ในวงราชการของประเทศไทยผู้ที่มีอายุหกสิบปีหรือบางคนอาจจะเกิดหลังเดือนกันยายนที่มีอายุหกสิบเอ็ดปีก็ต้องถึงเวลาเกษียณราชการไม่ต้องไปทำงานเหมือนกับวันเวลาในปีก่อนๆ อาจจะมีบ้างที่ยังสะสางงานไม่เสร็จจะต้องกลับไปทำงานให้เสร็จสิ้น จากนั้นจึงถึงเวลาพักผ่อนอยู่กับเคหสถาน อยู่กับครอบครัว หรือหากไม่มีครอบครัวก็ต้องอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายรอวันเวลาแห่งกาลสุดท้ายแห่งลมหายใจจะมาถึง วงจรชีวิตของคนทำงานราชการมักจะเป็นไปในทำนองนี้
วันนี้ท้องฟ้าแจ่มใสหลังจากที่ฝนตกลงมาตั้งแต่ช่วงกลางคืน อากาศดีแดดส่องมองเห็นฟ้าสดสวย กำลังจะเข้าสู่กุฏิที่พักก็มีโยมคนหนึ่งเดินเข้ามาหาในมือถือถุงพลาสติกหลายถุง บอกว่า “หลวงพี่ครับ ผมมาถวายสังฆทาน หลวงพี่โปรดรับด้วยครับ”
มองซ้ายมองขวาไม่เห็นพระภิกษุรูปอื่น จึงเชิญโยมท่านนั้นเข้ามาที่ศาลาการเปรียญ เมื่อทำพิธีถวายสังฆทานเสร็จแล้ว จึงถามว่าโยมถวายเนื่องในงานอะไร”
โยมคนนั้นบอกว่า “ผมพึ่งเกษียณราชการนะครับ วันนี้ไม่ต้องทำงานแล้ว ผมจึงอยากทำบุญ ไม่อยากอยู่ว่างๆนะครับ แต่ก่อนต้องตื่นแต่เช้ารีบไปทำงาน กลับถึงบ้านก็มืดค่ำ แต่เมื่อหมดหน้าที่แล้วชีวิตเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง มันเหงาๆอย่างไรไม่รู้ที่ไม่ได้ทำงาน”
คนในวัยเกษียณบางคนไม่ได้วางแผนชีวิตในอนาคตไว้ตั้งแต่ต้น พอถึงเวลาเลิกทำงานจึงมักจะอยู่ในอาการว่างงาน คนที่เคยทำงานแต่เมื่อไม่ได้ทำงานหากไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีมักจะถูกโรคเหงาเศร้าซึมเล่นงาน เหมือนต้นไม้ที่ขาดน้ำย่อมเหี่ยวแห้งรอวันเฉา
แต่สำหรับใครบางคนย่อมมีความสุขที่ได้พัก ได้ทำงานที่ตนรัก เพราะบางทีงานในหน้าที่แม้ไม่ใช่งานที่รักแต่ก็เป็นงานที่ต้องทำเพื่อการดำเนินชีวิต ทำงานเพื่อเงิน แต่สำหรับงานที่ตนรักเป็นการทำงานเพื่อความสุข แม้จะเหนื่อยยากลำบากกาย แต่ใจเป็นสุข
การทำงานนั้นอาจจะมีหลายประเภทแต่พอสรุปได้สี่ประเภทคือ “งานที่ยังชีพ งานที่ชอบ งานที่ใช่และงานที่ช่วย”
งานที่ทำประจำบางครั้งแม้จะไม่ใช่งานที่เราชอบ แต่ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะเป็นงานที่ทำเงิน บางคนวางแผนตั้งแต่การศึกษาว่าอยากจะทำงานอะไร จึงเรียนวิชาชีพเพื่อประกอบอาชีพตามที่ตนได้ศึกษามา หากได้งานตามที่ตนถนัดชีวิตก็ราบรื่น ถึงงานหนักก็ไม่เท่าไหร่เพราะมีความคุ้นเคย
ผู้เขียนเรียนมาทางปรัชญาศาสนา แต่มีครั้งหนึ่งทางมหาวิทยาลัยกำหนดให้สอนในรายวิชาเทคโนโลสารสนเทศ ซึ่งจะมองอย่างไรก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับสิ่งที่ศึกษามา แต่เมื่อรับหน้าที่ก็ต้องทำงานให้ได้ กว่าจะจบตามโปรแกรมก็ทำเอาเหนื่อย เพราะต้องเตรียมการสอนอย่างหนัก เมื่อเตรียมพร้อมให้ดีงานที่คิดว่ายากก็ง่าย ถึงจะไม่ใช่งานอาชีพตามที่ได้ศึกษามา แต่ก็เป็นงานที่ชอบ เมื่องานที่เกิดจากความชอบการค้นหาข้อมูลก็ไม่ยาก อีกอย่างแม้จะไม่ศึกษามาทางเทคโนโลยีแต่ก็ทำเป็นงานอดิเรกมานานคือทำเว็บไซต์เผยแผ่ข้อมูลทางด้านพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรมพอนานพอสมควร อาจจะเรียกได้ว่าศึกษาด้วยตนเองจนพอมีความรู้จนสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นได้
ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวไปรวดเร็วมาก หากไม่ติดตามข่าวสารอาจจะกลายเป็นคนตกยุคได้ง่ายๆ ความรู้บางอย่างตามเด็กไม่ทัน ก็ต้องขอให้เด็กสอนให้เช่นในโลกสื่อสังคมออนไลน์อย่างไรก็ตามเด็กรุ่นใหม่ไม่ทัน แต่ก็พยายามศึกษาอย่างต่อเนื่อง ศึกษาจากความชอบ ประกอบตามสิ่งที่รัก ไม่นานนักก็พอตามทัน ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจึงกลายมาเป็นงานที่ช่วยทำให้งานอย่างอื่นง่ายขึ้น
คนเราจะมีความสุขได้นั้นส่วนหนึ่งเพราะได้ทำในสิ่งที่ตนรัก ได้ทำในสิ่งที่ตนชอบ อีกอย่างต้องพยายามตัดความกังวลใจทั้งหลายให้ออกไปจากจิตใจให้ได้ อย่าพยายามคิดมากจนเกิดความกังวล เพราะเมื่อกังวลก็เป็นทุกข์ หากหมดความกังวลใจย่อมจะอยู่เป็นสุข ดังที่แสดงไว้ในอุปาสกสูตร ขุททกนิกาย (ภาษาไทย ฉบับหลวง 25/55/78) ความว่า “กิเลสเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่ผู้ใด ความสุขย่อมมีแก่ผู้นั้นหนอ ผู้มีธรรมอันนับได้แล้วเป็นพหูสูต ท่านจงดูบุคคลผู้มีกิเลสเครื่องกังวลเดือดร้อนอยู่ ชนผู้ปฏิพัทธ์ในชนย่อมเดือดร้อน”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “สุขํ วต ตสฺส น โหติ กิญฺจิ สงฺขาตธมฺมสฺส พหุสฺสุตสฺส
สกิญจนํ ปสฺส วิหญฺญมานํ ชโน ชนมฺหิ ปฏิพนฺธรูโป ฯ
(ภาษาบาลี ฉบับสยามรัฐ 25/55/90)
กิเลสเครื่องกังวล แปลมาจากภาษาบาลีว่า “กิญฺจน” คำนามนปุงสกลิงค์ แปลว่า ของบางสิ่งบางอย่าง ของเล็กๆน้อยๆ เครื่องกังวล หากเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลก็จะใช้คำว่า “อกิญจน” เป็นคำคุณนาม แปลว่า เข็ญใจ ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลใจ ส่วนคำว่า “สกิญฺจนํ” ในพระคาถานี้ แปลว่า ผู้มีกิเลสเครื่องกังวล
เครื่องกังวลใจบางครั้งก็ไม่ได้มาจากเรื่องที่ยิ่งใหญ่อะไร มักจะมาจากเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ผ่านเข้ามาในจิตใจ แต่บางคนคิดมากจากเรื่องเล็กน้อยก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นบางเรื่องก็ปล่อยวางบ้าง โบราณจึงมีคำสอนว่า “ปล่อยว่าง วางเบา เอาหนัก รักทุกข์”
ผู้ที่เคยทำงานประจำติดต่อกันมายาวนาน พอถึงเวลาพักมักจะทำใจลำบาก บางคนพอหยุดทำงานจึงมักจะมีอาการห่อเหี่ยว เปลี่ยวเหงา เศร้าใจ เพราะมีความกังวลเล็กๆน้อยหลายเรื่องที่มักจะมาเยือนในช่วงที่ไม่มีอะไรจะทำ คนเรามักจะคิดมากก็ตอนที่มีเวลาว่าง แม้จะเกษียณจากงานที่ทำแล้ว ก็หางานงานที่ชอบและงานที่ใช่ทำต่อไป ชีวิตจะได้ไม่รู้สึกว่างเปล่า บางทีงานที่ทำหลังเกษียณอาจจะเป็นงานที่ช่วยให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นก็ได้
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
02/10/57