ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

     สถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของไทยมีหลายแห่ง ส่วนหนึ่งเคยเป็นเมืองสำคัญ เคยเป็นราชธานี มีโบราณสถานอันบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของไทย ที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ จนกลายเป็นแหล่งของการศึกษาค้นค้นทางวัฒนธรรม โบราณคดี ตลอดจนศิลปะวิทยาการต่างๆ อนุชนคนรุ่นหลังควรศึกษาหาความรู้ไว้ หากจะก้าวไปข้างหน้า ก็ไม่ควรลืมอดีตของตนเอง หากเป็นการพัฒนาชาติบ้านเมืองก็ควรย้อนศึกษาถึงอดีตของชาติก่อนที่จะพัฒนาไปข้างหน้า หลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์(จันทร์ กุสโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เคยบอกไว้ว่า “ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่ คือหัวใจของการพัฒนา”  
 

             มีญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งอยู่ที่อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นน้องสาวของยาย ย้ายหนีน้ำท่วมไปตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2522 เป็นเวลานานกว่าสามสิบปีแล้ว น้องสาวยายเคยกลับมาเยี่ยมบ้านเก่าหลายครั้งและได้ให้ที่อยู่ไว้ เคยผ่านไปหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยได้แวะสักที ช่วงเสาร์อาทิตย์มีเวลาว่างจึงวางเป้าหมายในการเดินทางว่าจะไปเยี่ยมน้องสาวยายที่อำเภอบ้านด่านลายหอย และหากมีโอกาสก็จะแวะชมเมืองเก่าสุโขทัย โจทย์ในการเดินทางจึงมีเป้าหมายสองประการดังกล่าว

         ไปถึงสถานีขนส่งหมอชิตเวลาประมาณสามทุ่มแล้ว “ไปที่สุโขทัยก่อน จากนั้นจึงต่อรถไปที่อำเภอบ้านด่านลานหอยก็ได้” พนักงานขายตั๋วบอกอย่างนั้น จึงตัดสินใจนั่งรถโดยสารประจำทางซึ่งไม่ค่อยมีคนเท่าไหร่ นั่งสบายๆ ไปลงที่สถานีขนส่งสุโขทัย

         รถออกจากสถานีขนส่งหมอชิตเวลาประมาณสี่ทุ่มครึ่ง จากนั้นก็ไม่ได้รับรู้อะไรนอนหลับอย่างเดียว จนกระทั่งพนักงานต้อนรับบนรถโดยสารบอกว่า “สุโขทัยแล้วครับ ใครจะลงสถานีนี้กรุณาลงได้แล้วครับ” เท่านั้นก็ผวาตื่น ลงมายืนเก้ๆกังอยู่บริเวณสถานีขนส่งแล้ว ดูเวลาตีห้าสิบห้านาที อีกนานกว่าจะสว่างคนขับรถมอเตอร์ไชค์และสามล้อเครื่องเข้ามาถามว่า “หลวงพ่อจะไปไหนครับ”
         เมื่อบอกว่าไปบ้านด่านลานหอย เขาบอกว่า “คงต้องรออีกนานครับแปดเก้าโมงโน่นถึงจะมีรถ” จึงถามว่าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยอยู่ไกลไหม คนขับรถมอเตอร์ไชค์บอกว่า อยู่ไม่ไกลครับ เหมารถผมไปก็ได้ ใช้เวลาสักยี่สิบนาทีก็ไปถึงแล้ว ไปถึงคงสว่างพอดี เย็นๆค่อยไปบ้านด่านลานหอยก็ได้ครับ มารอรถที่สถานีแห่งนี้แหละครับ”
         คิดดูแล้วเมื่อมาถึงสุโขทัยทั้งทีน่าจะไปชมเมือที่ได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งแรกของไทย เคยอ่านแต่ประวัติศาสตร์ และเคยเดินทางไปเยี่ยมชมก็นานหลายปีมาแล้ว จดจำอะไรไม่ค่อยได้ ปัจจุบันมีสภาพเป็นอย่างไรบ้างก็ไม่รู้ อย่างน้อยๆก็ไปเยี่ยมไปถ่ายภาพเล่นๆก็ไม่น่าจะเสียเวลาสักเท่าไหร่
         นิมนต์เลยครับผมจะไปส่งค่ารถ 280 บาทครับ เขาเสนอราคาเสร็จสรรพ์ มองดูแล้วคงไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้แล้ว เห็นสามล้อเครื่องคันหนึ่งพึ่งรับฝรั่งสองสามคนออกไปก่อนแล้ว คงเหลือแต่มอเตอร์ไซค์นี่แหละ ก่อนขึ้นรถยังหันไปถามคนขับว่า “ที่นี่พระนั่งรถมอเตอร์ไซด์ ไม่มีใครเขาว่าอะไรหรือ”
         “ไม่มีอะไรหรอกครับ ผมไปส่งหลวงพ่อในวัดต่างๆประจำ หลวงพ่อไปวัดไหนก่อนดีครับ” คนขับเขาบอกอย่างนั้น  คิดได้ตอนนั้นคือวัดศรีชุม วัดที่มีตำนานพระพูดได้ บางทีอาจจะได้สนทนากับหลวงพ่อใหญ่วัดศรีชุมก็ได้

        ตัดสินใจในบัดเดี๋ยวนั้นว่าเป็นไงเป็นกัน การที่จะให้อยู่เฉยๆสามสี่ชั่วโมง คงไม่สนุกนัก สู้เดินทางไปนมัสการพระใหญ่วัดศรีชุมและเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยก่อนค่อยคิดอีกที
         หนทางไม่ได้ใกล้ โดยเฉพาะการนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์อย่างนี้ เกรงว่าหากพลั้งเผลอประเดี๋ยวก็อาจจะหล่นลงไปนอนข้างทางได้ง่ายๆ กระเป๋าอยู่ด้านหน้ารถ ที่เหลือก็มีแต่ย่ามจึงไม่ค่อยพวงมากนัก ย่ามห้อยคอ จีวรผูกรอบเอวสองมือจับอานรถให้แน่น รถก็แล่นออกจากสถานีขนส่งสุโขทัย มุ่งหน้าสู่วัดศรีชุมในบัดเดี๋ยวนั้น
         ใช้เวลาไม่นานจริงๆ ไปถึงวัดเวลาประมาณหกโมงเช้า คนเฝ้าประตูพึ่งตื่นนอน จึงถามว่าเข้าไปได้ไหม  เขาบอกว่าเข้าไปได้ครับ แต่ประตูพระใหญ่จะเปิดเวลาประมาณเจ็ดโมงครึ่งครับ จึงเดินผ่านลานวัดเก่าทะลุไปยังวัดศรีชุมใหม่ เพื่อเข้าห้องน้ำล้างหน้าล้างตา พระสงฆ์กำลังออกบิณฑบาต จึงไม่ได้เอ่ยถามใคร เพราะตอนนั้นคิดถึงห้องสุขาเป็นอันดับแรก ตื่นเช้ามาก่อนอื่นต้องผ่านห้องสุขาก่อน จึงจะคิดทำอะไรได้ตามสะดวก มนุษย์มีทุกข์ประจำชนิดหนึ่งที่ไม่อาจหลีกหนีหลบพ้นไปได้ นี่คือความธรรมดาของมนุษยชาติ

         ประวัติและความสำคัญของวัดศรีชุมระบุไว้ที่ป้ายประกาศหน้าวัดว่า “เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ประกอบด้วยมณฑปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดกว้าง 32 เมตร สูง 15 เมตร  ประดิษฐานพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัยซึ่งมีขนาดหน้าตัก 11.30 เมตร ผนังมณฑปทางซ้ายของพระประธานมีทางเดินเข้าไปในผนังขึ้นไปได้จนถึงผนังด้านบนของมณฑป มีแผ่นหินสลักเป็นภาพเกี่ยวกับเรื่องชาดก โดยมีจารึกอักษรสุโขทัยอธิบายประกอบอยู่ประมาณ 50 ภาพ ติดบนทางเพดานของเดินในผนัง ด้านหน้าทางเดินของมณฑปเป็นฐานวิหารซึ่งผนังเจาะเป็นรูปกากบาท นอกจากนี้ยังมีฐานวิหาร  มณฑปขนาดเล็ก เจดีย์ราย 9 องค์ โดยมีคู้น้ำล้อมรอบกลุ่มโบราณสถานนี้อยู่  ภายนอกคูนั้นยังปรากฏฐานอุโบสถ  ศาลาพระฤาษีและสระน้ำ  สำหรับพระพุทธรูปในมณฑปวัดศรีชุมนี้สันนิษฐานว่าคือพระอจนะ ซึ่งกล่าวถึงในจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 ความว่า “เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้  มีตลาดปสาน มีพระอจนะ  มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว มีป่าหมากกลาง”

         กราบนมัสการหลวงพ่อพระอจนะแล้ว เงยหน้าขึ้นลองเอ่ยทักทายว่า “หลวงพ่อสบายดีนะครับ” ท่านก็เงียบดวงเนตรสงบนิ่ง ริมโอษฐ์เหมือนกำลังแย้มยิ้ม เหมือนหนึ่งกำลังจะเอื้อนเอ่ยว่า “ขมนียํ  ยาปนียํ” ยังพออดพอทนได้ตามสภาวะ แต่ไม่รู้จะทนไปได้อีกสักกี่ปี อยู่กลางฝนกลางแดดอย่างนี้
         เวลายังเช้าอยู่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวอื่นใดเดินทางมาเลย มีเพียงเราผู้หลงทางคนเดียวเท่านั้นที่มาอยู่ต่อพระพักตร์ของพระอจนะ ตามนามที่ชาวบ้านเรียกขาน นานเท่าใดไม่ได้กำหนด จนกระทั่งได้ยินเสียงแว่วของสุภาพสตรี จึงตื่นจากภวังค์ เป็นฝรั่งสุภาพสตรีสองคน กำลังเดินเข้ามา พอเข้าใกล้องค์พระเห็นประตูยังปิดสนิท คนหนึ่งหันมาถามว่า เขาจะเปิดเมื่อไหร่ จึงบอกเวลาไปตามที่คนเฝ้าประตูบอกมาซึ่งก็เหลือเวลาเพียงไม่กี่นาที แต่สุภาพสตรีทั้งสองเดินรอบสถูปและกลับไปก่อนที่ประตูจะเปิด บางทีคนเราก็ใจร้อนเกินไป รออะไรไม่ค่อยได้ แต่ก็ต้องเข้าใจเพราะเขาเช่ารถสามล้อมา ต้องเป็นไปตามกำหนดเวลา จะได้ไปชมสถานที่อื่นๆ อีก
         ออกจากวัดศรีชุม ถามเจ้าหน้าที่ว่ามีที่ไหนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงบ้าง เจ้าหน้าที่บอกว่า “วัดพระพายหลวง” เดินไปอีกหน่อยก็ถึงแล้วครับ จากนั้นก็นำแผ่นพับประชาสัมพันธ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์และสถานที่อื่นๆที่น่าสนใจมาให้ “นิมนต์หลวงพี่ตามสะดวกนะครับ”
 ผ่านที่ป้ายซุ้มหน้าวัดจึงเห็นมีอีกป้ายบอกสถานะของวัดศรีชุมทมีบันทึกไว้ว่า “วัดศรีชุมตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โบราณสถานที่สำคัญได้แก่ มณฑป เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยขนาดความสูง 15 เมตร หน้าตักกว้าง 10.30 เมตร ที่ปรากฏชื่อในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า พระอจนะ มีความหมายว่า “ผู้ไม่หวั่นไหว” พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับการบูรณะ ปฏิสังขรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2494-2499

         ยังมีการอธิบายความหมายต่อไปว่า คำว่า “ศรี”  มาจากคำเรียกพื้นเมืองเดิมของไทยว่า “สะหลี” ซึ่งหมายถึงต้นโพธิ์ ดังนั้นชื่อศรีชุม จึงหมายถึงดงของต้นโพธิ์ แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เขียนในสมัยอยุธยาตอนปลาย ไม่เข้าใจความหมายนี้แล้ว จึงเรียกสถานที่นี้ว่า “ฤาษีชุม”  เป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาประชุมทัพก่อนที่จะยกทัพไปปราบเมืองสวรรคโลก อันเป็นต้นตอของตำนานเรื่องพระพุทธรูปพูดได้ ที่เล่าขานกันต่อมา
         ติดใจที่คำว่า “อจนะ” ที่แปลว่า ผู้ไม่หวั่นไหว คำว่า ไม่หวั่นไหวในภาษาบาลีใช้คำว่า “อจล” แปลว่าภูเขา ไม่เคลื่อนไม่หวั่นไหว  “จล” แปลว่าหวั่นไหว  โคลงเคลง ยุ่งยาก “อ” แปลว่าไม่ เมื่อนำมารวมกันจึงเป็น “อจล” หรือ “อจละ” แปลว่าผู้ไม่หวั่นไหว
ส่วนคำว่า “จน” หรือ จนํ” แปลว่า เป็นอสากัลยัตถวาจกนิบาต บ่งความเพียงบางส่วนเช่นในคำว่า “กุทาจน” ในกาลบางคราว บางครั้งบางคราว เป็นต้น ดังนั้นคำว่า “อจน” หรือ “อจนะ” ไม่น่าจะแปลว่าผู้ไม่หวั่นไหว ที่ควรจะเป็น น่าจะใช้คำว่า “อจล” หรือ “อจละ” จึงจะแปลว่าผู้ไม่หวั่นไหว

         พระราชพงศาวดารยังเข้าใจคำว่า “สะหลี” แปลว่า เป็น “ฤาษี” ไปได้ “สะหลีชุม” หมายถึงมีต้นโพธิ์มาก แต่กลับกลายเป็น “ฤาษีชุม” ไปได้

         คำว่า “อจน” น่าจะแปลว่า ผู้ไม่จน หรือผู้ร่ำรวย  “พระอจนะ”  จึงน่าจะแปลว่า "พระผู้ไม่จน พระผู้ร่ำรวย"  หากเป็นไปได้ต้องย้อนกลับไปดูศิลาจารึกต้นฉบับเดิมว่าท่านใช้คำใดเป็นตัวสะกด เป็นตัว “น” หรือ เป็น ตัว “ล” 
         หลวงพ่อพระอจนะ วัดศรีชุม จะมีความหมายว่าพระผู้ไม่หวั่นไหว หรือพระผู้ไม่ยากจน หรือพระผู้ร่ำรวย ก็ตามทีเถิด ท่านไม่ได้เดือดร้อนอะไร ใครจะสงสัยใคร่รู้อย่างไร ท่านก็นิ่งเฉย ใครจะตั้งชื่อท่านอย่างไรท่านก็ไม่ได้โต้เถียงอะไรกับใคร มีแต่พระผู้สงสัยที่กำลังเดินเดี่ยวผู้เดียวออกจากวัดศรีชุมมุ่งหน้าสู่วัดพระพายหลวง ซึ่งก็ยังคงเป็นนักท่องเจดีย์เพียงรูปเดียวอีกเช่นเคย ที่เดินย่ำไปบนลานเจดีย์ซึ่งบางส่วนเหลือเพียงซากปรักหักพัง ที่บ่งบอกถึงร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองในอดีต

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
19/07/58

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก