อากาศยามเช้าอึมครึมยังไงไม่รู้เหมือนฝนจะตกแต่ก็ไม่ตก ท้องฟ้าไม่มีแดดแต่อากาศร้อนอบอ้าว บรรยากาศแบบนี้เหมาะกับการนอนอย่างยิ่ง แต่ทว่าด้วยภาระหน้าที่จะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหลับนอนคงไม่เหมาะ ธรรมชาติให้เวลาช่วงกลางวันสว่างไสวโดยไม่ต้องพึ่งแสงไฟ ฟ้า คงให้เวลาสำหรับตื่นมากว่าจะหลับใหล ส่วนเวลากลางคืนแม้จะมีแสงไฟแต่ก็มีความมืดที่แฝงตัวอยู่นอกรัศมีแห่งแสงไฟ ธรรมชาติคงต้องการให้มวลสรรพสัตว์หลับพักผ่อน ธรรมชาติ มีความเป็นธรรมดา มวลมนุษย์ต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติให้ได้ ไม่ฝืนธรรมชาติชีวิตก็ดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น สุขบ้างในบางครั้ง ทุกข์บ้างในบางคราว
สำนักศาสนศึกษาวัดมัชฌันติการามเปิดทำการเรียนการสอนแผนกนักธรรมในภาคเช้าเวลา 08.30 น. เรียนไปจนถึง 11.00 น. ก็เลิก ส่วนภาคบ่ายทั้งครูและนักเรียนต่างก็มีหน้าที่ สามเณรเดินทางไปเรียนหนังสือแผนกสามัญที่โรงเรียนวชิรมกุฏฯ วัดมกุฏกษัตริยาราม เทเวศร์ ส่วนครูก็จะเดินทางไปเรียนหรือบางรูปไปสอนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา นครปฐม ไปกันคนละทาง ตอนเช้าทำหน้าที่เป็นครูพอภาคบ่ายทำหน้าที่เป็นนักเรียนนักศึกษา พอถึงภาคค่ำเวลาประมาณ 19.00 น. ก็จะเรียนภาษาบาลีต่อไปจนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. ก็แยกย้ายกันกลับกุฏิที่พัก กาลเป็นไปดั่งนี้มานานหลายปีแล้ว
ทั้งครูและนักเรียนต่างก็เหน็ดเหนื่อยพอๆกัน เพราะการเดินทางที่ไม่ค่อยสะดวกนัก บางวันรถติดมากตอนเย็นมาเรียนไม่ทัน ก็ต้องยึดเวลาออกไปบ้าง บางรูปมีกิจนิมนต์บ้างก็ต้องหยุดเรียน เราถือคติกันเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดเกินไปว่า “เรียนเล่นๆ แต่เล่นจริงๆ” ในแต่ละปีมีผู้สอบได้บ้าง สอบตกบ้างตามธรรมดา นโยบายของเจ้าอาวาสบอกว่า “หากพระภิกษุสามเณรรูปใดจะมาอยู่จำพรรษาในวัดมัชฌันติการาม ต้องมีการศึกษาเล่าเรียน อย่างน้อยต้องสอบได้นักธรรมเอก ส่วนบาลีหากมีความสามารถก็ให้เรียนและเข้าสอบ อย่างน้อยควรสอบให้ได้เปรียญธรรมสามประโยค”
ในแต่ละปีจึงมีสามเณรหน้าใหม่เข้ามาศึกษาที่สำนักเรียนแห่งนี้ แม้จะไม่มากเหมือนสำนักเรียนอื่น แต่ก็ยังพอมีนักเรียน ส่วนครูสอนก็ให้รุ่นพี่ที่จบนักธรรมชั้นเอกมาทำหน้าที่เป็นครูสอน ใช้ระบบพี่สอนน้อง หากครูคนใดมีปัญหาอธิบายหรือตอบคำถามของนักเรียนไม่ได้ก็จะมาหาครูใหญ่เป็นผู้อรรถาธิบายในสิ่งที่มีปัญหา
ครูใหญ่สำนักศาสนศึกษาทำหน้าที่ทั้งเป็นครูสอน ทั้งหาทุนการศึกษา จัดหาตำราเรียนมาให้นักเรียน ซึ่งก็นับเป็นบุญที่ตำราไม่เคยขาด เพราะในแต่ละปีจะมีผู้ให้การสนับสนุนซื้อตำราเรียนถวายไม่เคยขาด ในช่วงวันอาสาฬหบูชาที่ผ่านมา สามเณรที่เป็นนักเรียนหาตำราเองโดยหาเจ้าภาพในการซื้อตำรา ตั้งโต๊ะหน้าพระอุโบสถประชาสัมพันธ์บอกบุญต่อผู้มีจิตศรัทธาได้ตำรามาครบทุกชั้นเรียน และยังมีเงินทุนเหลือพอที่จะใช้ในการจัดการศึกษาให้สำเร็จลุล่วงตามเจตนารมณ์ของเจ้าอาวาสต่อไป
ขณะที่ครูใหญ่กำลังเดินตรวจความเรียบร้อยของการเรียนการสอนอยู่นั้น ก็มีหลวงตารูปหนึ่งอายุเกินหกสิบปีแล้ว เดินเข้ามาหา และบอกว่า “ผมอยากเรียนครับ แต่ไม่รู้จะเรียนห้องไหน”
ครูใหญ่ “หลวงตาสอบได้นักธรรมอะไรมาแล้ว”
หลวงตา “ยังไม่เคยเรียนนักธรรมชั้นใดมาเลยครับ พึ่งอุปสมบทก่อนเข้าพรรษาได้เพียงไม่กี่วัน ตั้งใจว่าจะบวชสักหนึ่งพรรษา จึงอยากใช้เวลาในการศึกษาเล่าเรียนนักธรรม บาลี เรียนเพื่อรู้และนำไปประพฤติปฏิบัติครับ”
เมื่อเห็นว่าหลวงตามีเจตนาดีตั้งใจจะศึกษา จึงบอกว่า “นักธรรมชั้นตรีมีแต่สามเณรอายุ 13-15 ปี ครูสอนก็เป็นสามเณรอายุไม่ถึง 20 ปี หลวงตาคงลำบากใจที่จะเรียน ครั้นจะแยกห้องเรียน ก็คงหาครูสอนลำบาก หลวงตาจะให้ผมทำอย่างไรดี”
หลวงตา “ไม่เป็นไรครับ เรียนกับสามเณรก็ได้ ใครสอนก็ได้ ผมจะเป็นนักเรียนที่ดี ไม่ถือตัว ไม่เถียงครู จะอยู่อย่างสมถะครับ บวชแล้วมีเพศแตกต่างจากคฤหัสถ์แล้วไม่ควรมีมานะถือตัว ใครสอนก็ได้ ผมพร้อมที่จะปฏิบัติตามครับ”
คำพูดของหลวงตาบวชใหม่ทำให้นักถึง “สมณสัญญา” หมายถึงความจำได้หมายรู้ว่าตนเองเป็นสมณะ เป็นนักบวชที่มีแนวปฏิบัติแตกต่างจากคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงสมณสัญญาไว้ในสมณสัญญาสูตร อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต (24/10//208) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณสัญญาสามประการ อันภิกษุเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรมเจ็ดประการให้บริบูรณ์คือ(1) สมณสัญญาว่า เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์ (2) ชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น (3) มรรยาทอย่างอื่นอันเราควรทำมีอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณสัญญาสามประการนี้แล อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังธรรมเจ็ดประการให้บริบูรณ์ ธรรม 7 ประการเป็นไฉน คือ (1)ภิกษุเป็นผู้มีปกติทำติดต่อเป็นนิตย์ เป็นผู้มีความประพฤติติดต่อเป็นนิตย์ในศีลทั้งหลาย (2) เป็นผู้ไม่โลภมาก (3)เป็นผู้ไม่พยาบาท (4) เป็นผู้ไม่ถือตัว (5) เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา (6)เป็นผู้มีการพิจารณาในปัจจัยทั้งหลายอันเป็นบริขารแห่งชีวิตว่า ปัจจัยเหล่านี้มีประโยชน์เช่นนี้ แล้วจึงบริโภค (7) เป็นผู้ปรารภความเพียร”
พระภิกษุผู้ใคร่ต่อการศึกษาย่อมเป็นผู้ที่เป็นที่รัก ที่เคารพ ยกย่องของเพื่อนสหธรรมิก ดังที่มีแสดงไว้ในอธิกรณสูตร อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต (24/87/163) ความว่า “ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา กล่าวสรรเสริญการสมาทานในการศึกษา แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ใคร่ในการศึกษากล่าวสรรเสริญการสมาทานในการศึกษานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่ยกย่อง ที่เสมอกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”
ภิกษุผู้ใคร่ต่อการศึกษาที่ได้รับการยกย้องจากพระพุทธเจ้าคือพระราหุล ดังที่แสดงไว้ใน (20/148/32 บาลี ) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราหุล เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้ใคร่ต่อการศึกษา”
ในการศึกษาเล่าเรียนนั้นย่อมไม่มีใครที่แก่เกินเรียน จะเรียนเมื่อใดก็ได้ หากในใจมีความปรารถนาที่จะเรียน หน้าที่ของพระภิกษุประการแรกคือการศึกษาเล่าเรียน
ครูใหญ่สำนักศาสนศึกษาวัดมัชฌันติการามเรียนทั้งนักธรรม บาลีมานานกว่าสามสิบปีแล้ว จบนักธรรมชั้นเอก และพ่วงท้ายด้วยปริญญาเอก ส่วนบาลีสอบได้เพียงเปรียญธรรมเจ็ดประโยค ยังสอบไม่ได้เปรียญธรรมเก้าประโยคอันเป็นชั้นสูงสูงสุดสักที แต่ก็ยังเรียนและสอบเป็นประจำทุกปี สอบตกเรียนใหม่ สอบได้เรียนต่อ สักวันหากมีความพร้อม ดูหนังสือได้อย่างสม่ำเสมอ คงสอบได้ตามเจตนารมณ์ ส่วนจะสอบได้เมื่ออายุเท่าใดนั้น เรื่องนั้นยังไม่ทราบ การศึกษาไม่มีคำว่าสายเกินไป เรียนเมื่อใด ศึกษาเมื่อใด ก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นเมื่อนั้น
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
16/07/57