ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

       แทบทุกคนคงเคยเป็นหนี้ บางครั้งก็ด้วยความจำเป็นต้องหยิบยืมมาใช้ล่วงหน้าก่อนแล้วค่อยผ่อนคืนทีหลัง ยิ่งในยุคปัจจุบันที่เงินทองหายากมาก โรงงานทั้งหลายต่างก็ทยอยปิด คนงานก็ต้องตกงาน ใครที่วางแผนอนาคตผิดพลาดประเภทที่เอาของมาใช้ก่อนแล้วผ่อนชำระเป็นรายเดือน พองานหมดเงินก็หาย แล้วจะทำประการดี ครั้นจะหยิบยืมอีกก็ยิ่งเพิ่มภาระหนี้ขึ้นไปอีก หนี้เก่าก็ยังไม่หมด หนี้ใหม่ก็เพิ่มเข้ามา บางครั้งหาทางออกไม่ได้อาจจะคิดสั้นไปเลยก็ได้ 
       เฉพาะหนี้ที่มองเห็นได้ชัดมีสัญญาผูกพันก็ต้องจ่าย ทำไงได้ก็เป็นหนี้เข้าแล้ว ที่ประสบกับตัวเองคืออยากได้กล้องถ่ายภาพสักตัว แต่เงินมีไม่พอเลยขอผ่อนเป็นรายเดือนๆละหลายบาท ผ่อนมานานจนกระทั่งสิ้นเดือนมกราคม 2564 หมดภาระหนี้สินกับทางร้านค้าพอดี ความรู้สึกเมื่อหมดหนี้เหมือนกับได้กลายเป็นอิสระ ตัดความกังวลทั้งหลายออกไปได้ ตั้งใจว่านับต่อแต่จากนี้ไปจะไม่เป็นหนี้ใครโดยที่ยังมีสติสัมปชัญญะพร้อม หากอยากได้อะไรก็จะเก็บเงินไว้ให้เพียงพอ ไม่มีก็ไม่ผ่อนสินค้าอีกแล้ว ขอติดหนี้เป็นครั้งสุดท้าย พอกันทีสำหรับการซื้อเงินผ่อน มันกัดกร่อนจิตใจได้อย่างแสนทรมาน ถ้าในห้วงยามที่พอมีเงินก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่พองานหมดรายได้ก็หายไปด้วย 
       นอกจากการเป็นหนี้แล้วแทบทุกคนจะต้องเคยเจ็บไข้ บางคนเคยถูกจองจำ บางคนเคยตกเป็นทาสของอะไรสักอย่าง บางเคยเดินทางไกลที่กันดาร เป็นความลำบากที่แม้จะอธิบายให้คนอื่นฟังอย่างไรก็ไม่ชัดเจนเท่ากับประสบด้วยตนเอง
 
 
       การเป็นหนี้ภายนอกพออธิบายให้เห็นภาพได้ เป็นความทุกข์ที่พอจะผ่อนคลายได้  อย่างน้อยเราก็ได้สิ่งที่เราอยากได้ แต่ยังมีหนี้อีกหลายอย่างที่หากไม่พิจารณาก็จะมองไม่เห็น หนี้ภายในที่มาพร้อมกับการมีชิวิตของทุกคน ในทางธรรมเรียกว่า “นิวรณ์” แปลว่า สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม, ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี, อกุศลธรรมที่ทำจิตให้เศร้าหมองและทำปัญญาให้อ่อนกำลัง ในโปฏฐปาทสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค (6/176) แสดงนิวรณ์ไว้เหมือนคนเป็นหนี้ ดังข้อความว่า  “ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงกู้หนี้ไปประกอบการงาน การงานของเขาจะพึงสำเร็จผล เขาจะพึงใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้น และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเขาจะพึงมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรากู้หนี้ไปประกอบการงานบัดนี้ การงานของเราสำเร็จผลแล้ว เราได้ใช้หนี้ที่เป็นต้นทุนเดิมให้หมดสิ้นแล้ว และทรัพย์ที่เป็นกำไรของเรายังมีเหลืออยู่สำหรับเลี้ยงภริยา ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัสมีความไม่มีหนี้นั้นเป็นเหตุฉันใด
       ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เป็นทางไกลกันดาร และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.”
       นอกจากนั้นนิวรณ์ยังเปรียบเหมือนคนอาพาธ ดังข้อความว่า “ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบากเจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย สมัยต่อมา เขาพึงหายจากอาพาธนั้น บริโภคอาหารได้ และมีกำลังกาย เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นผู้มีอาพาธถึงความลำบาก เจ็บหนักบริโภคอาหารไม่ได้ และไม่มีกำลังกาย บัดนี้ เราหายจากอาพาธนั้นแล้ว บริโภคอาหารได้และมีกำลังกายเป็นปกติ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีความไม่มีโรคนั้นเป็นเหตุฉันใด
       เหมือนคนถูกจองจำ  ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงถูกจำอยู่ในเรือนจำ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัย ไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่าเมื่อก่อนเราถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ บัดนี้ เราพ้นจากเรือนจำนั้นโดยสวัสดีไม่มีภัยแล้ว และเราไม่ต้องเสียทรัพย์อะไรๆ เลย ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีการพ้นจากเรือนจำนั้นเป็นเหตุฉันใด
       เหมือนคนเป็นทาส         ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงเป็นทาส ไม่ได้พึ่งตัวเอง พึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ สมัยต่อมา เขาพึงพ้นจากความเป็นทาสนั้น พึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่นเป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเราเป็นทาสพึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น ไปไหนตามความพอใจไม่ได้ บัดนี้ เราพ้นจากความเป็นทาสนั้นแล้วพึ่งตัวเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เป็นไทยแก่ตัว ไปไหนได้ตามความพอใจ ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัส มีความเป็นไทยแก่ตัวนั้น เป็นเหตุฉันใด
       เหมือนคนเดินทางไกลที่กันดาร ดูกรโปฏฐปาทะ เปรียบเหมือนบุรุษมีทรัพย์ มีโภคสมบัติจะพึงเดินทางไกลกันดารหาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า สมัยต่อมา เขาพึงข้ามพ้นทางกันดารนั้นได้ บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดี เขาจะพึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนเรามีทรัพย์ มีโภคสมบัติเดินทางไกลกันดาร หาอาหารได้ยาก มีภัยเฉพาะหน้า บัดนี้ เราข้ามพ้นทางกันดารนั้น บรรลุถึงหมู่บ้านอันเกษมปลอดภัยโดยสวัสดีแล้ว ดังนี้ เขาจะพึงได้ความปราโมทย์ถึงความโสมนัสมีภูมิสถานอันเกษมนั้นเป็นเหตุฉันใด
       ดูกรโปฏฐปาทะ ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตน เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เป็นทางไกลกันดาร และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล.”
       ในทสุตตรสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/414) แสดงไว้ในฐานะธรรมที่ควรละ ดังข้อความว่า ธรรม 5 อย่างที่ควรละเป็นไฉน คือนิวรณ์ 5 ได้แก่กามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์  วิจิกิจฉานิวรณ์  ธรรม 5 อย่างเหล่านี้ควรละ ฯ 
       วิธีละนิวรณ์ท่านแสดงไว้ในมหาอัสสปุรสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (12/471-474) ความว่า ภิกษุนั้นละนิวรณ์ 5 ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต อันเป็นเครื่องทำปัญญาให้ถอยกำลังได้แล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแก่วิเวกอยู่. เธอทำกายนี้แล ให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนพนักงานสรงสนาน หรือลูกมือของพนักงานสรงสนานผู้ฉลาด ใส่จุรณสีตัวลงในภาชนะสำริด แล้วพรมด้วยน้ำหมักไว้ ก้อนจุรณสีตัวนั้นมียางซึมไปจับติดกันทั้งข้างในข้างนอก ย่อมไม่กระจายออกฉะนั้น
       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมดาเอกผุดขึ้น เพราะวิตกและวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่. เธอทำกายนี้แลให้ชุ่มชื่น อิ่มเอิบ ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนห้วงน้ำลึก มีน้ำขังอยู่ ไม่มีทางที่น้ำจะไหลมาได้ ทั้งในด้านตะวันออกด้านตะวันตก ด้านเหนือ ด้านใต้ ทั้งฝนก็ไม่ตกเพิ่มตามฤดูกาล แต่สายน้ำเย็นพุขึ้นจากห้วงน้ำนั้นแล้ว จะพึงทำห้วงน้ำนั้นแลให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซึมด้วยน้ำเย็น ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งห้วงน้ำนั้นทั้งหมดที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉะนั้น.
       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข. เธอทำกายนี้แลให้ชุ่มชื่น เอิบอาบ ซาบซ่าน ด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้องเปรียบเหมือนในกออุบล กอปทุม หรือกอบุณฑริก แต่ละชนิด กออุบล กอปทุมหรือกอบุณฑริก ดอกบัวบางชนิด เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นจากน้ำ จมอยู่ในน้ำน้ำเลี้ยงไว้ อันน้ำเย็นหล่อเลี้ยง เอิบอาบซึมซาบไปแต่ยอดและเหง้า ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกออุบล กอปทุม หรือกอบุณฑริก ที่น้ำเย็นจะไม่ถูกต้อง ฉะนั้น
       ดูกรภิกษุทั้งหลาย ยังอีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุขเพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสในก่อนได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. เธอนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แล ด้วยใจอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่จิตอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจะไม่ถูกต้อง เปรียบเหมือนบุรุษนั่งคลุมตัวตลอดศีรษะด้วยผ้าขาว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายทุกๆ ส่วนของเขาที่ผ้าขาวจะไม่ถูกต้องฉะนั้น
 
       ในอรรถกถาคาถาธรรมบท ขุททกนิกาย ปกิณณกวรรค(25/31) แดสงวิธีละนิวรณ์ไว้ว่า “พราหมณ์ฆ่ามารดาบิดาเสียได้ ฆ่าพระราชาผู้เป็นพราหมณ์ทั้งสองเสียได้ และฆ่านิวรณ์มีวิจิกิจฉานิวรณ์ดุจเสือโคร่งเป็นที่ 5 เสียได้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีทุกข์ไป” แปลมาจากภาษาบาลีว่า
                                “มาตรํ ปิตรํ หนฺตฺวา    ราชาโน เทฺว จ โสตฺถิเย
                                เวยฺยคฺฆปญฺจมํ หนฺตฺวา    อนีโฆ ยาติ พฺราหฺมโณ.
       ข้อความตอนนี้ต้องพิจารณาให้ดี ถ้าเพียงแค่ดูตามตัวอักษรอาจจะแปลเจตนาผิดไปก็ได้ มีคำอธิบายในอรรถกถาค่อไปว่า คำว่า “เทฺว จ โสตฺถิเย” คือ ผู้เป็นพราหมณ์ทั้งสองด้วย ในพระคาถานี้ พระศาสดาตรัสสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิให้เป็นพระราชาผู้เป็นพราหมณ์ทั้งสอง เพราะพระองค์เป็นใหญ่ในพระธรรมและเพราะพระองค์เป็นผู้ฉลาดในวิธีเทศนา
       คำว่า “เวยฺยคฺฆปญฺจมํ” มีบทวิเคราะห์ว่า หนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไป มีภัยรอบด้าน เดินไปลำบาก ชื่อว่าทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้ว แม้วิจิกิจฉานิวรณ์ ชื่อว่าเป็นดุจทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้ว เพราะความที่วิจิกิจฉานิวรณ์นั้น คล้ายกับหนทางอันเสือโคร่งเที่ยวไปแล้วนั้น, วิจิกิจฉานิวรณ์เช่นกับหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้วนั้น เป็นที่ 5 แห่งหมวด 5 แห่งนิวรณ์นั้น เพราะฉะนั้น หมวด 5 แห่งนิวรณ์ จึงชื่อว่ามีวิจิกิจฉานีวรณ์ เช่นกับหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้วเป็นที่ 5.
       ในพระคาถาที่ 2 นี้ มีอธิบายดังนี้ว่า "ก็บุคคลฆ่าหมวด 5 แห่งนีวรณ์มีวิจิกิจฉานีวรณ์ เช่นกับหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้วเป็นที่ 5 นี้ไม่ให้มีส่วนเหลือ ด้วยดาบคืออรหัตมรรคญาณ เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ เที่ยวไป
       นิวรณ์สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม เป็นธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี เป็นอกุศลธรรมที่ทำจิตให้เศร้าหมองและทำปัญญาให้อ่อนกำลัง นิวรณณ์เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร  บุคคลที่ถูกนิวรณ์คือความพอใจในกาม ความต้องการกามคุณ ความคิดร้าย ความขัดเคืองแค้นใจ ความหดหู่และเชื่องซึม ความฟุ้งซ่านร้อนใจ กระวนกระวายกลุ้มใจ กังวลใจ และความสงสัยลังเล ครอบงำจิต จะคิดจะทำอะไรก็เหมือนกับคนที่เป็นหนี้ ย่อมวุ่นวายใจ กังวลใจ เหมือนคนเป็นโรค จะทำอะไรก็ลำบากเพราะร่างกายถูกัดกร่อนด้วยโรคาพยาธิ เหมือนคนถูกจองจำ ไร้อิสรภาพคิดได้แต่กระทำตามที่คิดไม่ได้เพราะถูกจองจำจำกัดพื้นที่ เหมือนคนที่ตกเป็นเป็นทาส สมัยก่อนมีทาสที่ไม่มีอิสรภาพในชีวิต ชีวิตเป้นของคนอื่นแล้วแต่เขาจะสั่งให้ทำอะไร ใครที่ตกเป็นทาสของอะไรสักอย่าง ถ้าขาดเธอก็เหมือนขาดใจทำอะไรไม่สะดวก เหมือนคนเดินทางไกลกันดาร การเดินทางไกลที่กันดาร มีน้ำน้อย มีอาหารจำกัด มีภัยรอบด้าน ต้องคอยระวังในการเดินทางอย่างมาก หมดแรงเมื่อใดก็อาจจะถึงตายได้ทุกเวลา
       นิวรณ์ธรรมมีปรากฏอยู่ทั่วไปในพระไตรปิฎก ในทีฆนิกายมีการอุปมานิวรณ์ไว้ในพระสูตรหลายสูตรเช่น สามัญญผลสูตร  อัมพัฏฐสูตร  สุภสูตร  โลหิจจสูตร เกวัฏฏสูตร เกวัฏฏสูตร  เตวิชชสูตร 
 
 
 
พระมหาบุญไทย   ปุญญมโน
7/02/21
 
 
 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก