ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

       ชีวิตบางครั้งก็เลือกไม่ค่อยจะได้ สิ่งที่อยากได้มักจะไม่ค่อยเป็นไปตามที่คิด อยากเป็นอยากได้อย่างหนึ่งแต่ข้อเท็จจริงกลับต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง ชีวิตที่จะต้องอยู่ในโลกนี้ให้ได้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม เมื่อจะต้องอยู่ให้ได้ไม่ว่าจะอยู่อย่างไรก็ต้องอดทนกับสภาพที่จะต้องเผชิญในปัจจุบัน ไม่ว่าสถานการณ์นั้นจะเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม ต้องพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ต้องอยู่ให้ได้ แม้จะไม่ใช่สิ่งที่อยากเป็นก็ตาม ช่วงที่โควิดระบาดต้องกักตัวอยู่กับที่ไหนสักแห่ง หลีกเลี่ยงการพบปะกับผู้คน หรือหากจะพบก็ให้ติดต่อน้อยที่สุด เว้นระยะห่างไว้ให้มาก ป้องกันไว้ก่อนดีที่สุด แต่การอยู่กับที่แห่งเดียวนานๆติดต่อกันนั้น ดูเหมือนว่าชีวิตน่าจะสบาย เพราะไม่ต้องทำอะไร เป็นลักษณะของการอยู่กินนอนกิน ที่คนโบราณเคยบอกว่าคือชีวิตที่สุขสบาย ถึงเวลากินก็ได้กิน ถึงเวลานอนก็ได้นอน ประเภทนั่งกินนอนกินประมาณนั้น 
       สมัยเป็นเด็กอยากมีชีวิตแบบนี้มาก เนื่องเพราะชีวิตในวัยเด็กเกิดเป็นลูกชาวไร่ชาวนา ต้องช่วยพ่อทำนาทำไร่ตั้งแต่จำความได้ ตื่นตั้งแต่เช้า ฟ้ายังไม่สว่าง เสียงไก่ขันเป็นนาฬิกาปลุกก็ต้องรีบตื่น ล้างหน้าไม่ต้องแปรงฟันก็ใส่ชุดทำงานซึ่งก็คือเสื้อฝ้ายสีดำผืนเดียวที่มีอยู่ จูงควายออกจากคอก จากนั้นก็ปล่อยให้เจ้าควายที่แสนเชื่องพาไปยังท้องนา บางครั้งก็นั่งหลับบนหลังควายนั่นแล ถึงที่นาก็ตื่น นำไถมาใส่ควายและปล่อยให้มันพาไปอีกเช่นเคย จนตะวันเริ่มร้อนแรงขึ้นทุกที ท้องก็เริ่มส่งเสียงบอกให้เห็นถึงความหิวที่รบกวน สายตาก็จ้องมองไปที่หนทางว่าเมื่อไหร่แม่จะมาส่งข้าว ปรกติอาหารมื้อแรกก็น่าจะเกือบเที่ยงวัน ชีวิตชาวไร่ชาวน่าสมัยก่อนต้องบอกว่าเหนื่อยจริงๆ แต่เมื่อมองย้อนกลับไปถึงอดีตสมัยนั้นกลับรู้สึกว่าชีวิตแบบนั้นคือความสุขที่ไม่ต้องลงทุน ลูกชาวไร่ชาวนาขนานแท้ ใช้วิธีทำนาแบบดั้งเดิม ชีวิตก็ไม่เคยอดตาย แม้ว่าจะไม่ได้รู้จักว่าความร่ำรวยคืออะไร การมีเงินนั้นจะมีประโยชน์อันใด เพราะทุกวันก็มีข้าวให้กิน มีที่ให้นอน ไม่ต้องกังวลใจอะไรทั้งนั้น ชีวิตข้าพเจ้าในวัยเด็กเติบโตมาอย่างนี้
 
       พอชีวิตพลิกผันเดินเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร ก็ไม่ได้ยุ่งยากอันใด อุปสมบทอยู่วัดป่า ตื่นตีสี่ทำวัตรสวดมนต์ พอฟ้าสางก็ออกเดินบิณฑบาต หลังฉันภัตตาหารเสร็จมีเวลาทำกิจส่วนตัว เที่ยงวันหลวงพ่อจะรวมพลเพื่อทำงานอะไรสักอย่างเช่นงานก่อสร้างกุฏิวิหาร ทำรั้วรอบวัด ทำไม้กวาด บางครั้งหลวงพ่อก็มีงานแปลกๆมาให้ฝึกทำเช่นสานตระกร้า กระบุง กระติบข้าว ซึ่งน่าจะเป็นของชาวบ้าน  ซึ่งจะต้องอาศัยแรงงานจากพระภิกษุสามเณรเป็นหลัก งานประเภทนี้ไม่เคยเสร็จสมบูรณ์สักที พอเสร็จงานหนึ่งก็ทำอีกงานหนึ่ง ทำงานจนถึงช่วงเย็นก็ถึงเวลากวาดวิหารลานเจดีย์และทำวัตรสวดมนต์ไปจนถึงดึกก็ได้เวลาพักผ่อนหลับนอน ซึ่งก็หลับสนิทได้ทุกวัน เพราะเหนื่อยจากการทำงาน เคยถามหลวงพ่อว่า จะให้พวกผมทำงานประเภทนี้ไปทำไมกัน ถ้าทำงานแบบนี้ผมกลับไปอยู่บ้านไม่ดีกว่าหรือ ทำงานแล้วได้เงินด้วย หลวงพ่อตอบด้วยอารมณ์ดีว่า “ก็เตรียมความพร้อม หากอยู่ในศาสนาไม่ได้ ก็จะได้ออกไปสู่โลกภายนอกด้วยการเป็นผู้มีความสามารถในการดำเนินชีวิต มันจะได้เลี้ยงครอบครัวได้ คนขยันเท่านั้นจึงจะมีชีวิตที่ไม่อายคน” 
 
       ต่อมาอีกสี่ห้าปีจึงได้คำตอบที่เห็นได้ชัด ผู้ที่ลาสิกขาออกไปจากวัดนี้ออกไปมีครอบครัวสามารถทำงานเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวได้ดีทุกคน ทิศสึกใหม่ท่านหนึ่งบอกว่า เสียดายที่ผมเรียนวิชาจักสานได้ไม่เต็มที่ แค่ก็ทำการสานกระติบข้าวเป็นอาชีพเสริม ขายได้ราคาดี ไม่ต้องไปวางขายที่ไหน มีแต่คนสั่งจองล่วงหน้าจนทำงานไม่ทัน ฝีมือดีอย่างหลวงพี่ หากจะลาสิกขาออกไปเมื่อใดบอกผมได้เลย มีคนอยากได้เป็นลูกเขยรออยู่อีกหลายคน นั่นก็แค่สายลมแห่งความฝันที่พัดผ่านไปนานแสนนาน ไม่มีหญิงสาวโชคร้ายคนไหนได้ไปครอบครองเลย
       วันหนึ่งหลวงพ่อเทศนาให้ฟังว่า “พระที่จะอยู่ในศาสนาได้โดยสรุปมี 3 ประเภท คือพระกรรมฐานหรือพระฝ่ายวิปัสสนา สองพระฝ่ายปริยัติหรือพระที่เรียนหนังสือ และสามพระที่ชำนาญนวกรรมหรือการก่อสร้าง พวกท่านทั้งหลายหากจะอยู่ในศาสนาก็ต้องเลือกเส้นทางของตัวเองว่าจะเอาดีทางไหน ต้องดูที่ความถนัดและภูมิปัญญาของตัวเองด้วย ดูตัวเองให้ออก บอกตัวเองให้ได้ และใช้ให้เป็น”
 
       สิ่งที่หลวงพ่อฝึกให้พระภิกษุในวัดทำคือฝ่ายนวกรรมทำการก่อสร้าง ซึ่งก็สร้างไม่เสร็จสักที นอกจากนั้นยังสอนอาชีพในการจักสาน ฝึกให้ทำการก่อสร้าง ใครที่อยู่ได้ก็พัฒนาวัดได้ ใครที่อยู่ไม่ได้ก็มีอาชีพติดตัวออกไปดำเนินชีวิตในฆราวาสวิสัยได้
       พอเข้าพรรษาก็ให้เรียนนักธรรมบาลี ใครที่มีพรสวรรค์ด้านการศึกษา หลวงพ่อก็จะส่งเข้าไปในสำนักเรียนในจังหวัดที่มีความพร้อมมากกว่า มีครูสอนที่พร้อม มีเพื่อนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน รูปใดที่สอบได้เป็นพระมหาเปรียญเป็นครูสอนต่อไป ก็บางรูปเรียนจนได้เปรียญธรรมเก้าประโยคก็ทำหน้าที่เป็นครูสอนนักเรียนต่อไป 
       หากอยากเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ก็ต้องส่งต่อไปที่กรุงเทพมหานครซึ่งมีสถาบันการศึกษาที่สอนถึงระดับปริญญาตรีสำหรับพระภิกษุสามเณร
       อีกประเภทหนึ่งคือพระฝ่ายวิปัสสนาหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าพระกรรมฐาน พอออกพรรษาหลวงพ่อก็จะแนะนำให้ออกธุดงส์เดินท่องเที่ยวไปในที่ต่างในภูผา ป่า ถ้ำ ฝึกอยู่รูปเดียวให้ได้ บำเพ็ญวิปัสสนาเพื่อดำเนินไปสู่การรู้แจ้งตามหลักคำสอนของพระพุทศาสนา
 
       เรียกว่าชีวิตในวัดป่าแห่งนี้เปิดทางให้เลือกได้สามทาง ใครชอบทางไหน หลวงพ่อก็สนับสนุนไปทางนั้น หากจะอยู่ในศาสนาต่อไปก็ต้องอยู่อย่างมีคุณค่า หรือหากจะออกไปเผชิญโลกภายนอกก็ต้องไปอย่างมีคุณภาพเช่นกัน
       ต้องสารภาพว่างานประเภทนวกรรมหรืองานประเภทก่อสร้างขอสละสิทธิ์ไม่ชอบจริงๆ เป็นงานที่เหนื่อยมาก อีกอย่างก็เคยทำงานประเภทนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่ขอเสริมต่องานประเภทนี้ ตัดสินใจเลือกทางด้านการศึกษา อันที่จริงก็ไม่ได้เลือกเอง แต่เพราะหลวงพ่อเห็นแววว่าน่าจะเอาดีทางนี้ได้ จึงส่งเข้าไปทดลองเรียนบาลีที่สำนักเรียนในจังหวัด “ลองดูสักปี ถ้าไม่ไหวก็กลับวัด” หลวงพ่อพูดสั้นๆ แค่นั้น พอเรียนไปสักพักรู้สึกดี ได้รู้สิ่งใหม่ๆที่ไม่เคยรู้ ได้พบปะสนทนากับพระภิกษุสามเณรที่มาจากต่างจังหวัด ชีวิตไม่เหงา
       เส้นทางธุดงส์ก็ออกไปทุกปีหลังจากสอบบาลีเสร็จมีเวลาประมาณสามเดือนก่อนที่จะเปิดเรียนในชั้นต่อไป ไปมาหลายจังหวัด รู้สึกชอบชีวิตมีอิสระเสรี ชีวิตที่ทำตัวแบบปล่อยวาง อยู่กับตัวเอง บำเพ็ญจิตภาวนา ได้ความรู้ไปอีกแบบ เส้นทางนี้ก็พอไหว เรียนไปด้วย ใช้เวลาบำเพ็ญทดสอยวิชาการที่เรียนมา ไปกันได้ดี ชีวิตอีกหลายปีจึงเป็นไปทำนองนี้ เข้าพรรษาเรียนหนังสือ ออกพรรษาเข้าป่าบำเพ็ญกรรมฐาน
 
       ชีวิตข้าพเจ้าเป็นไปดั่งนี้ มานานหลายปี อยู่มาหลายวัด แต่สาระสำคัญของชีวิตเลือกที่การศึกษา เรียนไปเรื่อยๆ ย้ายตามสถานศึกษาที่เรียน กรุงเทพมหานครบ้าง เชียงใหม่บ้าง นครปฐมบ้าง ค่าใช้จ่ายก็มาจากการทำงานสอนหนังสือ ทำงานไปเรียนไปด้วย ไม่ต้องพึ่งพาค่าใช้จ่ายจากใคร หาเงินได้ก็เก็บไว้เป็นค่าเทอม ไม่รู้สึกว่าเหนื่อย เพราะชีวิตมีการเคลื่อนไหวตลอด แม้บางครั้งจะออกนอกเส้นทางการเรียนบ้าง แต่ท้ายที่สุดก็วกกลับมาเริ่มต้นได้ทุกครั้ง ผ่านไปหลายปีก็เรียนชั้นสูงสุดของระบบการศึกษา ทำหน้าที่เป้นอาจารย์สอนหนังสือต่อไป
       ชีวิตกับการทำงานวันเวลาที่ไม่เคยได้ว่างนานนัก สอนหนังสือทุกอาทิตย์วันว่างก็เตรียมการสอน กลับวัดก็ช่วยสอนวิชาภาษาบาลีให้กับพระภิกษุสามเณร รู้สึกว่าชีวิตก็สนุกดี มีเวลาว่าตอนเช้าก็เขียนหนังสือบ้าง ซึ่งก็ไม่เคยคิดว่าจะเขียนถึงขั้นที่จะต้องขายได้ เขียนบันทึกควาทรงจำเล่นๆ ช่วงบ่ายก็ออกไปทำงานสอนหนังสือ หรือทำงานอย่างอื่น ตอนเย็นกลับมาสอนพระภิกษุสามเณร 
 
       ช่วงโควิดระบาดงานทุกอย่างถูกสั่งระงับหมด สถาบันการศึกษาปิด หากจะมีการเรียนการสอนก็จะต้องใช้ระบบออนไลน์ซึ่งก็พอที่จะเรียนรู้ได้ไม่ยากนัก ช่วงนี้ปิดนานเขาให้อยู่กับที่ใดที่หนึ่ง ไม่ให้ออกไปพบปะผู้คนที่ไหน เพราะเกรงว่าจะติดเชื้อโควิด ตอนแรกการอยู่กับที่นานๆนึกว่าจะสบาย แต่พอผ่านไปสักพัก ก็เริ่มเบื่อ ชีวิตมันต้องมีการเคลื่อนไหวบ้าง ต้องพบปะกับผู้คนบ้าง จะให้อยู่เฉยๆโดยไม่ทำอะไรเลยก็ดูกระไรอยู่ มันก็น่าแปลกเหมือนกันนะแค่คิดจะเขียนบทความสักเรื่องในช่วงที่มีเวลาว่างนานๆ กลับคิดอะไรไม่ค่อยออก ช่วงนี้มีเวลาว่างมาสี่วันแล้ว ลองเริ่มต้นเขียนอะไรสักหน่อย ชีวิตจะได้ไม่เงียบเหงาจนเกินไป สมองมีไว้ให้ใช้ ถ้าไม่ใช่สมองจะฝ่ออาจจะกลายเป็นโรคความจำเสื่อม  เมื่อลองทบทวนชีวิตที่ผ่านมาก็บันทึกไว้ก่อนที่ความจำจะเสื่อม และเขียนเผื่อไว้ก่อนถึงวันตาย ก็ไม่ต้องมีใครมาเขียนประวัติให้ เขียนบันทึกชีวิตของตนเองไว้ก่อนตาย 
 
 
พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
03/05/64
 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก