ข่าวเกี่ยวกับโควิดปิดทุกกระแส แม้แต่วันสงกรานต์ก็ไม่ได้ยินเสียงเพลงในวันสงกรานต์เลย วัดวาอารามก็เงียบสงัด เพราะกิจกรรมทุกอย่างถูกระงับหมด การทำบุญเนื่องในวันสงกรานต์ หากเป็นในช่วงเวลาปรกติป่านนี้คงคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่พากันมาที่วัดด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่แตกต่างกันคือเพื่อทำบุญบังสุกุลอัฐิบรรพบุรุษที่ฝากไว้ในบริเวณกำแพงวัด ทางวัดก็อำนวยความสะดวกให้โดยจัดบังสุกุลรวมพร้อมกันที่ศาลาการเปรียญ แต่หากจะนิมนต์พระไปบังสุกุลเป็นกรณีพิเศษก็ย่อมได้ อดีตในวันสงกรานต์เป็นมาดั่งนี้นานแสนนานแล้ว
แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด ทำให้ผู้คนหวาดระแวงว หวาดกลัว ไม่อยากจะเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากรวมกัน เพราะถ้ามีคนหนึ่งติดโรคก็อาจจะส่งผลไปยังคนอื่นๆด้วย ระวังป้องกันไว้ก่อนเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แม้ว่าโรคนี้เป็นแล้วจะรักษาหาย แต่ก็ต้องใช้เงินจำนวนพอสมควร ในยุคที่คนตกงาน ไม่ค่อยมีเงินรักษา ก็ต้องระวังอย่าให้ติดเชื้อโควิด ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ เพราะถ้าแย่แล้วจะแก้ไม่ทัน
ถ้าเป็นห้วงเวลตามปรกติ สรงกรานต์เริ่มต้นวันที่ 13 เมษายน ตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร บังสุกุลอัฐิที่วัด ตอนบ่ายจะมีการไปร่วมสรงน้ำพร้อมกันที่วัด พร้อมทั้งมีการก่อเจดีย์ทราย ทุกคนจะนำทรายไปรวมกัน กองทรายจะค่อยๆใหญ่โตขึ้น มีการนำธงทิวมาปักไว้บนกองทราย จนทรายกลายเป็นรูปทรงเจดีย์ มีการละเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน หนุ่มสาวบางคนก็เริ่มต้นได้พบกันในวันสงกรานต์นี่แหละ สมัยเป็นเด็กเคยเรียกว่า “วันทำบุญ”
วันที่ 14 เมษายน ก็จะเป็นวันรวมญาติพี่น้อง ที่จากกันไปทำมาหากินในถิ่นต่างๆ พอถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็จะกลับมาเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ รดน้ำขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ บางตระกูลมีลูกหลานมากถึงขั้นต้องสร้างที่พักมุงด้วยหญ้ากันเลยทีเดียว ปีหนึ่งอย่างน้อยก็ได้เห็นหน้ากันครั้งหนึ่ง มีลูกเพิ่มขึ้นกี่คน คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยายได้หลาน ได้เหลนเพิ่มขึ้นอีกกี่คน บางคนพึ่งได้เห็นกันครั้งแรก สมัยเป็นเด็กเรียกวันนี้ว่า “วันรวมญาติ” แม้จะกันคนละที่แต่ความเป็นญาติก็กลับมาเยี่ยมเยือนญาติผู้ใหญ่ให้กำลังใจผู้เฒ่า มีของฝากมาให้ ผู้ใหญ่ก็มีความสุข มีกำลังใจที่จะอยู่ต่อไปเพื่อให้ถึงวันสงกรานต์ในปีต่อไป
วันนที่ 15 เมษายน เป็นวันพักและวันเล่น ใครอยากจะเล่นอะไรก็เล่นกันตามชอบใจ ใครอยากจะทำอาหารอะไรก็ช่วยกัน สมัยก่อนชอบเรียกวันนี้ว่า “วันอิ่ม” เพราะทั้งวันมีอาหารการกินมากมาย ไปที่ไหนก็กินฟรีได้ทั้งหมู่บ้าน ขนมลูกตาล ขนมชั้นของแม่ก็แจกจ่ายในญาติพี่น้อง และยังแจกฟรีที่หน้าบ้านใครผ่านไปผ่านมาก็กินฟรีได้เลย
วันต่อมาก็เริ่มแยกย้ายกันกลับถิ่นฐานของตัวเอง จากเด็กจนโตเป็นหนุ่มมักจะเรียกวันนี้ว่า “วันจาก”วิถีชีวิตในวันสรงกรานต์ในอดีตที่ผ่านมาในความทรงจำเป็นไปในทำนองนี้ จากเด็กจนโตเป็นหนุ่ม ได้เห็นความเป็นไปในวันสงกรานต์ที่เป้นวันที่ได้พบญาติพี่น้อง ฟังคำแนะนำในการดำเนินชีวิตจากญาติผู้ใหญ่จะอยู่อย่างไรให้อยู่ดีมีความสุข มีเงินใช้ มีอายุยืนยาว ประสบการณ์ตรงจากผู้เฒ่าผู้แก่ได้ถ่ายทอดให้ลูกหลานได้รับฟัง
สงกรานต์ปีนี้จึงเป็นสงกรานต์ที่เงียบที่สุดเท่าที่เคยประสบมา เมื่อไม่มีกิจกรรม ไม่มีผู้คน วัดก็เหงา คนก็เศร้า เพราะต้องเฝ้าระวัง เมื่อออกไปไหนลำบาก จะเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้อง โดยเฉพาะมารดาซึ่งหากไม่มีอะไรขัดข้องจะกลับไปเยี่ยมท่านทุกไป ไปรดน้ำขอพร มอบของที่ระลึกเพื่อเป็นกำลังใจให้ท่านได้อยู่กับลูกหลานต่อไป คนเฒ่าคนแก่ไม่มีอะไรที่อยากได้มากไปกว่าการได้พบหน้าลูกหลาน ได้พบปะพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบกับเหล่าบรรดาลูกหลาน เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
ปีนี้แม้จะมีวันหยุดยาว แต่ไม่อยากเดินทางไปไหน ได้มีโอกาสอยู่เหย้าเฝ้าวัดนานติดต่อกันหลายวัน แม้จะมีงานเกี่ยวกับเอกสารหลายอย่างที่จะต้องทำ แต่ยังไม่อยากทำ วันหยุดก็อยากพัก อยากเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง แต่เมื่อดูจากข่าวสารต่างๆแล้ว อยู่กับที่น่าจะดีที่สุด มีเวลาคิดถึงสงกรานต์ในอดีต สงกรานต์ในความทรงจำ เรามีความทรงจำอะไรบ้างในวันสงกรานต์
เล่นสงกรานต์ครั้งแรกเมื่อใดก็จำไม่ได้ มีแต่ความลางเลือนน่าจะเป็นสมัยเด็กๆพอถึงวันสงกรานต์ก็เอาโอ่งน้ำมาวางไว้ที่หน้าบ้าน ใครผ่านมาผ่านไปก็สาดน้ำเปียกปอนไปตามๆกัน ต้องคอยเติมน้ำให้เต็ม บางครั้งคนที่ผ่านไปก็ขอแบ่งน้ำใส่พาชนะติดรถไปด้วย สนุกสนานตามประสาเด็กที่ได้สาดน้ำคนอื่นๆ ส่วนตัวเองก็เปียกปอนทั้งวัน บ่ายๆก็หาของกิน แม่ทำขนมวางขายที่หน้าบ้าน ขนมตาล ขนมชั้น ลอดช่อง แค่เดินเข้าไปพูดคุยกับแม่ พอท่านเผลอก็หยิบขนมใส่ปาก ถ้าแม่เห็นก็เพียงแต่ทำตาดุนิดหน่อยแต่มีรอยยิ้มที่มุมมปาก แม่ไม่ได้คิดจะขายให้ร่ำรวยอันใด เพียงแค่มีขนมให้ลูกได้ทานกันเล่นเท่านั้น นานๆพ่อจะวางมือจากการจักสานโผล่มาสักครั้ง ไม่มีใครกล้าเล่นกับพ่อเพราะพ่อไม่ค่อยยิ้ม ทำหน้าตาดุตลอด มีแต่แม่นั่นแหละที่สาดน้ำพ่อได้ พอเปียกแล้วจะได้เห็นรอยยิ้มของพ่อและท่านก็หยิบขนมสองสามชิ้นใส่ปากกลับไปทำงานต่อ ดูเหมือนว่าพ่อจะไม่เคยว่างงานแม้ในวันหยุด แค่หยุดจากงานหนึ่งมาทำงานอีกอย่างหนึ่งเท่านั้น
พอโตเป็นหนุ่มก็ชักชวนเพื่อนฝูงออกเที่ยวสงกรานต์ยังหมู่บ้านอื่นๆ พาหนะคือรถจักรยานจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง ชวนเพื่อนในอีกหมู่บ้านไปเที่ยวต่อ ค่ำที่หมู่บ้านไหนก็นอนที่นั่น อาศัยศาลาวัดบ้าง บ้านเพื่อนบ้าง ไปเยี่ยมเพื่อนที่เคยรู้จักในตำบลนั่นแล เนื่องจากมีเพื่อนที่เคยเรียนหนังสือมาด้วยกันจากแทบทุกหมู่บ้านในตำบล เพราะหนึ่งตำบลมีโรงเรียนระดับประถมปลายเพียงแห่งเดียว ในระดับอำเภอก็มีโรงเรียนระดับมัธยมเพียงแห่งเดียว การเรียนหนังสือจึงทำให้มีเพื่อนทั้งอำเภอ ไปหมู่บ้านไหนก็รู้จักกันไปทั่ว บางคนแม้จะไม่ได้เรียนชั้นเดียวกัน ขอแค่เป็นโรงเรียนเดียวกันก็สามารถนอนพักค้างคืน พร้อมทั้งมีอาหารอิ่มท้องได้ทั้งวัน หากหมู่บ้านไหนมีงานแข่งขันกีฬาก็ลงช่วยกันได้ เช่นตระกร้อ ฟุตบอลพอเป็นตัวสำรองลงช่วยทีมได้ หรือหากเป็นตอนกลางคืนมีการแข่งขันชกมวยก็ขึ้นเวทีชกมวยพอได้เงินมาเที่ยวต่อได้ สงกรานต์บางปีเที่ยวได้เจ็ดวัน เพื่อนบางคนขึ้นชกมวยติดต่อกันสามวันก็ยังมี
งานไหนมีรำวงก็มักจะอยู่บนเวที พอเหนื่อยก็ช่วยเขาตีกลอง ตีฉิ่งร้องเพลงเชียร์รำวงไปตามเรื่อง จนบางครั้งมีคนเข้าใจคิดว่าเป็นพวกรำวงไปก็มี หากมีการชกต่อยบนเวทีรำวงก็อยู่บนเวทีนั่นแหละปลอดภัยที่สุด สมัยก่อนพอทะเลาะชกต่อยกันเสร็จก็รำวงกันต่อ ส่วนใครจะไปมีเรื่องกันต่อก็ไปที่อื่น เหตุรุนแรงจนถึงกับฆ่ากันตายไม่ค่อยมี ถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้ก็ขอขึ้นเวทีชกมวยวัดใจกันไปเลย ใครแพ้ไม่รับค่าตัว เรียกว่าเดิมพันกันด้วยเงินรางวัล
นานเท่าใดแล้วนะที่ไม่เคยได้เล่นสงกรานต์ เมื่ออายุล่วงกาลผ่านวัยเข้าสู่วัยผู้มีอายุก็ได้แต่เฝ้าดูพวกหนุ่มสาวเขาเล่นสงกรานต์กัน แต่สองปีมานี้ไม่มีเทศกาลสงกรานต์ คงเหลือไว้แต่อดีตและความทรงจำ
ประเพณีสงกรานต์หากจะมองที่วัฒนธรรมน่าจะมาจากวิถีชีวิตของเกษตรกร ที่จะต้องอาศัยฤดูกาลในการประกอบอาชีพ อีกอย่างเดือนเมษายนในอดีตคือวันเปลี่ยนศักราช วันขึ้นปีใหม่ เพื่อเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ การมีงานรื่นเริงสนุกสนานน่าจะเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดี คนมีความสุข คนมีความสนุกย่อมจะสู้กับชีวิตที่ไม่แน่นอนได้ ชีวิตมีขึ้นมีลง มีทุกข์มีสุข แต่เมื่อจิตใจเราเพลิดเพิลน สนุกกับสิ่งที่เห็น ใจเย็นกับสิ่งที่พบพาน แม้จะมีวิกฤตการณ์ก็สามารถผ่านไปได้ เริ่มต้นปีด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจ เหตุการณืข้างหน้าจะเป็นเช่นใด ก็เตรียมพร้อมยอมรับพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
13/04/64