ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

          เดือนสามตามปฏิทินปักขคณานาเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2557 ผ่านไปได้สิบหกวันแล้ว ส่วนปฏิทินสากลยังเป็นเดือนสอง ตามปกติท้องฟ้าในเดือนสามมักจะมีฝนหลงฤดูมาทักทายบ้าง เดือนสามปีนี้มีฝนมาบ้างแล้วแต่ไม่หนักเป็นฝนพรำพอได้รดชำระล้างมวลบุบผาที่บางประเภทร่วงหล่นแล้ว แต่ดอกไม้เบาประเภทพึ่งเริ่มต้นออกดอก ดอกไม้ในเดือนสามงดงามเป็นพิเศษ โดยเฉพาะดอกทองกวาวหรือดอกจานมีสีแดงอมแสดสดใสเป็นพิเศษ คนโบราณภาคอีสานจึงมีคำเรียกขานว่า “แดงดอกจานดังจะจูบทุกหัวใจ” และเดือนสามฟ้าก็สดใส เดือนสามแดดสูงฟ้าสวย

          เดินผ่านลานวัดผ่านหน้ากุฏิเจ้าอาวาสเห็นสีแดงของดอกทองกวาวบานสะพรั่งก็นึกถึงบทกลอนท่อนหนึ่งว่า “แดงดอกจานดังจะจูบทุกหัวใจ” ขึ้นมาได้ เมื่อเห็นดอกทองกวาว ดอกสีแดงบานสะพรั่งนั่นแสดงว่าได้เข้าสู่เดือนสามแล้ว ดอกทองกวาว เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางในวงศ์ถั่ว มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ จากประเทศปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และทางตะวันตกของอินโดนีเซีย แต่ละประเทศมีคำเรียกขานดอกไม้ชนิดนี้ต่างกัน

          ในแต่ละภูมิภาคของไทย “ดอกทองกวาว” ยังมีชื่อเรียกขานต่างกันคือภาคเหนือเรียกว่า  “ดอกกวาว หรือดอกก๋าว”  ภาคใต้เรียก “ดอกจอมทอง”  ภาคกลางเรียกหลายชื่อเช่น “ดอกทองธรรมชาติ  ดอกทองพรหมชาติ ดอกทองต้น ดอกทองกวาว เป็นต้น ส่วนภาคอีสานเรียกว่า “ดอกจาน”
          ดอกทองกวาวเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเคยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเขียงใหม่ คราวใดก็ตามที่เห็นดอกก๋าวบานสะพรั่ง นั่นแสดงว่าใกล้วันสอบปลายภาคแล้ว ต้องดูหนังสืออย่างหนักเพื่อนเตรียมตัวสอบ ได้เห็นดอกก๋าวบานอยู่หลายปีกว่าที่จะเรียนจบ และนานหลายปีแล้วเหมือนกันที่ไม่ได้กลับไปเยือนต้นก๋าวเหล่านั้นอีกเลย
          อีกอย่างดอกก๋าวมักจะออกดอกในช่วงเดือนสาม เคยจำกลอนบทหนึ่งว่า “ขึ้นเดือนสามแดดสูงฟ้าสวย ดอกรักก็ผันผวยทอด้วยสาน มวลบุบผาแข่งขันกันเบ่งบาน  แดงดอกจานดังจะจูบทุกหัวใจ” แต่จำวรรคที่สามไม่ได้ จึงถือวิสาสะแต่งเติมให้เต็มว่า “มวลบุบผาแข่งขันกันเบ่งบาน”   จึงได้กลายมาเป็นบทกลอนอย่างที่เห็น หากใครเป็นเจ้าของผลงานดั้งเดิมก็ต้องขออภัย จำไม่ได้จริงๆว่าใครเป็นคนประพันธ์แต่จำจนขึ้นใจมานาน

          ดอกทองกวาวเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ  5 – 15 เมตร เป็นไม้ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้นแตกกิ่งต่ำคดงอ เปลือกนอกสีเทาถึงสีเทาคล้ำค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ เปลือกในสีแดง สับเปลือกทิ้งไว้จะมีน้ำยางใส ๆไหลออกมาทิ้งไว้สักพักจะกลายเป็นสีแดง
          ดอกทองกวาวจะออกเป็นช่อแบบไม่แตกแขนง ตามกิ่งก้านและปลายกิ่ง ก้านช่อดอกมีขนสีน้าตาล ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร  กลีบรองกลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปบาตรยาว 1.3 ซม. ส่วนบนแยกออกเป็นกลีบสั้น ๆ 5 กลีบ มีขนสีน้ำตาลดำปกคลุมตลอดกลีบดอกยาว 7 ซม. มี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากันคล้ายดอกถั่ว กลีบด้านล่างรูปเรือแยกเป็นอิสระดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 6 ซม. ดอกมีทั้งสีแสดและสีเหลืองสด ดอกสีเหลืองพบที่เชียงราย อุบลราชธานี สุรินทร์
          ตามคติความเชื่อของไทยถือว่าทองกวาวเป็นไม้มงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นทองกวาวไว้ประจำบ้านจะทำให้มีเงินมีทองมาก นอกจากนี้ดอกยังมีความสวยเรืองรองดั่งทองธรรมชาติ ควรปลูกต้นทองกวาวไว้ทางทิศใต้ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ แต่หากถือตามชื่อที่ภาคกลางเรียกขานว่า "ดอกทองธรรมชาติ" แต่หากเรียกสั้นๆว่า "ดอกทอง" ความหมายจะเปลี่ยนไปอีกอย่าง

       ทองกวาวยังเป็นพืชที่มีความสำคัญในศาสนาฮินดู ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร ไม้ทองกวาวใช้เป็นฟืนเผาศพ ถือเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์
          วัดมัชฌันติการามมีต้นทองกวาวปลูกไว้ด้านกุฏิเจ้าอาวาส เนื่องจากทางวัดมีงานประจำปีปิดทองหลวงปู่อ่อน ญาณเตโช อดีตเจ้าอาวาสรูปแรกของวักติดต่อกัน 9 วัน 9 คืน จึงไม่ได้สังเกตเห็นว่าดอกทองกวาวบานแล้ว พองานประจำปีผ่านพ้นไป จึงมีโอกาสได้ชำเลืองมองไปที่กุฏิเจ้าอาวาสก็ได้เห็นดอกสีแดงกำลังบาน หยิบกล้องได้ก็รีบถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกเพราะไม่มั่นใจว่าดอกทองกวาวจะอยู่อีกนานเท่าใด
          ยังมีดอกไม้อีกหลายชนิดที่แข่งกันเบ่งบานเหมือนกำลังจะทักทายฤดูร้อนที่กำลังจะย่างกรายเข้ามาถึง เมื่อเห็นดอกไม้รู้สึกสดชื่น จิตใจแจ่มใส อารมณ์ก็สุนทรีย์  คนที่กำลังเก็บดอกไม้ย่อมมีใจคิดไปต่างๆนานา อารมณ์ทั้งหลายอาจจะก่อกำเนิดเกิดขึ้นในช่วงที่จิตกำลังเพลินในการเก็บดอกไม้   ผู้เก็บดอกไม้มักจะทำให้เดินช้าลงเหมือนกับการปฏิบัติธรรมที่หากผู้ปฏิบัติมัวแต่หลงเพลินกับสิ่งต่างๆการปฏิบัติก็ไม่ก้าวหน้า อาจจะถูกพญามัจจุราชครอบงำให้อยู่ในอำนาจได้ง่าย ดังที่มีพุทธภาษิตแสดงไว้ในปุปผวรรค  ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท (25/14/15) ความว่า “มัจจุย่อมจับนระผู้มีใจอันซ่าน ไปแล้วในอารมณ์ต่างๆ กำลังเลือกเก็บดอกไม้ทั้งหลายนั่นเทียวไปเหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดบ้านอันหลับแล้วไปฉะนั้น”

          มัจจุผู้ทำซึ่งที่สุดย่อมทำนระผู้มีใจอันซ่านไปแล้วในอารมณ์ต่างๆ กำลังเลือกเก็บดอกไม้ ทั้งหลาย ไม่อิ่มแล้วในกามคุณนั่นแล ไว้ในอำนาจ”
          แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ปุปฺผานิ เหว ปจินนฺตํ       พฺยาสตฺตมนสํ นรํ          
         
                                 สุตฺตํ คามํ มโหโฆว         มจฺจุ อาทาย คจฺฉติ ฯ 
                                           ปุปฺผานิ เหว ปจินนฺตํ       พฺยาสตฺตมนสํ นรํ 
                                           อติตฺตํ เยว กาเมสุ           อนฺตโก กุรุเต วสํ ฯ  

          หากใครมัวแต่เพลิดเพลินหลับใหล และคิดไปในอารมณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามากระทบซึ่งในแต่ละวันไม่รู้มีจำนวนมากมายเท่าใด อาจจะทำให้หลงไปตามอารมณ์นั้นๆได้ง่าย 
          ในอรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม 1 ภาค 2 ตอน 2 หน้าที่ 41 ได้เปรียบเทียบกามคุณคุณทั้งห้าเหมือนสวนดอกไม้ ผู้ที่หยั่งลงสู่ท่ามกลางกามคุณห้าอันเป็นเช่นกันกับสวนดอกไม้ คือได้รูปอันชอบใจแล้ว  ปรารถนา  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะอันเป็นที่ชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่ง  หรือได้บรรดาอารมณ์มีเสียงเป็นต้นเหล่านั้นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วยังปรารถนาอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปหรือได้รูปนั้นแล้วยังปรารถนาอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ชื่อว่าย่อมยินดีอารมณ์นั้น หรือได้บรรดาอารมณ์มีเสียงเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วปรารถนาอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ชื่อว่าย่อมยินดีอารมณ์อันตนได้แล้วนั้น 

          ในสวิญญาณกทรัพย์และอวิญญาณกทรัพย์(ทรัพย์ที่มีวิญญาณและทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณ)  มีโค  กระบือ  ทาสี   ทาส  นา  สวน  บ้าน  นิคมและชนบทเป็นต้น  ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน  ในส่วนของภิกษุ แม้ได้ปัจจัยต่างๆแล้วก็ยังไม่รู้สึกว่าเพียงพอยังอยากได้มากยิ่งขึ้นไปอีก
          พญามัจจุราชซึ่งมีหมู่เสนามากย่อมจะพาเอานรชนผู้มีใจข้องในกามคุณอันถึงพร้อมแล้ว  หรืออันยังไม่ถึงพร้อมแล้วซึ่งกำลังเลือกเก็บดอกไม้กล่าวคือกามคุณห้าอยู่อย่างนี้ไปด้วยประการฉะนี้
          ส่วนคำว่า “บ้านอันหลับใหล” หมายถึง ชาวบ้านที่กำลังเพลิดเพลินในทรัพย์สมบัติเหมือนคนกำลังหลับ การหลับนั้นคือการหลับแห่งทัพพสัมภาระทั้งหลายมีฝาเรือนเป็นต้นแห่งบ้าน ย่อมไม่มี แต่ชาวบ้านชื่อว่าเป็นอันหลับแล้วก็เพราะเปรียบเทียบความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้ประมาทแล้วเพียงดังว่าหลับแล้ว   
          พญามัจจุราชย่อมพาเอานรชนไป  ดุจห้วงน้ำใหญ่อันกว้างและลึก พัดพาชาวบ้านที่หลับแล้วอย่างนั้นไปอยู่ฉะนั้น ห้วงน้ำใหญ่นั้น  ยังชาวบ้านนั้นทั้งหมด  ไม่ให้สัตว์ไร ๆ  ในบรรดาสตรี  บุรุษ  โค  กระบือ  และไก่เป็นต้น  เหลือไว้  ให้ถึงสมุทรแล้ว  ทำให้เป็นภักษาของปลาและเต่าฉันใด  มัจจุคือความตายพานระผู้มีใจข้องแล้วในอารมณ์ต่างๆ   คือตัดอินทรีย์คือชีวิตของนระนั้นให้จมลงในสมุทรคืออบายทั้งสี่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน”

          สีแดงแสดของดอกทองกวาวสะท้อนกับฟ้าสีครามเป็นความงดงามของธรรมชาติที่ไม่มีใครสร้าง แต่เป็นความผสมกลมกลืนของธรรมชาติ ทั้งดอกไม้ ท้องฟ้าและกาลเวลามาบรรจบพบกันได้อย่าลงตัว หากจะมีเรียกขานธรรมชาตินี้น่าจะเป็นถ้อยคำสั้นๆว่า “เดือนสามแดดสูงฟ้าสวย”  ความงามที่มีอยู่ตามธรรมชาตินั้นสามารถสัมผัสได้ชื่นชมได้ เพียงแต่เดินออกไปก็พบเห็นแล้ว เพราะความงามที่แท้อยู่ในจิตใจของเรานั่นแล หากในจิตใจของเรามีความรักความเมตตา โลกทั้งโลกก็สดใส แต่ถ้าหากในจิตใจมีแต่ริษยาอาฆาต โลกทั้งโลกก็เหมือนกับไฟที่พร้อมจะเผาใจได้ทุกเวลา  วันนี้เพียงแต่ชมดอกไม้ ไม่ได้เก็บดอกไม้ ยังคงตื่นและรับรู้ได้ แม้จะหลงชมความงามของแดงดอกจาน(ทองกวาว)ไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้หลับใหลจนลืมตื่น ถึงหากแม้มัจจุราชจะมาเยือนก็ไม่เป็นไร แต่ทว่าสีแดงของดอกทองกวาวหรือดอกจานสวยสดงดงาม ข่างเหมาะกับคำว่า “แดงดอกจานดังจะจูบทุกหัวใจ” จริงๆ
 

พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
16/02/57

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก