สมัยที่ยังเด็กเมื่อครูถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เด็กๆทั้งหลายมักจะมีความฝันที่แตกต่างกัน แต่คำตอบส่วนมากมักจะสรุปว่าเป็นครู ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ ไม่ค่อยมีใครที่ตอบว่าอยากจะเป็นชาวนา เพราะอาชีพชาวนาเป็นอาชีพที่ทำงานหนักเหนื่อยมาก ต้องทำงานกลางแดด ทำงานท่ามกลางสายฝน เป็นอาชีพที่เรียกขานกันว่าหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เพราะการดำนาในสมัยก่อนต้องใช้แรงคนเป็นหลัก ไม่ได้ใช้แรงเครื่องยนต์เหมือนในปัจจุบัน
จำได้ว่าความฝันในวัยหนุ่มอยากเป็นศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ หากมีคนเรียกขานว่าศาสตราจารย์ ดร.บุญไทย คงโก้ดี ทั้งๆที่ตอนนั้นเรียนอยู่เพียงชั้นมัธยมต้นเท่านั้นเอง มูลเหตุที่อยากเป็นดอกเตอร์ เพราะได้อ่านหนังสือของศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ท่านหนึ่ง อ่านแล้วไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง คนอะไรจะเขียนหนังสืออ่านยากปานนั้น เอ่ยชื่อเป็นเกียรติของท่านที่เป็นแรงบันดาลใจก็ได้คงไม่เป็นการนำชื่อท่านมาทำให้เกิดความเสียหายแต่ประการใด นามของท่านคือศาสตราจารย์ ดร.อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ หนังสือที่ท่านเขียนเป็นเรื่องของการใช้ภาษาอังกฤษ ตอนที่อ่านครั้งแรกรู้สึกว่ายากมาก แม้ในปัจจุบันก็ยังยากอยู่ แต่รู้สึกเขียนได้ยอดเยี่ยม
พอโตมาหน่อยอยากพบศาสตราจารย์ท่านนั้นจึงได้สมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อที่จะได้เรียนกับศาสตราจารย์อุดม แต่สามปีผ่านไปก็ไม่เคยเห็นหน้าท่านมีแต่อ่านหนังสือที่ท่านเขียนแล้วก็เข้าห้องสอบและสอบตกทุกครั้ง แม้ปัจจุบันก็ยังสอบไม่ผ่าน
ความฝันกับความจริงมักจะเดินสวนทางกันเสมอ สิ่งที่คิดไว้ไม่สำเร็จ แต่ความฝันยังคงมีอยู่ไม่เคยเลือนหายไปไหน เพียงแต่การที่จะทำความฝันให้เป็นจริงนั้นเริ่มถอยห่างและค่อยๆกลายเป็นเส้นทางที่ความฝันไม่น่าจะเป็นจริงได้ ลูกชาวนากับความฝันที่อยากเป็นศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ไม่น่าจะเป็นจริงได้เลย
วันหนึ่งเมื่อครั้งที่บวชใหม่ๆได้พบหนังสือเล่มหนึ่งปกหนังสือเก่าคร่ำคร่ามีชื่อว่า “ลีลาวดี” เมื่ออ่านจบรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้เขียนดี คนเขียนนามว่า “ธรรมโฆษ” ก็อยากเขียนนิยายขึ้นมา แต่เขียนได้ไม่เกินสองหน้ากระดาษก็ต้องขยำทิ้งทุกที
สอบนวกปีนั้นพระภิกษุบวชใหม่ทุกรูปต้องไปสอบรวมกันที่สนามสอบในจังหวัด วันนั้นมีปาฐกถาธรรม องค์ปาฐกนามว่า “ธรรมโฆษ”ชื่อจริงของท่านคือศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม อดีตนักบวชเปรียญธรรมหกประโยค จึงเกิดแรงบันดาลใจเริ่มต้นศึกษาเพราะอยากเป็นพระมหาเปรียญและทำได้สำเร็จเป็นพระมหาบุญไทยในปัจจุบัน
แต่เจ้าความฝันในวัยเด็กยังไม่เคยหายไปไหน ทั้งๆที่สิ่งที่ฝันนั้นมองไม่เห็นโอกาสที่จะเป็นจริงได้เลย เพราะชีวิตกับความฝันเดินสวนทางกันโดยตลอด แม้ว่าครั้งหนึ่งจะมีโอกาสได้เรียนกับศาสตราจารย์แสง จันทร์งามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นทางอ้อมที่จะเติมฝันให้เป็นจริง
มนุษย์ทุกคนมีความฝันแต่จะทำให้ฝันกลายเป็นจริงได้หรือไม่นั้นแล้วแต่โอกาส และเดินตามความฝันของตนเองจนถึงฝั่งแห่งฝันนั้น โอกาสของคนอยู่ที่ความสนใจ คำสอนของพระพุทธศาสนาได้แสดงทางแห่งความสำเร็จไว้ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/231/233)เรียกว่า อิทธิบาทหมายถึงคุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ,คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมายประกอบด้วย
1.ฉันทะแปลว่าความพอใจคือความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอและปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป งานทุกอย่างเริ่มต้นด้วยความชอบ หากได้ทำงานในสิ่งที่ชอบโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จก็เป็นไปได้สูง
2.วิริยะได้แก่ความเพียรคือขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย หรือหากจะเกิดความท้อแต่ก็อย่าถอย หากยังไม่เห็นผลแห่งความเพียรพยายามนั้น
3.จิตตะหมายถึงความคิดคือตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและสิ่งนั้นด้วยความคิดเอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป งานทุกอย่างที่เราทำจะต้องคอยเอาใจใส่เหมือนปลูกต้นไม้ต้องคอยรดน้ำใส่ปุ๋ย พรวนดินจึงจะเห็นดอกออกผล
4.วิมังสาหมายถึงความไตร่ตรองหรือทดลอง คือหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงเป็นต้น
หลักธรรมทั้งสี่ประการนี้จะต้องเป็นไปพร้อมๆกัน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะแสดงผลได้ไม่เต็มที่ บางคนทำงานสำเร็จแต่ว่าไม่ค่อยดีหรือทำงานได้ดีแต่ไม่สำเร็จ บางคนขยันมากแต่ไม่ค่อยรอบคอบ งานที่ออกมาก็ไม่ค่อยดีนัก ดังนั้นหากจะทำงานให้สำเร็จหลักธรรมทั้งสี่ประการนี้ต้องมีเท่าๆกัน
หากเพียงแต่ฝันแล้วไม่ลงมือทำก็เป็นเพียงแต่มีฉันทะความพอใจที่คิดจะเป็นเท่านั้น ความฝันใดที่ไม่ลงมือปฏิบัติก็เป็นเพียงความฝันที่หลอกลวงตัวเองไปวันๆ ทุกคนมีสิทธิ์ฝันแต่อย่าฝันให้ไกลเกินไป เพราะจะเป็นฝันที่ไม่มีโอกาสเป็นจริง เด็กน้อยในอดีตคนนั้นยังเหลือฝันไว้คอยปลุกปลอบใจ ไว้เรียนจบเป็นดอกเตอร์เมื่อไหร่ก็เดินใกล้ฝันเข้าไปทุกที แต่ว่าฝันนั้นยังห่างไกลคงต้องบอกได้คำเดียวว่าฝันมันไกลเลยไปไม่ถึง แต่อย่างน้อยก็ยังมีฝันให้วิ่งไล่ตาม
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
11/09/53