ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

            เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันออกพรรษาแล้ว งานบุญที่จะตามมาตามประเพณีของชาวพุทธคืองานทอดกฐินถือเป็นบุญใหญ่ เป็นกาลทาน ปีหนึ่งมีครั้งเดียว แต่ละวัดก็จะมีสิทธิ์รับกฐินได้ปีละครั้ง  เมื่อครั้งที่ไปงานทอดกฐินที่จังหวัดยโสธร ตามปกติแล้วเจ้าอาวาสมักจะเป็นผู้ที่ได้ฉันทานุมัติจากพระภิกษุสามเณรที่อยู่จำพรรษาครบไตรมาสให้เป็นองค์รับกฐิน แต่ทว่าในงานกฐินวันนั้น ผู้ที่รับผ้ากฐินไม่ใช่เจ้าอาวาสแต่เป็นพระลูกวัดรูปหนึ่ง เจ้าอาวาสทำหน้าที่เป็นเพียงประธานในงาน ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิ์ในการรับกฐินเลย

            เมื่อมีเวลาว่างจึงได้สอบถามท่านเจ้าอาวาส ท่านบอกว่า “ปีที่แล้วผมสร้างพระอุโบสถเสร็จสมบูรณ์ จัดงานฉลองพระอุโบสถเสร็จชาวบ้านก็นิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่วัดอื่น เขาบอกว่าการสร้างพระอุโบสถเป็นบุญใหญ่ ต้องย้ายที่อยู่ หากอยู่ประจำที่มักจะทำให้ผู้เป็นประธานมีอายุสั้น ผมก็ไม่ค่อยเชื่อแนวความคิดนี้ แต่เพื่อความสบายใจของชาวบ้านผมจึงต้องไปจำพรรษาที่วัดอื่น ส่วนการทำหน้าที่เจ้าอาวาสก็ได้มอบหมายให้พระรูปอื่นทำหน้าที่แทน รูปที่รับกฐินในวันนี้นั่นแหละครับ ท่านอาจารย์มหามีความคิดในเรื่องนี้อย่างไรครับ”
            จากผู้ถามก็กลับกลายมาเป็นผู้ตอบในบัดดล จึงบอกว่า “ผมก็ไม่ค่อยเชื่อถือนักในแนวความคิดแบบนี้ คนจะอายุยืนหรืออายุสั้นไม่น่าจะเกี่ยวกับการทำบุญ คนที่ทำบุญไว้มากน่าจะมีอายุยืนมากกว่า แต่ก็อย่างว่าความเชื่อบางอย่างชาวบ้านเคยประสบพบเห็นมา เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์และเรื่องเล่าขาน จนกลายมาเป็นความเชื่อ ดังนั้นก็ไม่ควรมองข้ามภูมิปัญญาของชาวบ้าน อีกอย่างคนที่มีความสามารถจนสามารถสร้างศาสนวัตถุที่สำคัญจนสำเร็จได้นั้นย่อมมีสถานที่อื่นต้องการให้ไปพัฒนา”

            อดีตเจ้าอาวาสบอกว่า “ผมเป็นพระประเภทชอบก่อสร้าง อยู่เฉยๆไม่ได้มักจะเกิดเจ็บป่วยอยู่เป็นประจำ แต่พอลงมือก่อสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สุขภาพมักจะแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย ผมจึงต้องหางานทำ และงานที่ผมถนัดก็คือการก่อสร้าง วัดใหม่ที่ผมไปอยู่จำพรรษาก็กำลังสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่ ตอนนี้เริ่มต้นแล้ว คาดว่าอีกสักสองสามปีก็จะมีงานฉลองอีกครั้ง ตอนนั้นผมก็คงต้องย้ายวัดจำพรรษาอีกที ชีวิตดำเนินไปในทำนองนี้แหละครับ ทำให้ผมอยู่ในศาสนาได้ จนปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว”
            จึงบอกว่า “ผมไม่ถนัดในงานนวกรรมหรือการก่อสร้าง แต่ถนัดในเรื่องของการศึกษา จึงเรียนไปเรื่อยๆจนกว่าจะไม่มีแรงที่จะเรียน แม้ปัจจุบันก็ยังเรียนไม่จบ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมอยู่ในศาสนาได้เหมือนกัน  เรื่องอย่างนี้ทางใครทางมัน เลือกทำในสิ่งที่ตนถนัดหรือในสิ่งที่ตนรักเป็นทางแห่งความสำเร็จได้”
            อดีตเจ้าอาวาสย้อนกลับมาที่เรื่องที่เริ่มต้นสนทนาอีกครั้งว่า “เรื่องของการทำบุญใหญ่แล้วต้องย้ายที่อยู่นั้น ท่านอาจารย์มหามีที่มาในพระไตรปิฎกไหมครับ”
            จึงบอกว่าในพระไตรปิฎกมีเพียงคาถาสั้นๆ แต่มีคำอธิบายในอรรถกถา เป็นเรื่องที่นักเรียนบาลีจะต้องศึกษา ผมพอจะจำได้บ้าง

            ในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 3  หน้าที่ 419-423  สรุปความว่า “ในเมืองพาราณสีมีชายคนหนึ่งนามว่า “นันทิยะ” เป็นคนใจบุญ ชอบทำบุญบริจาคทานเป็นนิตย์ เขาเป็นมหาทานบดีเตรียมตั้งทานสำหรับภิกษุสงฆ์และเริ่มตั้งค่าอาหารแม้สำหรับคนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้น ไว้ที่ประตูเรือน ในกาลต่อมา เขาฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา  กำหนดอานิสงส์ในการถวายอาวาสได้แล้วให้ทำศาลา 4 มุข ประดับด้วยห้อง  4 ห้อง  ในมหาวิหารในป่าอิสิปตนะแล้วให้ลาดเตียงและตั่งเป็นต้น  เมื่อจะมอบถวายอาวาสนั้นได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้วถวายน้ำทักขิโณทกแด่พระตถาคตปราสาททิพย์สำเร็จโดยรัตนะ 7 ประการ   สมบูรณ์ด้วยหมู่นารี มีประมาณ 12 โยชน์ในทิศทั้งปวง เบื้องบนสูงประมาณ  100 โยชน์ผุดขึ้นในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วยการตั้งน้ำทักขิโณทก ในพระหัตถ์ของพระศาสดาทีเดียว
            วันหนึ่งพระมหาโมคคัลลานเถระไปสู่ที่จาริกในเทวโลกยืนอยู่แล้วในที่ไม่ไกลจากปราสาทนั้น    ถามเทวบุตรทั้งหลายซึ่งมาสู่สำนักของตนว่า  “ปราสาททิพย์ เต็มด้วยหมู่นางอัปสรนั่น เกิดแล้วเพื่อใคร”

            พวกเทวบุตรนั้นเมื่อจะบอกเจ้าของวิมานแก่พระเถระนั้นจึงกล่าวว่า  “ท่านผู้เจริญ   วิมานั่นเกิดแล้วเพื่อประโยชน์แก่บุตรคฤหบดีชื่อนันทิยะ  ผู้สร้างวิหารถวายพระศาสดาในป่าอิสิปตนะ”  
            ฝ่ายหมู่นางอัปสร เห็นพระเถระนั้นแล้ว ลงจากปราสาทกล่าวว่า  “ท่านผู้เจริญ พวกดิฉันเกิดในที่นี้ด้วยหวังว่าจักเป็นนางบำเรอของนายนันทิยะ   แต่เมื่อไม่พบเห็นนายนันทิยะนั้นเป็นผู้ระอาเหลือเกิน ด้วยว่าการละมนุษยสมบัติแล้วถือเอาทิพยสมบัติก็เช่นกับการทำลายถาดดินแล้วถือเอาถาดทองคำฉะนั้น   พระผู้เป็นเจ้าพึงบอกเขา เพื่อประโยชน์แก่การมา ณ ที่นี้                 
            เมื่อพระมหาโมคคัลลานะกลับมาจากเทวโลกนั้นแล้ว เขาไปเฝ้าพระศาสดาทูลถามว่า “พระเจ้าข้าทิพยสมบัติย่อมเกิดแก่บุคคลผู้ทำความดีที่ยังอยู่มนุษย์โลกนี่เองหรือหนอแล”
            พระศาสดาตรัสว่า  “โมคคัลลานะ  ทิพยสมบัติที่เกิดแล้วแก่นายนันทิยะในเทวโลก   อันเธอเห็นแล้วเองมิใช่หรือไฉนจึงถามเราเล่า”
            พระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า  “ทิพยสมบัติเกิดได้อย่างนั้นหรือ พระเจ้าข้า”

