หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่มักกจะมีผู้กล่าวอ้างถึงเสมอคือคำว่า “บุญ” แลละ “บาป” บางครั้งมาพร้อมกัน เช่น “บาปบุญคุณโทษ” มองทั้งสองด้านคือด้านดีและด้านไม่ได้ บุญและคุณเป็นธรรมฝ่ายดี ส่วนบาปและโทษเป็นธรรมฝ่ายเลว ธรรมะในพระพุทธศาสนามักมีทั้งสองด้านและยังมีธรรมอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ดีไม่เสีย เป็นธรรมฝ่ายกลางๆเรียกอัพยกตธรรม บุญและคุณเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายอยากได้ อยากมี คนที่มีบุญมักจะทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จ แม้งานจะมีความยุ่งมาก มีความสลับซับซ้อนมากเพียงเพียง แต่หากคนมีบุญกระทำแล้ง งานที่ที่หนักก็เบา นั่นเพราะบุญที่คอยเกื้อหนุน คอยช่วยเหลือค้ำจุน ดังนั้นทุกคนจึงอยากได้บุญ และอยากเป็นคนมีบุญ ยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะดีนัก คนทั้งหลายนอกจากจะปรารถนาทรัพย์สินเงินทองแล้วยังอยากได้บุญด้วย
บุญคืออะไร มีวิธีการในการทำบุญอย่างไร และใครคือคนที่มีบุญ ก่อนอื่นต้องทราบความหมายของ “บุญ” ในพระพุทธศาสนาเป็นเบื้องต้น
คำว่า “บุญ” มาจากภาษาบาลีว่า “ปุญญ” คำนามนปุงสกลิงค์ แปลว่า บุญ ความผ่องแผ้วแห่งดวงจิต ความสะอาด ความสุข ความดี
บุญ คือสิ่งที่น่าปรารถนาของคนทั้งหลาย คนมีบุญคือคนเช่นใดนั้น ในพระพุทธศาสนาได้แสดงคนมีบุญไว้ในวนโรปสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/146) พระพุทธเจ้าได้ตอบคำถามของเทวดาทูลถามว่า “ชนพวกไหนมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชนพวกไหนตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นผู้ไปสวรรค์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ชนเหล่าใดสร้างอาราม (สวนไม้ดอกไม้ผล) ปลูกหมู่ไม้(ใช้ร่มเงา) สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทานและบ่อน้ำทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์ ฯ
แปลมาจากภาษาบาลีว่า
อารามโรปา วนโรปา เย ชนา เสตุการกา
ปปญฺจ อุทปานญฺจ เย ททนฺติ อุปสฺสยํ
เตสํ ทิวา จ รตฺโต จ สทา ปุญฺ ปวฑฺฒติ
ธมฺมฏฺฐา สีลสมฺปนฺนา เต ชนา สคฺคคามิโนติ ฯ
ในอรรถกถาวนโรปสูตรได้ให้คำอธิบายความหมายของคำบาลีในคาถาไว้ดังนี้
คำว่า อารามโรปา แปลว่า ปลูกสวนดอกไม้และสวนผลไม้ คำว่า “วนโรปา” อธิบายว่า ทำการล้อมเขตแดนในป่าธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองแล้ว ทำเจดีย์ ปลูกต้นโพธิ์ ทำที่จงกรม ทำมณฑป กุฏิ ที่หลีกเร้นและที่พักในเวลากลางวันและกลางคืน เมื่อบุคคลปลูกต้นไม้อาศัยร่มเงาให้อาศัยอยู่ ก็ชื่อว่าการปลูกหมู่ไม้
คำว่า เสตุการกา ได้แก่ ชนทั้งหลายสร้างสะพานในที่อันไม่เสมอกัน หรือย่อมมอบเรือให้ไป คำว่า ปปํ ได้แก่ โรงที่ให้น้ำดื่ม คำว่า อุทปานํ ได้แก่ ที่ใดที่หนึ่งมีสระโบกขรณีและบ่อที่มีน้ำเป็นต้น
คำว่า อปสฺสยํ ได้แก่ บ้านที่พักอาศัย พระบาลีว่า อุปาสยํ ก็มี แปลว่า ให้เข้าไปอาศัย
บทว่า สทา ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ อธิบายว่า เมื่อไม่ตรึกถึงอกุศลวิตก หรือเมื่อไม่หลับ บุญย่อมเจริญ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุญย่อมเจริญทุกเมื่อ ดังนี้ ทรงหมายเอาเนื้อความนี้ว่า ก็ในกาลใดย่อมระลึกถึง ในกาลนั้น บุญย่อมเจริญ ดังนี้
บทว่า ธมฺมฏฺฐา สีลสมฺปนฺนา อธิบายว่า ชื่อว่าตั้งอยู่แล้วในธรรม เพราะความที่บุคคลนั้นดำรงอยู่ในธรรม ชื่อว่าสมบูรณ์แล้วด้วยศีล เพราะความที่บุคคลนั้นถึงพร้อมแล้วด้วยศีลแม้นั้น.
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลทั้งหลายทำบุญทั้งหลายเห็นปานนี้ ชื่อว่าย่อมบำเพ็ญกุศลธรรมสิบ คือว่าบุคคลเหล่านั้นชื่อว่าตั้งอยู่แล้วในธรรม เพราะความที่บุคคลเหล่านั้นตั้งอยู่ในกุศลธรรมสิบเหล่านั้น และชื่อว่าสมบูรณ์แล้วด้วยศีล เพราะความที่บุคคลเหล่านั้นถึงพร้อมแล้วด้วยศีลนั้นนั่นแหละ ดังนี้แล
คำอธิบายในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงความหมายของคนมีบุญ นั่นคือผู้ที่สร้างสาธารณประโยชน์ให้เกิดแก่คนหมู่มาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือผู้ที่เข้าใจความหมายในพระสูตรนี้เป็นอย่างดี สิ่งที่พระองค์สร้างเพื่อประโยชน์แก่มหาชน เช่นคำว่า “ปปํ” โรงที่ให้น้ำดื่ม พระองค์ก็สร้าง “บ่อน้ำ” ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “เขื่อน” กักเก็บน้ำไว้เพื่อประโยชน์ของมหาชนอย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังมี “สะพาน”ที่มาจากคำว่า “เสตุการกา” มากมายหลายแห่งเช่นสะพานพระราม 8 เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สอยในการเดินทาง
คนมีบุญ คนมีความดวงจิตผ่องแผ้ว คนที่มีจิตใจสะอาด คนที่มีความสุข คนที่มีความดี ย่อมมีความสัมพันธ์กับการทำคุณประโยชน์ต่อชนหมู่มาก แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงบอกแก่สาวกก่อนที่จะออกไปประกาศพระพุทธศาสนาดังที่ปรากฎในวินัยปิฎก มหาวรรค (4/32) ความว่า “พวกเธอจงเที่ยวจาริก เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลางงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์ บริสุทธิ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม”
วิธีการทำบุญยังมีอีกมากมายหลายวิธี ในปุญญกิริยาวัตถุสูตร อังคุตตรนิกาย (23/126) ได้แสดงบุญกิริยาวัตถุไว้สามประการความว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุสามประการนี้ คือ บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา”
ในพระสูตรนี้ยังแสดงอานิสงส์ของการทำบุญไว้ตามลำดับเช่น “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานนิดหน่อย ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลนิดหน่อย ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนชั่วในมนุษย์”
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานพอประมาณ ทำบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีลพอประมาณ ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นผู้มีส่วนดีในมนุษย์ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อตายไป เขาเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช ดูกรภิกษุทั้งหลาย มหาราชทั้ง 4 ในชั้นนั้น ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานเป็นอดิเรก ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลเป็นอดิเรก ย่อมก้าวล่วงเทวดาชั้นจาตุมมหาราชโดยฐานะ 10 ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณทิพย์ สุขทิพย์ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพทิพย์ ฯ
อานิสงส์ของการทำบุญมีลักษณะที่แตกต่างกัน มากบ้างน้อยบ้างตามแต่การกระทำ ซึ่งการกระทำของแต่ละคนเรียกว่า “กรรม” ผลของกรรมจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับจิตที่คิดจะทำ และวัตถุทานที่ถวายแด่ผู้รับ ทั้งผู้ให้และผู้รับย่อมได้รับผลตามสมควร
วัตถุทานที่มีอานิสงส์มาก มีแสดงไว้ในสัปปุริสสูตรอังคุตตรนิกาย (23/127) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน 8 ประการนี้ 8 ประการเป็นไฉน คือ ให้ของสะอาด ให้ของประณีต ให้ตามกาล ให้ของสมควร เลือกให้ ให้เนืองนิตย์ เมื่อให้จิตผ่องใส ให้แล้วดีใจ”
สัปบุรุษย่อมให้ทาน คือ ข้าวและน้ำที่สะอาด ประณีต ตามกาล สมควร เนืองนิตย์ ในผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นเขตดี บริจาคของมากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย ท่านผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมสรรเสริญทานที่สัปบุรุษให้แล้วอย่างนี้ เมธาวีบัณฑิตผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว บริจาคทาน อย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข”
วัตถุทานก็มีผลต่างกัน การให้ของสะอาด ของประณีตย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้รับ มีผลมาถึงผู้ให้ด้วย กาลเวลาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีอานิสงส์เพิ่มขึ้น ให้สิ่งของที่เขาอยากได้ ให้แล้วผู้รับมีความพึงพอใจ ผู้ให้มีจิตใจผ่องใส ให้แล้วมีใจยินดี วัตถุทานก็มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
อานิสงส์ของการให้ทาน แสดงไว้ในทานานิสังสสูตร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต (22/35) ความว่า “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทาน 5 ประการคือ ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์ ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”
คนมีบุญตามที่พระพุทธองค์ทรงตอบคำถามของเทวดา มุ่งเน้นไปที่การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชนหมู่มาก วิธีการทำบุญแสดงไว้หลายวิธี คนมีบุญคือผู้ที่มีดวงจิตผ่องแผ้ว มีจิตใจสะอาด ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข และเป็นผู้ที่มุ่งสู่ความดีงาม คนเช่นนี้จะทำสิ่งใดก็ตามย่อมมีการกระทำที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและมุ่งเพื่อความสุขของมหาชน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
9/01/61