เมื่อครั้งที่บวชใหม่ๆ หนังสือตำรับตำราทั้งหลายหายาก ตามต่างจังหวัดจึงมีอยู่เพียงไม่กี่เล่ม นักเรียนแผนกนักธรรมมีตำราเพียงชุดเดียว ครูจึงต้องใช้วิธีเขียนบนกระดานดำ และอธิบายเป็นเรื่องๆไป หนังสือตำราเรียนมีคนเขียนอยู่คนเดียวมีนามตามหน้าปกว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ดังนั้นเมื่อเริ่มเรียนนักธรรมและอ่านหนังสือธรรมะชื่อที่รู้จักเป็นชื่อแรกก็คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ นี่แหละ เพราะพระองค์ท่านประพันธ์หนังสือไว้หลายเล่ม ทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลี แม้ปัจจุบันจะมีตำราเรียนมากขึ้น แต่ที่ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงยังคงใช้ตำราของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ อยู่นั่นเอง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มีนานเดิมว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อผนวชแล้วมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงผนวชอยู่ 2 เดือนก็ทรงลาผนวช
เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2422 สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ทรงผนวชแล้วเสด็จมาอยู่จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
จากหนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า “ถึงหน้าเข้าพรรษาปีนั้นนั่นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาทรงถวายพานพุ่มพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหารตามราชประเพณี และในคราวนั้นได้เสด็จฯไปถวายพุ่มพรรษาแด่พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้ามนุษยนามานพ ซึ่งพึ่งผนวชใหม่ถึงกุฏิที่ประทับ พร้อมทั้งทรงก้มกราบด้วยพระอาการเคารพ อันเป็นอาการที่ไม่เคยทรงปฏิบัติต่อพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์อื่นที่ทรงผนวช เป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นทรงตัดสินพระทัยไม่ทรงลาผนวชแต่วันนั้น ดังที่พระองค์ได้บันทึกไว้ในพระประวัติตรัสเล่าว่า “เสด็จถึงกุฎีทรงประเคนพุ่ม เราเห็นท่านทรงกราบด้วยความเคารพอย่างเป็นพระแปลกจากพระอาการที่ทรงแสดงแก่พระองค์อื่นเพียงทรงประครองอัญชลี เรานึกสลดใจว่า โดยฐานเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านก็เป็นเจ้าของเรา โดยฐานเนื่องในพระราชวงศ์เดียวกันท่านก็เป็นพระเชฏฐะของเรา โดยฐานเป็นผู้แนะราชการพระราชทาน ท่านก็เป็นครูของเรา เห็นท่านทรงกราบ แม้จะนึกว่าท่านทรงแสดงความเคารพแก่ธงชัยพระอรหันต์ต่างหาก ก็ยังวางใจไม่ลง ไม่ปรารถนาจะให้เสียความวางพระราชหฤทัยของท่าน ไม่ปรารถนาจะให้ท่านทอดพระเนตรเราผู้ที่ท่านทรงกราบแล้ว ถือเพศเป็นคฤหัสถ์อีก ตรงคำที่เขาพูดกันว่ากลัวจัญไรกิน เราตกลงใจว่าจะไม่สึกในเวลานั้น” (สุเชาว์ พลอยชุม, พระเกียรติคุณ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย,2541, หน้า 4)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีคุณูปการมากมายเช่นทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ ทรงนิพนธ์หนังสือตำราอีกมากมายเช่นหลักสูตรบาลีไวยากรณ์ หลักสูตรนักธรรม ซึ่งปัจจุบันตำราเรียนภาษาบาลีและนักธรรมก็ยังคงใช้ศึกษาอยู่ ปัจจุบันสถานที่ทำงานที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ก็มีชื่ออาคารว่า “อาคารสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส”
อ่านหนังสือบาลีไวยากรณ์และอ่านหนังสือนักธรรมครั้งใดก็ยังนึกถึงผู้แต่ง แม้จะไม่เคยรู้จัก ไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้า แต่ทว่าก็เคารพในฐานะที่ทรงเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ทางด้านนักธรรมและบาลี แม้ทุกวันนี้ก็ยังใช้ตำราชุดนั้นสอนหนังสือพระภิกษุสามเณรอยู่ แม้จะมีตำราเล่มใหม่ๆที่นักวิชาการรุ่นใหม่ๆเขียนขึ้นอีกมากมายก็ตาม แต่ทว่าหลักวิชายังคงเป็นตำราที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงประพันธ์ไว้ บางเล่มมีอายุนานกว่า 70 ปีแล้ว
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2464 สิริอายุรวมพระชนมายุได้ 60 พรรษา ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร 30 ปี ทรงดำรงตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช 10 ปี กับ 7 เดือนเศษ
วันนี้(2 สิงหาคม 2557)พระมหาบุญไทย ปุญญมโน วัดมัชฌันติการาม ได้รับฎีกาวัดบวรนิเวศวิหาร นิมนต์ไปฉันเพลและสดับปกรณ์ ในการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ปีที่ 93 ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร
นับเวลาจากวันสิ้นพระชนม์ถึงวันนี้เป็นเวลา 93 ปีแล้ว ดังนั้นวันที่ 2 สิงหาคมของทุกปีจึงเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้จัดงานบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย บุคคลที่ทำคุณประโยชน์ไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง แม้จะจากไปนานก็เหมือนกับยังอยู่ในความทรงจำ เพราะมีผลงานฝากไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา อ่านตำราบาลีและนักธรรมครั้งใด ก็ยังน้อมกราบคารวะด้วยความเคารพ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จะทรงเป็นครูของนักศึกษาวิชาภาษาบาลีและนักธรรมตลอดไปชั่วกาลนาน
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
02/08/57
พระประวัติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
http://www.gongtham.net/web/articles.php?article_id=17