           พระศาสดาตรัสกะพระเถระนั้นว่า   โมคคัลลานะ   เธอพูดอะไรนั่น   เหมือนอย่างว่า   ใคร ๆ ยืนอยู่ที่ประตูเรือนเห็นบุตรพี่น้องผู้ไปอยู่ต่างถิ่นมานาน กลับมาแต่ถิ่นที่จากไปอยู่  พึงมาสู่เรือนโดยเร็ว บอกว่าคนชื่อโน้นมาแล้ว  เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกญาติของเขาก็ยินดีร่าเริงแล้วออกมาโดยขมีขมัน    พึงยินดียิ่งกะผู้นั้นว่า  “พ่อ มาแล้ว  พ่อมาแล้ว” ฉันใด  เหล่าเทวดาต่างถือเอาเครื่องบรรณาการอันเป็นทิพย์  10 อย่างต้อนรับด้วยคิดว่า   “เราก่อน  เราก่อน” แล้วย่อมยินดียิ่งกะสตรีหรือบุรุษ    ผู้ทำความดีไว้ในโลกนี้    ซึ่งละโลกนี้แล้วไปสู่โลกหน้าฉันนั้นเหมือนกัน”  จากนั้นได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ปิยวรรค ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท (25/24/45) ความว่า
                            จิรปฺปวาส   ปุริสํ                ทูรโต   โสตฺถิมาคตํ
                            ญาตี   มิตฺตา  สุหชฺชา  จ    อภินนฺทนฺติ  อาคตํ
                            ตเถว    กตปุญฺญมฺปิ           อสฺมา  โลกา  ปรํ  คตํ
                            ปุญฺญาานิ   ปฏิคณฺหนฺติ      ปิยํ  ญาตีว  อาคตํ ฯ

            แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า  “ญาติ  มิตร และคนมีใจดีทั้งหลาย   เห็นบุรุษผู้ไปอยู่ต่างถิ่นมานาน มาแล้วแต่ที่ไกลโดยสวัสดีย่อมยินดียิ่งว่า   “มาแล้ว”  ฉันใด  

           บุญทั้งหลายก็ย่อมต้อนรับแม้บุคคลผู้กระทำบุญไว้ซึ่งไปจากโลกนี้สู่โลกหน้า  ดุจพวกญาติเห็นญาติที่รักมาแล้ว  ต้อนรับอยู่  ฉันนั้นเหมือนกัน” 
          คำอธิบายในอรรถกถาอธิบายเพิ่มเติมว่า  “บุญทั้งหลายตั้งอยู่ในฐานะดุจมารดาบิดา  นำเครื่องบรรณาการ 10 อย่างนี้คือ “อายุ  วรรณะ  สุขยศ  ความเป็นอธิบดีอันเป็นทิพย์  รูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ  อันเป็นทิพย์  เพลินยิ่งอยู่  ชื่อว่าย่อมรับรองบุคคลแม้ผู้ทำบุญไว้แล้ว   ซึ่งไปจากโลกนี้สู่โลกหน้า”
          นันทิยะอุบาสกทำบุญใหญ่สร้างศาลาถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ สร้างศาสนวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนา เมื่อทำการฉลองศาลาเสร็จสิ้น ปราสาทอันเป็นทิพย์ก็อุบัติขึ้นรอในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เหล่าเทพยดา เทพธิดาต่างก็เฝ้ารอการมาของนันทิยะซึ่งยังมีอัตภาพเป็นมนุษย์ ยังมีลมหายใจ หากเสียชีวิตลงในขณะนั้นก็จะได้ไปอุบัติในวิมานบนเทวโลกนั้น คงเพราะเล่าขานที่พระอรรถกถาจารย์รจนาไว้อย่างนี้ จึงเกิดเป็นแนวความเชื่อว่าหากใครทำบุญใหญ่แล้วให้ย้ายที่อยู่ใหม่ ไปทำบุญอย่างอื่นต่อไป จะทำให้มีอายุยืนยาวขึ้น อีกอย่างชาวบ้านมีประสบการณ์จริงจากเหตุการณ์ของคนหลายคนจึงประมวลเป็นความเชื่อของชาวบ้าน บางอย่างเชื่อชาวบ้านไว้ก็ไม่เสียหายแต่ประการใด ความคิดของมนุษย์ทุกคนคงอยากจะมีอายุยืน ในขณะที่เทวดาก็รอต้อนรับผู้ใจบุญ  เหมือนญาติที่รอต้อนรับญาติมิตรที่จากกันไปนานฉะนั้น

            ก่อนจากกันได้ยินเสียงอดีตเจ้าอาวาสซึ่งได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสอีกครั้งหลังงานทอดกฐินเสร็จสิ้น “ปีต่อไปผมจะสร้างเจดีย์ครับ นิมนต์ท่านอาจารย์มหามาช่วยกันทำบุญนะครับ” คนใจบุญย่อมปรารถนาจะสร้างบุญกุศลอยู่เสมอ

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
25/09/57

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก