ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

                   ภูเขากูร์ป้า (Gurpa) หรือกุรปะ เมืองคยา อินเดียเชื่อกันว่าเป็นสถานที่นิพพานของพระมหากัสสปะเถระ พระอรหันต์ที่มีปฏิปทาชอบอยู่ตามป่า ตามภูเขา เป็นพระสงฆ์ที่เป็นประธานในการทำสังคยานาครั้งแรก ภูเขาคูรป้าเป็นภูเขาสูงชัน มีถ้ำซอกเล็กซอกน้อยหลายแห่ง อยู่ห่างจากเมืองคยาประมาณห้าสิบกิโลเมตร การเดินทางค่อนข้างลำบาก ถนนหนทางไม่ค่อยดี บางแห่งเป็นทางลูกรัง ผ่านทุ่งนาและบ้านเรือนของชาวบ้าน แม้ระยะทางจะไม่ไกลนัก แต่ทว่าในการเดินทางใช้เวนานานกว่าสี่ชั่วโมง
                   ช่วงนี้ยังคงพำนักที่ถ้ำแก้ว หลังจากที่เมื่อวันก่อนไปที่ถ้ำพระ ทั้งถ้ำพระและถ้ำแก้วอยู่ในอำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ สภาพทั่วไปเป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่แทรกตัวอยู่ใต้แมกไม้ ยังคงมีป่าหนาแน่น เพราะได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี 
                   วันนี้ไม่ได้วางแผนว่าจะไปไหน อยู่เงียบๆที่กุฏิน้อยเชิงผา พักผ่อนทำจิตใจให้สบายๆ ปล่อยให้ชีวิตผ่านไปอย่างไร้สาระบ้าง ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องห่วงกังวลกับเรื่องอื่นใด เพราะเป็นวันสุดท้ายแล้วที่จะต้องจากสถานที่แห่งนี้ไป ได้พักอาศัยมาหลายวัน แต่ไม่เคยได้อยู่ที่กุฏิตลอดวัน มีแต่เดินทางออกท่องเที่ยวชมป่าชมถ้ำไปในที่ที่อยากไป วันนี้ขอหยุดพักสักหนึ่งวัน
                   ตอนเช้าเดินเล่นไปที่เนินเขารอทักทายแสงตะวันยามเช้า มีดอกหญ้าแห้งปลิวไสวรออยู่ก่อนแล้ว คงกำลังรอทักทายดวงตะวันเหมือนกัน เมื่อลมพริ้วผ่านดอกหญ้าก็ปลิวไสวโอนเอนไปตามแรงลม ยกกล้องขึ้นถ่ายภาพไว้ก่อนตะวันจะรุ่ง ภาพไม่ค่อยสวยนัก เพียงชั่วครู่ดวงอาทิตย์ก็เริ่มแทรกทิวเขาและหมู่ไม้ขึ้นทางบุรพทิศ แม้ฟ้าจะไม่ค่อยสดใสนัก แต่ก็ยัพอมองเห็นตะวันได้ชัดเจน
 
                   วันนี้ใช้เพียงกล้องจากแท็ปเล็ต ซื้อมานานแล้วแต่ก็ไม่ค่อยได้ใช้เท่าใดนัก มันเป็นเหมือนส่วนเกิน จะใช้อะไรก็ไม่ถนัด วันนี้ลองใช้ถ่ายภาพบันทึกภาพดูบ้าง ดูซิว่าเจ้าอุปกรณ์ขนาดพกพาจะใช้ได้ดีขนาดไหน ถึงใช้ได้ไม่ดีก็ไม่เป็นไร เพราะได้เก็บภาพแห่งความงามและความทรงจำไว้ภายในจิตใจแล้ว ภาพถ่ายเป็นการบันทึกเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่บางครั้งอาจจะมีเพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิตหนึ่ง โลกนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอนอยู่แล้ว ภาพที่เราบันทึกก็ต้องผ่านไปเหมือนลมพัดผ่าน เกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมาแทน
                   ปรากฎว่าเจ้าแท็ปเล็ตใช้งานได้ดีเกินคาด ภาพที่ออกมาพอใช้งานได้ มีสุนัขสองตัวตามไปด้วยจึงกลายเป็นนายแบบที่ไม่ต้องเชื้อเชิญ ไม่ต้องจ่ายค่าตัว พวกเขาวิ่งเล่นอย่างเพลิดเพลิน บางครั้งวิ่งมากระตุกชายสงบ คงกำลังบอกว่าให้มาทางนี้มีอะไรให้ดูประมาณนั้น สุนัขเป็นสัตว์ที่ไม่มีมารยา คิดอย่างไรก็แสดงออกอย่างนั้น แต่ทว่าการที่จะทำความเข้าใจกับสัตว์ดิรัจฉานนั้นคงต้องใช้เวลาศึกษาอุปนิสัยใจคอสักพัก
                   เริ่มต้นในตอนเช้าด้วยบรรายาศที่สดชื่น ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ได้สัมผัสกับความงามจากแสงแรกแห่งทิวาวัน เป็นความงามที่ไม่ต้องปรุงแต่ง เป็นไปตามธรรมดา ดำรงอยู่และเป็นไปชั่วนาตาปี ธรรมชาติก็มีความงามให้ผู้คนได้สัมผัส ตะวันธรรมดาแต่หากในจิตใจมีสุนทรียะก็สามารถสัมผัสกับความงามได้
 
                   ได้เวลาฉันภัตตาหารซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญ อาหารให้กำลังกาย หากร่างกายขาดการบำรุงด้วยข้าวปลาอาหารก็ยากที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่ทว่าอาหารไม่ได้มีแต่ข้าวสุกเท่านั้นยังมีอาหารอย่างอื่นอีกด้วยคือ “อาหารคือคําข้าว อาหารคือผัสสะ อาหารคือมโนสัญเจตนา และอาหารคือวิญญาณ” ตอนเช้าได้อาหารคือข้าวสุกพอยังอัตภาพให้เป็นไป ส่วนอาหารชนิดอื่นๆค่อยว่ากันอีกที
                   จากนั้นก็เดินกลับกุฏิซึ่งอยู่บนเชิงเขา ต้องใช้เวลานานพอสมควร เหงื่อไหลโทรมกายเป็นวิธีการในการย่อยอาหารที่ดีเยี่ยม ตอนนั้นพลันคิดถึง “ภูเขากูร์ป้า” เมืองคยา สถานที่อยู่จำพรรษาและนิพพานของพระมหากัสปะ ซึ่งเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ไปสำรวจสถานที่ที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่นิพพานของพระมหากัสสปะเถระ
                   ภูเขากูร์ป้าสูงมากเดินผ่านที่ราบซึ่งเป็นสวน เป็นไร่ เป็นที่นาของชาวบ้าน มีต้นดอกทองกวาวสีแสดบานสพรั่ง คะเนด้วยสายตาน่าจะไม่ต่ำกว่าสามกิโลเมตร ทางขึ้นเขาสูงชันต้องค่อยๆก้าว และหยุดพักไปตลอดทาง ใช้เวลาเดินขึ้นเกือบสองชั่วโมง แต่พอไปถึงยอดเขาทิวทัศน์สวยงามมาก ลมพัดผ่านอากาศเย็นสบาย จึงเข้าใจในบัดนั้นว่าพระมหากัสสปะเถระ ท่านชอบอยู่ตามภูเขาเป็นอย่างนี้เอง เดินลงมาจากภูเขาสองชั่วโมง เดินขึ้นภูเขาอีกสองชั่วโมง พระมหากัสสปะแม้จะพักจำพรรษาอยู่ตามภูเขาไม่ชอบคลุกคลีกับใคร แต่เมื่อคณะสงฆ์อยู่ในภาวะที่มีปัญหา ขาดความเป็นเอกภาพ พระมหากัสสปะเถระนี่เองที่เป็นผู้ริเริ่มและเป็นประธานในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก ที่ถ้ำสัตตบรรณ เมืองราชคฤห์  ภูเขาคูรป้าอยู่ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์มากนัก อยู่ในแคว้นมคธเหมือนกัน 
 
                   บ่งบอกเป็นนัยว่า อย่าได้มองข้ามพระสงฆ์ที่อยู่ในป่า แม้ท่านจะไม่ค่อยปรากฎตัวสุงสิงกับใคร แต่หากคณะสงฆ์มีปัญหา พระป่านี่แหละมักจะเป็นผู้ปฏิรูปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา 
                   เราเองแค่เดินขึ้นเขาไม่สูงนัก ใช้เวลาไม่ถึงสามสิบนาที แต่รู้สึกเหนื่อยอ่อน เหมือนลมหายใจจะขาดห้วงต้องหยุดพักข้างทางเป็นระยะๆ เราเองเหนื่อยไม่ถึงเสี้ยวของพระเถระในอดีตเลย จะป่วยกล่าวไปใยถึงเรื่องอื่นเล่า
                   หากใครจะเดินทางไปเยี่ยมชมภูเขากูร์ป้า ลองพิจารณาดู จากประสบการณ์การเดินทางวันนั้นไปกันสี่รูป เหมารถยนต์สี่ล้อขนาดเล็กไปกลับในราคา 1500 รูปี ใช้เวลาทั้งวัน ออกจากวัดเนรัญชรา เมืองคยา เวลาหกโมงเช้ากลับถึงวัด เวลาประมาณสี่โมงเย็น 
                   ตอนนั้นในใจกลับคิดไปถึงหลวงปู่เทพโลกอุดรที่มีสันนิษฐานว่าคือพระมหากัสสปะเถระ ที่เคยเดินทางมาพักที่ถ้ำพระ ข้อสันนิษฐานนี้พอฟังได้ เพราะพระมหากัสสปะชอบอยู่ตามภูเขาและถ้ำ บางทีท่านอาจจะเคยเดินทางมาจริงๆก็ได้ เพราะพระมหากัสสปะเป็นเถระที่มีอายุยืน เรื่องของพระอรหันต์นั้น ปัญญาของปุถุชนคนธรรมดาคาดเดาไม่ได้ แต่มาติดขัดตรงที่หลวงปู่เทพโลกอุดรนิพพานที่ถ้ำพระ เพราะตามหลักฐานพระมหากัสสปะนิพพานที่ถ้ำบนภูเขากูร์ป้า เมืองคยา อินเดีย ปัจจุบันยังมีรูปหล่อปรากฎให้เห็นเป็นหลักฐาน และชื่อภูเขาหากฟังดูให้ดีมีชื่อคล้ายกับ “กัสสปะ” นามของพระอรหันต์เถระนั่นเอง
 
                   อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งหลวงปู่เทพโลกอุดรคือพระอุตตระ คำว่า “อุตตระ” กับคำว่า “อุดร” มาจากรากฐานทางภาษาคำเดียวกัน “อุตตระ” แปลว่าทิศเหนือ “อุดร” ก็แปลว่าทิศเหนือ ฟังดูใกล้เคียงกับคำสันนิษฐาน แต่ต้องกลับไปค้นหาประวัติของพระอุตตระอีกทีว่า ท่านมรณะหรือนิพพานที่ไหน มีหลักฐานปรากฏหรือไม่ หรือว่าท่านคือหลวงปู่เทพโลกอุดรตามความเชื่อของชาวบ้านที่ว่าท่านมานิพพานที่ถ้ำพระ จังหวัดชัยภูมิ 
                   ข้อสันนิษฐานว่าหลวงปู่เทพโลกอุดรคือพระอุตตระ มีเค้ามูลที่อาจจะมีความเป็นไปได้มากกว่าจะเป็นพระมหากัสสปะเถระ เพราะพระอุตตระมีประวัติ มีหลักฐานว่าเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิ ซึ่งก็คือดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศไทย  สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณพุทธศักราช 236 เหตุการณ์ผ่านมานานกว่าสองพันสี่ร้อยกว่าปีแล้ว หากศึกษาสืบค้นให้ดีอาจจะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการคณะสงฆ์ไทยก็ได้
 
 
                   ดูเหมือนว่าเรื่องของหลวงปู่เทพโลกอุดร จะยังเป็นปริศนายังคงคิดวนเวียนอยู่ในจิตใจมาตั้งแต่วันก่อน อยากรู้อยากทราบประวัติของพระเถระรูปนี้จริงๆ และความเกี่ยวเนื่องกับถ้ำพระถ้ำแก้ว ยังคงเป็นปริศนา ทำไมมีประวัติที่ถ้ำพระแห่งเดียว ทำไมถ้ำแก้วไม่เคยมีใครกล่าวขานถึงหลวงปู่เทพโลกอุดรเลย ทั้งๆที่ถ้ำทั้งสองแห่งอยู่ห่างกันไม่เกินสามกิโลเมตรเท่านั้นเอง 
                   ภูเขากูร์ป้าอยู่บนป่าเปลี่ยว มีต้นไม้บางต้นที่เป็นเผ่าพรรณเดียวกันกับที่พบที่ถ้ำพระ เพื่อนร่วมเดินทางท่านหนึ่งเมื่อได้เห้นต้นไม้บนภูเขากูร์ป้า ถึงกับออกอุทานว่าน่าจะเป็นต้นไม้พันธุ์เดียวกันกับที่วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ นครสวรรค์ นอกจากนั้นยังมีหินลักษณะคล้ายกัน ธรรมชาติของภูเขาคงมีลักษณะใกล้เคียงกัน หากใครยังไม่มีโอกาสไปเยี่ยมชมภูเขากูร์ป้า ที่อินเดีย มาเยี่ยมชมถ้ำพระ ถ้ำแก้วเป็นการทดสอบกำลังกายและกำลังใจก่อนก็ได้ โดยเฉพาะที่ถ้ำแก้วเดินขึ้นเดินลงสักสิบรอบคงพอเทียบกับทางขึ้นภูเขากูร์ป้าได้
 
 
พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
19/04/58
 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก