ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

 

          กระแสสังคมที่มาแรงที่สุดในช่วงนี้น่าจะเป็นเรื่องของลูกเทพ มีผู้คนอุ้มตุ๊กตาเหมือนอุ้มลูกน้อย ยังมีพระภิกษุบางวัดถึงกับลงทุนเจิมตุ๊กตาเพื่อให้กลายเป็นลูกเทพ ในแต่ละวันกุฏิแทบจะไม่มีที่ว่างให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับลูกเทพแห่กันเข้าไปให้พระภิกษุรูปนั้นลงอักขระคาถาอาคม นัยว่าเพื่อปลุกเสก “ลูกเทพ” ให้มีอิทธิฤทธิ์ขึ้นมา จนกระทั่งเจ้าอาวาสต้องสั่งห้ามพระภิกษุรูปนั้นให้หยุดทำพิธี เรื่องก็เงียบหายไปสักพัก แต่กระแสลูกเทพยังคงมีปรากฏให้เห็น แม้จะเริ่มเบาบางลงบ้างแล้ว

          เช้าวันที่อากาศเย็นสบายเดินออกจากพระอุโบสถ  หลังจากทำวัตรสวดมนต์เช้าเสร็จ   มีสุภาพสตรีคนหนึ่งอุ้มตุ๊กตาในมืออีกข้างมีห่อสังฆทานมาด้วย นิมนต์ให้รับสังฆทาน เมื่อรับสังฆทานเสร็จแล้วเธอนิมนต์ให้เจิมลูกเทพ เธอบอกว่าเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต ครั้นจะเจิมให้ก็ไม่ใช่วิสัยเพราะไม่เคยเชื่อเรื่องในทำนองนี้ ครั้นจะไม่เจิมก็เกรงว่าเธอจะเสียใจที่อุตส่าห์เดินเข้าวัดหวังพึ่งพระภิกษุ แต่กลับได้รับคำปฏิเสธ จึงบอกว่า “ไปหาเจ้าอาวาสก็แล้วกันนะ อาตมาเป็นพระผู้น้อย ไม่มีความรู้ในด้านการเจิมเลย”
          เธอบอกว่า “ไปแล้วแต่ท่านเจ้าอาวาสไม่อยู่ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสก็ไม่อยู่ สอบถามพระภิกษุในวัดแล้ว จึงรู้ว่า ท่านนี่แหละคือผู้ที่มีอายุพรรษามากที่สุดในวัดขณะนี้”

         ได้แต่ออกอุทานในใจว่า “เธอหาข้อมูลมาดี” จึงต่อรองอีกว่า “เอาอย่างนี้ก็แล้วกันถวายสังฆทานอย่างเดียวก็พอ ส่วนลูกเทพที่ว่าไม่ต้องเจิมก็ได้ หากเขารักที่จะอยู่กับเรา ก็พูดจากับเขาดีๆ ทำในสิ่งที่คิดว่าเขาน่าจะชอบก็เพียงแล้ว อาตมาขอสารภาพว่า ไม่ถนัดในทางการเจิม หรือลงอักขระอาคมมาก่อนเลย บวชมานานเฉยๆ แต่ไม่เคยมีวิชาอาคม มีแต่ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น”
        ในที่สุดเธอก็ยอมถวายสังฆทานเสร็จก็เดินจากไป วันนั้นคิดว่าน่าจะทำถูกแล้วที่ปฏิเสธเธอไปอย่างนั้น หากทำตามคำขอคือเจิมตุ๊กตาลูกเทพแล้ว คนอื่นๆเมื่อได้ทราบข่าวคงทยอยมาอีกเรื่อยๆ ตัดไฟแต่ต้นลมน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด  
            ลูกเทพคืออะไร ทำไมมาได้รับความนิยมมากในช่วงเวลานี้  
          คำว่า “เทพ” มาจากคำในภาษาบาลีว่า “เทว”  เป็นคำนามเพศชาย แปลว่า เทพเจ้า เทวดา พระยม ความตาย สมมติเทพ พระราชา ฟ้า ท้องฟ้า ฝน เมฆฝน
           หากเป็นเพศชาย จะใช้เป็น “เทวปุตต” หรือ เทพบุตร หากเป็นเพศหญิง ก็จะใช้คำว่า “เทวตา” หรือ เทวดา  หากไม่ระบุเพศ คนก็มักจะเรียกสั้นๆว่า “เทพ”
          คำว่า “เทว” หรือ “เทพ” หากเป็นคำนามเพศชายอีกความหมายหนึ่ง แปลว่า สวรรค์ วัน หากเป็นคำกิริยา มาจาก “ทิว”ธาตุ เป็นไปในความเล่น แปลง อิ เป็น เอ จึงกลายเป็น “เทว” สมัยเรียนบาลีจึงมักจะเรียกพวกเทพว่า พวกชอบเล่น พวกชอบสนุก ใครที่เอาแต่เล่นไม่ยอมเรียนหนังก็มักจะถูกล้อเลียนว่าพวกลูกเทพนั่นเพราะธาตุดั้งเดิม คือ “ทิว” ธาตุ นั่นเอง

         เมื่อนำเทพมาเป็นเสมือนลูก จึงกลายเป็นนำเอาสิ่งที่อยู่ในชั้นสูงให้มาอยู่กับตัว อย่างน้อยก็จะได้เป็นที่อุ่นใจได้ว่า เรามีลูกเป็นเทพ มีลูกเป็นคนดี ทั้งๆในความเป็นจริงเราอาจจะมีลูกที่ว่ายากสอนยาก ไม่อยู่ในโอวาท
       ลูกหรือบุตรในพระพุทธศาสนาจำแนกไว้สามประเภทดังที่แสดงไว้ในปุตตสูตร ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ  (25/252/280) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตร 3 จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก 3 จำพวกเป็นไฉนคือ อติชาตบุตร  อนุชาตบุตร  อวชาตบุตร”  ภาษาบาลีใช้คำว่า “อติชาโต อนุชาโต อวชาโต” แต่ปัจจุบันมักจะได้ยินคนเรียก “อติชาโต” เป็น “อภิชาโต” คำว่า “อติ” แปลว่า ยิ่ง เกิน ล่วง จัด ส่วนคำว่า “อภิ” แปลว่า เฉพาะ ข้างหน้า ยิ่ง  หากแปลว่า บุตรที่ยิ่งกว่าบิดามารดาก็น่าจะใช้ได้ทั้งสองคำ
          อติชาตบุตร หมายถึงบุตรที่ยิ่งกว่าบิดามารดา ลูกที่ดีเลิศกว่าพ่อแม่
          อนุชาตบุตร  หมายถึงบุตรที่ตามเยี่ยงบิดามารดา ลูกที่เสมอด้วยพ่อแม่
          อวชาตบุตร  หมายถึงบุตรที่ต่ำลงกว่าบิดามารดา ลูกที่ทรามกว่าบิดามารดา

     ในบรรดาบุตรทั้งสามประเภทนั้น พระผู้มีพระภาคได้จำแนกตามความต้องการของบิดามารดาว่า “บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมปรารถนาอติชาตบุตร และอนุชาตบุตรไม่ปรารถนาอวชาตบุตร ซึ่งเป็นผู้ทำลายตระกูล ส่วนบุตรเหล่าใดเป็นอุบาสก บุตรเหล่านั้นแลชื่อว่าเป็นบุตรในโลกบุตรเหล่านั้นมีศรัทธาถึงพร้อมด้วยศีล ผู้โอบอ้อมอารี รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมรุ่งเรืองในบริษัททั้งหลาย เปรียบเหมือนพระจันทร์พ้นแล้วจากเมฆฉะนั้น”
      ลูกเทพน่าจะพอเทียบเคียงได้กับบุตรประเภทอติชาตบุตรและอนุชาตบุตร เพราะดีกว่าพ่อแม่หรืออย่างน้อยก็ต้องไม่เลวกว่าพ่อแม่ ส่วนลูกที่เกิดมาแล้วทำตัวเลวและแย่กว่าพ่อแม่น่าจะเรียกว่า “ลูกมาร” หรือ “ลูกผี”
         ส่วน “เทพ” ในโธตกมาณวกปัญหานิทเทส    ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส(30/214/85) แสดงไว้สามประการความว่า  “เทพ ในอุเทศว่า "ปสฺสามหํ เทวมนุสฺสโลเก"  มี 3 คือ สมมติเทพ  อุปบัติเทพ  วิสุทธิเทพ

          สมมติเทพเป็นไฉน? พระราชา พระราชกุมารและพระเทวี เรียกว่า สมมติเทพ            
         อุปบัติเทพเป็นไฉน? เทวดาชาวจาตุมหาราชิกา เทวดาชาวดาวดึงส์ เทวดาชาวยามา เทวดาชาวดุสิต เทวดาชาวนิมมานรดี เทวดาชาวปรนิมมิตวสวัตดี เทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม และเทวดาในชั้นที่สูงกว่า เรียกว่าอุปบัติเทพ   
          วิสุทธิเทพเป็นไฉน? พระอรหันตขีณาสพสาวกของพระตถาคต และพระปัจเจก   
สัมพุทธเจ้า เรียกว่า วิสุทธิเทพ
         ลูกเทพตามความเชื่อคือเทพประเภทไหน จะเป็นสมมติเทพก็ไม่ใช่ วิสุทธิเทพก็ไม่ใช่ ที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นเทพประเภทที่เรียกว่า “อุปัตติเทพ” ผสมกับ “สมมติเทพ” คือสมมติให้ตุ๊กตาธรรมดาเป็นลูกเทพ ที่เป็นลูกหรือบุตรประเภทอติชาตบุตร
       แต่ปัจจุบันความเชื่อที่ว่าด้วยเทพมาจากหลายลัทธิความเชื่อ หากนำเรื่องของ “บุตร” และ “เทพ” ในพระพุทธศาสนาไปอธิบายปรากฏการณ์ “ลูกเทพ” อาจจะไม่เข้าข่ายความเชื่อในพระพุทธศาสนาเลย ดังนั้นจึงมักจะมีพระภิกษุบางรูปพยายามจะเปลี่ยนความเชื่อเรื่อง “ลูกเทพ” ให้กลายเป็นความเชื่อที่มีมูลฐานมาจากคำสอนของพระพุทธศาสนา วิธีที่ง่ายที่สุดก็เพียงแต่ทำพิธีเจิมหรือลงอักขระคาถาบนตัวตุ๊กตา และเปลี่ยนตุ๊กตาธรรมดาให้กลายเป็น “ตุ๊กตาลูกเทพ” ไปในที่สุด

         ใครที่มีความเชื่ออย่างใดแล้วไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็ว่ากันไปตามความเชื่อนั้นเถิด กระแสการนิยมลูกเทพ หากมองในแง่ดี ก็เป็นเรื่องของความฝันของคนที่อยากมีลูก แต่ไม่อยากแต่งงาน หรือคนที่มีลูกประเภทอวชาตบุตร แต่อยากได้ลูกประเภทอติชาตบุตร แม้ว่าปัจจุบันข้อเท็จจริงลูกจริงๆอาจจะยังเป็นไปไม่ได้ แต่ “ลูกเทพ” นั้นเราเลี้ยงให้เป็นลูกประเภทไหนก็ได้ตามที่ใจเราต้องการ เพราะลูกเทพไม่พูดไม่จา ไม่โต้ ไม่เถียง เป็นลูกที่อยู่ในโอวาทอย่างแท้จริง หากเราอยากเป็นลูกเทพของพ่อแม่ก็ต้องพยายามพัฒนาตนให้เป็น "อติชาตบุตร" บุตรที่มีความประพฤติดี มีความรู้ดีกว่าพ่อแม่ให้ได้

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
04/02/59

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก