เครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีเหตุขัดข้องใช้งานไม่ได้มาหลายวันแล้ว แจ้งผู้ให้บริการไปแล้ว แต่ก็ยังเงียบครั้นจะซ่อมเองก็ไม่มีความรู้ทางด้านนี้เพียงพอ ก็ต้องยอมรอกันต่อไป อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันตั้งแต่เมื่อใดไม่ทราบ แต่เมื่อมีแล้วก็ใช้มาเรื่อยๆ โทรทัศน์ก็ต้องเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต เมื่อเครือข่ายใช้งานไม่ได้ ก็ส่งผลถึงโทรทัศน์ก็ใช้งานไม่ได้ด้วย เมื่อระบบเชื่อมต่อถึงกัน หากเกิดความผิดพลาดที่ใดที่หนึ่งก็ส่งผลถึงสิ่งต่างๆด้วย พื้นที่ของโลกแม้จะกว้างใหญ่ไพศาล แต่โลกของการติดต่อสื่อสาร โลกแห่งความรู้กลับแคบลง
เมื่อไม่มีก็ไม่ใช้ แต่ก็ยังมีระบบอินเทอร์เน็ตที่ใช้ผ่านโทรศัพท์ พอใช้งานได้ แต่มีข้อจำกัดใช้งานต่อเนื่องยาวนานไม่ค่อยได้ แบตเตอร์รี่มักจะหมดก่อนทุกที ก็ต้องเลือกใช้ในสิ่งที่จำเป็น ช่วงนี้มีงานสอนที่จะต้องเตรียมการสอนทุกอาทิตย์ เมื่อสรรพความรู้ทั้งหลายไปอยู่ในสื่ออินเทอร์เน็ต ต้องการค้นคว้าอะไรก็ต้องใช้ แม้แต่พระไตรปิฎกทุกวันนี้ก็เข้าไปอยู่ในระบบสังคมออนไลน์ ตู้พระไตรปิฎกที่เคยมีก็ใช้เพียงตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา ตรวจสอบเล่ม ข้อ หน้าว่าอ้างอิงถูกต้องตรงกันหรือไม่ จะใช้เปิดอ่านจริงๆเหมือนสมัยก่อนก็น้อยลง
สังคมสมัยนี้จึงเป็นสังคมแห่งความรู้ที่มีให้ค้นหาได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ รู้สึกว่ามนุษย์ในโลกปัจจุบันจะใจร้อนมากขึ้นทุกวัน จะทำอะไรก็อยากจะเห็นผลในทันที ทำวันนี้ได้วันนี้ ทำเดี๋ยวนี้ได้เดี๋ยวนี้ เหมือนเทคโนโลยีทั้งหลายที่เพียงกดปุ่มก็เกิดผล อุปกรณ์ที่ใช้งานในปัจจุบันจะตอบสนองความต้องการทันที อยากรู้เวลาก็ยกข้อมือขึ้นดู อยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับอะไรก็ใช้โปรแกรมค้นหาจากสื่ออินเทอร์เน็ต แทบทุกเรื่องที่อยากรู้จะมีข้อมูลมาให้เลือกมากมาย บางอย่างมากจนไม่รู้จะเลือกอะไร ความรู้มากมายมหาศาลไปปรากฏในโลกที่ไม่มีตัวตน แต่ก็ตอบสนองความต้องการของความอยากรู้ได้
มีหลายวัดที่พยายามตอบสนองคนรุ่นใหม่ แนวคิดเรื่องความทันใจ ความรวดเร็ว สะท้อนอกมาด้วยการสร้างพระพุทธปฏิมาคือ “พระเจ้าทันใจ” สร้างวันเดียวเสร็จ ใครอยากได้อะไรตั้งความปารถนาในวันนั้นก็จะได้ผลทันใจตามนามเรียกขานของพระเจ้าทันใจ บางคนก็ได้จริงๆ บางคนก็ต้องรอต่อไปอีก รอไปเรื่อยๆไม่นานก็จะได้ตามที่ตั้งความปารถนาไว้ ความต้องการทุกอย่างต้องเห็นผลในชาตินี้ ส่วนชาติหน้าจะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด เพราะเราก็คาดหวังอะไรไม่ได้ ถึงจะมีก็อาจจะไม่ใช่เราที่เราอยากเป็น อาจจะเกิดเป็นอะไรก็ได้ จำได้บ้างไม่ได้บ้าง แนวคิดของคนในสังคมส่วนหนึ่งจึงเป็นประเภท “เย็นไม่ค่อยได้”
แนวคำสอนประเภทต้องสร้างบารมีหลายร้อยชาติ หลายแสนชาตินั้น ถึงจะมีคนสอนอยู่แต่ก็เริ่มจะมีคนสนใจน้อยลง บางอย่างแม้จะเป็นเรื่องจริง แต่เมื่อกล่าวออกไปแล้วไม่มีคนฟัง จะพูดไปก็ไร้ผล คำสอนประเภทในการสร้างบารมี การสั่งสมบารมี ให้เพียงพอก่อน จึงจะได้ตามที่ตนปรารถนา แต่ผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมอยากได้ผลทันตาเห็น ต้องได้ในช่วงเวลาที่ยังมีลมหายใจในชาตินี้ ส่วนชาติหน้าเริ่มมีคนสงสัยว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ จึงเป็นประเภท“รอไม่ค่อยได้”
คนในสังคมไทยเริ่มมองหาสิ่งที่จะทำให้ได้ผลทันตาเห็น จึงทำให้เกิดมีคนตั้งตัวเป็นพระศรีอริยเมตไตย์ ลงมาโปรดมนุษย์ที่ต้องการจะปฏิบัติตนเพื่อที่จะได้เห็นผลในชาตินี้ วิธีการก็ทำไม่ให้ยุ่งยาก ไม่ต้องมีการบรรพชาอุปสมบทอันใด เป็นฆราวาสญาติโยมคนธรรมดานี่แหละแต่ปฏิบัติรรมในโลกแห่งพระศรีอาริยเมตไตย์ได้
บางสำนักทำง่ายยิ่งกว่านั้นอีก แค่ฝึกดำน้ำในถังที่จัดเตรียมไว้ กลั้นลมหายใจพอจะทนไม่ไหวก็ผุดขึ้นมาหายใจ นัยว่าเป็นการฝึกการกำหนดลมหายใจอีกประเภทหนึ่ง ควบคู่ไปกับการงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ มีการแสดงผลที่จะได้รับไว้ด้วยว่า ถ้าใครทำได้ก็จะเห็นผลคือฉี่หรืออุจจาระจะมีกลิ่นหอม คนก็อยากได้อยากมี จากนั้นหากปฏิบัติขั้นต่อไปจนกระทั่งเส้นผมม้วนตัวเหมือนจะกลายเป็นพระธาตุ คนนั้นก็เป็นผู้บรรลุธรรม
บางคนคงแค่อยากลองทดสอบ แต่พอปฏิบัติเข้าไปได้สักพักก็จะเกิดอุปาทานยึดมั่นว่าฉี่หรืออุจจาระมีกลิ่นหอมจริงๆ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผิดธรรมชาติ แต่กลายเป็นเรื่องของการเหนือธรรมชาติ
แนวทางของการปฏิบัติพระพุทธเจ้าแสดงไว้หหลากหลายแนวทางก็จริง แต่ทางที่เป็นเอกหรือเป็นยอดอย่างหนึ่งคือการบำเพ็ญสติปัฏฐาน ดังที่แสดงไว้ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค(10/300/277) มีข้อความว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานหนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน 4 ประการ 4 ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้ (1) พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ (2) พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ (3) พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ (4) พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะมีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้”
ขั้นตอนการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ มีลำดับมีขั้นตอน มีช่วงเวลา เช่นการเจริญสติปัฏฐาน ก็กำหนดเวลาไว้ไม่เท่ากัน ดังที่แสดงไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค(10/273/257) มีข้อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 นี้อย่างนี้ ตลอด 7 ปี เขาพึงหวังผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือพระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี 7 ปียกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้ตลอด 6 ปี ... 5 ปี ... 4 ปี ... 3 ปี ...
2 ปี ... 1 ปี เขาพึงหวังผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี
หนึ่งปียกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้ตลอด 7 เดือน เขาพึงหวังผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่เป็นพระอนาคามี
เจ็ดเดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งเจริญสติปัฏฐานทั้ง 4 นี้ อย่างนี้ตลอด 6 เดือน ... 5 เดือน ... 4 เดือน ... 3 เดือน ... 2 เดือน ... 1 เดือน ... กึ่งเดือน เขาพึงหวังผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี
กึ่งเดือนยกไว้ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ อย่างนี้ตลอด 7 วัน เขาพึงหวังผล 2 ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ พระอรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน 4 ประการ ฉะนี้แล"
แนวทางการปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอริยบุคคล มีช่วงเวลาของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะสติปัญญาของคนแตกต่างกัน ความเพียรพยายามต่างกัน บารมีที่สั่งสมแต่ชาติปางก่อนต่างกัน ที่เราเห็นและเป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน สติปัญญาของคนก็ไม่เท่านกัน การทำงานก็แตกต่างกัน ผลของงานก็แตกต่างกัน
การปฏิบัติธรรมก็เฉกเช่นเดียวกัน ย่อมได้รับผลในเวลาที่แตกต่างกัน บางอย่างต้องรีบทำ บางอย่างต้องใจเย็น บางอย่างก็ต้องรอ มนุษย์ต้องเย็นให้พอ ต้องรอให้ได้ ถึงจะอยู่เย็นเป็นสุข แต่ในสังคมยุคปัจจุบันกำลังกลายเป็นสังคมที่ยอมไม่ค่อยเป็น เย็นไม่ค่อยพอ เลยรอไม่ค่อยได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
27/03/64