ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

      ช่วงที่โลกกำลังประสบปัญหาการระบาดของโควิด ด้วยมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดทำให้สถานที่ต่างๆถูกปิดหรือให้งดดำเนินกิจกรรม เช่าสถานศึกษาก็เงียบ ห้างสรรพสินค้าก็เหงา ถนนหนทางก็โล่ง จะไปไหนมาไหนแม้จะสะดวก แต่ไม่ค่อยสบายเพราะที่ที่เราจะไปเขาก็ปิดกิจการ การได้อยู่กับบ้านนานๆเสพข่าวสารมากๆ บางทีเราได้แต่ความรู้มากมาย รู้แทบทุกเรื่องแต่ปัญญาไม่ค่อยเกิด บางทีการอยู่เงียบๆอาจจะได้ปัญญามากกว่าการเปิดรับข่าวสารก็ได้ ความเงียบสงัดเป็นอาวุที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่เป็นอาวุธที่คนหลงลืมและใส่ใจน้อยที่สุด
 
      ในพระพุทธศาสนาได้แสดงอาวุธสำหรับนักปฎิบัติธรรมไว้ ในสังคีติสูตร ทีฏนิกาย ปาฏิกวรรค(15/228) คือ (1) สุตาวุธ อาวุธคือการฟัง (2) ปวิเวกาวุธ  อาวุธคือความสงัด (3) ปัญญาวุธ อาวุธคือปัญญา  ในแต่ละวันสิ่งที่ได้ใช้มากที่สุดคือการฟัง การอ่าน ได้ฟังเรื่องราวมากมายจากคนนั้นคนนี้ จากข่าวสารต่างๆ ส่วนมากจะมาทางเสียงและตัวอักษร บางรู้ทำให้เกิดความรู้ บางเรื่องทำให้เกิดปัญญา บางเรื่องทำให้เกิดความกังวล ทั้งๆที่บางเรื่องเป็นเรื่องของโลกและเรื่องของคนอื่น เราจะได้ยินได้ฟังหรือไม่ก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ เราคนเดียวแก้ปัญหาให้คนทั้งโลกไม่ได้ หากย้อนกลับมาแก้ปัญหาให้ตัวเองอย่างนี้พอมีความเป็นไปได้มากกว่า หากเราสงบ หากเราอยู่อย่างสันติไม่เบียดเบียนใคร แม้จะมีคนคิดร้าย ปองร้าย ก็ไม่เป็นไร เพราะผลกระทบเกิดขึ้นไม่มากนัก ยกเว้ยนเสียแต่บุคคลคนนั้นจะเป็นคนสำคัญของโลก คนธรรมดาสามัญอย่างเราท่าน จะอยู่หรือไปไม่ค่อยมีใครสนใจสักเท่าใด
      ที่นิยมพูดกันมากอีกอย่างหนึ่งคือปัญญาให้ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ใช้ปัญหาในการแก้ปัญหา ใช้ปัญญาในการคิดวิเคราะห์ แต่บางทีการคิดมาก การศึกษามากก็ไม่แน่ว่าจะทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาได้ ปัญญาทางโลกก็ยังพอรับรู้ได้จาการฟังได้บ้าง ทางเกิดของปัญญาในสังคีติสูตร (15/228) ก็แสดงไว้ 3 อย่างคือปัญญา (1) จินตามยปัญญา  ปัญญาสำเร็จด้วยการคิด (2) สุตมยปัญญา  ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง (3) ภาวนามยปัญญา ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม
 
      การคิดและการฟังพอเข้าใจได้ เพราะในแต่ละวันมีเรื่องมากมายให้คิด และมีเรื่องหลากหลายให้ฟัง ปัญญาที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ภูมิปัญญาของแต่ละคน เรื่องนี้ต้องแยกให้ออกกับวุฒิการศึกษา ไม่แน่ว่าคนที่เรียนมามากอาจจะไม่ใช่คนมีปัญญาเสมอ ส่วนคนที่ไม่ได้เรียนอะไรในระบบการศึกษาเลยอาจจะมีความรู้น้อยในบางเรื่อง แต่เขาอาจจะมีปัญญาในอีกบางเรื่อง ความรู้กับปัญญาแม้จะเป็นเรื่องที่มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่ระดับการเข้าถึงและการรับรู้ไม่เท่ากัน คนมีความรู้อาจจะไม่ใช่คนมีปัญญา แต่คนมีปัญญาจำเป็นต้องมีความรู้
      ความสงัดหรือในภาษาบาลีว่า “ปวิเวก” แปลตามตัวอักษรได้ว่า “ความสงบสงัด การแยกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว ส่วนคำว่า “วิเวก” แปลว่าความสงัด  ความสงัดอยู่ที่ไหน มีวิธีการในการแสวงหาความสงัดอย่างไร จะทำอย่างไรจึงจะเกิดความสงัด แล้วเจ้าความสงัดจะกลายเป็นอาวุธได้อย่างไร
      มีคำแนะนำจากเทวดาที่สิงอยู่ในป่าแห่งหนึ่งได้เข้ามาหาภิกษุรูปหนึ่งที่กำลังอยู่ในความสงัด แต่สงัดเพียงกาย จิตใจยังไม่ยอมสงัด เทวดาจึงได้แสดงความสงัดไว้ในวิเวกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/762) ความว่า “ท่านใคร่วิเวก จึงเข้าป่า ส่วนใจของท่านแส่ซ่านไปภายนอกท่านเป็นคน จงกำจัดความพอใจในคนเสีย แต่นั้น ท่านจักเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความกำหนัด ท่านมีสติ ละความไม่ยินดีเสียได้ เราเตือนให้ท่านระลึกถึงธรรมของสัตบุรุษ ธุลีคือกิเลสประดุจบาดาลที่ข้ามได้ยาก ได้แก่ความกำหนัดในกามอย่าได้ครอบงำท่านเลย นกที่เปื้อนฝุ่น ย่อมสลัดธุลีที่แปดเปื้อนให้ตกไป ฉันใด ภิกษุผู้มีเพียร มีสติย่อมสลัดธุลีคือกิเลสที่แปดเปื้อนให้ตกไปฉันนั้น”
 
      อานิสงส์ของความสงัด พระสารีบุตรได้แสดงไว้ในปีติสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต(22/176) ความว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยใด อริยสาวกย่อมเข้าถึงปีติที่เกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้น ฐานะ 5 ประการ ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น คือ (1) สมัยนั้นทุกข์โทมนัสอันประกอบด้วยกาม (2) สุขโสมนัสอันประกอบด้วยกาม (3) ทุกข์โทมนัสอันประกอบด้วยอกุศล (4) สุข โสมนัสอันประกอบด้วยอกุศล (5) ทุกข์ โทมนัสอันประกอบด้วยกุศลย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น”
      ในพระสูตรนี้มีคำสำคัญที่ควรพิจารณาอยู่หลายคำเช่น “ทุกข์โทมนัส สุขโสมนัส กามและอกุศล” หากพิจารณาโดยแบคายก็จะเห็นได้ว่า ความทุกข์โทมนัสที่ประกอบด้วยกามและอกุศลไม่มีแก่ผู้มีความสงัด  ความสุขโสมนัสที่ประกอบด้วยกามและอกุศลไม่มีแก่ผู้มีความสงัด แสดงว่าเมื่อความสงัดเกิดขึ้นในจิตแล้วเรื่องของความอยากมี อยากได้ อยากเป็นเบาบางลง เรื่องของการทำความชั่วทั้งหลายก็ไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีเรื่องของการตรึกเรื่องการและตรึกถึงเรื่องการทำความชั่วแล้ว ความสุขในความไม่มี ความสุขในการไม่ทำก็เกิดขึ้น นั่นเป็นผลของการใช้อาวุธคือความสงัด
      ความสงัดอยู่ที่ไหน โลกในยุคปัจจุบันดูเหมือนจะวุ่นวายไปแทบทุกเรื่อง บางเรื่องแทบไม่เกี่ยวกับตนเองเลย แต่กลับนำมาคิด จนเกิดความกังวลและความวุ่นวายไปทั่ว คนกลุ่มหนึ่งใช้วิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็ใช้วิธีอีกอย่างหนึ่ง บางครั้งยิ่งแก้ยิ่งวุ่น
 
      ความสงัดมีอยู่รอบตัวเรา ในแต่ละวันเพียงแค่หาเวลาแยกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียวสักพัก จะน้อยหรือมากก็ขึ้นอยู่กับสถานะที่เราเป็น หากเลือกได้สถานที่ตามธรรมชาติเช่นภูเขา ถ้ำ ใต้ต้นไม้ ที่อากาศถ่ายเทสะดวก หรือสถานที่ที่ไม่มีใครมารบกวน อาจจะเป็นมุมสวน ห้องพักส่วนตัว นั่งอย่างสงบปิดการรับรู้ข่าวสารสักครู่ แล้วอยู่กับจิตใจตนเอง ใช้ความสงัดเป็นอาวุธทำให้เกิดปัญญาขึ้นได้  
      บางทีการรับรู้ข่าวสารมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดความวิตกกังวล เกิดความเครียดมากขึ้น แต่การอยู่ในความสงัดจะทำให้เกิดความสงบ อาจจะได้พบกับความสุขที่บางทีเราอาจจะมองข้ามไป แค่อยู่นิ่งๆอยู่กับตนเอง ใช้อาวุธคือความเงียบสงัดที่เรียกว่า “ปวิเวกาวุธ” เป็นอาวุธปัญญาที่เรียกว่าภาวนามยปัญญาย่อมเกิดขึ้นได้ ลองอยู่ในความสงัดสักวันละนิด บางทีสิ่งที่ไม่เคยรู้อาจจะได้เห็น
 
 
พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
04/06/63
 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก