ไปบรรยายวิชาจริยศาสตร์ให้กับนักศึกษาสาขาวิชาปรัชญา ก็มีคำถามจากนักศึกษาว่า “ความดีที่เป็นสิ่งสากลมีอยู่ในโลกนี้จริงหรือ ถ้ามีคืออะไร” และอีกคำถามว่า “อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต” เป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ง่ายนัก ความดีที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในศาสนาใดต่างก็ยอมรับว่าเป็นความดีจริงๆ ใครทำก็ย่อมได้รับผลดีคืออะไรกันแน่ สำหรับนักปรัชญามีคำตอบหลายสำนัก แต่ละสำนักต่างก็ยืนยันว่าคำตอบของตนเองเท่านั้นถูกต้อง
วิชาจริยศาสตร์มีขอบข่ายเนื้อหาเน้นหนักในลักษณะเรื่องความดีอันควรจะเป็น ควรจะทำและคุณค่าต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติ กรรมของมนุษย์อันเกิดมาจากการมีเสรีภาพในการตัดสินใจ มีขอบเขตเกี่ยวกับอุดมคติทางศีลธรรม เกณฑ์ในการตัดสินความประพฤติว่าดี หรือชั่ว กล่าวถึงเสรีภาพแห่งเจตจำนง อิสรภาพของมนุษย์ ความรับ ผิดชอบ สิทธิ หน้าที่ และเป็นศาสตร์ที่เน้นคุณค่าทางศีลธรรม ให้อิสระในการเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ตนปรารถนา มีคำถามที่สำคัญๆเช่น อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต มนุษย์เราเกิดมาเพื่ออะไร อะไรคือจุดหมายของการดำเนินชีวิต อะไรคือสิ่งดีที่สุดที่เราควรแสวงหาเป็นต้น
จากคำถามว่า “อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์” มีนักปรัชญาให้คำตอบได้สี่กลุ่มใหญ่ๆคือ
1. พวกสุขนิยม ตอบว่าความสุขดีที่สุด ความสุขสบายเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต เราเกิดมาพร้อมกับประสาทสัมผัสที่มีศักยภาพในการรับความสุข จึงควรแสวงหาความสุข ธรรมชาติของเรามีความโน้มเอียงไปหาความสุข เราจึงไม่ควรฝืนธรรมชาติส่วนนี้ เป้าหมายสุดท้ายของทุกอย่าง คือ ความสุข
2. พวกอสุขนิยม ตอบว่า ความสุขไม่ใช่สิ่งดีที่สุด ความสุขสบายไม่ใช่เป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิต เพราะมนุษย์แตกต่างจากสัตว์ จุดหมายของชีวิตจึงไม่ใช่ความสุขสบายเหมือนสัตว์ แต่เป็นความสงบสุขทางจิตใจที่สัตว์ไม่สามารถมีได้ดั่งเช่นมนุษย์ เพราะมนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและจิตวิญญาณ แต่จิตวิญญาณเป็นส่วนสำคัญของมนุษย์ พวกอสุขนิยมยังมีคำตอบได้อีกสองกลุ่มคือ “พวกปัญญานิยม” มีคำตอบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์คือ “ปัญญา” แต่อีกพวกหนึ่งคือ “พวกวิมุตินิยม” บอกว่าความหลุดพ้นต่างหากเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของมนุษย์
3. พวกมนุษย์นิยม ตอบว่า สิ่งที่ดี ความดี มีหลากหลาย ต้องมองให้กว้าง มองให้ไกล โดยไม่จำกัดคุณค่ามนุษย์ไว้ที่กฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่ง มนุษย์มีความซับซ้อนเกินกว่าจะใช้เกณฑ์เพียงหนึ่งเดียวอธิบายได้ มนุษย์คือผลผลิตจากวิวัฒนาการอันยาวนาน เราจึงควรตอบสนองทั้งด้านร่างกายและจิตวิญญาณ ทุกอย่างมีคุณค่าสำหรับชีวิตมนุษย์ อีกอย่างขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีของแต่ละภาคส่วนไม่เหมือนกัน จะนำกฎเกณฑ์จากที่หนึ่งไปตัดสินในอีกวัฒนธรรมหนึ่งย่อมไม่ได้
4. พวกอัตถิภาวนิยม มีคำตอบว่าเสรีภาพดีที่สุดสาระที่แท้จริงของมนุษย์อยู่ที่เสรีภาพ มนุษย์ควรใช้เสรีภาพเลือกเป็นอย่างที่ตนเองต้องการ มนุษย์มีเสรีภาพเสมอ ในทุกเวลา และทุกสถานการณ์ ไม่มีแม้แต่วินาทีเดียวที่มนุษย์ไร้เสรีภาพ นักปรัชญาคนสำคัญของลัทธิอัตถิภาวนิยมคือชอง ปอล ชาร์ต มีความเห็นว่า “มนุษย์ถูกสาบให้มีเสรีภาพ” แต่เสรีภาพมักจะมาพร้อมกับความว้าเหว่ ดังนั้นจึงควรเลือกและจงรับผิดชอบในเสรีภาพที่เราเลือก ในด้านศักดิ์ศรีของมนุษย์อยู่ที่การได้เลือกเป็นในสิ่งที่ตนเองอยากเป็นจริงๆ โดยไม่ฝืนความรู้สึกตัวเอง
บรรยายจบก็กลับวัด เห็นว่ายังไม่มืดค่ำจึงเดินเล่นริมรั้วก็ได้เห็นน้อยหน่าต้นหนึ่งกำลังออกผล พอเดินเข้าไปใกล้จึงจำได้ว่าน้อยหน่าต้นนี้เคยปลูกทิ้งไว้หลายปีมาแล้ว เนื่องจากวัดมีพื้นที่จำกัดในการปลูกต้นไม้ แม้จะปลูกต้นไม้ก็ต้องเป็นประเภทไม้ล้มลุกหรือต้นไม้ที่มีอายุอยู่ได้ไม่นาน การที่จะปลูกต้นไม้ยืนต้นนั้น ค่อนข้างลำบากเพราะพื้นที่มีน้อยนั่นเอง หากจะปลูกต้นไม้ใหญ่ก็ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ คอยรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ยต้นไม้นั้นจึงจะผลิดอกออกใบหยั่งรากลึกยืนต้นอย่างทระนง โบราณว่า “หว่านพืชหวังผล” พอมาถึงคำคมในสื่อสังคมออนไลน์ ก็มีคนเพิ่มถ้อยคำเข้ามาอีกว่า “หว่านล้อมคนย่อมหวังผลประโยชน์”
หลายปีก่อนเมื่อครั้งที่เดินทางไปชัยภูมิ มีคนถวายน้อยหน่ามาจำนวนหนึ่งรสชาติอร่อยหวานกลมกล่อม จึงนำเมล็ดใส่ลงในกระถางดอกบัวสวรรค์ซึ่งได้มาพร้อมกัน คอยรดน้ำพรวนดินเพื่อไม่ให้ดอกไม้เหี่ยวเฉา แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป หมดฤดูกาลของดอกบัวสวรรค์ ลำต้นก็เหี่ยวเฉาและแห้งตาย แต่ทว่ากลับมีต้นกล้าของน้อยหน่าต้นเล็กๆผุดแซมขึ้นมาแทน มีจำนวนหลายต้น ดอกบัวสวรรค์จะไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ไม่ปรากฏลำต้นและดอกให้เห็น จะปรากฏปีละครั้งเท่านั้นซึ่งอยู่ประมาณช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมของทุกปี
เมื่อต้นน้อยหน่าเกิดขึ้นจึงพยายามรดน้ำใส่ปุ๋ยตามมีตามเกิด ส่วนหนึ่งเป็นกากกาแฟสดที่ผ่านการกรองเอากาแฟออกแล้ว ส่วนที่เหลือจึงนำมาเป็นปุ๋ย ปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ได้ผลดี ต้นน้อยหน่าค่อยๆเจริญเติบโตขึ้น จึงได้นำต้นน้อยหน่าเหล่านั้นไปปลูกไว้ที่ริมรั้วข้างกำแพงวัด ไม่ได้เอาใจใส่อะไรมากนัก ไม่นานก็จำไม่ได้ว่าเคยปลูกผลไม้ชนิดนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่
ได้เห็นต้นน้อยหน่าออกผลกำลังงาม น้อยหน่าต้นนั้นแม้จะปลูกเหมือนปล่อยทิ้งแต่ก็ยังให้ผลเป็นน้อยหน่า ปลูกไม้ผลก็ย่อมหวังว่าจะได้รับประทานผลของต้นไม้นั้น ปลูกไม้ดอกก็ต้องหวังว่าจะได้ชมดอกของต้นไม้ ปลูกไม้ชนิดใดย่อมได้ไม้ชนิดนั้น
ในพระพุทธศาสนาได้นำเรื่องของการปลูกพืชมาใช้กับการกระทำของมนุษย์ ดังที่มีแสดงไว้ในสมุททกสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/890/273) ความว่า “บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้น คนทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วก็ย่อมได้ชั่ว แน่ะพ่อ ท่านหว่านพืชลงไปไว้แล้ว ท่านจักต้องเสวยผลของมัน”
แปลมาจากภาษาบาลีว่า “ยาทิสํ ลภเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
ปวุตฺตํ ตาต เต พีชํ ผลํ ปจฺจนุโภสฺสสีติ”
หากอยากได้พืชเช่นใดก็ต้องเพาะเมล็ดพันธุ์ของพืชนั้น ปลูกน้อยหน่าย่อมได้น้อยหน่า จะให้เป็นปลุกน้อยหน่าแล้วกลายเป็นมะละกอย่อมไม่ใช่วิสัยที่จะมีได้
เช่นเดียวกันกับการกระทำของมนุษย์หากอยากได้ดีก็ต้องเริ่มต้นทำความดี การจะให้ความดีกลายเป็นความชั่วผิดวิสัยผิดหลักการ มีคนส่วนหนึ่งมักจะนำมากล่าวอ้างเล่นๆว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” เป็นเหมือนการตั้งคำถามเพราะดูจากการกระทำของคนบางคนที่แม้ว่าสังคมจะรับรู้พฤติกรรมว่าเขาไม่ใช่คนดี เขาเป็นคนที่มีพฤติกรรมค่อนไปในทางการทำชั่ว แต่ทว่ากลับกลายเป็นคนมีชื่อเสียง มีหน้ามีตา มีเกียรติในสังคม คนส่วนหนึ่งจึงมักตัดสินการกระทำของคนจากสิ่งที่เห็น
ผลของการกระทำนั้นแม้ว่าจะยังไม่ได้แสดงผลในชาตินี้ แต่ทว่าเมล็ดพันธุ์แห่งการกระทำมิได้สูญหายไปไหนยังรอเวลาแสดงผล เหมือนการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งพืชเช่นใดก็ย่อมได้พืชชนิดนั้น คนทำความดีแม้ว่าจะยังไม่ได้เสวยผลในทันทีแต่ก็จะต้องได้เห็นผลในโอกาสใดโอกาสหนึ่ง ส่วนคนทำชั่วแม้ว่าวันนี้จะยังไม่ได้รับผลของการกระทำ แต่ว่ากรรมชั่วนั้นก็ยังรอวันแสดงผล
วันนี้ต้นน้อยหน่าที่ปลูกทิ้งไว้ข้างกำแพงวัด กำลังเจริญเติบโตผลิดอกออกผลแล้ว แต่ยังไม่เคยได้ชิมจึงไม่รู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร จะหวานเหมือนพันธุ์ที่นำมาจากชัยภูมิหรือไม่ ยังไม่อาจทราบได้ เพราะว่าดิน ฟ้าอากาศ สภาพแวดล้อมก็มีส่วนที่ทำให้ผลไม้นั้นมีรสชาติดีหรือไม่ เฉกเช่นเดียวกันกับมนุษย์ สภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การอบรมเลี้ยงดู ตลอดจนการศึกษาก็เป็นองค์ประกอบของการที่จะให้คนทำความดีหรือทำความชั่วได้เหมือนกัน
เมื่อเดินกลับกุฎิก็ย้อนคิดไปถึงคำถามของนักศึกษาที่ถามว่า “ความดีที่เป็นสิ่งสากลมีอยู่ในโลกนี้จริงหรือ ถ้ามีคืออะไร” กฎแห่งกรรม น่าจะเป็นคำตอบของความดีสากลได้ แม้จะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่อย่างน้อยก็ยังมีคำตอบว่า “หว่านพืชเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้น” มนุษย์จะทำอะไรก็ย่อมจะได้ผลเช่นนั้นเหมือนกัน ทุกสิ่งที่มนุษย์ทำเป็นไปตามกรรมคือการกระทำของแต่ละคน สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
05/02/57