ความทรงจำบางสิ่งก็งดงาม บางอย่างก็โหดร้าย บางอย่างอยากจำแต่มักจะลืมเลือน บางอย่างอยากลืมแต่กลับจำได้ โศกนาฎกรรมอย่างหนึ่งของมวลมนุษย์ที่เป็นสัตว์คิดได้คือ มักจะจำในสิ่งที่ควรลืม แต่มักจะลืมในสิ่งที่ควรจำ ถ้าทุกคนจำได้ในสิ่งที่อยากจำและลืมในสิ่งที่อยากลืม ใครคนนั้นจะมีชีวิตอยู่อย่างใดกันแน่ มีความสุขหรือจ่อมจมอยู่กับความทุกข์ทรมาน มนุษย์อย่างน้อยก็ควรมีความทรงจำที่งดงามสักหลายเรื่อง ในความทรงจำที่สวยงามส่วนหนึ่งมักจะมาจากความทรงจำในวัยเด็ก ที่แม้จะพยายามลืมแต่เหมือนกับเป็นภาพที่ลบไม่ออก
ตั้งใจมาก่อนจะออกเดินทางตอนกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดว่าเมื่อมีโอกาสได้กลับถิ่นเก่าที่เคยเนาว์ในวัยเด็ก สิ่งหนึ่งที่จะต้องไปดูให้ได้คือสวนของพ่อ แต่สวนของพ่อมีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ ที่จริงมิได้มีอะไรแปลกแตกต่างจากสวนของคนอื่นเลย ปลูกผลไม้ทุกอย่างที่กินได้ ดังนั้นใครที่เดินเข้าไปในสวนแล้วจะต้องท้องอิ่มออกมาทุกคน ทุกอย่างกินฟรี แต่หากใครจะถือกลับบ้านต้องซื้อ ข้อตกลงมีอยู่แค่นั้น จะมากี่คนก็ได้ จะกินเท่าไหร่ก็ได้ กินอิ่มแล้วจะซื้อก็ได้หรือไม่ซื้อก็ได้ เคยถามพ่อว่าผลไม้เราเป็นคนปลูกดูแลแทบตายกว่าจะได้กินผล ทำไมพ่อเปิดสวนให้คนกินฟรี เสียดายของ
พ่อบอกว่า “คนเรากินแค่อิ่ม ชิมพอดี เป็นหนี้พอประมาณ จะกินมากเกินไปก็ไม่ได้ มากินฟรีบ่อยครั้งก็ไม่ได้ เป็นการขายแบบไม่ต้องจ้างโฆษณา เพราะคนที่มานั่นแหละคือแหล่งประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด ปากต่อปากเสียงลือเสียงเล่าอ้าง คนที่อยากรู้อยากเห็นมีมากไม่นานแกจะนั่งนับเงินไม่ไหว” จากนั้นก็หัวเราะอย่างอารมณ์ดี
แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการของพ่อแต่ก็ช่วยพ่อขายผลไม้ตามคำแนะนำของพ่อ ในสวนนั้นมีผลไม้แทบทุกอย่างเท่าที่สามารถจะหาได้และปลูกได้ กล้วยมีหลายพันธุ์ ใครอยากได้พันธุ์ไหนก็เลือหาได้เลย จากน้ันก็มีมะม่วง น้อยหน่า มะกรูด มะนาว มะพร้าว ส้มโอ ฟักแฟง แตงโม ผลไม้ตามเทศกาล มีให้เลือกหาได้ตลอดปี
การทำสวนของพ่อได้ซึมซับความรู้มานิดหน่อย พ่อจะขุดหลุมปลูกกล้วยก่อน เพราะกล้วยปลูกง่ายที่สุด ไม่ต้องรดน้ำ เพียงแต่รอเวลาที่กล้วยจะเจริญเติบโต จากนั้นได้เมล็ดของผลไม้อะไรมาก็จะโยนลงไปในหลุมกล้วยนั่นแหละ ทั้งมะม่วง น้อยหน่า ขนุน และอะไรอีกจิปาถะ ได้ผลไม้อะไรมาก็โยนลงหลุมกล้วย ไม่นานเมื่อกล้วยโตออกผลแล้ว ก็จะเห็นหน่อของผลไม้ต่างๆแทรกขึ้นมา พ่อบอกว่า“สวนผสม” คือผสมทุกอย่างในสวนแห่งเดียวกัน บางครั้งผสมมากเกินไปก็ต้องถอนผลไม้ที่ไม่จำเป็นทิ้ง
ถัดจากสวนไปก็จะเป็นบึงใหญ่ซึ่งเป็นหนองน้ำสาธารณะ มีป่ารกและมีน้ำขังตลอดปี พ่อขุดสระไว้สามสี่สระกั้นเป็นเป็นเหมือนผืนนา เคยสงสัยว่า ทำไมต้องขุดหลายสระ ขุดสระเดียวขนาดใหญ่ก็น่าจะดีกว่า พ่อหัวเราอย่างอารมณ์ดีบอกว่า “ขุดสระไว้หลายสระจะได้เลี้ยงปลาหลายชนิด เพราะปลาบางชนิดไม่ค่อยถูกกัน หากอยู่ในบ่อเดียวกันปลาใหญ่ก็จะกินปลาเล็กหมด เราคงจะได้กินแต่ปลาใหญ่ ปลาเล็กก็จะไม่เหลือ อีกอย่างตามขอบสระยังปลูกพืชผักกินได้อีก พริก มะเขือ ผักกาด ผักชี มันเทศ ตะไคร้ ข่า ขิง สิ่งไหนที่กินได้ปลูกได้หมด พืชบางอย่างชอบอยู่ใกล้น้ำ บางอย่างต้องอยู่ไกลน้ำ ประเภทไหนบ้างเอ็งเลือกพิจารณาเอาเอง เอ็งเรียนมามากว่าพ่อ ตอนนั้นจำได้ว่าเรียนชั้นประถมปีที่ห้า พ่อจบชั้นประถมปีที่สี่ เรียนมากกว่าพ่อหนึ่งชั้น
ตอนนั้นแม้จะสงสัยในการกระทำของพ่อ แต่ก็ทำตามคำของพ่อทำไปสงสัยไป น่าจะทำอย่างนั้น น่าจะทำอย่างนี้
ที่นาของพ่อแม้จะไม่ได้อยู่ที่เดียวกับสวน แต่ก็เดินไม่ไกล มีเพียงป่าสาธารณะกั้นไว้ ถึงฤดูทำนาก็ทำนา พอหมดฤดูทำนาก็ปลูกผัก ปลูกผลไม้ เรียกว่าเป็นชาวไร่ชาวนาเต็มรูปแบบ ไม่เคยว่างงานเพราะมีงานให้ทำตลอดปี
เหตุการณ์นั้นผ่านมาเกือบห้าสิบกว่าปีแล้ว วันนี้พ่อก็ไม่อยู่แล้ว ลูกชายก็กลายเป็นคนพเนจร สวนของพ่อก็คงไม่มีใครทำต่อ เพราะชาวไร่หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจประเภทที่ขายได้เช่นมันสัมปะหลัง ข้าวโพด อ้อย คงไม่มีใครทำเหมือนพ่ออีกแล้ว
วันนั้นเปลี่ยนเส้นทางการจราจร ไม่ได้ไปทางเรือเหมือนวันก่อน แต่เดินไปตามถนนทางเดินแคบๆ ผ่านสวนของชาวบ้าน ทุกคนสงสัยหันมาทักทาย “หลวงพ่อจะไปไหน” ไม่มีใครสักคนที่เคยรู้จัก แต่ก็ตอบไปว่าจะไปข้างหน้าโน่น ชี้ไปที่หมู่บ้านข้างหน้าซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก
ผ่านป่าช้าเก่าที่เป็นฌาปนสถานสำหรับชาวบ้าน เห็นมีสิ่งปลูกสร้างจึงหันไปถามเพื่อนร่วมทางว่าใครมาทำอะไรที่นี่
เพื่อนร่วมเดินทางบอกว่า “วัดป่าครับ หลวงพ่อมาจากไหนไม่ทราบเป็นพระสายวัดป่ามาปักกลดที่ป่าช้าและต่อมาก็กลายเป็นวัดป่า จะแวะสักหน่อยไหมครับ”
“ดีเหมือนกัน เข้าไปหาน้ำหาท่าดื่มหน่อยก็ดี”
วัดป่าที่จริงเป้นเพียงสำนักสงฆ์ที่อยู่ในป่าช้าเก่า วันนั้นมีเพียงหลวงตาแก่ๆรูปเดียว “ผมมาอยู่ที่นี่ได้สามปีแล้วครับ หลังจากที่หลวงพ่อผู้สร้างวัดมรณภาพไป ก็ไม่ค่อยมีพระสงฆ์มาอยู่จำพรรษาเลย วัดอนาถาไม่มีอะไรเลย มีเพียงข้าวปลาอาหารบิณฑบาตพอประทังชีวิตไปวันๆเท่านั้น กลางคืนเงียบสงัดสงบดีมาก คนสมัยนี้ไม่ค่อยบวชดอกครับ ถึงบวชก็อยู่ได้ไม่นาน บางรูปยังไม่ทันเข้าพรรษาเลย ก็ลาสิกขาแล้ว ผมก็อยู่รอวันตายเท่านั้นแหละ ไปไหนไม่ได้แล้ว ไม่รู้จะอยู่ได้อีกสักกี่ปี” หลวงตาเหมือนกับรำพึงกับตนเอง
เรื่องนี้พูดยากยุคสมัยเปลี่ยนไปการอุปสมดูเหมือนจะเปลี่ยนไปด้วย วัดในเมืองใหญ่ก็มีกิจกรรมที่พอจะเลี้ยงวัดได้ ส่วนวัดป่ามีแนวโน้วว่าจะหาพระสงฆ์อยู่จำพรรษายากขึ้น
“หากมีโอกาสคงได้มาพักกับหลวงตานะครับ วันนี้ต้องเดินทางก่อนจากนั้นก็ลาหลวงตาเดินทางต่อไป”
จากสำนักสงฆ์ไปไม่ไกลนักก็ถึงจุดหมายปลายทางของการเดินทางในครั้งนี้ เมื่อได้เห็นสภาพ “สวนเก่าของพ่อ” ก็แทบจะต้องรีบกลับ สภาพสวนในวันนี้ได้กลายเป็นไร่มันสัมปะหลัง แห้งแล้ง สวนผสมไม่มีให้เห็นอีกเลย สระน้ำหลายสระในอดีตก็ถูกรวมกันเป็นสระน้ำขนาดใหญ่
ภาพเก่าในอดีตกับความเป็นจริงในวันนี้ไม่เหลือร่องรอยไว้เลย ความจริงก็ไม่ได้คาดหวังอะไรไว้แต่ต้น แต่ที่อยากไปเพราะอยากไปดูเงาอดีตของตนเอง เคยเก็บผักกระถินริมรั้ว ยอดบวบ ยอดฟักทอง กิ้งก่าริมรั้ว หรือดักนกคุ้มมาเป็นอาหาร หล่อเลี้ยงร่างกายจนมีชีวิตยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน เป็นอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับคืนมาอีกแล้ว
มนุษย์เกิด แก่ไปตามวันเวลา ความเปลี่ยนแปลงคือความเป็นจริง การหวนคิดถึงอดีตอาจจะเป็นเพียงการได้ย้อนกลับคืนสู่ความเป็นเด็กอีกครั้ง แต่สภาพปัจจุบันเราเป็นผู้ชราภาพที่พร้อมจะไปจากโลกนี้เมื่อใดก็ได้ พระพุทธศาสนามีคำสอนอยู่บทหนึ่ง,ปรากฏในภัทเทกรัตตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์(14/327) ความว่า “บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลายพระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่าผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ”
อดีตแม้จะเคยมีอยู่จริง แต่ก็ได้ผ่านไปแล้วคิดไปก็แก้ไขอะไรไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึงอาจจะเป็นจริงหรือไม่จริงก็ได้ ส่วนปัจจุบันคือสิ่งที่เราเป็น จะสุขทุกข์โศกหรือเศร้าประการมันก็คือสิ่งที่เราเป็น อยู่กับสิ่งที่เราเป็นดีกว่าจะคิดถึงอดีตและฝันถึงอนาคต
การได้กลับไปเยือนอดีตสมัยที่ยังเป็นเด็กอีกครั้ง แม้จะไม่ได้พบในสิ่งที่อยากเห็น แต่ก็ได้เห็นในสิ่งที่เป็นจริง สรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง แม้แต่ตัวตนเองเราเอง จากเด็กเมื่อห้าสิบปีก่อน ปัจจุบันเป็นเพียงคนชราคนหนึ่ง สิ่งที่เคยมีเคยเป็นล้วนแปรเปลี่ยน แต่ทำไมความทรงจำกลับยังอยู่ ดูเหมือนจะยิ่งแจ่มชัดเหมือนได้ย้อนกลับไปในวัยเด็กอีกครั้ง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
09/06/61