สถานการณ์การเมืองของไทยในช่วงนี้ดูเหมือนจะมีความขัดแย้งรุนแรงขึ้นทุกวัน จนทำให้คนทั้งหลายต้องเลือกว่าจะสนับสนุนเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนผู้ที่ไม่เลือกข้างพยายามทำใจให้เป็นกลางมองสถานการณ์ตามที่ควรจะเป็นเริ่มอยู่ในสังคมยาก เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวพ่อเลี้ยงกับลูกเลี้ยงที่มีแนวคิดคนละข้างแต่อยู่ในบ้านเดียวกัน พอลูกพูดให้ร้ายฝ่ายที่พ่อเชื่อก็เกิดโทสะทนไม่ได้พ่อเลี้ยงทำร้ายลูกเลี้ยงบาดเจ็บจนกลายเป็นคดีความต้องขึ้นโรงพักแจ้งความดำเนินคดี เหตุการณ์ทำนองนี้อาจจะเกิดขึ้นได้อีก เพราะความคิดความเชื่อของคนนั้นบังคับกันไม่ได้ โบราณว่ามีสองเรื่องที่หากอยู่กันคนละฝ่าย พูดกันเมื่อไหร่มักจะมีเรื่องทุกทีคือการเมืองและศาสนา
วันก่อนมีเพื่อนเก่าคนหนึ่งเคยเรียนหนังสือมาด้วยกันเป็นเพื่อนร่วมรุ่น นำใบโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมืองมาบอกว่าช่วยประชาสัมพันธ์ให้หน่อย ผมสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ หากสามารถมีคนลงคะแนนให้เพียงห้าแสนคะแนนผมก็ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
จึงบอกว่า “พระสงฆ์ไม่ได้มีสิทธิในทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 100 ระบุไว้ว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้ง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง(1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช (2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (4) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ” รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ให้ใช้สิทธิภิกษุในการเลือกตั้ง ผู้ที่ไม่มีสิทธิจึงคิดแทนใครไม่ได้ จะเลือกใครก็เลือกตามที่ตนเห็นว่าเขาจะทำหน้าที่เป็นผู้นำในการบริหารได้ เพื่อประโยชน์แก่มหาชนได้ดีที่สุด”
ผู้สมัคร ส.ส.ท่านนั้นบอกว่า “ไม่ได้ให้ท่านไปลงคะแนนแต่ให้ช่วยบอกแก่ญาติโยมให้ ลงคะแนนให้หน่อย พรรคของผมมีนโยบายว่า “ประเทศก้าวหน้า ประชาชนเจริญ” โปรดเลือก”ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ” ดูชื่อผู้สมัครและพรรคการเมืองแล้ว ก็ต้องบอกว่ายังพอมีโอกาสได้รับเลือกอยู่บ้าง
“ขอถามจริงๆเถอะท่าน ส.ส. ยังเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุภาพันธ์ 2557 อยู่หรือ”
ผู้สมัคร ส.ส. ท่านั้นจึงบอกว่า “ผมก็ได้แต่หวังว่าคงจะมีการเลือกตั้ง แม้จะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็ยังรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ได้ เดินตามระบอบน่าจะเป็นทางออกของประเทศได้ดีกว่า การไม่มีระบอบอะไรเลยมารองรับ ผมยังเชื่อในระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องมีการเลือกตั้ง ช่วยประชาสัมพันธ์ให้หน่อยก็แล้วกันนะครับ”
แม้จะไม่ได้รับปากอะไร แต่ก็รับใบประชาสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนที่เคยศึกษาเล่าเรียนมาด้วยกัน เขามีภูมิลำเนาอยู่ที่นนทบุรี เคยสมัครสมาชิกวุฒิสภา แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ปัจจุบันประกอบอาชีพทำธุรกิจส่วนตัว ยังทำไร่ทำนาอยู่ เป็นทั้งนักธุรกิจและชาวนาในเวลาเดียวกัน หากเขาได้เป็น ส.ส. ตามที่ตั้งใจไว้อย่างน้อยก็จะได้ชื่อว่ามีเพื่อนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ
เมื่อถามว่า “ทำไมไม่ทำอาชีพนักธุรกิจอย่างเดียว” เขาบอกว่า “อาชีพนักธุรกิจคืออาชีพหาเงินเลี้ยงชีพ อาชีพชาวนาคืออาชีพหาความสุข ส่วนนักการเมืองคืองานที่ชอบ ทำทั้งสามอย่างพร้อมกันก็อยู่เย็นเป็นสุขได้ครับ”
ฟังดูแล้วน่าสนใจ “ทำงานเพื่อหาเงิน ทำงานเพื่อความสุขและทำงานที่ชอบ”
“หลวงพี่มีคำแนะนำอะไรผมบ้างไหมครับว่าจะอยู่ในสังคมที่วุ่นวายนี้ได้อย่างไรอย่างมีความสุข เพราะผมก็วุ่นวายใจอยู่เหมือนกัน พยายามจะไม่เลือกทั้งสองฝ่าย ผมเลือกพรรคที่มีนโยบายที่เป็นกลางที่สุดแล้ว”
ตอนนั้นได้ตอบไปสั้นๆว่า "ขอให้อยู่เย็นเป็นสุขก็แล้วกัน" พอกลับถึงกุฏิจึงมาย้อนคิดว่า "ทำอย่างไรจึงจะอยู่เย็นเป็นสุขในสังคมที่วุ่นวายนี้ได้ ก็ได้คำตอบจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แสดงถึงคนที่อยู่เป็นทุกข์และคนที่อยู่เป็นสุข ดังที่แสดงไว้ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต (20/247/90) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมสองประการ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ธรรมสองประการเป็นไฉน คือ(1) ความโกรธ ความผูกโกรธไว้ (2) ลบหลู่คุณท่าน ตีเสมอ (3) ความริษยา ความตระหนี่ (4) มายา โอ้อวด (5) ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัว ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมสอง ประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นทุกข์”
ลองนำไปพิจารณาดูธรรมคู่แรกคือ “โกรธกับผูกโกรธ” ผู้ที่มีความโกรธและผูกโกรธไว้ย่อมจะหาทางแก้แค้น จิตใจก็ย่อมจะวุ่นวายเพราะมัวแต่คิดถึงความอาฆาตซึ่งจะนำไปสู่การก่อเวรไม่มีที่สิ้นสุด โต้ตอบกันไปกันมา ความโกรธเกิดขึ้นเมื่อใดจะทำให้จิตใจของเราเร่าร้อน เหมือนลูกระเบิดก่อนที่มันจะทำลายคนอื่นได้ มันต้องทำลายตัวมันเองก่อนฉันใด ความโกรธก็เป็นเช่นนั้นก่อนที่จะไปทำร้ายคนอื่นก็ต้องทำร้ายตัวของผู้ที่โกรธก่อน เมื่อโกรธและผูกโกรธก็ย่อมจะอยู่เป็นทุกข์ ส่วนข้ออื่นๆไปอธิบายขยายความเอาเอง
ในทางตรงกันข้ามหากปรารถนาจะอยู่อย่างมีความสุขก็ต้องประกอบด้วยธรรมอีกกลุ่มหนึ่ง ดังที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต (20/248/90) ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมสองประการ ย่อมอยู่เป็นสุข ธรรมสองประการเป็นไฉน คือ(1) ความไม่โกรธ ความไม่ผูกโกรธไว้ (2) ความไม่ลบหลู่คุณท่าน ความไม่ตีเสมอ (3) ความไม่ริษยา ความไม่ตระหนี่ (4) ความไม่มายา ความไม่โอ้อวด (5) หิริ โอตตัปปะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรมสองประการนี้แล ย่อมอยู่เป็นสุข”
ธรรมทั้งห้าข้อแบ่งเป็นห้าคู่ หากนำไปปฏิบัติได้ทุกข้อย่อมอยู่เย็นเป็นสุขได้จริง ส่วนท่านใดที่ไม่อาจจะปฏิบัติได้ทุกข้อก็เลือกข้อใดข้อหนึ่งไปทดลองปฏิบัติดูก่อนได้ ธรรมของพระพุทธเจ้าท้าทายต่อการพิสูจน์ หากปฏิบัติแล้วได้ผลนำไปสู่ความสุขสงบได้จริง จึงควรเชื่อและปฏิบัติตาม ทดลองดูก่อนได้
เมื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านั้นลากลับไปแล้ว จึงหยิบแผ่นโฆษณาหาเสียงขึ้นดูอย่างละเอียดก็เห็นคำโฆษณาของพรรคว่า “บ้านเมืองมีปัญหา พรรค....รับอาสาแก้ไข” ขอให้โชคดีได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามที่ตั้งใจเถิด อุบาสก บ้านเมืองยังมีปัญหาเข้าไปแก้ปัญหาเพื่อความสงบสุขของประเทศชาติตามโอกาสอันสมควรเถิด บ้านเมืองจะได้สงบ ประชาชนจะได้อยู่เย็นเป็นสุขทุกถ้วนหน้า
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
22/01/57