หากคิดถึงพวกเหล่าโยคีผู้ปฏิบัติโยคะฝึกตนด้วยการท่าทางที่แปลกๆ สามารถฝึกฝนจนร่างกายอยู่ในอำนาจจะดัดแปลงเป็นท่าอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา หรือจะเรียกว่าอัตตกิลมถานุโยคคือทรมานร่างกายด้วยท่าทางต่างๆ เมืองแรกที่คิดถึงคือ “ฤษีเกษ” หรือ “ริชชีเกช” หรือภาษาอังกฤษสะกดว่า “Rishikesh”หรือ “Hrisshikesha” เพราะชื่อบ่งบอกให้รู้ว่าหมายถึง “ประตูแห่งพวกฤษี” หรือจะเรียกว่า “ประตูสู่หิมาลัย” หรือดินแดนที่รวมของพวกฤษี เมืองนี้อยู่ในรัฐอุตตราขัณฑ์ สาธารณรัฐอินเดีย
การเดินทางในครั้งนี้เริ่มต้นที่หริทวาระ การเดินทางเลือกได้ว่าจะใช้บริการรถยนต์โดยสารจากสถานีขนส่งไปยังเมืองฤษีเกษซึ่งมีรถโดยสารทุกวัน ใช้เวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมง หรือหากต้องการประหยัดเวลาก็สามารถเรียกรถอูเบอร์ได้เลยอัตราค่าโดยสารประมาณ 1000-1500 รูปี ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง ต้องเลือกเอาระหว่างจำนวนเงินและเวลา หากคิดแบบฝรั่งที่ใช้เงินดอลลาร์ก็ไม่แพงมากเพียง 17 ดอลลาร์เท่านั้นเอง นับว่าอัตราการใช้เงินไม่แพงเกินไป เพราะใช้เวลาน้อยเมื่อไปถึงก็สามารถเดินชมสถานที่ต่างๆได้ทั้งวัน เมื่อคิดเทียบกับการที่จะต้องสียเวลาอีกหนึ่งวัน
ฤษีเกษเป็นเพียงเมืองเล็กๆที่มีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน วันแรกก็แค่เดินข้ามสะพานลักษมี หาฉันกาลัมจายข้างถนน สนทนากับนักท่องเที่ยวที่เริ่มจะมีจำนวนมากมากขึ้น คนอินเดียชอบคุยแม้ว่าภาษาจะฟังยากหน่อย แต่ก็พอสนทนาสื่อสารกันเข้าใจได้ ภาษาไม่ใช่เรื่องยากผิดบ้างถูกบ้างก็ไม่เป็นไร ตะวันบ่ายคล้อยคนก็ยิ่งมาก เมื่อสอบถามคนพื้นที่ว่าทำไมวันนี้คนมาก พวกเขามาดูอะไรกัน ก็ได้รับคำตอบว่าช่วงนี้มีเทศกาลงานโยคะนานานชาติจัดขึ้นริมฝั่งแม่น้ำคงคาเวลาประมาณ 18.00 น. งานที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด
เมื่อรู้ว่ามีงานก็น่าจะลองไปดู จากนั้นก็เดินข้ามสะพานแขวนเหนือแม่น้ำคงคาไปยังเป้าหมายคือสถานที่จัดงาน ซึ่งอยู่ไกลประมาณ 3 กิโลเมตร เดินไปเรื่อยๆแทรกตัวอยู่กับนักท่องเที่ยวและเหล่าโยคีทั้งหลายที่ต่างก็มุ่งหน้าไปยังสถานที่จัดงาน หากเหนื่อยก็แวะฉันน้ำชา กาแฟ เลือกชมสินค้าของที่ระลึกต่างๆ ไม่ได้คิดจะซื้อหรอกเพราะมองถึงการข้างหน้าที่จะต้องเดินทางอีกหลายเมือง กระเป๋าใบเดียวคงแบกไปลำบาก ถึงกระนั้นก็ยังเผลอซื้อบางอย่างจนได้
เมื่อเย็นย่ำค่ำสนธยาผู้คนก็เริ่มมากขึ้น เส้นทางเดินเล็กๆริมฝั่งแม่น้ำคงคาเริ่มหนาแน่นไปด้วยผู้คน บรรยากาศครึกครื้นตามลำดับ ไปถึงสถานที่จัดงานหน้าปรามาส นิเกตัน สถาบันที่เปิดสอนโยคะแห่งหนึ่ง มีรูปพระศิวะนั่งอยู่ในแม่น้ำคงคาหันหน้าเข้าหาฝั่ง นักท่องเที่ยวต่างชาติมีปริมาณมากขึ้น ต่างก็ทยอยไปยังบริเวณประรำพิธี เท่าที่พยายามฟังจากผู้จัดงานพอจับใจความได้ว่า ผู้ที่มาศึกษาวิชาโยคะได้ร่วมกันจัดงานโยคะนานาชาติขึ้น ผู้ฝึกฝนต่างก็มาเล่าประสบการณ์ในการฝึกโยคะ ซึ่งมีมาจากทั่วโลก บางคนอยู่มานานหลายปี บา บางคนเดินทางมาทุกปี บางคนพึ่งเริ่มต้นฝึก ฟังไปฟังมาก็เริ่มอยากฝึกเหมือนนะ ความพูดที่โน้มน้าวใจ ประสบการณ์ที่ดีมีประโยชน์ ซึ่งคงหายากในดินแดนทางตะวันตก ต้องยอมรับว่าเขาจัดงานได้ดีมาก
จากนั้นจึงเริ่มพิธีคงคาอารตีคือการบูชาไฟและการอาบน้ำชำระบาปตามความเชื่อในศาสนาฮินดู เปลวไฟในมือของผู้คนหลายพันคนลุกโชนริมฝั่งคงคา บรรยากาศดูเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์เรียกศรัทธาได้จากผู้ชมได้อย่างดี โยคะ โยคีและคงคาอารตี มีโยคะท่านหนึ่งเข้ามาสนทนาด้วย หลังจากได้กาลัมจายคนละแก้ว โดยข้าพเจ้าเป็นเจ้าภาพเอง เมืองนี้แค่กาลัมจายแก้วเดียวก็ได้เพื่อนแล้ว โยคีท่านนั้นได้เล่าถึงสถานที่น่าสนใจแห่งเมืองฤษีเกษให้ฟัง เมืองนี้มีสะพานข้ามแม่น้ำคงคาหลายแห่ง บางแห่งกำหนดไว้เฉพาะให้คนเดินผ่านเท่านั้นเช่นลักษมันจูฬา รามจูฬา จานาจิจูฬา คนอินเดียบอกว่า “จูฬา” หมายถึงสะพาน บางครั้งก็เรียก “เสตุ” เช่นลักษมันเสตุ เป็นต้น
พิธีคงคาอารตีช่วงนี้จัดขึ้นทุกวัน แต่งานโยคะนานานชาติจัดขึ้นทุกปีมีเวลาจำกัด ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-14 เดือนมีนาคม เมืองนี้ขึ้นชื่อเรื่องการฝึกโยคะ มีโรงเรียน วิทยาลัยหลายแห่งเปิดสอนวิชาโยคะโดยเฉพาะ หากเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติก็สามารถเลือกเรียได้หลักสูตร 3 วัน 7 วัน 1 เดือน 3 เดือน หรือบางหลักสูตรอาจใช้เวลาหลายปี ส่วนพวกโยคีก็ปฏิบัติตนตามอาศรมต่างๆซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ผมก็มีอาศรมอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ถ้าท่านมีเวลาแวะไปเยี่ยมผมบ้าง
วันแรกที่เมืองฤษีเกษ ยังไม่ได้ชมอะไรมาก เพราะติดอยู่ที่งานโยคะนานาชาติและพิธีคงคาอารตีเป็นเวลานาน ดูจนกระทั่งเขาเลิกงาน จึงเดินข้ามสะพานลักษมันจูฬากลับที่พักซึ่งอยู่ไม่ไกล มีเพื่อนนักท่องเที่ยวจากกรีซ โรมาเนีย บราชิล เดินเป็นเพื่อน
การเดินทางครั้งนี้แค่ต้องการทดสอบกำลังวังชาว่าสามารถจะไปได้ไกลแค่ไหน ส่วนมากถ้าไม่ไกลเกินไปก็จะเลือกใช้วิธีการเดินเป็นหลัก อย่างน้อยก็เป็นการออกกำลังกายไปในตัว หากรู้สึกเหนื่อยก็แวะร้านข้างถนน นั่งฉันกาลัมจาย พอหายเหนื่อยก็ไปต่อ การท่องเที่ยวในลักษณะนี้เพลินดีเหมือนกัน อีกอย่างหนึ่งต้องขอชื่นชมคนอินเดียที่มักจะไม่ค่อยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับนักบวชมากนัก เพราะนักบวชส่วนมากที่พวกเขาคุ้นเคยคือผู้สละชีวิตการครองเรือน ไม่ค่อยมีเงินมากนัก การเป็นนักท่องเที่ยวแบบคนจนก็ดีเหมือนกัน จาริกไปในเมืองที่อยากไปโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย มีเพียงกล้องหนึ่งตัว โทรศัพท์หนึ่งเครื่อง กับเงินรูปีพอประมาณ ก็สามารถใช้ชีวิตให้เพลินได้ในเมืองฤษีเกษนครแห่งโยคะ เมืองแห่งโยคี ริมฝั่งแม่น้ำคงคาได้อย่างมีความสุข
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/04/67