ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

            มีหนังสือจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหากุฏราชวิทยาลัย เชิญให้เข้าร่วมวิพากษ์หลักสูตรพุทธศาสน์ศึกษานานาชาติ เพื่อใช้เป็นหลักสูตรสำหรับชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอื่นนอกจากภาษาไทยจะได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในระดับสูงกว่าปริญญาตรี ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวได้ทำการยกร่างมาหลายรอบแล้ว ได้ผ่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิช่วยวิพากษ์ช่วยแก้ไขเพื่อให้มีความเหมาะสมกับความเจริญของเทคโนโลยี แม้หลักคำสอนจะคงเดิม แต่วิธีการในการศึกษาควรจะต้องปรับปรุงให้เหมาะกับยุคสมัย

            คิดถึงตำราเรียนนักธรรมที่ใช้สอนกันอยู่ในปัจจุบันของการศึกษาคณะสงฆ์ น่าจะทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรบ้าง เพราะหลักสูตรเดิมใช้มานานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรส ได้สร้างหลักสูตรนักธรรมขึ้นมาเพื่อใช้สอนให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียน ตามลำดับขั้นความรู้คือนักธรรมชั้นตรี โท เอก หลักสูตรควรจะต้องปรับปรุงใหม่ รวมถึงหลักสูตรบาลีสนามหลวงด้วยนั่นก็ใช้มานานไม่แพ้หลักสูตรนักธรรม

            ในขณะที่กำลังคิดอะไรเพลินๆอยู่นั้นสามเณรแดง(นามสมมุติ)กำลังเรียนนักธรรมชั้นตรีก็เดินเข้ามาหา และเอ่ยถามว่า “อาจารย์ใหญ่ครับคนที่หาได้ยากในโลกนี้มีกี่อย่างครับ”
            จึงบอกว่า “คนที่หาได้ยากมีสองจำพวกคือคนที่พอใจและคนที่อิ่มหนำ”
            ามเณรแดงทำหน้างงๆ คงไม่ตรงกับที่เคยเรียนมา และคงเกิดสงสัยว่าอาจารย์ใหญ่สำนักเรียนนักธรรมบาลีที่สามเณรอุตส่าห์มาถามนั้นเอาอะไรมาตอบ จากนั้นก็เดินจากไป ไม่ถึงสิบนาทีสามเณรแดงก็กลับมาใหม่ พร้อมทั้งนำหนังสือนวโกวาทหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีฉบับมาตรฐาน ของคณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเซียงมาด้วย และเปิดหนังสือบอกว่า “นี่ไงครับบุคคลที่หาได้ยากมีสองอย่างคือบุพพการีบุคคล และกตัญญูกตเวทีบุคคล” ซึ่งคำอธิบายว่า “บุพพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน  กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว”
          จากนั้นก็ถือโอกาสอ่านจากหนังสือเล่มนั้นว่า “บุคคลผู้เป็นบุพพการีหนึ่ง บุคคลผู้กตัญญูกตเวทีหนึ่ง เป็นบุคคลที่จะทำหน้าที่ต่อกันให้สมบูรณ์ได้ยากเพราะต่างฝ่ายยังมีตัณหาครอบงำจิตใจอยู่ ผู้เป็นบุพพการีอาจจะทำหน้าที่ไม่ครบถ้วน และผู้ที่มีหน้าที่กตัญญูกตเวทิตา ก็อาจทำหน้าที่ไม่สม่ำเสมอ” สามเณรแดงอ่านให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ ที่สามารถหาคำตอบได้ด้วยตนเอง ซึ่งไม่ตรงกับที่อาจารย์ใหญ่บอกในครั้งแรก

            จึงบอกสามเณรแดงไปว่า “นั่นเป็นบุคคลที่หาได้ยากประเภทหนึ่ง ส่วนในพระไตรปิฎกเล่มเดียวกันนั้น หน้าเดียวกันด้วย ได้แสดงบุคคลที่หาได้ยากไว้อีกสองประเภท เอาไว้สามเณรแดงอ่านพระไตรปิฎกได้จะเปิดให้ดู”
            สามเณรแดงเดินเข้าห้องเรียนไปนั่งเรียนนักธรรมต่อ แต่ก็คงงงกับคำยืนยันของอาจารย์ใหญ่ ครั้นจะเชื่อทันใดก็ไม่เคยเห็น ครั้นจะไม่เชื่อก็เป็นอาจารย์ใหญ่คงมีความรู้จริงๆ คงไม่โกหกหลอกลวง จากสีหน้าท่าทางอ่านออกมาได้ประมาณนั้น
            หนังสือนวโกวาท ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงประพันธ์ไว้นั้น ได้เลือกสรรข้อธรรมที่พระองค์ทรงคิดว่ามีประโยชน์ที่สุด นำมาสอนพระภิกษุบวชใหม่ ไม่ได้นำข้อธรรมมาทุกข้อ จึงตั้งชื่อหนังสือว่า “นวโกวาท” มาจากภาษาบาลีว่า “นว แปลว่า ใหม่ หรือ เก้า กับคำว่า “โอวาท” แปลว่าคำสอน ดังนั้น “นวโกวาท” คำสอนสำหรับพระบวชใหม่ และยังมุ่งสอนพระบวชใหม่ซึ่งส่วนมากจะลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสจึงเลือกธรรมที่เหมาะกับการดำเนินชีวิตของฆราวาสเรียกว่า “คิหิปฏิบัติ” มีแม้ในปัจจุบันก็ยังคงใช้เป็นตำราเรียนสำหรับนักธรรมชั้นตรี

            ส่วนนักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอกก็ให้ใช้ตำราที่มีบทธรรมมากขึ้น ยากขึ้น ผู้ที่เรียนจนสามารถสอบผ่านได้จึงเป็นผู้ที่มีความรู้พอสมควร
            ในตติยปัณณาสก์ อังคุตตรนิกาย ทุกกนิบาต (20/364/108)ได้แสดงบุคคลที่หาได้ยากไว้สองกลุ่มความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลสองจำพวกนี้หาได้ยากในโลก สองจำพวกเป็นไฉน คือ บุพพการีบุคคล กตัญญูกตเวทีบุคคล  ดูกรภิกษุทั้งหลายบุคคลสองจำพวกนี้แลหาได้ยากในโลก”
            ในข้อต่อไปยังแสดงไว้อีกต่อไปว่า   (20/365/108) “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลสองจำพวกนี้หาได้ยากในโลก สองจำพวกเป็นไฉน คือ คนที่พอใจ  คนที่อิ่มหนำ  ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลสองจำพวกนี้แลหาได้ยากในโลก”
           ภาษาบาลีใช้คำว่า "ติตฺโต เป็นกิริยากิตต์ แปลว่า อิ่มแล้ว พอใจแล้ว หรือหากเป็นคำนามจะแปลว่า รสขม ขม ความแหลม และคำว่า  "ตปฺเปตา" แปลว่าอิ่มใจ พอใจ ชอบใจ

            ในพระไตรปิฎกยังมีสิ่งที่หาได้ยากอีกมากมายหลายประการ สามเณรแดงเป็นสามเณรที่ใคร่ในการศึกษา หากสงสัยก็มักจะเดินมาถาม บางครั้งได้คำตอบที่ตรงกับสิ่งที่คิดไว้ แต่บางครั้งก็ได้คำตอบไม่ตรงกับความรู้ที่มีอยู่

            โลกนี้คนที่พอใจในสิ่งที่มีอยู่นับว่าหาได้ยาก เพราะส่วนมากมักจะไม่พอใจในสิ่งที่มี ไม่ยินดีในสิ่งที่ได้ มักจะแสวงหาจนเกินความต้องการที่แท้จริง คนที่กล้าบอกว่าตนเองมีความพอใจตามมีตามได้แล้วจึงเป็นผู้ที่หาได้ยากในโลก และคนที่พอจริงๆยิ่งหายาก
            อีกประเภทหนึ่งคือคนที่อิ่มหนำนั้นก็เป็นผู้หาได้ยากเหมือนกัน เพราะร่างกายของมนุษย์เติมไม่เต็ม เช้ารับประทานอิ่มแล้ว กลางวันก็ยังหิว ถึงตอนเย็นยังต้องหาอะไรใส่ท้องให้ร่างกายหายหิว ในส่วนของจิตใจก็คล้ายกัน จิตใจของมนุษย์ยากที่จะถมให้เต็มได้ จึงมักจะมีคำสอนของคนโบราณว่า “ได้คืบจะเอาศอก” และ “จิตมนุษย์นี่ไซร้ลึกแท้หยั่งถึง” สิ่งที่ทำให้คนไม่รู้สึกพอใจ และไม่รู้สึกอิ่มคือกิเลส หากว่าโดยสรุปคือโลภ โกรธ หลง นั่นแล

            สามเณรแดงยังคงจะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไปอีกนาน ยังคงต้องเรียนตามหลักสูตรเดิมไปก่อน แต่อีกสักพักคงสามารถศึกษาด้วยตนเองได้จากพระไตรปิฎกซึ่งมีสิ่งที่น่าศึกษาอีกมากมาย หนังสือเชิญฉบับนั้นยังอยู่ในมือยังพอมีเวลาคิดอีกหลายวัน แต่หันไปมองดูนาฬิกาเวลาห้าโมงเช้า รู้สึกหิวขึ้นมา ท้องเริ่มร้องทุกข์ ได้เวลาบริหารท้องเพื่อขจัดความไม่อิ่มของร่างกายอีกมื้อหนึ่งแล้ว

 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
16/08/57

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก