ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

       วันสำคัญของพระพุทธศาสนามีหลายวัน ในช่วงเดือนกรกฎาคมมีวันสำคัญถึงสองวันคือ วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา บางท่านอาจเรียกว่าวันพระสงฆ์เพราะเป็นวันแรกที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาคือพระอัญญาโกญฑัญญะจากวันนั้นเป็นต้นมาก็มีพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนามาโดยตลอด  ในวันสำคัญนี้พุทธศาสนิกชนต่างก็ได้จัดงานในวันสำคัญทั้งสองวัน ประเพณีที่ได้เห็นทั่วไปคือการหล่อเทียนเข้าพรรษาและบางจังหวัดมีประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ปีนี้วันอาสาหบูชาตรงกับวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2563  ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 รุ่งขึ้นอีกวันคือวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2563 เป็นวันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 
       วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี นับเป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาหรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ เป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ นักบวชทั้ง 5 รูป ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณ ปัจจุบันคือเมืองสารนาถ เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย ด้ วยพระพุทธองค์ทรงเปรียบดังผู้ทรงเป็นธรรมราชา ก็ทรงบันลือธรรมเภรียังล้อแห่งธรรมให้หมุนรุดหน้า เริ่มต้นแผ่ขยายอาณาจักรแห่งธรรม นำความร่มเย็นและความสงบสุขมาให้แก่หมู่ประชา พระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรกจึงได้ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” หมายถึง “พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักรให้เป็นไปกล่าวคือดินแดนแห่งธรรม”  
       เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้วนั้นชมพูทวีปในสมัยโบราณ กำลังย่างเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความเจริญก้าวหน้า รุ่งเรืองเฟื่องฟูทุกด้านและมีคนหลายประเภททั้งชนผู้มั่งคั่งร่ำรวย นักบวชที่พัฒนาความเชื่อและ ข้อปฏิบัติทางศาสนา เพื่อให้ผู้ร่ำรวยได้ประกอบพิธกรรมแก่ตนเต็มที่ ผู้เบื่อหน่ายชีวิตที่วนเวียนอยู่ในอำนาจและโภคสมบัติที่ออกบวช หรือบางพวกก็แสวงหาคำตอบที่เป็นทางรอกพ้นด้วยการคิดปรัชญาต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เหลือวิสัยและไม่อาจพิสูจน์ได้บ้าง พระพุทธเจ้าจึงทรงอุบัติในสภาพเช่นนี้ และดำเนินชีพเช่นนี้ด้วยแต่เมื่อทรงพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นขาดแก่นสาน ไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง แก่ตนเองและผู้อื่น จึงทรงคิดหาวิธีแก้ไขด้วยการทดลองต่าง ๆ โดยละทิ้งราชสมบัติ และอิสริยศแล้วออกผนวช บำเพ็ญตนนานถึง 6 ปี ก็ไม่อาจพบทางแก้ได้ ต่อมาจึงได้ทางค้นพบ “มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง” เมื่อทรงปฏิบัติตามมรรคานี้ก็ได้ค้นพบสัจธรรมที่นำคุณค่าแท้จริงมาสู่ชีวิต อันเรียกว่า “อริยสัจสี่”  ในวันเพ็ญเดือนวิสขะหรือวันเพ็ญเดือนหกที่เรียกว่า การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จากนั้นทรงงานประกาศศาสนาโดยทรงดำริหาทางที่ได้ผลดีและรวดเร็ว คือ เริ่มสอนแก่ผู้มีพื้นฐานภูมิปัญญาดีที่รู้แจ้งคำสอนได้อย่างรวดเร็วและสามารถนำไปชี้แจงอธิบาย ให้ผู้อื่นเข้ามาได้อย่างกว้างขวาง จึงมุ่งไปพบนักบวชห้ารูป หรือปัญจวัคคีย์ และได้แสดงธรรม เทศนาเป็นครั้งแรกในวันเพ็ญ เดือน 8
 
สาระสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  
1.ทางที่ควรเว้น
               ในการแสดงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ 2 ประการที่บรรพชิตหรือนักบวชไม่ควรปฎิบัติ มีข้อความปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/13/18) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างนี้อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ(1) การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้านเป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ (2) การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์”
กล่าวโดยสรุปคือแนวทางที่ควรเว้นคือ
              1. การหมกหมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่า เป็นการหลงเพลิดเพลินหมกหมุ่นในกามสุข หรือ กามสุขัลลิกานุโยค
              2. การสร้างความลำบากแก่ตนดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น การดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
 
2. ทางที่ควรปฏิบัติ
       ทางที่ควรปฏฺบัติเรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง”  ดังข้อความที่แสดงไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน  ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรค มีองค์ 8 นี้แหละ คือปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ  เจรจาชอบ  การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ  พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตชอบ 
         ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลคือปฏิปทาสายกลางนั้น ที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่งทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน  
สรุปทางที่ควรปฏิบัติได้แก่ “มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง” เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด 
                1. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
                 2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
                 3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
                 4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
                 5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
                 6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
                 7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
                 8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน
 
3.ทรงแสดงอริยสัจจ์ ความจริงอันประเสริฐ
       อริยสัจจ์ 4 ประการ คือ ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่
               1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด ทุกข์มีข้อความแสดงไว้ว่า (4/15/19) “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ 5 เป็นทุกข์ 
              2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ มีข้อความแสดงไว้ว่า (4/15/19) “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา”
               3. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา มีข้อความแสดงไว้ว่า (4/15) “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลเป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรคคือวิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน”
               4. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห้งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น
          เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแล้ว ปรากฏว่าโกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าปัญจวัคคีย์ได้เกิดเข้าใจธรรม เรียกว่า เกิดดวงตาแห่งธรรมหรือธรรมจักษุ บรรลุเป็นโสดาบัน จึงทูลขอบรรพชาและถือเป็นพระภิกษุสาวก รูปแรกในพระพุทธศาสนา มีชื่อว่า “อัญญาโกณฑัญญะ”
  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งพุทธกาล จึงเป็นที่มาของวันสำคัญในพระพุทธศาสนาเรียกว่าวันอาสาฬหบูชา โดยจำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
 
วันอาสาฬหบูชา
            คำว่า “อาสาฬหบูชา” (อา-สาน-หะ-บู-ชา/อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา) ประกอบด้วยคำสองคำ คืออาสาฬห (เดือน 8 ทางจันทรคติ) กับบูชา (การบูชา) เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8 หรือเรียกให้เต็มว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา ดังนั้น วันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน 8 หรือ การบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน 8 เมื่อครั้งพุทธกาล คือ
              1. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาและเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
           2. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและ ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
           3. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
            4. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า ต่อมานิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันพระสงห์”
             พิธีกรรมที่กระทำในวันนี้ โดยทั่วไป คือ ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์ ดังนั้นในวันนี้จึงถือว่า พุทธศาสนิกชนควรได้รับประโยชน์ ที่เป็นสาระสำคัญจากอาสาฬหบูชา กล่าวคือ ควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนว่า ชีวิตเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้บ้างแล้วเพียงใด เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมา หรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใด
 
วันเข้าพรรษา
            เมื่ออนุญาตให้ปัญจวัคคีย์อุปสมบทแล้ว ในยุคแรกยังไม่มีการอนุญาตให้ภิกษุอยู่จำพรรษา แต่ทรงอนุญาตในยุคหลังดังที่ปรากฏในวัสสูปนายิกขันธกะวินัยปิฎก มหาวรรคความว่า “สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่  พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงบัญญัติการจำพรรษาแก่ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุเที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน  คนทั้งหลายจึงเพ่งโทษ  ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร จึงได้เที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด เบียดเบียนอินทรีย์  อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ยังสัตว์เล็กๆ จำนวนมากให้ถึงความวอดวายเล่า ก็พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านี้เป็นผู้กล่าวธรรมอันต่ำทราม ยังพัก ยังอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน อนึ่ง ฝูงนกเหล่านี้เล่าก็ยังทำรังบนยอดไม้ และพักอาศัยอยู่ประจำตลอดฤดูฝน ส่วนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ เที่ยวจาริกไปตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน  เหยียบย่ำติณชาติอันเขียวสด  เบียดเบียนอินทรีย์อย่างหนึ่งซึ่งมีชีวะ ยังสัตว์เล็กๆ จำนวนมากให้ถึงความวอดวาย ภิกษุทั้งหลาย  ได้ยินคนพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค  
           พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น  ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้จำพรรษาในฤดูฝน  
           ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายคิดสงสัยกันว่า วันเข้าพรรษามีกี่วันหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่  พระผู้มีพระภาค  พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย  วันเข้าพรรษานี้มีสองวันคือ ปุริมิกา  วันเข้าพรรษาต้น  และปัจฉิมิกา วันเข้าพรรษาหลัง  เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วง  ไปแล้ววันหนึ่ง พึงเข้าพรรษาต้น  เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้วเดือนหนึ่ง  พึงเข้าพรรษาหลัง ดูกรภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษามี 2 วันเท่านี้ (4/205/223) 
           ภิกษุต้องอยู่จำพรรษาให้ครบสามเดือนดังพุทธพจน์ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุจำพรรษาไม่อยู่ให้ตลอด 3 เดือนต้น หรือ 3 เดือนหลัง ไม่พึงหลีกไปสู่จาริก รูปใดหลีกไป ต้องอาบัติทุกกฏ” (พระวินัยปิฎก มหาวรรค 4/207/225)
          ภิกษุไม่จำพรรษาได้หรือไม่ มีพระบัญญัติตอบเรื่องนี้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ  จะไม่จำพรรษาไม่ได้ รูปใดไม่จำพรรษา ต้องอาบัติทุกกฏ”   (4/208/225)
          หากมีเหตุเหนือวิสัย ภิกษุไม่สามารถจำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน  8  ได้ หรือหากทางบ้านเมืองเลื่อนกาลฝนออกไปก็ให้ถือตามทางบ้านเมืองดังที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นคือ สมัยหนึ่งพระเจ้าพิมพิสาร จอมเสนามาคธราช มีพระราชประสงค์  จะทรงเลื่อนกาลฝนออกไป จึงทรงส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า ถ้ากระไร ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายพึงจำพรรษาในชุณหปักษ์อันจะมาถึง ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระองค์จึงรับสั่งว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระเจ้าแผ่นดิน(4/209/225) แสดงว่าพระพุทธศาสนามิได้ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง หากอยู่ในประเทศใดก็ให้อนุวัตรตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ
 
       หากมีเหตุจำเป็นในช่วงเข้าพรรษาพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ภิกษุสามารถเดินทางได้ แต่ต้องกลับมาให้ทันภายใน 7 วัน เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” มีข้อความแสดงไว้ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/2106)  คือ 
             1. สหธรรมิกหรือมารดาบิดาเจ็บไข้  รู้เข้า  ไปเพื่อรักษาพยาบาลก็ได้
             2. สหธรรมิกกระสันจะสึก  รู้เข้า  ไปเพื่อระงับก็ได้
             3. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น  เป็นต้นว่า  วิหารชำรุดลงในเวลานั้น  ไปเพื่อหาเครื่องทัพพสัมภาระมาปฏิสังขรณ์ 
             4. ทายกต้องการจะบำเพ็ญกุศล  ส่งมานิมนต์  ไปเพื่อบำรุงศรัทธาของเขา  
               แม้ธุระอื่นนอกจากนี้  ที่เป็นกิจลักษณะ  อนุโลมตามนี้  เกิดขึ้น  ไปก็ได้เหมือนกัน
         บิดามารดาถือว่าเป็นพรหมสำหรับลูกแม้จะบวชเป็นภิกษุแล้วก็ตามเมื่อได้ทราบข่าวว่าท่านเจ็บป่วยเป็นหน้าที่ของบุตรควรไปดูแลในเรื่องนี้มีปฐมเหตุปรากฎในพระวินัยปิฎก มหาวรรค (4/212/241) ความว่าในครั้งนั้นมารดาของภิกษุรูปหนึ่งได้ป่วยไข้และบิดาของภิกษุอีกรูปหนึ่งป่วย  จึงส่งทูตไปในสำนักภิกษุผู้เป็นบุตรว่า กำลังป่วยไข้ ปรารถนาการมาของบุตร จึงภิกษุนั้นได้ดำริว่า พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า เมื่อบุคคล 7จำพวกส่งทูตมา ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งทูตมา จะไปไม่ได้ สำหรับสหธรรมิก 5 แม้มิได้ส่งทูตมาก็ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ จะต้องกล่าวไปไยเมื่อเขาส่งทูตมา ก็นี่บิดามารดาของเรากำลังป่วยไข้ และท่านก็มิใช่อุบาสกอุบาสิกา  เราจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ
          ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค  พระผู้มีพระภาคตรัสจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เมื่อบิดามารดามิได้ส่งทูตมา ก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ พึงไปด้วยตั้งใจว่า จักแสวงหาคิลานภัต  คิลานุปัฐากภัต คิลานเภสัช จักถามอาการหรือจักพยาบาล แต่ต้องกลับใน 7 วัน  
       นอกจากบิดามารดาแล้วแม้พี่ชายน้องชายพี่หญิงน้องหญิงหรือญาติคนใดคนหนึ่งป่วย ก็ควรไปด้วยสัตตาหกรณียะได้เหมือนกัน                            
       เมื่อภิกษุในพระพุทธศาสนาเกิดอาพาธ กระสัน เกิดความรำคาญ เกิดความเห็นผิด ต้องครุกาบัติควรอยู่ปริวาส  ก็พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ 
       ในเรื่องทายกต้องการจะบำเพ็ญกุศล  ส่งมานิมนต์  ไปเพื่อบำรุงศรัทธานั้นมีปฐมเหตุเกิดขึ้น (4/210) ความว่า “พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จจาริกไปโดยลำดับ ลุถึงพระนครสาวัตถี ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ ณ  พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น 
         ในครั้งนั้นอุบาสกชื่ออุเทนได้ให้สร้างวิหารอุทิศต่อสงฆ์ไว้ในโกศลชนบท เขาได้ส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายเพื่ออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายจงมา ข้าพเจ้าปรารถนา จะถวายทาน ฟังธรรม และพบเห็นภิกษุทั้งหลาย  
         ภิกษุทั้งหลายได้ทราบคำอาราธนาแล้วจึงได้ตอบว่า ท่านอุบาสก พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุ  จำพรรษา ไม่อยู่ให้ตลอด 3 เดือนต้น หรือ 3 เดือนหลัง  ไม่พึงหลีกไปสู่จาริก ขออุบาสกอุเทนจงรอชั่วระยะเวลาที่ภิกษุทั้งหลายจำพรรษา  ออกพรรษาแล้วจึงจักไปได้  แต่ถ้าท่านจะมีกรณียกิจรีบด่วน  จงให้ประดิษฐานวิหารไว้ในสำนักภิกษุเจ้าถิ่น ในโกศลชนบท  อุบาสกอุเทนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนเมื่อเราส่งทูตไปแล้ว พระคุณเจ้าทั้งหลายจึงได้ไม่มาเล่า เราก็เป็นทายก เป็นผู้ก่อสร้าง เป็นผู้บำรุงสงฆ์  
         ภิกษุทั้งหลายได้ยินอุบาสกอุเทนเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า  ดูกรภิกษุทั้งหลาย  เมื่อบุคคล 7 จำพวกส่งทูตมา  เราอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้  แม้เมื่อเขาไม่ส่งมา เราไม่อนุญาต บุคคล 7 จำพวก คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคล 7 จำพวกนี้  ส่งทูตมา เราอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งมา เราไม่อนุญาต พึงกลับใน 7 วัน 
          ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุบาสกในศาสนานี้ได้ให้สร้างวิหารอุทิศสงฆ์  ถ้าเขาส่งทูตไปในสำนักภิกษุทั้งหลายว่า ขออาราธนาพระคุณเจ้าทั้งหลายมา ข้าพเจ้าปรารถนาจะถวายทาน ฟังธรรมและพบเห็นภิกษุทั้งหลาย. เมื่อเขาส่งทูตมา พึงไปด้วยสัตตาหกรณียะได้ แต่เมื่อเขาไม่ส่งมา ก็ไม่พึงไป พึงกลับใน 7 วัน
          ถ้าทายกนิมนต์ไปเพื่อจะถวายวิหาร ถวายทาน หรือฟังธรรม ภิกษุพึงเดินทางไปเพื่อรักษาศรัทธาของทายกทายิกาได้ แต่ต้องกลับมายังอาวาสเดิมภายในเจ็ดวัน  แม้เหตุอื่นๆที่นอกเหนือจากเหตุดังที่กล่าวมานั้น ก็อาจอนุโลมตามข้อที่ทรงอนุญาตไว้แล้ว
 
อธิษฐานเข้าพรรษา
       ธรรมเนียมการเข้าพรรษาของพระภิกษุ เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ก็จะอธิษฐานเข้าพรรษาโดยถึงจิตแน่วแน่ว่าจะอยู่จำพรรษา ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดไตรมาส หรือตลอด 3 เดือน ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นจะไม่ไปพักค้างคืนในที่แห่งอื่น
       คำว่า “อธิษฐาน” ภาษาบาลีเขียนเป็น “อธิฏฺฐาน” เป็นคำนามนปุงสกลิงค์ (ไม่หญิงไม่ชาย) แปลว่า “ความตั้งใจแน่วแน่ การอธิษฐาน การติดแน่น ที่อยู่อาศัย” อธิษฐานจึงเป็นธรรมเป็นที่มั่น ธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล ธรรมที่ควรใช้เป็นที่ประดิษฐานตน เพื่อให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดอันเป็นที่หมายไว้ได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิด และไม่เกิดสิ่งมัวหมอง หมักหมม ทับถมตน  หรือจะแปลสั้นๆก็ได้ว่า “ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ”
       การอธิษฐานจึงเป็นธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในธาตุวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์(14/682/329) ความว่า  “ดูกรภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจสี่ประการคือ(1) ปัญญาเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ (2) สัจจะ เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ (3) จาคะ เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ (4) อุปสมะ เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ” การดำเนินตามการอธิษฐานจะสำเร็จผลนั้นจึงต้องมีปัญญา รักษาสัจจะ เพิ่มพูนจาคะ และต้องมีความสงบสันติ”
        ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/ 254/187) ได้แสดงอธิฏฐานไว้สี่ประการ คือ (1)ปัญญาธิฏฐาน อธิษฐานคือปัญญาคือความรู้ชัด หยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง(2) สัจจาธิฏฐาน อธิษฐานคือสัจจะคือความจริง ดำรงมั่นในความจริงที่รู้ชัดด้วยปัญญา เริ่มแต่จริงวาจาจนถึงปรมัตถสัจจะ (3) จาคะธิฏฐาน อธิษฐานคือจาคะ หมายถึงความสละได้แก่สละสิ่งอันเคยชิน ข้อที่เคยยึดถือไว้ และสิ่งทั้งหลายอันผิดพลาดจากความจริงเสียได้ เริ่มแต่สละอามิสจนถึงสละกิเลส(4) อุปสมาธิฏฐาน อธิษฐานคืออุปสมะหมายถึงความสงบได้แก่การระงับโทษข้อขัดข้องมัวหมองวุ่นวายอันเกิดจากกิเลสทั้งหลายแล้ว ทำจิตใจให้สงบได้
       การอธิษฐานนั้นพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์เคยประพฤติมาก่อนดังที่แสดงไว้ในลักขณสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (11/148/125) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ภพก่อนกำเนิดก่อน เป็นผู้ไม่มีความโกรธ ไม่มีความแค้นใจ แม้ถูกคนหมู่มากว่าเอาก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธ ไม่ปองร้าย ไม่จองผลาญ ไม่ทำความโกรธ ความเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ และเป็นผู้ให้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน และให้ผ้าสำหรับนุ่งห่ม คือ ผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด ตถาคตย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เพราะกรรมนั้น อันตนทำ สั่งสม พอกพูน ไพบูลย์ 
        ครั้นจุติจากสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มีวรรณะดังทองคำ มีผิวหนังคล้ายทองคำ พระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อเป็นพระราชาจะได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะได้รับผลข้อนี้ คือ จะได้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน ทั้งได้ผ้าสำหรับนุ่งห่ม คือ ผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด ถ้าพระมหาบุรุษนั้นออกจากเรือนผนวชเป็นบรรพชิต จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้อะไร เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะได้รับผลข้อนี้ คือ ทรงได้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน ทรงได้ผ้าสำหรับนุ่งห่ม คือ ผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด
  การตั้งจิตอธิษฐานว่า “จะเป็นผู้ไม่มีความโกรธ ไม่มีความแค้นใจ แม้ถูกคนหมู่มากว่าเอาก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธ ไม่ปองร้าย ไม่จองผลาญ ไม่ทำความโกรธ ความเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ” เป็นคำอธิษฐานที่ควรทำอย่างยิ่ง “การไม่โกรธ ไม่ปองร้าย ไม่จอผลาญ” หากมีอยู่ในจิตใจของผู้ใด ผู้นั้นย่อมอยู่เย็นเป็นสุข
          คำว่าโกรธ มาจากคำว่า  “โกธะ” ในภาษาบาลี แปลว่าความโกรธ ความขัดเคือง ความโกรธ จัดเป็นมลทิน(สนิม)ของจิตอย่างหนึ่งในมลทินทั้งเก้าอย่างดังที่แสดงไว้ในอภิธรรม วิภังค์ เรียกว่าปุริสมละแปลว่ามลทินหรือสนิมของบุรุษหรือมนุษย์ (35/1021/478)  ความว่า “ปุริสมละ 9 เป็นไฉน ปุริสมละ 9  คือ (1)  โกธะ ความโกรธ  (2) มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน (3) อิสสา ความริษยา (4)มัจฉริยะ ความตระหนี่ (5) มายาความเจ้าเล่ห์ (6)สาเถยยะ ความโอ้อวด (7) มุสาวาท พูดเท็จ (8) ปาปิจฉา ความปรารถนาลามก (9) มิจฉาทิฏฐิ   ความเห็นผิด เหล่านี้เรียกว่า ปุริสมละ
 
           นอกจากนั้นความโกรธยังเป็นอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองของจิตอย่างหนึ่งในอุปกิเลส 16 ประการที่แสดงไว้ในวัตถูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (12/93/48) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมเหล่าไหน เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตคือ(1) อภิชฌาวิสมโลภะ ละโมบไม่สม่ำเสมอ คือความเพ่งเล็ง (2) พยาบาท ปองร้ายเขา (3)โกธะ โกรธ (4) อุปนาหะ ผูกโกรธไว้ (5) มักขะ ลบหลู่คุณท่าน (6) ปลาสะ  ยกตนเทียบเท่า (7)อิสสา ริษยา (8)มัจฉริยะ ตระหนี่ (9) มายา มารยา (10) สาเฐยยะ โอ้อวด (11) ถัมภะ หัวดื้อ(12) สารัมภะ แข่งดี (13) มานะ ถือตัว (14) อติมานะ ดูหมิ่นท่าน (15) มทะ มัวเมา(16) ปมาทะ เลินเล่อ เหล่านี้เป็นธรรมเครื่องเศร้าหมองของจิต”
           เครื่องเศร้าหมองของจิตมีมากมาย การที่จะละให้หมดได้นั้นคงต้องใช้เวลาอีกนาน ไม่แน่ว่าไม่รู้อีกกี่ภพกี่ชาติจึงจะชำระเครื่องเศร้าหมองของจิตเหล่านี้ให้หมดไปได้  ดึกสงัดฝนยังคงโปรยปรายลงมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนเข้าสู่นิทรารมย์ได้กำหนดจิตโดยตั้งสัตยาธิษฐานไว้ในใจคนเดียวเงียบๆ แต่จะอธิษฐานว่าอย่างไรนั้นคำอธิษฐานรับรู้อยู่ภายจิตใจคนเดียว ในคืนวันเข้าพรรษาจึงหลับสนิทอย่างสงบด้วยจิตใจที่มีคำอธิษฐานเข้าพรรษาเป็นสัจจาธิษฐานที่จะดำเนินตามอย่างแน่วแน่          
       วันอาสาฬหบูขาและวันเข้าพรรษาเป็นการรำลึกนึกถึงคุณูปการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและการอุบัคติขึ้นของพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ทำให้ศาสนาครบตามองค์ประกอบของศาสนาคือมีศาสดา มีสาวก มีหลักธรรม มีศาสนาวัตถุ และมีศาสนพิธี และดำเนินต่อเนื่องสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ชาวพุทธต้องรักษาธรรมเนียมและแนวทางในการปฏิบัตินี้ไว้ ช่วงเช้าพรรษาเป็นเวลาที่เหมาะกับการปฏิบัติธรรม ใครจะปฏิบัติอย่างไรก็สามารถเลือกได้ตามสะดวกและเหมาะสมกับสภาวะของแต่ละคน จะอธิษฐานอะไรก็ต้องพิจารณาด้วยปัญญา เป็นการสละสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากจิตใจ ต้องรักษาสัจจะให้แน่วแน่ และต้องดำเนินไปด้วยความสงบระงับ ไม่ทำให้ตนเองลำบากจนเกินไป ไม่ทำให้คนอื่นเดือนร้อน พรรษานี้น่าจะผ่านพ้นไปด้วยดีและทำให้เกิดสันติสุขแก่ตนเองและคนอื่น 
 
 
พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
 05/07/63
 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก