วันนี้อากาศอึมครึมเหมือนฝนจะตก ฟ้าหมองมองไม่เห็นดวงอาทิตย์ วันนี้ตั้งแต่เช้ามาแล้วยังไม่เห็นแสงแดด บรรยากาศแบบนี้คาดคะเนอนาคตความน่าจะเป็นได้ว่าฝนน่าจะตก แต่โลกนี้เอาอะไรแน่นอนไม่ค่อยได้ บางวันเสียงฟ้าร้องก้องเวลานึกว่าฝนจะตก ไม่นานเสียงฟ้าร้องก็เงียบสนิท แดดกล้าอากาศขึ้นมาแทน การที่จะคาดคะเนความเป็นไปของธรรมชาติจากสิ่งที่เห็นบางทีอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิดก็ได้ โลกนี้ยังมีอะไรอีกมากมายให้เราได้ศึกษา หากมีการสังเกตและคอยตั้งคำถามก็เหมือนมีห้องเรียนขนาดใหญ่อยู่รอบตัวเรา คนเราสามารถศึกษาได้ทุกที่ทุกเวลา
เดินออกจากพระอุโบสถหลังจากทำวัตรสวดมนต์เช้าแล้วก็เดินเล่นบริเวณวัด พระนวกะรูปหนึ่งเข้ามาหายกมือไหว้ตามธรรมเนียมของความเป็นผู้อาวุโส แม้ว่าหากนับโดยอายุหลวงตาจะเกิดก่อน แต่หากนับตามอายุการบวชหลวงตาไซเบอร์ฯก็แก่กว่าบวชมานานกว่า หลวงตาอายุ 60 ปี จึงต้องไหว้หลวงตาฯอายุประมาณ 50 ปีต้นๆ จากนั้นก็ถามว่า “ขอโอกาสพระอาจารย์ครับ ผมอยากทราบว่า “จริงๆแล้วศีลของพระภิกษุมีกี่ข้อครับ”
จึงตอบว่า “มี 227 ข้อ หลวงตาเรียนวินัยหรือยัง”
หลวงตาพระนวกะบอกว่า “เรียนแล้วครับ แต่ผมยังสงสัยเพราะมีข่าวออกมาหลายวันแล้วว่า มีบางสำนักบอกว่าศีลของพระภิกษุมีเพียง 150 ข้อเท่านั้น ส่วนอีก 77 ข้อ ไม่มีในพระไตรปิฎก นับอย่างไรครับ”
ในหนังสือนวโกวาท หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี ได้เขียนไว้ว่า “ข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ซึ่งยกขึ้นเป็นสิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ และไม่ได้มาในพระปาฏิโมกข์ สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์นั้นคือปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 อนิยต 2 นิสสัคคียปาจิตตีย์ 30 ปาจิตตีย์ 92 ปาฏิเทสนียะ 4 เสขิยวัตร 75 รวมเป็น 220 นับทั้งอธิกรณสมถะด้วยเป็น 227 ข้อ (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส,นวโกวาท, พิมพ์ครั้งที่ 77,กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2535,หน้า 2)
โทษที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าห้ามเรียกว่า “อาบัติ” อาบัติว่าโดยชื่อมี 7 อย่างคือปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาสิต
กลับมาถึงกุฏิก็ให้สงสัยว่าในหนังสือหลักสูตรนักธรรมนั้น นำเนื้อหาจากจากไหน มีที่มาอย่างไร จึงเปิดตู้พระไตรปิฎกและหนังสืออื่นๆ ทำการศึกษาเบื้องต้นก็ได้พบคำอธิบายพอสังเขปดังนี้
คำว่า “ปาติโมกข์ หรือ ปาฏิโมกข์” พจนานุกรมบาลีไทย ให้ความหมายไว้ว่า “คำนามปุงลิงค์ เพศชายและนปุงสกลิงค์ ไม่หญิงไม่ชาย หมายถึง พระปาฏิโมกข์ ธรรมเป็นที่อาศัยให้พ้นจากอาบัติ พระคัมภีร์รวบรวมพระวินัยที่เป็นหลักของพระภิกษุไว้และต้องสวดในที่ชุมนุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เพื่อทบทวนข้อปฏิบัติและสำรวมตนเองว่าได้ปฏิบัติตนเองตามพุทธบัญญัติหรือไม่ (พระอุดรคณาธิการ, พจนานุกรมบาลี-ไทยพิมพ์ครั้งที่ 4,กรุงเทพฯ: ธรรมสาร2556,หน้า 350)
ในหนังสือวินัยมุขเล่ม 2 หลักสูตรนักธรรมชั้นโทได้แสดงสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ อภิสมาจาร ซึ่งมีคำอธิบายไว้ว่า “สิกขาบทแผนกนี้มาในขันธกะเป็นพื้น ไม่ได้บอกจำนวนเหมือนสิกขาบทมาในพระปาฏิโมกข์ จัดเป็นพวกๆ ตามกิจหรือวัตถุ เรียกว่าขันธกะอันหนึ่งๆเช่นว่าด้วยทำอุโบสถจัดไว้พวกหนึ่งเรียกว่าอุโบสถขันธกะ....(หน้า 1) ในหลักสูตรนักธรรมชั้นโทจึงมีสิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์แสดงไว้คือกายบริหาร บริขารบริหาร นิสัย วัตร คารวะ จำพรรษา อุโบสถ กาลิก ภัณฑะต่างเจ้าของ วินัยกรรม ปกิณณกะ
หนังสือวินัยมุขเล่มที่ 3 หลักสูตรนักธรรมชั้นเอกก็ว่าสิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์อีกคือสังฆกรรม สีมา สมมติเจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ กฐิน บรรพชา อุปสมบท วิธีระงับอธิกรณ์ วิธีระงับอาปัตตาธิกรณ์ กิจจาธิกรณ์และวิธีระงับเนื่องด้วยนิคคหะ สังฆเภทและสังฆสามัคคี ปกิณณกะ นอกจากนั้นยังมีภาคผนวกว่าด้วยภิกษุณี กรรมวาจา คำขอบรรพชา คำขออุปสมบทเป็นต้น
ในหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โท เอก สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงเรียบเรียงมาจากพระวินัยปิฎกซึ่งพระไตรปิฎกฉบับภาษาลี และฉบับหลวงมี 8 เล่มคือเล่ม 1 เล่ม 2 มหาวิภังค์ เล่ม 3 ภิกขุนีวิภังค์ เล่ม 4 เล่ม 5 มหาวรรค เล่ม 6 เล่ม 7 จุลวรรค เล่ม 8 ปริวาร หากเรียนจบนักธรรมชั้นเอกก็เหมือนได้อ่านจากพระไตรปิฎก เป็นวิธีคิดอันชาญฉลาดของบูรพาจารย์ที่ใช้วิธีการย่อพระไตรปิฎกมาให้ผู้ที่บรรพชาอุปสมได้ศึกษาตามลำดับขั้น
ในการปฏิบัติจริงเมื่อรวมอภิสมาจาร วัตรปฏิบัติต่างๆเข้าไป มิใช่เพียง 227 ข้อ แต่มีมากกว่านั้น ทั้งหมดนั้นพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยด้วยเหตุผลดังที่แสดงไว้วินัยปิฎก มหาวิภังค์ (1/20/27) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ คือ(1) เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ (2) เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ (3) เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก (4) เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก (5) เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน (6) เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต (7) เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส (8) เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว (9) เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม (10) เพื่อถือตามพระวินัย
จากนั้นจึงแสดงสิกขาบทความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้ “ก็ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยประการฉะนี้”
ภายหลังมีมีเรื่องสงสัย ไม่เข้าใจในบทบัญญัติหรือตีความบทบัญญัติไปอย่างอื่น ไม่ได้เสพเมถุนในมนุษย์แต่ไปเสพเมถุนในสัตว์ดิรัจฉาน ก็ทรงตราพระอนุบัญญัติเพิ่มเติม (1/22/30) ความว่า “อนึ่งภิกษุใดเสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิก” หากมีเรื่องเกิดขึ้นอีกก็ทรงตราพระอนุบัญญัติ จนได้สิกขาบทที่สมบูรณ์คือ “อนึ่ง ภิกษุใด ถึงพร้อมซึ่งสิกขาบทและสาชีพของภิกษุทั้งหลายแล้ว ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง เสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นปาราชิก หาสังวาส มิได้”
ที่ยกมาแสดงนี้เป็นเพียงสิกขาบทข้อเดียวเท่านั้น แต่วิธีการในการบัญญัติจะดำเนินไปคล้ายกันคือ เมื่อเกิดเรื่อง ก็ประชุมสงฆ์สอบสวนหาข้อเท็จจริง จากนั้นประกาศประโยชน์ของการบัญญัติสิกขาบท และบัญญัติสิกขาบท เพิ่มเติมอนุบัญญัติ สิกขาบทวิภังค์(คำอธิบายความหมายของคำ) และอนาปัตติวาร(ข้อยกเว้นสำหรับพระสงฆ์บางประเภท)
สิกขาบทที่แสดงไว้ในนวโกวาทมาจากพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ (2/881/834) ความว่า “ท่านทั้งหลาย นิทานข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว ธรรมคือปาราชิก 4 สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้วธรรมคือสังฆาทิเสส 13 สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว ธรรมคืออนิยต 2 สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว ธรรมคือนิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว ธรรมคือปาจิตตีย์ 92 สิกขาบทข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว ธรรมคือปาฏิเทสนียะ 4 สิกขาบท ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว ธรรมคือเสขิยะทั้งหลายข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้ว ธรรมคืออธิกรณสมถะ 7 ประการ ข้าพเจ้ายกขึ้นแสดงแล้วแล สิกขาบทของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น มีเท่านี้ มาในพระปาติโมกข์ นับเนื่องในพระปาติโมกข์ มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน พวกเราทั้งหมดนี้แล พึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาในพระปาติโมกข์นั้น เทอญ”
ในจำนวนสิกขาบทเหล่านี้มีเพียงเสขิยวัตรเท่านั้นที่ไม่ได้แสดงจำนวนข้อ แต่เมื่อนับจำนวนจากพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ก็มีจำนวน 75 ข้อพอดี พระสงฆ์ไทยทุกวันนี้จึงสวดพระปาฏิโมกข์ 227 ข้อ แม้ว่าบางข้อจะไม่ได้ใช้แล้วเช่นในโอวาทวรรคและอเจลกวรรค ปาจิตตีย์ บางข้อที่ว่าด้วยส่วนที่เกี่ยวข้องกับภิกษุณีทั้ง 10 สิกขาบท เมื่อไม่มีภิกษุณี สิกขาบทก็ไม่ได้ใช้ และในอเจลกวรรคบางสิกขาบท ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักบวชนอกศาสนาเมื่อนักบวชเหล่านั้นไม่มีสิกขาบทก็ไม่ได้นำไปใช้ ในปาฏิเทสนียะก็มีอีกสองสิกขาบทที่ภิกษุเกี่ยวข้องกับภิกษุณี
ถ้าสมมติว่าสิกขาบทใดไม่ได้ใช้ในปัจจุบันก็ให้ตัดออกให้ใช้แต่ที่ใช้จริง สิกขาบทก็จะค่อยขาดหายไปทีละน้อย ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานก็ได้สั่งกับพระอานนท์ดังที่แสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกายมหาวรรค (10/141/ 147) ความว่า “ดูกรอานนท์โดยกาลล่วงไปแห่งเรา สงฆ์จำนงอยู่ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”
แม้ว่าพระพุทธองค์จะทรงอนุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่พระเถระในอดีตก็ไม่ได้ถอนสิกขาบทข้อใดออกเลย พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้อย่างไรก็ให้คงไว้อย่างนั้น โดยยึดตามพระดำรัสที่พระพุทธเจ้ารับสั่งแก่พระอานนท์(10/141/147) ความว่า “พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระอานนท์มารับสั่งว่าดูกรอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงแล้วพระศาสดาของพวกเราไม่มี ก็ข้อนี้ พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”
ธรรมวินัยที่พระพุทธจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วและสิ่งที่พระสงฆ์ไทยในปัจจุบันนำมาสาธยายทุกกึ่งเดือนก็มีปรากฏในพระวินัยไตรปิฎกมหาวิภังค์เล่ม 1 และเล่ม 2 ดังหลักฐานที่นำมาแสดงข้างต้น พระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทยึดถือหลักคำสอนตามคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งได้รับการทำสังคายนามาหลายครั้งแล้ว หากไม่เชื่อหลักคำสอนในพระไตรปิฎกจะไปเชื่อใคร
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/08/57