ช่วงปีใหม่มีเวลาหยุดติดต่อกันหลายวัน พยายามคิดหาหนทางว่าจะไหนดี ครั้นจะอยู่กับที่ก็อยู่มานานเกินไปแล้ว ชีวิตไม่มีอะไรแปลกใหม่ น่าจะหาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจในช่วงวันหยุดบ้าง การเดินทางในช่วงวันหยุดยาวไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะทุกคนต่างก็ออกเดินทางไปต่างจังหวัด ถนนหนทางจึงเต็มไปด้วยรถนานาชนิด ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อีกอย่างผู้คนมากมายในช่วงแห่งการเดินทาง คงไม่ค่อยสะดวกสบายมากนัก
ตรองดูอยู่หลายวันว่าช่วงปีใหม่ควรจะไปไหนดี เป้าหมายการเดินทางมาหยุดอยู่ที่ทุ่งไหหิน เชียงขวาง ประเทศลาว มีเพื่อนคนหนึ่งที่เวียงจันทน์เคยชวนไปเที่ยวลาวเมื่อหลายเดือนก่อน จึงตัดสินใจไปเยี่ยมเพื่อนและวานเพื่อนให้ช่วยพาเที่ยวทุ่งไหหินน่าจะพอไปได้
เย็นวันสิ้นปีจึงไปที่สถานีรถไฟหัวลำโพงเผื่อว่าบางทีอาจจะพอมีที่ว่างในการเดินทาง เมื่อสอบถามพนักงานขายตั๋ว แจ้งเจตจำนงว่าจะไปหนองคาย พนักงานบอกว่ายังมีที่ว่างอีกมากเลยครับ หลวงพ่อจะไปรถไฟชั้นไหนดี วันนั้นได้ตั๋วรถนอนชั้นสองราคาไม่แพง ราคารถไฟไปหนองคายกับไปกลับศาลายาพอๆกัน จึงตัดสินใจไปหนองคาย และเดินทางต่อไปที่เวียงจันทน์
ขบวนรถไฟกรุงเทพ-หนองคายเย็นวันนั้น ผู้โดยสารไม่มาก แม้แต่ชั้นสองก็ยังมีที่ว่างอีกมาก พิจารณาดูแล้ว ส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ คงมีจุดมุ่งหมายที่เวียงจันท์เหมือนกัน
รุ่งสางที่หนองคายพอดี ดวงอาทิตย์สีหม่นกำลังโผล่พ้นขอบฟ้า ในขณะที่รถไฟเข้าเทียบชานชลา จากนั้นจึงโดยสารรถสามล้อเครื่องหรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่าสกายแล็บไปที่ด่านชายแดนเพื่อข้ามไปยังเวียงจันทน์
หลายคนพยายามติดต่อแจ้งเจตจำนงว่าหากเหมารถไปเวียงจันทน์ราคาไม่แพง หากเป็นรถสองแถวตกคนละ 500 บาท หรือหากเป็นรถตู้ก็ตกคนละ 1000 บาท ต้อง แต่วันนั้นต้องการเดินทางแบบคนท้องถิ่น จึงนั่งรถเมล์โดยสารธรรมดาราคา 40 บาท ไปลงที่ตลาดเช้า เหมารถจากตลาดไปพระธาตุหลวงในราคา 100 บาท
บอกคนขับว่าต้องการแลกเงินกีบ เขาก็พาไป ตั้งใจว่าจะเดินทางในลาวอย่างประหยัดในงบประมาณจำกัด 1 ล้านกีบ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4500 บาท ดังนั้นงบประมาณในการเดินทางครั้งนี้จึงใช้เงินกีบล้วนๆ เหลือเงินไทยไว้เพียงแค่ค่ารถกลับประเทศก็พอแล้ว
พอไปถึงนครหลวงเวียงจันทน์ไปตามแผนที่ที่เพื่อนให้ไว้ สถานที่มีอยู่จริง แต่เจ้าของบ้านไม่อยู่ บ้านใกล้เคียงบอกว่า เขาพึ่งเดินทางไปกรุงเทพเมื่อวันก่อน บอกว่าจะไปหาเพื่อนที่เมืองไทย
เอาละสิทีนี้ก็ผิดแผน เราจะไปหาเพื่อน แต่ทว่าเพื่อนกลับคิดจะไปหาเรา โทรศัพท์ก็ใช้การอะไรไม่ได้ งานนี้คงต้องเดินทางคนเดียว แต่ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะไม่มีอุปสรรคด้านภาษา อยากไปไหนก็เอ่ยถามคนข้างทางเอาก็ได้
วันทั้งวันจึงอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์ ไปไหว้พระธาตุหลวง ไปชมหอพระแก้ว ไปวัดสีสะเกษ ไปประตูไชย และไปวัดอีกหลายแห่ง บ่ายแก่ๆก็สอบถามเส้นทางเพื่อจะไปทุ่งไหหินตามกำหนดการเดิม รถสามล้อเครื่องพาไปที่คิวรถตอนเหนือ หนึ่งทุ่มได้เวลารถออก ราคาค่าโดยสาร 1 แสน หนึ่งหมื่นกีบ
จากเวียงจันทน์ไปเชียงขวาง วันนั้นมีคนโดยสารเพียง 5 คน สี่คนเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมารถไฟขบวนเดียวกัน ส่วนอีกคนเป็นคนเชียงขวาง หน้าตาไม่ค่อยน่าไว้ใจ มีรอยสักโผล่ออกมาให้เห็น แต่อย่าพึ่งตัดสินใจคนจากภายนอก เพราะเขาคนนี้แหละเป็นคนชวนคุยและให้ข้อมูลในการเดินทางเป็นอย่างดี การเดินทางกลางคืนแม้จะไม่ค่อยปลอดภัย แต่ก็เป็นการพักผ่อนไปในตัว หลับๆตื่นไปตลอดทาง มีบ้างที่มีผู้โดยสารขึ้นลงระหว่างทาง
รถวิ่งเกือบสิบชั่วโมง ไปถึงเชียงขวางตีสามสามสิบนาที เหลือผู้โดยสารเพียงคนเดียว คนขับหันมาถามว่า หลวงพ่อจะไปลงที่ไหน จึงบอกว่าไปที่ท่ารถก็แล้วกัน นั่งรถรอแสงอาทิตย์ที่สถานีขนส่งซึ่งก็ไม่ได้โดดเดี่ยวเท่าใด เพราะมีผู้คนที่กำลังรอเดินทางอยู่เหมือนกัน
ตีห้าฟ้าเริ่มสว่างแล้ว มีรถสามล้อเครื่องมาติดต่อสอบถาม จึงบอกเป้าหมายว่าจะไปทุ่งไหหิน คนขับหันมาเสนอราคาแบบไม่ต้องต่อรองว่า ทุ่งไหหินมีสามแห่ง ถ้าไปแห่งเดียว 1 แสน ห้าหมื่น สองแห่งสามแสน สามแห่งสี่แสน หรือหากจะประหยัดเงินก็ต้องหาผู้ร่วมเดินทางช่วยกันจ่ายค่ารถ หรือเหมารถตู้วันละห้าแสนกีบ
คิดสะระตะเงินล้านกีบที่พึ่งแลกมาน่าจะหมดไปเพราะค่าเหมารถนี่แหละ คุยกับรถสามล้อหลายคันราคาก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก มีนักท่องเที่ยวสองสามคนกำลังติดต่อรถ จึงเข้าไปสอบถามว่าจะไปทุ่งไหหินใช่ไหม ขอแชร์ด้วย เป็นอันว่าพระไทยหนึ่งรูปกับฝรั่งชาวอิตาลีอีกหนึ่ง อังกฤษอีกสองคน รวมแล้วสี่คนช่วยกันเหมารถออกเดินทางตอนฟ้าสาง จุดหมายปลายทางอยู่ที่ทุ่งไหหิน
ในหนังสือคู่มือท่องเที่ยวลาว บอกไว้ว่า “ทุ่งไหหินคือแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดในแขวงเชียงขวางซึ่งมีไหรูปทรงกลมและเหลี่ยมสกัดจากหินทรายกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยมีขนาดตั้งแต่ใบเล็กน้ำหนัก 40-50 กิโลกรัม ไปจนถึงใบใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.50 เมตร สูง 2.57 เมตร น้ำหนักหลายตันตามตำนานพื้นบ้านเล่าถึงไหเหล่านี้ว่า ราวศตวรรษที่ 8 ท้าวขุนเจืองได้ยกกำลังพลมาทำสงครามที่เชียงขวางจนได้รับชัยชนะ จึงฉลองชัยอยู่ที่นี่เป็นเวลานานถึง 7 เดือน ไหเหล่านี้คือไหเหล้า โดยคนส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นแก้วเหล้าของเทวดา
ในปี พ.ศ. 2473 นักวิจัยชาวฝรั่งเศสคือมาดแลนโกลานี่ ได้ขุดพบเสื้อผ้า ขวาน ธนู และเครื่องประดับอายุ 400-600 ปี ในพื้นที่ จึงมั่นใจว่าไหเหล่านี้ไม่น่าใช่ภาชนะใส่เหล้า ต่อมาภายหลังเมื่อมีนักโบราณคดีค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณอยู่ในไห จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาชนะที่ใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับศพ” (ซองจันทร์,ลาว,กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ทิป ไทย อินเตอร์ บุ๊ค,2558 หน้า190)
ทุ่งไหหินมีอยู่สามแห่ง ซึ่งอยู่ห่างกันมาก หากต้องการจะเที่ยวชมทุกแห่งก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งวัน
ไหเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาว่าคือภาชนะที่มีไว้เพื่ออะไรกันแน่ แม้จะเดินชมทั่วทั้งทุ่งไหหินแล้วก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน ได้ยินไกด์ท้องถิ่นคนหนึ่งอธิบายให้นักท่องเที่ยวฟังน่าสนใจดี “มีสันนิษฐานเกี่ยวกับไหเหล่านี้อยู่สามอย่างคือไหเหล้าของขุนเจือง สองไหศพของคนโบราณ และสามไหปลาแดก” ประเภทที่สามฟังชัดเจนดี ไกด์บรรยายไปด้วยอารมณ์อันจริงจังมาก ประเทศในแถบนี้ทั้งลาว ไทย เขมรจะมีวัฒนธรรมปลาแดก มีปลาแดกเป็นอาหารหลักประการหนึ่ง ฟังแล้วน่าสนใจ ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นไหอะไรนั้น ก็ต้องรอการพิสูจน์ต่อไป แต่อย่างน้อยก็หายสงสัยว่ามีไหหินทั้งไหเล็กและไหใหญ่ อยู่ใกล้เชิงเขาที่เมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
07/01/59