แม้ว่าเจดีย์จะสูงเสียดฟ้าแต่ทว่าก็ไม่ได้เกินแรงของผู้ที่มีศรัทธาแน่วแน่ที่พร้อมจะปีนป่ายขึ้นไปข้างบนให้ได้ เพื่อที่จะได้ชื่นชมความงดงามของช่วงเวลาแห่งตะวันที่กำลังจะลับขอบฟ้าในเวลาสายัณห์ แสงอาทิตย์สะท้อนกับหมู่เจดีย์หลายพันองค์ เกิดเป็นภาพที่งดงามสุดคำบรรยาย นับเป็นช่วงเวลาและโอกาสที่ควรจะได้ชมสักครั้ง สถานที่แห่งนี้มีนามเล่าขานว่า “พุกาม” ดินแดนแห่งทะเลเจดีย์นับสี่พันองค์
ปฐมเหตุเกิดจากมีเวลาว่างหยุดหลายวัน บอกกับตัวเองว่าควรจะออกเดินทางไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง ไปถ่ายภาพเล่นๆ เพราะกล้องเก็บรักษาไว้ในตู้มานานแล้ว หากไม่ได้ใช้งานเลย โอกาสที่จะขึ้นราเป็นไปได้สูง เจ้าของกล้องได้ออกเดินทางไกลไปพักผ่อน ส่วนกล้องได้ออกกำลังม่านซัตเตอร์
ชวนเพื่อนพระภิกษุได้สี่รูป ความจริงตอนแรกมีเพียงแค่สองรูป อย่างน้อยก็จะได้มีเพื่อนร่วมเดินทาง แต่เพื่อนอีกสองรูปอยากไปด้วย ในวันออกเดินทางจึงมีเพื่อนร่วมทางจำนวนสี่รูป หากเป็นเมืองไทยคงไม่ค่อยมีใครอยากให้พระสี่รูปเข้าบ้าน เพราะมีนัยว่าพระกำลังจะมาสวดอภิธรรมในงานศพ ประมาณนั้น แต่สำหรับเมียนมาร์ไม่ได้มีปัญหาแต่ประการใด จะเดินทางกี่รูปก็ย่อมได้ ไม่มีกติกาเกี่ยวกับข้อจำกัดของจำนวนพระภิกษุ
การเดินทางในสมัยปัจจุบันสะดวกสบายมาก นั่งเครื่องบินจากดอนเมืองไปลงที่ย่างกุ้งใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง จากนั้นต่อเครื่องจากย่างกุ้งไปพุกาม ใช้เวลาอีกประมาณสองชั่วโมง ค่าตั๋วเครื่องบินจากย่างกุ้งไปพุกามแพงกว่ากรุงเทพย่างกุ้งสองเท่า
เราไปถึงพุกามตอนเย็น มองเห็นดวงอาทิตย์ลับลัดเลาะไปตามกลุ่มเมฆ มีฝนโปรยปรายลงมานิดหน่อย ก่อนออกจากสนามบินมีป้ายประกาศให้ทราบว่านักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินมาพุกามต้องจ่ายค่าเข้าชมทุ่งเจดีย์คนละ 25000 จ๊าด จ่ายก่อนเข้าเมืองจะชมเจดีย์วัดวาอารามหรือไม่ต้องจ่ายเหมือนกัน อัตราแลกเปลี่ยน 100 บาท ประมาณ 3400 จ๊าต ค่าเข้าเมืองประมาณ 700 กว่าบาท จะอยู่กี่วันก็ได้ ต้องเก็บบัตรไว้ หากทำหายก็ต้องจ่ายใหม่
เพื่อให้ทันกับเวลา จึงตัดสินใจเหมารถหนึ่งคันราคา 5000 จ๊าต ไปยังที่พักที่จองไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว แต่พอผ่านเจดีย์มองไปเห็นผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังปีนป่ายไปบนยอดเจดีย์จึงถามคนขับว่า พวกเขามาทำอะไรกันก็ได้คำตอบว่า เขากำลังรอชมพระอาทิตย์ตก บอกกับคนขับว่าอยากแวะชมบ้าง ขอเวลาสัก 30 นาที เขาให้บริการเต็มที่
“ตามสะดวกเลยครับ มาพุกามทั้งทีมีเสน่ห์อยู่สองช่วงเวลาคือเย็นชมพระอาทิตย์ตกที่เจดีย์บูพญา และตอนเช้าชมพระอาทิตย์ขึ้นที่เจดีย์ชเวซันดอร์” คนขับบอกอย่างนั้น
เย็นวันนั้นนักท่องเที่ยวไม่มากนัก เพราะทัศนวิสัยไม่ค่อยดีนัก ฟ้าครึ้มเมฆบัง มีเพียงเงาดวงอาทิตย์ที่แทรกผ่านหมู่เมฆในบางช่วงเวลา แต่ทว่าพวกเราก็ปีนป่ายขึ้นไปสู่ยอดเจดีย์จนได้ ยังเดินขาสั่นอยู่เลยแต่เมื่อได้ชมทัศนียภาพแห่งความงามของโบราณสถานคือหมู่เจดีย์นับพันองค์เรียงรายสลับยอดสูงๆต่ำ เก่าบ้างใหม่บ้างกลางทุ่งนาทุ่งไร่ของชาวบ้าน ที่พืชพรรณธัญญาหารกำลังออกใบเขียว เกิดเป็นภาพที่งดงาม เจดีย์กลางทุ่งกว้างยาวสุดลูกหูลูกตา พลันก็เกิดคำถามว่า “พวกเขาสร้างเจดีย์เพื่ออะไรกัน”
ข้อมูลเบื้องต้นจากคนขับรถคนนั้นบอกว่า “โบราณสร้างเจดีย์ด้วยศรัทธาครับ โปรดสังเกตถ้าเจดีย์ใหญ่ๆ คือกษัตริย์เป็นผู้สร้าง เจดีย์ขนาดกลางเศรษฐีคฤหบดีสร้าง ส่วนเจดีย์ขนาดเล็กชาวบ้านสร้างครับ”
คำอธิบายง่ายๆอย่างนั้น โดยไม่ต้องพึ่งพาหนังสือตำราทางประวัติศาสตร์ “หากไม่ขัดข้องพรุ่งนี้เช่ารถผมสิครับ ผมยินดีเป็นไกด์นำเที่ยวให้ฟรี หลวงพ่อจะไปเจดีย์ไหนบอกมาได้เลย จากนั้นก็ยื่นแผนที่เจดีย์ต่างๆให้ ผมคิดราคาวันละ 50 ดอลลาร์ครับ”
เนื่องจากเราไม่ได้วางแผนในการเดินทางมาก่อน การที่จะเที่ยวชมเจดีย์ให้มากที่สุดได้ในวันเดียวนั้น หากจะนั่งรถม้านำเที่ยวราคาอาจจะถูกหน่อย แต่ต้องขยายเวลาออกไป รถยนต์อาจจะแพงหน่อยแต่สะดวกสำหรับเจดีย์ที่อยู่ห่างไกล มีเวลาวันครึ่ง พรุ่งนี้ห้าโมงเย็นก็ต้องกลับย่างกุ้งแล้ว จึงตัดสินใจรับข้อเสนอของคนขับคนนั้น
“พรุ่งนี้ผมจะมารับไปชมพระอาทิตย์ขึ้นเวลาตีห้านะครับ” คนขับรถแจ้งกำหนดการก่อนที่รถจะเคลื่อนจากไปพร้อมกับห้วงเวลาที่ความมืดเริ่มมาเยือน
นั่งคิดเพลินๆว่าทำไมคนโบราณจึงได้สร้างเจดีย์เหล่านี้ขึ้นมา อายุกว่าพันปี มีอายุเก่ากว่าสมัยสุโขทัยหลายร้อยปี คำนึงพระเถระที่มีนามว่า “พระชินอรหันต์” พระภิกษุฝ่ายเถรวาทที่ได้ร่วมสร้างชาติพุกามกับพระเจ้าอโนรธา เกิดความปลื้มปีติอย่างบอกไม่ถูก เจดีย์นับสี่พันองค์เป็นหลักฐานยืนยันถึงพลังศรัทธาที่ไม่ต้องมีคำอธิบาย
พลังศรัทธาทำให้เกิดการสร้างสรรค์ ศรัทธาความเชื่อมั่นนำไปสู่ความสำเร็จ มีพุทธดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอบคำถามของเทวาในชราสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/158-159/50) ความว่า ครั้งหนึ่ง เทวดาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “อะไรหนอยังประโยชน์ให้สำเร็จจนกระทั่งชรา อะไรหนอตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ อะไรหนอเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย อะไรหนอโจรลักไปได้ยาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ศีลยังประโยชน์ให้สำเร็จจนกระทั่งชรา ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์
ให้สำเร็จ ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย บุญอันโจรลักไปได้ยาก”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “สีลํ ยาว ชรา สาธุ สทฺธา สาธุ ปติฏฺฐิตา
ปญฺญา นรานํ รตนํ ปุญฺญํ โจเรหิ ทูหรนฺติ ฯ”
มนุษย์นั้นหากไม่มีศีลคอยกำกับกายวาจา ก็คงอยู่ในสังคมได้ยาก ศีลยังทำให้ผู้รักษากระทำการสิ่งใดให้ประสบความสำเร็จได้ ศรัทธาความเชื่อที่มั่นคงแน่วแน่ก็ย่อมจะทำให้การงานทั้งหลายประสบความสำเร็จได้ เครื่องประดับภายนอกแม้จะงดงามมีราคามากมายเท่าใดก็ตาม แต่หากผู้ใช้ไม่มีปัญญาก็รักษาไว้ไม่ได้ ปัญญาจึงเป็นสิ่งมีค่าสูงสุดสำหรับมนุษย์ มีปัญญารักษาตนย่อมพ้นภัย สิ่งของมีค่าทั้งหลายย่อมเป็นสาธารณะแก่บรรดาหมู่โจรทั้งหลาย โจรลัก ขโมย ปล้นไปได้ แต่ “บุญ” อันเป็นสมบัติส่วนตัวของแต่ละคน แม้โจรทั้งหลายก็ลักไปไม่ได้ บุญย่อมคงอยู่กับผู้ทำ กรรมก็อยู่กับผู้สร้าง
ประชาชนชาวพุกามในอดีตเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา มีพลังศรัทธาสร้างเจดีย์ วิหารไว้เป็นอนุสรณ์สถานแห้งพลังศรัทธา แม้กาลเวลา จะผ่านไปนับพันปี แต่รอยจารึกแห่งพลังศรัทธายังคงอยู่ในอนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษา
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
26/07/59