่อฝึกนิสัยให้นักเรียนเกิดความเคยชิน เพราะในอนาคตต้องทำงานในระบบต้องเข้ากับคนอื่นให้ได้ ชีวิตและการงานจึงจะมีความสุข เรียกว่าแก้ที่โรงเรียน
หากใครยังไม่สามารถแก้ไขนิสัยและสันดานที่โรงเรียนได้ ก็ต้องมาเปลี่ยนกันที่วัด ขั้นแรกอาจจะเข้าวัดฟังธรรมในวันธรรมสวนะ พอโตหน่อยอาจบรรพชาและอุปสมบทอย่างน้อยหนึ่งพรรษา จึงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่สมบูรณ์ ส่วนสตรีก็เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาโดยการ “เกื้อกูลพระ กระทำบุญ คุ้นพระศาสนา”
วันพระนั้นพูดได้แค่นั้นเป็นการสมควรแก่เวลาต้องหยุด ส่วนเนื้อหาที่เหลือก็ต้องยกไปบรรยายในวันต่อๆไป คนจะดีได้นั้นทุกส่วนต้องช่วยกันอาจจะสรุปได้ว่า “เริ่มที่พ่อ ก่อที่แม่ แก้ที่โรงเรียน เปลี่ยนกันที่วัด” บ้าน วัด โรงเรียนต้องร่วมมือกันจึงจะทำให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีอนาคตที่ดีได้ ไม่ใช่คอยจับผิดหรือจับเข้าคุกอย่างเดียว เมื่อเด็กทะเลาะวิวาทหาเรื่องชกต่อยกัน กฎหมายน่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่นำมาใช้แก้ปัญหาเด็กยกพวกตีกัน หากทั้งโรงเรียนและวัดแก้ไขไม่ไหวแล้วจึงปล่อยให้กฎหมายจัดการต่อไป
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/09/53