ในชีวิตของแต่ละคนคงต้องพานพบกับสิ่งที่ต้องมีความหนักอยู่บ้าง เช่นบางคนทำงานหนักเพื่อครอบครัว บางคนทำงานหนักเพราะไม่มีทางเลือก แต่บางคนต้องทำงานหนักเพียงเพราะอยากทำ สิ่งของบางอย่างแม้จะหนักแต่หากมีกำลังก็ยังแบกไหว หรือหากหนักจนเกินไปก็ต้องหาคนช่วยหรืออาศัยเครื่องจักรมาช่วยบรรเทาเบาบางทำให้สิ่งที่หนักนั้นสามารถเคลื่อนไหวได้ แต่สิ่งที่มนุษย์แบกอยู่ประจำตั้งแต่เกิดคงมีน้อยคนที่คิดถึง เราต้องแบกอยู่ตลอดเวลาวางไม่ลงแต่จะมีสักกี่คนที่รู้สึกถึงความหนักนั้น
สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องแบกอยู่ตลอดเวลานั้นก็คือเบญจขันธ์ประกอบด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่รวมกันเป็นมนุษย์นี่แหละดังที่แสดงไว้ในปัญจขันธสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค (17/95/47)ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ขันธ์ห้าได้แก่รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้นี้เรียกว่ารูปขันธ์ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้นี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์ ดูกรภิกษุทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่าขันธ์ห้า
หากจะอธิบายขันธ์แต่ละอย่างพอสรุปได้ดังนี้ “ขันธ์ 5 หรือ เบญจขันธ์ หมายถึงกองแห่งรูปธรรมและนามธรรม 5 หมวด ที่ประชุมกันเข้าเป็นหน่วยรวม ซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นต้น รวมกันเป็นส่วนประกอบ 5 อย่างที่รวมเข้าเป็นชีวิตประกอบด้วย
1.รูปขันธ์ หมายถึงกองรูป, ส่วนที่เป็นรูป, ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย, ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด, สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ
2.เวทนาขันธ์ หมายถึงกองเวทนา, ส่วนที่เป็นการเสวยอารมณ์, ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ
3.สัญญาขันธ์ หมายถึงกองสัญญา, ส่วนที่เป็นความกำหนดหมาย, ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น
4.สังขารขันธ์ หมายถึงกองสังขาร, ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง, สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ, คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต
5.วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ, ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์, ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 มีการเห็น การได้ยินเป็นต้น ได้แก่วิญญาณ 6
ขันธ์ทั้ง 5 นี้ ย่อลงมาเป็นสองอย่างคือนามและรูป รูปขันธ์จัดเป็นรูป ขันธ์ที่เหลือเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณจัดเป็นนาม อีกอย่างหนึ่งจัดเข้าในปรมัตถธรรม 4 ได้แก่วิญญาณขันธ์เป็นจิต เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ เป็น เจตสิก รูปขันธ์เป็นรูป ส่วนนิพพานเป็นขันธวินิมุตคือพ้นจากขันธ์ 5
เมื่อขันธ์ห้ามารวมกันจึงกลายเป็นมนุษย์หรือสัตว์อื่นๆ จึงกลายเป็นภาระที่ทุกคนต้องแบกไว้ตลอดเวลา จะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม ดังที่แสดงไว้ในภารสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค (17/49/25) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภาระ ผู้แบกภาระ เครื่องถือมั่นภาระ และเครื่องวางภาระ แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภาระเป็นไฉน พึงกล่าวว่า ภาระ คืออุปาทานขันธ์ห้า อุปาทานขันธ์ห้าได้แก่อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร และอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาระ
ผู้แบกหมายความว่าขันธ์ทั้งห้าคือตัวเรา มีอยู่ในตัวเรา เรียกโดยสรุปว่ารูปและนาม ที่เป็นภาระก็เพราะเราต้องบริหารคอยให้รูปร่างกายเป็นปกติ หากไม่ดูแลรักษาอาจเกิดการเจ็บป่วยก็จะต้องลำบากแก่ผู้เป็นเจ้าของ ในแต่ละวันต้องรับประทานอาหารเพื่อให้ร่างกายดำเนินต่อไปได้ ในส่วนของจิตก็เหมือนกันก็ต้องคอยรักษาจิตไม่ให้มีความเครียด หากคิดมากก็จะเข้าใกล้ความเป็นบ้า แต่ถ้าไม่คิดเลยก็จะกลายเป็นคนโง่ ดังนั้นการคิดก็ต้องรักษาให้อยู่ในความพอดี ไม่มากจนเกินไปและไม่น้อยจนเกินไป
หากคิดโดยใช้ปัญญาจึงจะมองเห็นว่าการที่ต้องแบกขันธ์ห้านี่แหละคือสิ่งที่หนักที่สุด หาใช่การแบกหามสิ่งของอื่นใดไม่ เพราะสิ่งของต่างๆหากเรารู้ว่าหนักเกินกำลังก็จะต้องหาวิธีการผ่อนหนักให้เป็นเบาจนได้ แต่ขันธ์ห้าที่เราแบกอยู่ทุกเวลาทุกนาที บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังแบกของหนักอยู่
ขันธ์เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงดังที่มีแสดงไว้ในอนิจจสูตรสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค (17/42/21)ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้ อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา"
ขันธ์เป็นทุกข์ดังที่มีแสดงไว้ในทุกขสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค (17/43/21)ความว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้อริยสาวก พึงเห็นด้วยสัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ เวทนาเป็นทุกข์ ฯลฯ สัญญาเป็นทุกข์ ฯลฯ สังขารเป็นทุกข์ ฯลฯ วิญญาณเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา"
ขันธ์เป็นอนัตตาดังที่มีแสดงไว้ในอนัตตสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค (17/44/21) ความว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตารูปนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ข้อนี้ อริยสาวก พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ เวทนาเป็นอนัตตา ฯลฯ สัญญาเป็นอนัตตา ฯลฯ สังขารเป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณเป็นอนัตตา ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี"
ผู้ใดรู้ชัดตามเป็นจริงว่าขันธ์ห้าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้ววางภาระในการแบกลงได้คือปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็นก็จะอยู่เป็นสุขดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ภารสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค(17/53/25) ความว่า “ขันธ์ห้าชื่อว่าภาระ และผู้แบกภาระคือบุคคล เครื่องถือมั่น ภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก การวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น ถอนตัณหาพร้อมทั้งมูลรากแล้ว เป็นผู้หายหิว เป็นผู้ดับรอบแล้ว”
ธรรมในหมวดนี้นำเสนอติดต่อกันสามวัน แต่ถ้าหากนำมาเรียงแสดงตามลำดับก็จะกลายข้อคิดว่ามนุษย์ทั้งหลายนั้น “ทุกข์เพราะแบกโลก โศกเพราะแบกรัก หนักเพราะแบกขันธ์” หากไม่แบกโลกไว้ก็จะไม่ทุกข์ หากไม่รักจนหลงก็คงจะไม่เศร้าโศก มีรักมีโศก ไม่รักก็ไม่โศก แต่โลกนี้มีเสน่ห์น่าอภิรมย์รู้ทั้งรู้ก็ตัดรักไม่ขาด หากมนุษย์เข้าใจความเป็นไปของขันธ์ห้าตามความเป็นจริงแม้จะแบกก็จะไม่รู้สึกหนัก การดำเนินชีวิตในโลกยุคปัจจุบันหนักพออยู่แล้ว ยังต้องเพิ่มภาระในการแบกขันธ์ไว้อีก แต่ถ้าเข้าใจสภาวธรรมตามที่มันควรจะเป็นก็จะทำให้เข้าใจคำว่า “ปล่อยว่าง วางเบา เอาหนัก รักทุกข์” เป็นสัจธรรมที่น่าจดจำไว้คอยเตือนใจ
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
17/09/53