มนุษย์นั้นมีสมองและจิตที่ทำให้มีความคิด แต่เจ้าความคิดบางครั้งก็อาจทำให้คนสับสนมึนงงหรืออาจกลายเป็นบ้าได้เพราะคิดไม่เป็น สักแต่ว่าคิดแต่ไม่สามารถควบคุมความคิดไปในทางที่ถูกได้ ในวันหนึ่งๆมีหลายเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตหากนำมาคิดทำให้จิตปรุงแต่งหมดทุกเรื่อง สมองมนุษย์อาจจะรับมือกับเจ้าความคิดไม่ไหว อาจกลายเป็นบ้าเพราะความคิดหรือเป็นคนสิ้นคิดไปได้ในที่สุด
ในพระพุทธศาสนาได้แสดงวิธีคิดไว้หลายอย่าง โดยแสดงไว้ในคำว่า “สัมมาสังกัปปะคือคิดชอบ ดำริชอบ” เป็นหนึ่งในมรรคมีองค์แปดซึ่งประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ แต่ละอย่างรวมเป็นเหมือนเชือกเส้นเดียวแต่มีแปดเกลียวมารวมกัน แต่ถึงแม้จะแยกเกลียวเชือกออกทีละเส้น เชือกก็ยังเป็นเชือก แต่ละเกลียวก็ยังเป็นเกลียวเชือกอยู่เหมือนเดิม วันนี้ลองแยกเกลียวแห่งมรรคที่เรียกว่า “สัมมาสังกัปปะ” มาลองพิจารณาดูตามสมควร
การคิดดีหรือจะเรียกว่าความคิดเชิงบวกนั้นต้องมาจากการฝึกฝนอาจจะมาจากเรื่องเล็กๆเช่น ที่บ้านหลังหนึ่งอยู่กันหลายคน วันหนึ่งเราเดินเข้าห้องน้ำเห็นใครก็ไม่รู้เปิดยาสีฟันทิ้งไว้ เราจะคิดอย่างไร ถ้าคนที่ความคิดเชิงลบก็ต้องบอกว่า “คนที่เปิดยาสีฟันทิ้งไว้ไม่มีระเบียบ ใช้แล้วไม่รู้จักปิดฝาเก็บให้เรียบร้อย” ส่วนคนที่มีความคิดเชิงบวกจะมองอีกมุมหนึ่งว่า “ดีจริงมีคนหวังดีเปิดยาสีฟันไว้รอ คงกลัวว่าเราจะเสียเวลาเปิด” แนวคิดทั้งสองนั้นแม้จะมาจากเรื่องเล็กๆ แต่ทว่าผลของการคิดแตกต่างกัน คนแรกคิดเพื่อจะหาเรื่องจับผิด ส่วนคนหลังคิดเพื่อปล่อยวาง พร้อมที่จะให้อภัย
ในวันหนึ่งๆเรามักจะพบเหตุการณ์ในทำนองนี้หลายครั้ง ถ้าเราตั้งความคิดไว้ถูกสิ่งต่างๆก็ทำให้จิตเราเศร้าหมองไม่ได้ สัมมาสังกัปปะ หมายถึงดำริชอบได้แก่เนกขัมมสังกัป อพยาบาทสังกัป อวิหิงสาสังกัป ความคิดทั้งสามอย่างนี้เรียกว่ากุศลวิตกหมายถึงความตรึกที่เป็นกุศล, ความนึกคิดที่ดีงาม มีคำอธิบายได้ดังนี้
1. เนกขัมมวิตกได้แก่ความตรึกปลอดจากกาม, ความนึกคิดในทางเสียสละ ไม่ติดในการปรนปรือสนองความอยากของตน
2. อพยาบาทวิตกได้แก่ความตรึกปลอดจากพยาบาท,ความนึกคิดที่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ขัดเคืองหรือเพ่งมองในแง่ร้าย
3. อวิหิงสาวิตก ได้แก่ความตรึกปลอดจากการเบียดเบียน, ความนึกคิดที่ประกอบด้วยกรุณาไม่คิดร้ายหรือมุ่งทำลาย
ความคิดทั้งสามนี้เรียกว่าคิดถูก คิดในทางที่ชอบประกอบด้วยกุศลสรุปได้สั้นๆว่า "คิดจะเป็นผู้เสียสละ คิดประกอบด้วยเมตตา คิดด้วยใจกรุณา" เมื่อเกิดขึ้นในจิตของผู้ใดแล้วก็จะทำลายความคิดที่ไม่ดีสามอย่างได้ ดังที่แสดงไว้ในวิตกสูตร อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต (22/380/400) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสามประการนี้คือกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละธรรมสามประการเหล่านี้คือเนกขัมมวิตก อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละกามวิตก อัพยาบาทวิตกอันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตกอันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละวิหิงสาวิตก ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรมสามประการนี้ อันภิกษุพึงให้เจริญเพื่อละธรรมสามประการนี้แล
ถ้าเริ่มต้นด้วยการคิดถูก ก็นำไปสู่การทำเป็น และในที่สุดก็จะเห็นธรรมะได้ ดังนั้นการเห็นธรรมจึงมีวิธีการที่ถูกต้องอยู่ คนส่วนมากมักจะประสบทุกข์เพราะความคิดของตัวเอง ได้แต่คิดแต่ไม่เคยลงมือทำ หรือบางคนทำโดยไม่คิด ถ้าคิดถูก ทำเป็น โอกาสเห็นธรรมก็มีทางเกิดขึ้นได้
ครั้งหนึ่งมีสุภาพสตรีวัยเลยวัยกลางคนผู้หนึ่งเข้าไปนมัสการหลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ พรรณาถึงฐานะของตนว่าอยู่ในฐานะที่ดี ไม่เคยขาดแคลนสิ่งใดเลย มาเสียใจกับลูกชายที่สอนไม่ได้ ไม่อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดี ตกอยู่ภายใต้อำนาจอบายมุขแทบทุกอย่าง ทำลายทรัพย์สมบัติและจิตใจของพ่อแม่จนเหลือที่จะทนได้ ขอความกรุณาหลวงปู่ได้ช่วยแนะนำอุบายบรรเทาทุกข์ และแก้ไขให้ลูกชายพ้นจากอบายมุขนั้นด้วย
หลวงปู่ดุลย์ก็ได้แนะนำสั่งสอนไปตามเรื่องราวนั้นๆ ตลอดถึงแนะอุบายทำใจให้สงบ รู้จักปล่อยวางให้เป็น เมื่อสุภาพสตรีนั้นกลับไปแล้ว หลวงปู่ปรารภธรรมให้คนอื่นๆที่นั่งฟังอยู่ว่า “คนสมัยนี้ เขาเป็นทุกข์เพราะความคิด บางคนคิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงได้รู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงจะรู้”
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
02/07/53