การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีอวัยวะสมบูรณ์มีอาการาครบสามสิบสองประการ นับว่าเป็นความโชคดี ต้องพยายามรักษาอวัยวะทุกอย่างไว้ให้ครบ การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นพระพุทธศาสนาบอกว่าเป็นการยากเพราะต้องต่อสู้กับวิญญาณอื่นๆที่คอยจ้องหาที่เกิดเหมือนกับเรา บางคนหาพ่อแม่ที่มีกรรมเสมอกันไม่ได้เลยไม่มีโอกาสได้เกิด แต่ถ้าอวัยวะในร่างกายบางอย่างมีอันต้องขาดหายไปจะทำอย่างไร
วันหนึ่งกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด ได้พบกับช่างต้อยนิมนต์ให้ไปเจิมป้ายร้านซ่อมรถจักรยานยนตร์ ที่ช่างต้อยบอกว่าเปิดมาได้หลายเดือนแล้ว กิจการไม่ค่อยดีไม่ค่อยมีลูกค้า หลวงลุง(ทั้งหมู่บ้านนิยมเรียกหลวงลุง)ช่วยเจิมร้านเพื่อความเป็นศิริมงคลให้หน่อย ความจริงก็ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่กับการเจิม เพราะทำให้คนงมงาย แต่เมื่อเห็นช่างต้อยถนัดจึงรีบรับคำและเจิมป้ายร้านในทันใด ช่างต้อยที่ว่าขาขาดทั้งสองข้าง
แต่ก่อนเจิมป้ายร้านมีข้อแม้กับช่างต้อยหนึ่งข้อหากรับได้ก็จะเจิมให้ ข้อแม้นั้นคือ “ช่างต้อยต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ตรงไปตรงมา หากซ่อมได้ก็รับซ่อม แต่ถ้าดูแล้วเกินกำลังที่จะซ่อมได้ก็ต้องบอกความจริงแก่ลูกค้า ต้องตรงเวลากับลูกค้าด้วย อย่าผิดนัด อย่าทำงานเพียงเพราะเห็นแก่เงินเพียงอย่างเดียว” เมื่อช่างต้อยรับข้อเสนอจึงเริ่มเจิมร้าน “ต้อยการช่าง” ทันที หลายปีมาแล้วได้ฟังคำบ่นจากแม่ของต้อยว่ามันไม่ค่อยอยู่บ้านเอาแต่เที่ยว บางครั้งก็หายไปหลายเดือน ทราบข่าวว่าไปทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ต้อยก็ไม่เคยบอกว่าทำงานอะไร ส่วนมากจะกลับบ้านในวันสงกรานต์ของทุกปี แม่อยากให้ต้อยมาช่วยทำนา เพราะที่บ้านไม่เหลือใครอีกแล้ว ลูกๆแต่ละต่างก็มีงานทำที่กรุงเทพเกือบหมด เหลือแม่เฝ้าบ้านกับหลานอีกสองคนที่กำลังเรียนหนังสือชั้นประถม ช่วยเหลืออะไรได้ไม่มาก หวังพึ่งต้อยลูกชายที่โตแล้วก็พึ่งไม่ได้อีก มันดื้อใครเตือนไม่ค่อยฟัง แม่ของช่างต้อยถอนใจ
ขับรถอย่าประมาท พลาดพลั้งอาจตายหรือพิการได้
แม่ได้ทราบข่าวเพียงว่าต้อยไปเป็นลูกจ้างร้านซ่อมรถจักรยานยนตร์ที่กรุงเทพฯ สงกรานต์ปีหนึ่งต้อยพารถจักรยานยนตร์มาที่บ้าน ขับโฉบเฉี่ยวเสียงดังลั่นบ้าน ยิ่งเวลาที่เมาได้ที่จะปรับเสียงให้ดังลั่นจนชาวบ้านด่ากันไปทั่ว และต่อมาอีกไม่นานก็ได้ทราบข่าวว่าต้อยประสบอุบัติเหตุ
ต้อยประสบอุบัติเหตุเพราะขับขี่จักรยาน พักฟื้นที่โรงพยาบาลหลายวัน พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองขาขาดทั้งสองข้าง เดินไม่ได้ ต้อยเอาแต่ร้องให้ หลายวันต่อมาเมื่อหมอสั่งให้กลับบ้านได้ ต้อยเลยกลายเป็นคนมีขาครึ่งเดียวต้องใช้ไม้เท้าช่วยค้ำเดินทั้งสองข้าง
ต้อยจึงได้กลับบ้านเกิดและได้อยู่กับแม่ตามที่แม่ต้องการ ต้อยคิดอยากตายและพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้งเพราะทำใจไม่ได้กับการที่ต้องกลายเป็นคนพิการ ต้องเป็นภาระของคนอื่น ทำอะไรก็ไม่สะดวก บางครั้งต้องด่าเทวดาฟ้าดินที่ลงโทษ โชคชะตาของผมช่างโหดร้ายเหลือเกิน จากคนที่มีอวัยวะสมบูรณ์ต้องกลับมาเป็นคนพิการ มีหลายคนที่เคยรู้ว่าผมอยู่ร้านซ่อมรถมาก่อนจึงนำรถมาให้ผมช่วยซ่อมให้ นานๆเข้าบ้านผมเลยกลายเป็นร้านซ่อมรถไปโดยปริยาย ทำไปทำมารู้สึกชีวิตมีคุณค่าขึ้น ด้วยความรู้ที่อยู่ร้านซ่อมรถมาหลายปี ต้อยจึงเปิดร้านซ่อมเครื่องยนต์ทุกอย่างเท่าที่จะมีคนนำมาซ่อมตั้งแต่รถไถนา โทรทัศน์ วิทยุ รถจักรยานยนตร์ เรียกว่าขอให้เป็นยนตร์ต้อยซ่อมได้หมด ชาวบ้านจึงเรียกสมญานามให้ว่า “ช่างต้อย” ตอนนั้นผมทำเพราะไม่รู้จะทำอะไร ทำนาก็ทำได้ไม่สะดวก ผมจึงลองเปิดร้านซ่อมรถขึ้นมาเพื่อไม่ให้ว่าง จะได้ไม่มีเวลาคิดมาก ช่างต้อยเล่าความหลังก่อนที่จะมาเป็น "ต้อยการช่าง" ในปัจจุบัน
หลายเดือนต่อมาได้พบช่างต้อยอีกครั้งตอนนี้ช่างต้อยรีบเข้ามาหาพร้อมกับไม้เท้าสองข้างเหมือนเดิม แต่ตอนนี้ช่างต้อยดูดีขึ้นร้านก็ขยายใหญ่ขึ้น ดูเหมือนกิจการจะรุ่งเรืองดำเนินกิจการไปได้ด้วยดี ช่างต้อยกราบขอบคุณที่เจิมร้านให้ เมื่อถามว่าช่างต้อยทำอย่างไรกิจการจึงก้าวหน้าช่างต้อยก็บอกว่าผมก็ทำตามคำแนะนำของหลวงลุงนั่นแหละครับ คือซื่อสัตย์ตรงไปตรงมากับลูกค้า เดี๋ยวนี้ลูกค้าเชื่อถือผมมาก อีกอย่างผมก็ไม่ได้คิดค่าจ้างเกินราคาที่ควรจะเป็น แม้จะได้น้อยแต่ก็ได้บ่อยๆครับ
ภาพนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับช่างต้อย สักวันหนึ่งแกอาจจะได้ซ่อมรถคันนี้ก็ได้
ความจริงการที่กิจการของช่างต้อยดำเนินไปด้วยดีไม่ได้มาจากสาเหตุคือการเจิมป้ายแต่อย่างใดเลย แต่มาจากความซื่อตรงต่อลูกค้าต่างหาก เมื่อช่างต้อยซื่อตรงต่อลูกค้าก็กลายเป็นตราประกันคุณภาพว่าลูกค้าจะไม่ผิดหวัง ช่างต้อยก็มีงานทำ ความพิการทางร่างกายจึงไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานแต่ประการใด แม้จะมีความไม่สะดวกอยู่บ้างแต่ก็เป็นความทุกข์ทางกายตามธรรมดาทั่วไป "ผมมีความสุขทางใจที่ได้เห็นแม่มีรอยยิ้ม ผมโชคดีที่เพียงแค่เสียขาเท่านั้น ผมยังมีลมหายใจและพร้อมที่จะสู้กับโชคชะตาต่อไป" ช่างต้อยยืนยันที่จะสู้กับชีวิตต่อไป
"ตอนนี้ผมเลิกคิดถึงขาทั้งสองข้างแล้วครับ ดีเสียอีกที่ขาผมขาดผมจะได้มีเวลาดูแลแม่ได้อย่างเต็มที่ ถ้าผมไม่ประสบอุบัติเหตุจนขาขาดป่านนี้ผมอาจจะไม่มีชีวิตอยู่จนถึงวันนี้ก็ได้้ ทุกข์ทางกายผมไม่เป็นไรแต่การที่ผมทำให้แม่ต้องทุกข์ใจนั่นคือความผิดอย่างมหันต์ของผมแล้วครับ ผมทุกข์เพียงกาย แต่ไม่ทุกข์ใจนะครับ" ช่างต้อยสรุปในตอนท้าย
ความพิการทางกายหากทำใจยอมรับได้ ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับการดำเนินชีวิตแต่อย่างใดเลย กรรมบางอย่างเราคาดเดาไม่ได้ อาจจะมาจากกรรมในอดีตที่เคยทำไว้และตามาทันในชาตินี้ ยังมีคนพิการอีกหลายท่านในโลกนี้ที่ทำงานอย่างไม่สนใจกับความพิการเลย เช่นสตีเฟน ฮอร์กิ้น นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญในยุคปัจจุบันเจ้าของผลงาน "ประวัติย่อของกาลเวลา" ก็เป็นคนพิการต้องนั่งอยู่บนรถเข็นตลอดเวลา แต่สมองของเขาไม่ได้พิการไปด้วย ยังคงสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นประโยชน์แก่โลกต่อไป ช่างต้อยยังคงทำงานของเขาอย่างมีความสุข แต่งงานมีเมียมีลูกตามปกติของชาวบ้านทั่วไป เขาทุกข์เพียงกายแต่ใจเขาไม่ทุกข์ไปด้วย.....อยู่สู้โลกต่อไปนะช่างต้อย.....
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
17/08/53