แม้ว่าเจ้าพายุโซนร้อนมินดอนเลจะอ่อนกำลังลงแล้ว แต่ในช่วงฤดูฝนปีนี้พระพิรุณโปรยปรายมาอย่างหนักจนเกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ประเทศปากีสถานผู้คนอดอยากอย่างหนัก ประเทศจีนทั้งแผ่นดินถล่ม น้ำท่วม ส่วนที่ประเทศไทยหลายจังหวัดกำลังมีปัญหาน้ำท่วมเช่นที่อุตรดิตถ์ พะเยา จันทบุรี ยังมีแนวโน้มว่าพายุอีกหลายลูกกำลังทะยอยมาเยือนประเทศไทย พายุลูกเก่ากำลังผ่านไป แต่ลูกใหม่กำลังมา
บางแห่งนอกจากเกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมแล้วยังมีแผ่นดินไหว โคลนถล่มเพิ่มเข้ามาอีก ปริมาณผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน ในอดีตมีนักวิทยาศาสตร์หลายคนมองว่าโลกจะล่มสลายเพราะสงคราม แต่ยิ่งนานไปแม้บางส่วนของโลกจะมีสงครามมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับภัยที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติดูเหมือนว่าภัยธรรมชาติจะทำให้คนเสียชีวิตได้มากกว่า และมีแนวโน้มที่ควบคุมได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
นักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มมองไปที่ภัยธรรมชาติว่าจะเป็นสิ่งที่ทำลายล้างโลกได้มากกว่าและน่ากลัวยิ่งกว่าสงครามเสียอีก มีหนังสือในแนวนี้ออกมามากมายที่โด่งดังที่สุดเล่มหนึ่งคือ An Inconvenient Truth เขียนโดยอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้เป็นทั้งหนังสือ ภาพยนตร์สารคดี มีตอนหนึ่งที่อัล กอร์กล่าวไว้น่าสนใจว่า “ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องที่จำกัดอยู่ในวงวิทยาศาสตร์ หรือในประเด็นทางการเมืองเท่านั้น แต่มันเป็นประเด็นทางจริยธรรมด้วย”อัล กอร์มองว่า “จริยธรรมของมนุษย์คือหนทางเยียวยาโลกร้อนได้ เนื่องจากหลักฐานมากมายมหาศาลบอกกับเราว่า หากเราไม่จัดการกับปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็วและจริงจังแล้ว โลกของเราก็อาจต้องเผชิญกับหายนภัยในไม่ช้า” อัล กอร์มองว่าสาเหตุที่โลกร้อนส่วนหนึ่งมาจากฝีมือมนุษย์ และเขามองไปที่สภาวะโลกร้อน แต่ทำไมทุกวันนี้แทนที่โลกจะร้อนกลับปรากฎน้ำท่วมขึ้นแทบทุกมุมโลก
มีนักวิเคราะห์สถานการณ์หลายท่านบอกว่าสาเหตุที่ปากีสถานถูกน้ำท่วมเพราะภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งบนภูเขาหิมาลัยละลาย เลยมีน้ำมากผิดปกติจนทำให้เกิดน้ำไหลบ่า อาจจะมีส่วนจริงอยู่บ้างแต่น่าจะมีสาเหตุอื่นอยู่ด้วย เรื่องนี้ปล่อยให้นักวิเคราะห์ทั้งหลายว่ากันไป แต่คนกำลังจะอดตายแย่งอาหารกันแล้วต้องช่วยเหลือไว้ก่อน การช่วยเหลือคนนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องศาสนาจะนับถือลัทธิศาสนาใดก็ตาม พวกเขาก็คือมนุษย์เหมือนกับเรา เกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนกัน
หากมองเรื่องน้ำแหล่งน้ำที่ใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นทะเล เพราะน้ำมีปริมาณมากกว่าพื้นดิน คนส่วนมากจึงมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าทะเลเป็นแหล่งน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าเคยแสดงคัดค้านเทวดาตนหนึ่งว่า มีสิ่งที่ใหญ่กว่าทะเล ดังข้อความในนัตถิปุตตสมสูตรที่ 1 ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/28-29/9) สรุปความว่า
เทวดาตนหนึ่งได้เข้าไปแสดงทัศนะกับพระพุทธเจ้าว่า“ความรักเสมอด้วยความรักบุตรไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยโคย่อมไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยดวงอาทิตย์ย่อมไม่มี สระทั้งหลายมีทะเลเป็นอย่างยิ่ง”เรื่องทำนองนี้มีมากในพระไตรปิฎก ไม่ใช่คำถาม ไม่ต้องการคำตอบ แต่ต้องการแสดงความคิดเห็น แสดงความเชื่อที่ตนเองมีอยู่ แม้แต่เทวดาก็มีความเห็นและความเชื่อของตน
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นได้ฟังแล้วจึงได้แสดงความเห็นกับเทวดาตนนั้นว่า “ความรักเสมอด้วยความรักตนไม่มี ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกย่อมไม่มี แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี ฝนต่างหากเป็นสระยอดเยี่ยม
พระพุทธเจ้ากับเทวดามีความเห็นไม่ตรงกัน มีคำอธิบายในอรรถกถาสรุปว่า “ความรักเสมอด้วยตนไม่มีนั้นหมายความว่าสัตว์ทั้งหลายอาจละทิ้งปิยชนมีมารดาบิดาเป็นต้นได้ ละทิ้งบุตรธิดาให้พำนักอยู่ได้ แต่ย่อมหาเลี้ยงชีวิตตนนั่นแหละ ตนเป็นหน้าที่ที่ต้องบริหารตลอดเวลา ส่วนคนเหล่าอื่นนานๆ ค่อยไปเยือนก็ได้ ความรักตนย่อมมีมากกว่าความรักบุตรธิดาหรือบิดามารดา ตนเองนั่นแหละคือสิ่งที่คนแต่ละคนรักมากที่สุด แม้จะมองจากภายนอกว่ายังมีคนที่เรารักมากสุดก็ตาม แต่ท้ายที่สุดพอถึงเวลาขับขันก็ต้องเอาตัวรอดก่อนทุกที
คำว่า "ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกย่อมไม่มี" อธิบายว่าชนทั้งหลายย่อมไปสู่สำนักของเจ้าของทรัพย์สมบัติทั้งหลายจากนั้นจึงถือเอาวัตถุทั้งหลายมีเงินและทองเป็นต้นบ้าง ถือเอาโคกระบือเป็นต้นบ้าง ก็เพื่อนำไปสู่การถือเอาข้าวเปลือกนั่นแหละ ระหว่างโคกับข้าวเปลือกพระพุทธเจ้าเสนอว่าข้าวเปลือกมีค่ามากกว่าโค เพราะโคช่วยคนทำนา ก็เพื่อจะได้ข้าวเปลือกมาทำเป็นข้าวสารและหุงหาทำเป็นอาหารเลี้ยงชีพ สาระสำคัญคือข้าวเป็นอาหาร ส่วนสิ่งอื่นๆเป็นทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารนั่นเอง
คำว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาย่อมไม่มี” อธิบายว่าดวงอาทิตย์ย่อมส่องแสงในกลางวันเท่านั้น คือย่อมกำจัดความมืดอันเป็นปัจจุบัน ส่วนปัญญาย่อมสามารถเพื่อทำโลกธาตุหลายหมื่นแสนให้เป็นแสงสว่างอันประเสริฐ หาสิ่งอื่นเสมอมิได้ ทั้งย่อมกำจัดความมืดอันปกปิดในกาลอันเป็นส่วนแห่งอดีตได้ด้วย ดวงอาทิตย์เรามองเห็นได้สัมผัสได้ แต่ปัญญาต้องสร้างให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง
ข้อว่า “สระเสมอด้วยเมฆฝนย่อมไม่มี” หมายถึงแม้ว่าทะเล แม่น้ำ หนองน้ำ หรือทะเลสาบเป็นต้นก็ตามที่ขึ้นชื่อว่าสระแล้ว ที่จะเสมอด้วยฝนย่อมไม่มี เพราะเมื่อเมฆฝนตัดขาดแล้วน้ำแม้เพียงสักว่าข้อองคุลีหนึ่งให้เปียกในมหาสมุทรย่อมไม่มี แต่เมื่อฝนตกลงมา น้ำเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ย่อมมีถึงพิภพแห่งชั้นอาภัสสราพรหม
ในเรื่องนี้อาจเปรียบเทียบได้ระหว่างเหตุกับกับผล เทวดามองที่ผลคือทะเล แต่พระพุทธเจ้ามองที่เหตุคือฝน ถ้าไม่มีฝนน้ำในทะเลก็ไม่มี แต่ถ้าไม่มีน้ำในทะเลก็ไม่มีเมฆที่ทำให้เกิดฝนเหมือนกัน เหตุและผลจึงต้องอิงอาศัยกัน
เทวดาและพระพุทธเจ้าก็ยังมีมุมมองต่างกัน จะป่วยกล่าวไปไยเล่าสำหรับความเห็นของมนุษย์จะไม่มีความขัดแย้งกันบ้าง การมีความเห็นแย้งถือเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าหากเรายอมรับความแตกต่างก็จะอยู่ในสังคมได้ แม้แต่เทวดากับพระพุทธเจ้าก็ยังมีความเห็นขัดแย้งกันได้
อัล กอร์อาจมองไปที่สภาวะโลกร้อน ซึ่งจะส่งผลให้สภาพแวดล้อมของโลกเปลี่ยนแปลงไปด้วย เมื่อโลกร้อนขึ้นน้ำแข็งขั้วโลกก็ละลาย ยิ่งพอมีฝนตกลงมาสมทบเข้าไปอีก มีแนวโน้มว่าน้ำจะท่วมโลกในไม่ช้า เขียนมาถึงตรงนี้ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า เอ๊ะ....โลกจะล่มสลายเพราะถูกไฟไหม้ หรือว่าโลกจะจมหายเพราะถูกน้ำท่วมกันแน่”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
26/08/53