ความงามเป็นศิลปะที่ขึ้นอยู่กับคนมอง บางอย่างแม้จะมีความสวยสดงดงามแต่ถ้าหากสายาของผู้มองไม่มีรสนิยมทางศิลปะเลย ความงามนั้นก็ไร้ความหมาย ความงามเรียกอีกอย่างหนึ่งสุนทรียะ เป็นวิชาหนึ่งที่ใช้เรียนในระดับปริญญาตรีในบางสาขาวิชา ในทฤษฎีทางสุนทรียศาสตร์ความงามอาจจะสรุปได้สามอย่างคืออยู่ที่คนมอง อยู่ที่ตัววัตถุและอยู่ที่สภาพสังคม ความงามบางอย่างเป็นเรื่องเฉพาะถิ่น ไม่อาจจะนำบริบทของสังคมหนึ่งไปตัดสินอีกสังคมหนึ่งว่างามหรือไม่งามสวยหรือไม่สวย องค์ประกอบของความงามส่วนหนึ่งจึงอยู่ที่สายตาของคนที่เสพศิลปะ
ใครที่เดินผ่านมาผ่านไปในบริเวณวัดมัชฌันติการาม หากไม่รีบร้อนเกินไปนัก มีเวลามองซ้ายมองขวาบ้างก็จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงข้างกำแพงแก้วรอบๆพระอุโบสถ กำแพงปูนที่เคยมีแต่ที่ใส่อัฐิคนที่เสียชีวิตแล้วและคำจารึกชื่อนามสกุล พร้อมทั้งชื่อผู้สร้างช่องกำแพงแต่ละแห่งแล้ว วันนี้ได้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นแซมในช่องกำแพงนั้นเป็นภาพพุทธประวัติตอนสำคัญๆเช่นตอนประสูติ บำเพ็ญทุกรกิริยา ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา ภาพการบำเพ็ญใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ปางตรัสรู้ ปางแสดงปฐมเทศนาและปรินิพพานเป็นต้น
ภาพวาดเหล่านั้นเกิดจากฝีมือของนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ได้ทำโครงการ “วาดภาพเชิงพุทธศิลป์” วาดในวัดวาอารามต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความงาม ดูแล้วสบายตา พาให้สบายใจ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความศรัทธาให้แก่พุทธศาสนิกชนผู้ที่เดินผ่านไปมา
พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตได้ให้ความหมายของจิตรกรรมไว้ว่า “จิตรกรรม หมายถึง ภาพที่แต่ละบุคคลสร้างขึ้น ด้วยประสบการณ์ทางสุนทรียภาพและความชำนาญ โดยใช้สีชนิดต่างๆ เช่นสีน้ำ สีน้ำมัน สีฝุ่น เป็นสื่อกลางในการแสดงออกถึงเจตนาในการสร้างสรรค์ การสร้างงานจิตรกรรม จะสร้างงานบนพื้นราบเป็นส่วนใหญ่ (ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ อังกฤษ-ไทย,(กรุงเทพ ฯ : เพื่อนพิมพ์,2530). หน้า 134.)
จิตรกรรรมของแต่ละมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคม ในส่วนของจิตรกรรมไทย ประเสริฐ ศรีรัตนา ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “จิตรกรรมไทยเป็นวิจิตรศิลป์อย่างหนึ่ง ซึ่งมักแสดงเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกาย การแสดงการละเล่นพื้นเมืองต่างๆ และสาระอื่นๆ ของแต่ละยุคให้ปรากฏ ซึ่งนอกจากจะส่งผลสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันดีงามของชาติแล้ว ยังมีคุณค่าทางศิลป์ที่ช่วยเสริมสร้างสุนทรียภาพขึ้นในจิตใจมวลมนุษย์ได้ และเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวต่างๆได้เป็นอย่างดี” (ประเสริฐ ศีลรัตนา, สุนทรียะทางทัศนศิลป์,(กรุงเทพ ฯ:สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์,2542)หน้า 119.)
จิตรกรรมจึงเป็นงานศิลปะสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและสร้างคุณค่าทางสุนทรียะให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น ผู้ที่สร้างงานจิตรกรรมจึงเรียกว่า “จิตรกร” อันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างงานศิลปะซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญอยู่สามส่วนคือ จิตรกร วัสดุ และสี หากจิตรกรมีฝีมือในการวาดภาพ มีพื้นที่ในการแสดงภาพ และมีการแต้มแต่งสีให้เหมาะกับภาพที่รังสรรค์ขึ้นมานั้น ภาพที่ออกมาก็จะเป็นผลงานที่งดงาม แม้แต่ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางศิลปะก็สามารถรับรู้ได้ถึงความงามในภาพวาดนั้น
ในช่วงที่นักศึกษากำลังวาดภาพ หลวงตาฯมักจะเดินไปดูพวกจิตรกรวาดภาพ หากมีเวลาก็มักจะสนทนากับนักศึกษาเหล่านั้นตามแต่โอกาสจะเอื้ออำนวย
ครั้งหนึ่งได้ถามนักศึกษาที่กำลังเดิมสีให้ภาพวาดอยู่ว่า “ภาพนี้สวยดีนะ วาดเองหรือ” นักศึกษาคนนั้นบอกว่า “เปล่าครับ แบ่งงานกันทำครับ ช่างวาดเป็นคนหนึ่ง พวกที่เติมสีอีกกลุ่มหนึ่ง ทำงานกันคนละอย่างครับ แต่ก็ทำงานร่วมกันมีอาจารย์คอยให้คำแนะนำ”
เมื่อถามว่า “คิดทำกันเองหรือ” เขาบอกว่า “ก็ไม่เชิงครับ เป็นโครงการในสาขาวิชาที่เรียนนะครับ อาจารย์มอบหมายงานให้นักศึกษาทำงานเป็นกลุ่ม งานอะไรก็ได้ที่ทำแล้วมีประโยชน์ต่อสังคม พวกผมเลือกหัวข้อการวาดภาพเชิงพุทธศิลป์ ในวัด ซึ่งเมื่อเลือกดูพื้นที่แล้ววัดมัชฌันติการามอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยมากที่สุด มีชื่อเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เหมือนกัน เจ้าจอมมารดาเที่ยง ผู้อุปถัมภ์สร้างวัดแห่งนี้ก็เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ก็ได้นำพระนามของพระองค์ท่านมาเป็นชื่อสถาบัน”
การทำงานของนักศึกษาจะทำไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก ไม่ได้รีบร้อนอะไร ภาพบางภาพยังเป็นเพียงโครงร่างที่ยังดูไม่ออกว่าเป็นภาพอะไร บางคนกำลังร่างภาพบนกำแพง บางคนกำลังทาสีเติมแต่งภาพ บางคนผสมสี บางคนคอยติตรงนั้นสีเข้มไป ตรงนี้สีอ่อนไป เพิ่มตรงนี้หน่อย ลดตรงนั้นอีกนิด ทำงานไปหยอกล้อกันไป ดูนักศึกษากลุ่มนี้ทำงานแล้วรู้สึกมีความสุข แม้จะคอยตอบคำถามเดิมๆให้แก่คนที่เดินเข้ามาชม พวกเขาก็มิได้แสดงความเบื่อหน่ายในการตอบคำถาม
ในหนังสือสุนทรียะทางทัศนศิลป์ ได้กล่าวถึงการเขียนงานจิตรกรรมที่นิยมเขียนไว้ว่า “จิตรกรรมที่ปรากฏในวัดต่างๆมีหลายประเภทเช่นเรื่องราวจากชาดก พุทธประวัติ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา วิถีชีวิต ไตรภูมิ และวัฒนธรรมประเพณี จะเขียนไว้ตามฝาผนังพระอุโบสถ พระวิหาร หรือภายในองค์พระเจดีย์เป็นต้น มีลักษณะพิเศษในการจัดวางภาพแบบเล่าเรื่องเป็นตอนๆตามผนังช่องหน้าต่างโดยรอบพระอุโบสถและวิหาร ผนังด้านหน้าพระประธานส่วนใหญ่นิยมเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญและผนังด้านหลังพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติตอนเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และบางแห่งเขียนภาพไตรภูมิ(ประเสริฐ ศีลรัตนา, สุนทรียะทางทัศนศิลป์,(กรุงเทพ ฯ:สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์,2542)หน้า 120.)
หากใครที่เป็นผู้ที่ชื่นชมงานจิตรกรรม ย่อมสังเกตเห็นได้ เช่นภายในพระอุโบสถ ด้านหน้าพระประธานเป็นตอนผจญมาร ด้านหลังตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์หรือภาพไตรภูมิ ส่วนด้านข้างมักจะเป็นชาดกหรือพุทธประวัติตอนอื่นๆ ธรรมเนียมการวาดภาพตามศาสนสถานมักจะเป็นไปในทำนองนั้น
ในสมัยรัชกาลที่สี่แนวคิดในการเขียนจิตรกรรมตามประเพณีได้เปลี่ยนไป โดยจิตรกรไม่นิยมวาดภาพตามประเพณีแต่หันมาวาดภาพที่เป็นปริศนาธรรมและวัฒนธรรมประเพณีแทนดังเช่นจิตรกรรมที่วัดบวรนิเวศวิหารโดยฝีมือการวาดของขรัวอินโข่ง
ความเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ทำให้จิตรกรรมเปลี่ยนไปด้วยดังเหตุผลที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้สรุปไว้ว่า “ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2411-2453) ประเทศไทยได้นำเอาอารยธรรมตะวันตกเข้ามาพัฒนาประเทศหลายประการคือการสร้างทางรถไฟ ถนนหนทาง โรงพยาบาล โรงเรียน การประปา การไฟฟ้า ฯลฯ เพราะว่ารายได้ของประเทศได้นำไปใช้เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ การสร้างวัดวาอารามจึงสดุดหยุดลง เป็นเหตุให้ศิลป์ตามประเพณีมิได้เป็นไปอย่างปกติเช่นสมัยก่อน (ศิลป์ พีระศรี,ศิลปวิชาการ “วิวัฒนากาแห่งจิตรกรรมฝาผนังไทย”, กรุงเทพฯ: มูลนิธิศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี,2546,หน้า 390.)
จิตรกรรมในยุคต่อมาๆจึงมักจะมีการวาดภาพที่สมจริง มีการนำภาพบุคคลสำคัญในยุคสมัยนั้นให้ปรากฎในภาพวาดเช่นที่วัดศรีคุณเมือง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ก็มีภาพของอาจารย์แม่สุนีย์ สินธุเดชะ นายชวน หลักภัย และท่านอื่น ๆ เข้าไปประสมเข้าไปในภาพด้วย
กำแพงแก้วรอบพระอุโบสถวัดมัชฌันติการามตอนนี้มีภาพวาดเกี่ยวกับพุทธประวัติขึ้นมาหลายภาพปรากฎให้เห็น นักศึกษาที่เคยมาทำกิจกรรมก็กลับไปแล้ว เหลือไว้แต่ผลงานอันทรงคุณค่าทางศิลปะ ใครที่อยากจะมาชมภาพจริง ขอเชิญได้ บางครั้งการได้ชมความงามที่แฝงอยู่ในงานศิลปะก็อาจจะทำให้เกิดความสงบขึ้นในจิตได้ โดยเฉพาะอย่างภาพวาดเหล่านั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติ บางภาพเห็นแล้วทำให้นึกถึงการเสียสละอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ บำเพ็ญทุกกรกิริยาจนเหลือแต่โครงกระดูกเป็นต้น
คนที่รู้จักมองสิ่งหาความงามที่อยู่รอบตัวนั้น เขาผู้นั้นมักจะมีจิตใจอ่อนโยน คนที่มีจิตใจเช่นนั้นย่อมจะดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจโลก และสามารถมีความสุขได้กับทุกสถานการณ์ โลกนี้วุ่นวายพออยู่แล้ว หันมามองศิลปะเพื่อเสพความงามกันเถอะ แม้ว่าศิลปะนั้นจะเป็นเพียงภาพวาดข้างกำแพง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
19/08/57