มนุษย์นั้นหากในยามที่อยู่ดีไม่เจ็บป่วยก็ไม่นึกถึงคุณค่าของการมีสุขภาพดี มีร่างกายแข็งแรง แต่หากยามใดที่เกิดเจ็บป่วยขึ้นมาร่างกายที่แข็งแรงจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงอาการของโรคว่าหนักหรือเบาประการใด ในเวลาที่มีความสุขมักจะไม่มีใครมองไปถึงความทุกข์ที่จะตามมาในภายหลัง คนมีสุขจะลืมความทุกข์กันทั้งนั้น โบราณว่าหากไม่เจ็บป่วยจะไม่เห็นคุณยา หากไม่มีปัญหาจะไม่เห็นค่าของความทุกข์
ป่วยแบบไม่รู้สาเหตุมาตั้งแต่วันศุกร์เริ่มต้นมีอาการไอ เจ็บคอ ได้ยาพาราเซตามอลและยาแก้แพ้อย่างละสองเม็ด พอบรรเทาอาการได้บ้าง เช้าวันเสาร์มีงานสอนสองรายวิชาติดต่อกันหกชั่วโมง อยู่ในห้องปรับอากาศที่เย็นสบาย แต่วันนั้นกลับรู้สึกหายใจติดขัดอึดอัดขัดข้องหนาวๆร้อนๆ แต่ก็พยายามทำหน้าที่จนครบจบตามเนื้อหาในรายวิชาที่เตรียมมา แม้ว่าช่วงท้ายๆจะคิดอะไรไม่ค่อยออกก็อาศัยวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือตั้งคำถามจากนั้นก็ให้นักศึกษาหาคำตอบพร้อมทั้งวิเคราะห์ตามเอกสาร เช่นคำถามทางประวัติศาสตร์เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อประสูติทรงเดินได้เจ็ดก้าวและเปล่งอุทานว่าเราเป็นผู้เลิศที่สุดในโลก เป็นต้น นักศึกษาเชื่อหรือไม่ เพราะเหตุใด
การตอบคำถามประเภทนี้มิใช่เพียงคำตอบว่า “เชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” แต่ต้องมีการวิเคราะห์ตามหลักการของศาสตร์ต่างๆ และที่สำคัญจะต้องยึดถือตามคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นอันดับแรกว่าท่านบันทึกไว้อย่างไร หากไม่มีจึงค้นหาจากคัมภีร์อื่นๆเช่นอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา เป็นต้น แต่ละคัมภีร์มีจุดเด่นต่างกัน เขียนขึ้นในยุคสมัยต่างกัน ความเชื่อของแต่ละยุคก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นบางทีคัมภีร์ในยุคหลังๆก็มีเสน่ห์น่าศึกษาค้นคว้าเหมือนกัน อย่าพึ่งด่วนตัดสินใจว่าคัมภีร์ยุคหลังใช้ไม่ได้
นักศึกษาแต่ละท่านก็อธิบายยกเหตุผลวิเคราะห์กันไปตามแต่ใครจะมีคำตอบอยู่ในใจ สุดท้ายผู้ทำหน้าที่อาจารย์ก็เพียงแต่นำเสนอหลักฐานจากคัมภีร์ต่างๆว่าท่านบันทึกไว้อย่างไรบ้าง นักศึกษาก็จะตัดสินใจได้เองว่าคำตอบควรจะเป็นอย่างไร ไม่ได้บังคับให้เชื่อหรือไม่เชื่อแบบง่ายๆ ต้องวิเคราะห์ วิจารณ์กันพอสมควร ลักษณะการสอนแบบนี้ช่วยเหลือผู้สอนได้มาก แทนที่จะเป็นผู้อธิบายคนเดียวก็อาศัยความรู้ของนักศึกษามาหาคำตอบ เป็นอันว่าการทำหน้าที่ในวันเสาร์ยังคงเป็นไปตามปรกติ
พอกลับถึงวัดก็ได้เรื่องอาการป่วยมาเยือนอีกครั้ง ครั้งนี้มาทั้งทีมทั้งไอ ทั้งจาม ทั้งหนาวทั้งปวดหัวตัวร้อน น้ำก็ไม่ได้อาบนอนตั้งแต่สองทุ่ม แต่ก็นอนไม่หลับเพราะอาการไอรบกวนอยู่ตลอดเวลา ในเวลาที่เจ็บป่วยที่มองไปทางไหนไม่พบใครนั้นเป็นช่วงเวลาที่ทุกข์ทรมานเป็นที่สุด นึกถึงคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้ว่าจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่พึ่งดังที่แสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (10/93/86) ความว่า “พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด”
ดูกรอานนท์ อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่ามีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็น ที่พึ่งอยู่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก อย่างนี้แล อานนท์ ภิกษุจึงจะชื่อว่ามีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งคือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ดูกรอานนท์ ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี โดยที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุของเราที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาจักปรากฏอยู่ในความเป็นยอดยิ่ง”
อาการไอยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไอทั้งคืนจะไปหายาที่ไหนก็ไม่มี เพราะไม่ได้คิดไว้ก่อนว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคไออย่างนี้ ไม่เจ็บป่วยไม่เห็นคุณยา ไม่ทุกขเวทนาก็ไม่เห็นคุณค่าของความสุข วันต่อมาได้ยาจากร้านขายยามาหลายชุดอาการดีขึ้นมาก แต่ทว่าอาการไอยังไม่หายสนิทยังคงรบกวนอยู่
จึงตัดสินใจใช้วิธีโบราณให้เด็กหามะนาวมาให้สองสามลูกบีบน้ำมะนาวใส่เกลือลงไปนิดหนึ่งค่อยๆดื่มทีละนิด จากนั้นก็นอนพักผ่อน อาการไอยังคงมาเยือนอยู่บ้าง แต่ก็นอนหลับได้สนิท ตื่นขึ้นมาตอนเช้าหายใจโล่ง อาการไอที่รบกวนมานานเกือบหนึ่งอาทิตย์แทบจะหายสนิท ไม่กล้าบอกว่าหายเพราะน้ำมะนาวผสมเกลือต้นตำรับยาโบราณแท้ๆ มียาดีอยู่ใกล้แค่เอื้อมนี่เองกลับต้องไปสูญเงินซื้อยาอะไรชื่อแปลกๆ โรคไอคงไม่คุ้นชื่อหมดไปหลายขวดแล้ว อาการไอยังคงเดิม เพียงแค่น้ำมะนาวกับเกลือกลับใช้ไดผล โรคของคนโบราณจึงต้องใช้ยาแบบโบราณรักษษ
มนุษย์เรามักจะหวังพึ่งพาสิ่งอื่นจากภายนอก ไม่ค่อยสนใจที่จะสร้างตนให้เป็นที่พึ่ง สร้างตนให้เป็นเกาะ หากร่างกายแข็งแรง พักผ่อนเพียงพอ ไม่ทำงานหนักเกินไป ร่างกายก็รักษาสมดุลไว้ได้ ความเจ็บป่วยก็เบาบางลง แต่ถ้าทำงานหนัก ไม่ค่อยได้พักผ่อน ไม่ค่อยได้ออกกำลัง เวลาที่เจ็บป่วยขึ้นมารักษาก็ยาก บางทีก็ไม่แน่แม้ร่างกายจะแข็งแรง พักผ่อนเพียงพอ ก็อาจเจ็บป่วยได้เหมือนกัน เบื้องต้นจึงต้องพึ่งตัวเองให้ได้ก่อน พึ่งตนพึ่งได้ตลอดไป ดังที่แสดงไว้ในมหาปชาบดีโคตรมีเถริยาปทาน ขุททกนิกาย อปทาน (33/157/300) ท่านทั้งหลายจงมีตนเป็นที่พึ่ง มีสติปัฏฐานเป็นโคจรเถิดท่าน ทั้งหลายอบรมโพชฌงค์ 7 ประการแล้ว จักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”
ภาษาบาลีใช้คำว่า “อตฺตทีปา ตโต โหถ สติปฏฺฐานโคจรา
ภาเวตฺวา สตฺตโพชฺฌงฺค ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสถ ฯ
การมีตนเป็นที่พึง มีธรรมคือสติปัฏฐานเป็นที่โคจร อบรมโพชฌงค์เจ็ดประการคือสติ ธัมมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา หากดำเนินตามขั้นตอนนี้ก็ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ คำสอนนี้เป็นเรื่องที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน หากลงมือกระทำอย่างจริงจังก็ต้องได้ผลตามสมควร
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
18/02/58