แม่น้ำคงคาแห่งเมืองพารณสี ประเทศอินเดียไม่เคยเหือดแห้งยังคงทำหน้าที่ไปตามธรรมชาติ หน้าฝนน้ำก็หลาก หน้าแล้งน้ำก็น้อยแต่ยังคงเอื่อยไหลไม่เคยหยุดนิ่ง ริมฝั่งแม่น้ำคงคามีผู้คนจากทุกสารทิศพากันมาสักการะบูชา ทำพิธีบวงสรวง จากนั้นก็ลงอาบน้ำดำผุดดำว่ายริมฝั่งเพื่อชำระบาป มีหลายคนพากันเหมาเรือเพื่อที่จะได้ลงไปอาบกลางแม่น้ำ บางคนทั้งอาบทั้งดื่มกินด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุขเหมือนประหนึ่งกำลังพบปะสนทนากับเทพเจ้าจากแดนสวรรค์
ครั้งหนึ่งเมื่อครั้งที่ไปพำนักยังเมืองพาราณสีได้กระซิบบอกกับท่านพระมหาสมานซึ่งเป็นนักศึกษาไทยกำลังเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยพารณสีว่าที่มาเมืองพารณสีครั้งนี้มีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งคือต้องการอาบน้ำในแม่น้ำคงคาสักครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่อยากให้ใครเห็นจะทำอย่างไร พระมหาสมานบอกว่าไม่ยากพรุ่งนี้จะพาไปแต่เช้าเช่าเรือไปกลางแม่น้ำจากนั้นก็กระโดดลงไปก็ได้ชื่อว่าได้อาบน้ำที่แม่น้ำคงคาแล้ว
ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงแม่น้ำที่สำคัญในชมพูทวีปที่เรียกว่าปัญจมหานทีประกอบด้วยแม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำอจิรวดี แม่น้ำสรภู แม่น้ำมหิ คนโบราณมีความเชื่อว่าใครได้อาบน้ำในแม่น้ำทั้งห้าสายสามารถจะชำระบาปกรรมทั้งหลายได้ โดยเฉพาะที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือแม่น้ำคงคาช่วงที่ไหลผ่านเมืองพารณสีถือว่าเป็นน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดใครได้อาบถือว่าได้ชำระล้างบาป
ริมฝั่งแม่น้ำคงคาในแต่ละวันจึงคราคร่ำไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัย มีทั้งนักบวช พ่อค้า ประชาชนพากันมาอาบน้ำมิได้ขาด บางคนเดินทางไกลมาจากต่างเมืองก็เพื่อที่จะได้อาบน้ำชำระล้างบาปที่แม่น้ำคงคาแห่งนี้ แต่ที่ริมฝั่งน้ำนอกจากจะมีสรรพร้านค้าทุกประเภทแล้ว ยังมีสถานที่ที่เชื่อกันว่าเปลวไฟไม่เคยดับติดต่อกันกันหลายพันปีแล้ว เพราะที่นั่นคือที่เผาศพ จะมีอุปกรณ์ต่างๆให้บริการลูกค้าเช่นฟืน น้ำมัน เป็นต้น คนตายท่านใดที่ญาติมีเงินก็สามารถซื้อฟืนได้มากและเผาศพจนเหลือแต่เถ้ากระดูกจากนั้นก็นำไปลอยอังคารในแม่น้ำคงคาเชื่อกันว่าจะได้ขึ้นสวรรค์ คนอินเดียจะเกิดที่ไหนก็ตามขอให้ได้ตายหรือเผาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคานั่นเป็นนับเป็นความปรารถนาอย่างหนึ่ง
ส่วนคนที่มีเงินน้อยหรือศพอนาถาไม่มีญาติก็จะเผาตามมีตามเกิดใช้ฟืนน้อย บางครั้งไหม้ไปได้ครึ่งเดียวก็จะถูกเขี่ยลงแม่น้ำลอยหายไปกับกระแสน้ำ บางครั้งอาบน้ำอยู่ดีๆก็จะมีศพที่เผาได้ครึ่งเดียวลอยผ่านมา คนที่นี่ก็เพียงแต่ใช้มือเขี่ยให้ศพลอยต่อไปจากนั้นก็อาบน้ำและดื่มน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ต่อไป คนที่นี่ไม่ได้รังเกียจ เพราะความตายคือสิ่งธรรมดาที่มีให้เห็นทุกวัน ขบวนแห่ศพและขบวนแต่งงานแห่สวนกันไปมา ริมฝั่งยังเป็นที่บรวงสรวงเทพเจ้าต่างๆ มีทั้งขี้วัวอันถือเป็นตัวแทนเทพเจ้า นอกจากนั้นยังเป็นสุขาธรรมชาติใครปวดหนักปวดเบาก็ใช้ริมฝั่งแม่น้ำคงคานั่นแหละ
ลัทธิความเชื่อเรื่องการอาบน้ำชำระบาปหรือถือความบริสุทธิ์ด้วยน้ำมีมานานแล้ว แม้แต่ในสมัยพุทธกาลก็มีให้เห็นดังที่มีปรากฎในสังครวสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (11/721/222)ความว่า สังครวพราหมณ์อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี มีลัทธิถือความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ประพฤติการลงอาบน้ำชำระร่างกายทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าเป็นนิตย์
ครั้งหนึ่งสังครวพราหมณ์ ได้กล่าวแสดงความเชื่อของตนกับพระพุทธเจ้าว่า “ท่านพระโคดม บาปกรรมใดที่ข้าพระองค์ทำในเวลากลางวัน ข้าพระองค์ลอยบาปกรรมนั้นเสียด้วยการอาบน้ำในเวลาเย็น บาปกรรมใดที่ข้าพระองค์ทำในเวลากลางคืน ข้าพระองค์ลอยบาปกรรมนั้นเสียด้วยการอาบน้ำในเวลาเช้า ท่านพระโคดม ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์นี้แหละ จึงได้ชื่อว่า มีลัทธิถือความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยน้ำ ถือการลงอาบน้ำชำระร่างกาย ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้าเป็นนิตย์”
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบพราหมณ์ไปว่า “ดูกรพราหมณ์ ห้วงน้ำคือธรรมมีศีลเป็นท่าไม่ขุ่น สัตบุรุษสรรเสริญต่อสัตบุรุษ เป็นที่ที่บุคคลผู้ถึงเวทอาบแล้ว บุคคลผู้มีตัวไม่เปียกเท่านั้นจึงจะข้ามถึงฝั่งได้
ในวัตถูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ได้แสดงถึงการอาบน้ำในพระศาสนาว่า(12/98/50) ครั้งหนึ่ง สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้บอกกับพระพุทธเจ้าว่า “ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าให้ความบริสุทธิ์ได้ ท่านพระโคดม แม่น้ำพาหุกา ชนเป็นอันมาก สมมติว่าเป็นบุญ อนึ่ง ชนเป็นอันมาก พากันไปลอยบาปกรรมที่ตนทำแล้วในแม่น้ำพาหุกา
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะสุนทริกภารทวาชพราหมณ์ด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า “คนพาล มีกรรมดำแล่นไปยังแม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสสดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี แม้เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ แม่น้ำสุนทริกา ท่าน้ำปยาคะ หรือแม่น้ำพาหุกา จักทำอะไรได้ จะชำระนรชนผู้มีเวร ทำกรรมอันหยาบช้า ผู้มีกรรมอันเป็นบาปนั้น ให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย ผัคคุณฤกษ์ ย่อมถึงพร้อมแก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ อุโบสถ ก็ย่อมถึงพร้อม แก่บุคคลผู้หมดจดแล้วทุกเมื่อ วัตรของบุคคลผู้หมดจดแล้ว มีการงานอันสะอาดย่อมถึงพร้อมทุกเมื่อ ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบในคำสอนของเรานี้เถิด จงทำความเกษมในสัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวคำเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ให้ เป็นผู้มีความเชื่อ ไม่ตระหนี่ไซร้ ท่านไปยังท่าน้ำคยาแล้วจักทำอะไรได้ แม้การดื่มน้ำในท่าคยา ก็จักทำอะไรให้แก่ท่านได้”
ความเชื่อที่ปรากฎในพระไตรปิฎกแม้จะไม่ได้กล่าวถึงแม่น้ำคงคา แต่ก็เทียบเคียงกันได้ เพราะปัจจุบันคนอินเดียเชื่อว่าแม่น้ำคงคาไหลมาจากสรวงสวรรค์ เหตุหนึ่งที่ทำให้เชื่ออย่างนั้นเพราะน้ำจากแม่น้ำคงคาช่วงที่ไหลผ่านเมืองพารณสีนั้น แม้จะมีสีขุ่นในบางครั้งแต่มีผู้ยืนยันว่าสะอาดปราศจากเชื้อโรค แม้จะมีการเผาศพริมฝั่งติดต่อกันมานานก็ตาม
วันนั้นตื่นแต่เช้าตรู่พระมหาสมานรีบพาไปเหมาเรือนั่งไปกลางแม่น้ำ แสงสีทองกำลังทอแสงสาดส่องแสงสีทองอมม่วงจากเบื้องบุรพทิศกระทบกับลำน้ำเกิดประกายแห่งความงามเหมือนกำลังเพ่งมองไปยังสรวงสวรรค์ ดวงอาทิตย์ค่อยๆสูงขึ้นรังสีก็ค่อยๆเจือจางลง เหมือนชีวิตของมวลมนุษยชาติมีขึ้นมีลงจึงควรสังวรไว้ว่าวันนี้รุ่งพรุ่งนี้ร่วงดวงไม่แน่ ผู้ที่คิดจะอาบน้ำในแม่น้ำคงคาไม่ได้มีเราคนเดียวยังมีนักเที่ยวอีกหลายกลุ่มที่คิดตรงกัน วันนั้นจึงมีเรือเป็นจำนวนมากลอยอยู่กลางแม่น้ำคงคา จัดแจงเปลี่ยนไปนุ่งผ้าอาบน้ำเสร็จหย่อนเท้าลงน้ำมือวักน้ำล้างหน้า น้ำในยามเช้าเย็นยะเยียบ ขณะที่กำลังจะหย่อนตัวลงไปในกระแสน้ำกลางแม่น้ำคงคานั้น เหมือนมีท่อนไม้เล็กๆลอยมาตามกระแสน้ำจึงหยิบขึ้นมาดู พระมหาสมานที่อยู่อีกหัวเรือข้างหนึ่งบอกว่ารีบวางโดยเร็วเถิด และวันนี้รีบกลับเถอะไม่ต้องอาบแล้ว ด้วยความสงสัยจึงหันมาดูและต้องรีบกระทำตามในทันทีเพราะที่ถืออยู่นั้นคือขาของศพที่ถูกไฟเผาไหม้ไม่หมดลอยมาตามกระแสน้ำ
นัยว่าปลาที่ชาวเมืองพารณสีและพระนักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ที่นี่รับประทานทุกวันก็ได้อาหารคือซากศพเหล่านี้นี่แหละจึงทำให้มีรสชาติอร่อย เนื้อนุ่ม และที่สำคัญเป็นปลาที่ได้รับการลอยบาปแล้ว วันนั้นจึงคิดในใจว่าขอมีบาปต่อไป ดีกว่าจะให้มาอาบน้ำกับศพ แม้ความตายจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่การอาบน้ำกับซากศพอาตมาขอสละสิทธิ์
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
01/09/53
ภาพประกอบ ผศ.ดร.ธวัช หอมทวนลม