สนทนากับดอกเตอร์ท่านหนึ่งถึงเรื่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ดอกเตอร์ท่านนั้นถามว่ามีบ้างไหมคนที่พระพุทธเจ้าสอนไม่ได้ หรือไม่สอน จึงบอกดอกเตอร์ท่านนั้นไปว่ามีอยู่มากมายในพระไตรปิฎก คนที่พระพุทธเจ้าสอนไม่ได้เรียกว่าปทปรมะคือสักว่าเป็นคนแต่ไม่พร้อมที่จะรับฟังคำสอน คนประเภทนี้อาจฉลาดเกินไปหรือโง่เกินไปก็ได้
ปทปรมะ หมายถึงผู้มีบทอย่างยิ่ง ผู้ได้อย่างสูงสุดเพียงถ้อยคำ แต่ไม่สามารถเข้าใจความหมายของถ้อยคำนั้น คือไม่สามารถบรรลุธรรมในชาตินั้นได้เลย หมายถึงบุคคลที่สี่ในบุคคลสี่เหล่า บางทีคนโง่กับคนฉลาดก็แยกกันไม่ออก อัจฉริยะกับคนโง่มีเส้นแบ่งเพียงนิดเดียว ผู้ที่แม้จะพบสนทนากับพระพุทธเจ้าแล้วไม่ฟังคำสอนที่มีคนอ้างถึงมากที่สุดคนหนึ่งคืออุปกาชีวก
เรื่องของอุปกาชีวกมีปรากฎในพระวินัยปิฎก มหาวรรคภาค(5/11/12) ในยุคแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆและเกิดปริวิตกว่าควรจะแสดงธรรมแก่ใครก่อน ในตอนนั้นอุปกาชีวก หรืออาชีวกชื่ออุปกะเป็นนักบวชประเภทหนึ่งได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จดำเนินทางไกลระหว่างแม่น้ำคยาและไม้โพธิพฤกษ์ จึงได้ถามพระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบธรรมของใคร
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาตอบอุปกาชีวกว่า “เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวงอันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาแล้ว ในธรรมทั้งปวงละธรรมเป็นไปในภูมิสามได้หมด พ้นแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัสรู้ยิ่งเองแล้ว จะพึงอ้างใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนเช่นเราก็ไม่มี บุคคลเสมอเหมือนเราก็ไม่มี ในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลกเราเป็นศาสดา หาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลสได้แล้ว เราจะไปเมืองในแคว้นกาสี เพื่อประกาศธรรมจักรให้เป็นไป เราจะตีกลองประกาศอมตธรรมในโลกอันมืด เพื่อให้สัตว์ได้ธรรมจักษุ”
พอฟังจบอุปกาชีวกทูลว่า "ดูกรอาวุโส ท่านปฏิญาณโดยประการใด ท่านควรเป็นผู้ชนะหาที่สุดมิได้ โดยประการนั้นเถิด" แสดงว่าอุปกาชีวกไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลเหล่าใดถึงความสิ้นอาสวะแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่าเป็นผู้ชนะเช่นเรา ดูกรอุปกะ เราชนะธรรมอันลามกแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงชื่อว่าเป็นผู้ชนะ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อุปกาชีวกทูลว่า เป็นให้พอเถิดพ่อ พลางสั่นศีรษะถือเอาทางผิดเดินหลีกไป
คนประเภทนี้ในยุคแรกๆที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้คงมีจำนวนมาก ไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง ไม่ฟังคำสอนในที่สุดก็ไม่ได้ดื่มอมตธรรม นักเขียนในยุคหลังๆได้พยายามผูกเรื่องของคนที่แม้จะได้พบกับพระพุทธเจ้าแต่ก็ไม่ได้บรรลุธรรม นวนิยายที่เป็นรู้จักดีสำหรับคนไทยคือกามนิตวาสิฏฐี และเรื่องสิทธารถะมีฉบับแปลเป็นไทยหลายฉบับและยังคงเป็นหนังสือขายดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะบรรดาฝรั่งที่เริ่มต้นศึกษาพระพุทธศาสนามักจะรู้จักหนังสือทั้งสองเล่มนี้ดี
เรื่องสิทธารถะกล่าวถึงบุรุษนามว่าสิทธารถะเป็นตัวเอกในนิยายอิงศาสนาของนักเขียนชาวเยอรมันนามว่าเฮอร์มานน์ เฮสเส ที่สร้างสรรค์นวนิยายโดยสร้างเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล พราหมณ์หนุ่มสองคนได้พบปะสนทนากับพระพุทธเจ้า คนหนึ่งนามว่าโควินทะตัดสินใจออกบวชปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่อีกคนนามว่าสิทธารถะยังสงสัยว่าน่าจะมีแนวทางในการปฏิบัติอื่นเพื่อความหลุดพ้นได้
สิ่งที่เขาถามพระพุทธเจ้าตอนนั้นเป็นคำถามธรรมดาสามัญของคนขี้สงสัยว่า “ข้าพเจ้าไม่ได้สงสัยในการตรัสรู้ของพระองค์ แต่อยากรู้ในวันที่พระองค์จะตรัสรู้ได้เผชิญกับอะไรบ้าง ขอพระองค์โปรดบอกข้าพเจ้าด้วย” เฮอร์มานน์ เฮสเสเข้าใจสร้างเรื่อง เพราะถ้าวันนั้นพราหมณ์หนุ่มสองคนออกบวชเรื่องก็คงจบ
ตัวเอกของเรื่องคือสิทธารถะตัดสินใจเดินทางแสวงหาทางของตนเอง จนกระทั่งได้พบกับหญิงงามเมืองคนหนึ่ง ในสมัยนั้นเรียกว่าหญิงนครโสเภณีซึ่งมีหน้าที่ให้บริการลูกค้าด้วยวิธีการต่างๆ ไม่เลือกว่าจะเป็นใครมาจากไหนขอให้มีเงินซื้อบริการ ราคาค่าตัวของหญิงโสเภณีในยุคนั้นแพงมาก ถ้าไม่มีเงินก็หมดสิทธิ์ ปกติหญิงอาชีพนี้จะรักใครไม่เป็น ห้ามมีลูกกับใคร แต่สิทธารถะทำให้หญิงโสเภณีอันเป็นที่ต้องการของคนอื่นให้มารักตนเองจนได้ จนกระทั่งมีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง
สิทธารถะมีหลักการสำคัญอยู่สามประการคือ “ฉันคิดได้ ฉันรอได้ ฉันอดได้” เขาเข้าใจศิลปะแห่งการคิด รอและอด เขาใช้ชีวิตเยี่ยงโลกียชนอย่างเต็มที่ จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดความพอจึงได้เดินทางไปพบกับชายชราที่มีอาชีพแจวเรือจ้างคนหนึ่งและยึดอาชีพคนแจวเรือจ้างนำคนข้ามฟากแลกกับเงินค่าจ้างเพียงเล็กน้อย
วันหนึ่งภิกษุนามว่าโควินทะกับคนแจวเรือจ้างมาพบกันได้สนทนากัน และนัยว่าทั้งคู่บรรลุธรรมด้วยกัน แต่นวนิยายของเฮอร์มานน์ เฮสเสให้สิทธารถะคนแจวเรือจ้างสอนธรรมแก่ภิกษุ แต่ธรรมดาโดยทั่วไปภิกษุต้องสอนธรรมแก่ชาวบ้าน
เฮอร์มานน์ เฮสเสเป็นนักเขียนจึงรังสรรค์งานออกมาได้น่าติดตาม ภาษาก็สละสลวยอ่านง่ายแต่ลุ่มลึก ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามีกษัตริย์ พราหมณ์ ออกบวชเป็นจำนวนมากและส่วนมากจะได้บรรลุธรรม แต่ละรูปเมื่อได้บรรลุธรรมแล้วก็จะแสดงอุทานคาถาไว้มากบ้างน้อยบ้าง ดังกรณีของพระองคุลิมาลอดีตมหาโจรชื่อดัง เมื่อท่านได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้บรรลุอรหัตแล้วเสวยวิมุตติสุขอยู่ เกิดปีติโสมนัส ได้กล่าวคาถาด้วยสามารถอุทานนี้ความว่า “ผู้ใดเคยประมาทในตอนต้น ภายหลังเขาไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอก ฉะนั้น บาปกรรมที่ทำไว้แล้ว อันผู้ใดย่อมปิดกั้นไว้ด้วยกุศล ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากหมอกฉะนั้น”
นี่เป็นส่วนหนึ่งที่พระองคุลิมาลได้แสดง พระองคุลิมาลยังได้เล่าประวัติของตนให้คนอื่นๆฟังเพื่อจะได้เป็นอุทาหรณ์ แต่สิทธารถะไม่ได้บวชเพียงแต่ดำเนินชีวิตเยี่ยงนักบวชประกอบอาชีพแจวเรือจ้าง คนประเภทนี้คงคล้ายกับอุปกาชีวกที่แม้จะได้พบพระพุทธเจ้าแต่ก็ไม่ได้ออกบวชและรู้ธรรมเหมือนคนอื่นๆ ช่างมีส่วนคล้ายกับชาวพุทธในเมืองไทย แม้จะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ แต่พอถามว่าพระพุทธศาสนาสอนอะไร ก็ตอบอ้อมแอ้ม สิทธารถะจึงเป็นเหมือนตัวแทนของคนที่เชื่อในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาแต่ไม่ทำตาม เมื่อไม่ทำก็ไม่มีโอกาสรู้ แม้จะคิดได้ รอได้ อดได้ก็ตามที
ดอกเตอร์ท่านนั้นร่ำเรียนวิชาการสมัยใหม่มามากและเชื่อมั่นในสติปัญญาของตน แม้จะยืนยันว่าข้าพเจ้าเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง แต่วิธีการที่จะตรัสรู้นั้นมีหลายวิธีไม่จำเป็นต้องดำเนินตามทางที่พระพุทธเจ้าสอนก็ได้ ดอกเตอร์ท่านนั้นคงไม่ต่างจากสิทธารถะสักเท่าใด ยึดมั่นในสิ่งที่ตนเชื่อและแสวงหาวิธีด้วยตัวเอง จนในที่สุดก็หาแนวทางพบ นับวันจะมีคนประเภทที่อ้างว่าข้าพเจ้าเชื่อแต่จะหาวิธีการเองมากขึ้นทุกที
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
10/09/53
ภาพประกอบ พระมหาสมศรี ญาณสิริ