ตั้งแต่หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ให้กล้องมาครั้งแรก ก็ถ่ายภาพมาเรื่อยๆ ยุคแรกๆตามถ่ายภาพของหลวงพ่อที่ไปร่วมงานในงานต่างๆ จนกล้องตัวเล็กๆของขวัญจากหลวงพ่อตัวนั้นชำรุดทรุดโทรม จึงซื้อกล้องตัวใหม่และถ่ายภาพมาเรื่อยๆ ถ่ายภาพมานานหลายปี ถ่ายภาพมาหลายประเภทแล้ว พึ่งเคยถ่ายภาพพระเครื่องอย่างจริงจังเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจากหลวงพ่อต้องการรวบรวมพระเครื่องไว้ให้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน และทำหนังสือไว้เพื่อแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่สนใจ
ความรู้ในการถ่ายภาพไม่ค่อยมีมากนัก ไม่เคยศึกษาเล่าเรียนมาทางนี้ นอกจากหาตำราเกี่ยวกับการถ่ายภาพมาศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง และถ่ายภาพตามใจฉันเท่านั้น แต่การถ่ายภาพพระเครื่องนั้นเป็นงานเฉพาะที่ต้องอาศัยผู้มีความชำนาญเป็นพิเศษ แต่เมื่อเป็นงานของหลวงพ่อที่ขอร้องมา ก็รู้สึกยินดีที่จะได้ช่วยงาน ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่
เนื่องจากมีอุปกรณ์จำกัด มีกล้องตัวเดียวและเลนส์ไม่กี่ตัว ซึ่งคงถ่ายภาพพระเครื่องไม่ได้ จึงตัดสินใจยืมเลนส์เพื่อนมาหนึ่งตัว เพื่อใช้ในงานนี้โดยเฉพาะ เพื่อนก็ใจดีแถมเลนส์มาให้อีกหนึ่งตัว เคยสงสัยว่าทำไมการถ่ายภาพต้องใช้เลนส์หลายตัว ทำไมไม่ใช้ตัวเดียวเหมือนโทรศัพท์ซึ่งถ่ายภาพได้ทุกประเภท
มีครั้งหนึ่งเดินทางไปร่วมการประชุมคณะสงฆ์ไทยในประเทศอินโดนีเซีย มีช่างภาพเดินทางไปด้วย เขาเตรียมอุปกรณ์ไปเต็มอัตราศึก ถามว่ามีเลนส์กี่ตัว เขาบอกว่า “งานนี้นำมาเพียงหกตัวครับ” แม้จะไม่ได้ถามต่อ แต่ช่างภาพคนนั้นก็บอกว่า “เลนส์มุมกว้าง 1 ตัว มาร์โคร์ 1 ตัว เลนส์ถ่ายภาพบุคคล 1 ตัว เลนส์เทเลซูม 1 ตัว เลนส์อเนกประสงค์ 1 ตัว และยังมีเลนส์ตาปลาอีก 1 ตัว”
เมื่อถามว่าทำไมไม่ใช้เลนส์อเนกประสงค์ตัวเดียวประเภท 18-200 ประมาณนั้น ซึ่งสามารถถ่ายภาพได้ทุกประเภท ช่างภาพบอกว่า “ตามหลักการนะได้ครับ แต่ในทางปฏิบัติไม่ค่อยสะดวก เพราะเลนส์ประเภทนี้มักจะมีความชัดเฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่งเท่านั้น แต่พอซูมมากๆ ภาพจะไม่ค่อยชัด หากอยากได้ภาพที่สมบูรณ์ก็ต้องใช้เลนส์ให้เหมาะกับสถานการณ์ครับ”
การถ่ายภาพแต่ละประเภทต้องมีเทคนิควิธีการแตกต่างกัน เช่นการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ก็ต้องมีเลนส์มุมกว้างที่สามารถเก็บบรรยายกาศโดยรวมได้ ความชัดลึกต้องมี โดยเปิดเลนส์ให้แคบเข้าไว้ก็จะได้ภาพชัดลึกมีมิติ มองดูมีจินตนาการ
การถ่ายภาพบุคคลก็ต้องเน้นที่ตัวบุคคล ฉากหลังบางครั้งก็ต้องตัดออกไปบ้าง ประเภทหน้าชัด หลังเบลอนะครับ เลนส์ที่ใช้ก็ต้องเป็นเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างๆ จะได้ละลายฉากหลังได้
การถ่ายภาพมาโคร์หรือที่นิยมเรียกว่าโลกใบจิ๋ว ถ่ายภาพขนาดเล็กให้มีขนาดใหญ่ ยิ่งต้องมีเลนส์เฉพาะที่เรียกว่าเลนส์มาโคร์ ที่ใช้ในการถ่ายภาพประเภทนี้โดยเฉพาะ
ช่างภาพเขาอธิบายให้ฟังอย่างนั้น ก็ต้องฟังไว้ เพราะตัวเราเองเป็นเพียงคนมีกล้องและอยากถ่ายภาพเท่านั้น มิใช่ช่างภาพอะไรเลย จะถ่ายภาพเฉพาะที่อยากถ่าย เรียกว่าถ่ายภาพตามใจฉัน ภาพที่ถ่ายมาจึงเสียมากกว่าได้
เท่าที่เคยถ่ายภาพมามักจะมีเลนส์อยู่เพียงตัวเดียวประเภทครอบจักรวาล ถ่ายภาพได้แทบทุกประเภท แต่มีข้อเสียตามมาคือภาพมักจะไม่ค่อยชัดในบางอย่าง ถ่ายภาพวิวทิวทัศน์พอได้ แต่เมื่อถ่ายภาพดอกไม้มิติความชัดมักจะไม่พอ ได้ความรู้จากช่างภาพคนนั้นว่าการจะถ่ายภาพให้ได้ดีนั้น นอกจากกล้องที่ดีแล้ว เลนส์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การเลือกอุปกรณ์ให้เหมาะกับสถานการณ์ และรอคอยสภาพของแสงที่พอเหมาะภาพถ่ายนั้นจึงจะออกมาดี
ดังนั้นเรามักจะเห็นช่างภาพแบกอุปกรณ์จำนวนมากในการถ่ายภาพ อุปกรณ์บางอย่างหนักมากขนย้ายลำบาก แต่สำหรับช่างภาพแล้ว แม้จะหนักก็ต้องทน เพื่อที่จะทำให้ได้ภาพตามที่ตนต้องการ
เมื่อมีคนบอกว่าให้ไปถ่ายภาพพระเครื่อง ก็นึกเพียงว่าคงไม่มาก ไม่น่าจะเกินร้อยองค์ ถ่ายเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ มีกล้องมีเลนส์แล้วก็เดินทางไปยังสถานที่เพื่อถ่ายภาพ แต่พอไปถึงก็ต้องตกตะลึง เพราะพระเครื่องที่ว่านั้นมีไม่น้อยกว่าพันองค์ มีขนาดแปลกแตกต่างกันมาก เล็กขนาดใบมะขาม และใหญ่ขนาดพระประธานในพระอุโบสถ
จึงเลือกถ่ายภาพขนาดเล็กๆก่อน ต้องปรับกล้องหาความชัดเอาเอง แต่ละองค์มีขนาดไม่เท่ากัน สีก็แตกต่างกัน ต้องปรับแสงและความชัดแทบทุกองค์ ต้องรอจังหวะจนองค์พระมีความชัดเพียงพอจึงกดซัดเตอร์ ต้องรอให้ได้ ใจต้องเย็น จึงจะได้สักภาพ
ในชีวิตคนต้องรอหลายอย่าง การที่จะให้ได้อย่างที่ใจคิดทุกอย่างนั้น ในช่วงชีวิตหนึ่งจะมีสักกี่ครั้ง ส่วนมากมักจะเป็นประเภทไม่ได้อย่างใจ ต้องฝึกฝน “การรอ” ให้ได้ พระพุทธเจ้าต้องรอการบรรลุธรรม เป็นเวลายาวนานจนนับไม่ถ้วน กว่าที่จะเดินทางไปถึงฝั่งแห่งนิพพานได้ กี่ร้อยกี่พันชาติที่เวียนว่ายตายเกิด หากมีจิตใจที่ไม่มั่นคงพอ คงต้องเลิกไปแล้ว แต่พระโพธิสัตว์มีจิตใจแน่วแน่ รอจนถึงเวลาบารมีเต็มเปี่ยมได้ ปณิธานต้องมั่นคง และเดินตรงสู่เป้าหมายอย่างใจเย็น
ในการทำงานก็เช่นกัน บางคนใจร้อนเกินไปรออะไรไม่ค่อยได้ แทนที่งานจะสำเร็จตามที่มุ่งหมายไว้ ก็ถูกไฟคือความร้อนรนแผดเผาใจไปเสียก่อน อุบัติเหตุส่วนหนึ่งมักจะเกิดขึ้นจากความใจร้อนยอมใครไม่ค่อยได้นี่เอง คิดก่อนทำสักนิดชีวิตคงอยู่สุขสบายขึ้น องค์ประกอบของการทำงานที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ “ความใจเย็น” งานบางอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากใจร้อน ก็อาจจะทำให้งานนั้นเสียหายได้ แต่งานบางอย่างก็ต้องรีบทำ งานบางอย่างต้องรอ และงานบ่างอย่างต้องรีบ ผู้กระทำต้องเลือกพิจารณาเอาเองว่างานไหนต้องรอ งานไหนต้องรีบ
วันนั้นกดซัดเตอร์ไปเกือบพันครั้ง แต่ได้ถ่ายพระเครื่องที่สมบูรณ์ใช้งานได้จริงๆเพียงครึ่งเดียว ช่วงแรกๆมักจะเสียมากกว่าได้ แต่พอท่องคาถาในใจว่า “รอให้เป็น เย็นให้ได้” ภาพที่ออกมาจึงได้มากกว่าเสีย
กลับถึงวัดก็ลองถ่ายภาพพระเครื่องที่มีอยู่ในกุฏิ ภาพพอได้ เพราะตอนนั้นรู้จักคำว่า “รอ” และคำว่า “เย็น” จนขึ้นใจแล้ว รอให้เป็น เย็นให้ได้ จิตใจย่อมเป็นสุขได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
06/08/58