กรุงเทพมหานครกำลังป่วยหนัก ถนนหลายสายถูกปิด รถราวิ่งผ่านไม่ได้ จะเดินทางไปไหนมาไหนต้องคำนวณให้ดีว่าจะผ่านจุดที่มีการปิดถนนหรือไม่ เพราะหากผ่านไปทางนั้นก็ต้องย้อนกลับมาทางเดิม ใครที่มีสถานที่ทำงานอยู่ในเขตที่มีการปิดถนนก็อาจจะมีทางเลือกไม่มาก จะหยุดทำงานหรือจะยังคงไปทำงาน หรืออีกทางเลือกหนึ่งเข้าร่วมกับมวลมหาประชาชนเสียเลยจะได้เป็นคนไม่ตกยุค
ในวันที่กรุงเทพเป็นอัมพาต แต่ผู้เขียนยังคงไปทำงานที่ศาลายา นครปฐม ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบเพราะถนนโล่งเดินทางสะดวกเนื่องเพราะอยู่นอกเขตการถูกปิด ขากลับอยากจะไปดูว่ากรุงเทพป่วยมากขนาดไหนและอยากได้หนังสืออ่านเล่นสักเล่มจึงเดินทางไปที่ร้านหนังสือข้างๆวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ตอนเดินทางไปไม่มีปัญหาด้านการจราจรแต่ประการใด
อันที่จริงหนังสือที่มีอยู่แล้วหลายเล่มก็ยังไม่ได้อ่าน บางครั้งสิ่งที่มีอยู่แล้วกลับไม่อยากอ่าน แต่อยากอ่านสิ่งที่ยังไม่มี แต่พอซื้อมาแล้วก็ยังคงไม่ได้อ่านอีกเช่นเคย วงจรชีวิตเป็นไปทำนองนี้มานานแล้ว พอได้หนังสือตามที่อยากได้แล้ว ก็มาถึงเวลาเดินทางกลับ คิดได้ว่ากรุงเทพถูกปิดมาสองวันแล้ว หากจะเดินทางตามถนนอาจจะมีปัญหา เพราะเราไม่อาจจะรู้ได้ว่าถนนสายไหนถูกปิดบ้าง
จึงตัดสินใจเลือกทางที่คิดว่าสะดวกที่สุดนั่นคือโดยสารทางเรือไปขึ้นฝั่งที่นนทบุรี จากนั้นค่อยหารถโดยสารย้อนกลับมาอีกทีคงจะสะดวกกว่า จึงนั่งเรือข้ามฟากไปยังฝั่งศิริราช ช่วงนั้นดวงอาทิตย์กำลังจะลับขอบฟ้า แสงสุดท้ายกำลังฉาบไล้กับพื้นน้ำสะท้อนเป็นเงาระยิบระยับ เมื่อมีเรือวิ่งผ่านไปสายน้ำก็กลายเป็นเกลียวคลื่นเหมือนกำลังหยอกล้อกับแสงแห่งสุริยะซึ่งกำลังจะอำลาขอบฟ้าเบื้องปัจฉิมทิศ มองไปยังพระปรางค์วัดอรุณมีรังสีอ่อนๆให้เห็นลางๆ ส่วนที่วัดระฆังโฆสิตาราม อันเคยเป็นถิ่นพำนักของสมเด็จพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) สะท้อนแสงจากรัศมีแห่งตะวันที่กำลังคล้อยต่ำลับขอบตึก ความงดงามแห่งกรุงเทพมหานครในเพลาสายัณห์ยังคงมีให้เห็นและสัมผัสได้
เรือด่วนเจ้าพระยาผ่านไปหลายลำ เนื่องเพราะมีผู้โดยสารมากจึงไม่อยากเบียดเสียดแก่งแย่งพื้นที่โดยสารกับคนอื่น จึงรอสักพักด้วยความหวังว่าเรือด่วนลำต่อไปคงพอมีที่ว่างให้ได้อาศัยบ้าง ชั่วขณะที่รอจึงเพ่งมองไปที่พื้นน้ำอันมีระลอกคลื่นพริ้วไหวเมื่อมีเรือวิ่งผ่าน คลื่นกับน้ำเป็นของคู่กัน เหมือนกับอุปสรรคในชีวิตมนุษย์ที่มักจะปรากฎให้เห็นโดยไม่ได้รับเชิญเสมอ คลื่นลูกแล้วลูกเล่าที่สาดซัดกระทบฝั่งก่อนจะจางหาย และมีคลื่นลูกใหม่เกิดขึ้นไม่ขาดสายตราบใดที่สายน้ำยังมีเรือแล่นสัญจรในสายธาร
การรอคอยเรือด่วนเจ้าพระยาใช้เวลาไม่นานนักพอเห็นมีที่ว่างก็ขออาศัยท้ายเรือพอมีที่ยืน เมื่อเรือออกจากท่าจึงหันหน้ามาทางท้ายเรือมองไปที่เจ้าพระยาที่วันนี้ยังคงทำหน้าที่เป็นสายนทีหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เรือโยงทั้งขาขึ้นและขาล่องยังเคลื่อนตัวไปตามเรือลากจูงอย่างแช่มช้าแต่ไม่ได้หยุดนิ่ง ยังคงบรรทุกสินค้าไปยังจุดหมาย
ผ่านสะพานพระรามแปดดวงอาทิตย์กลมโตโผล่มาให้เห็นจึงยกโทรศัพท์ขึ้นถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก บนสะพานไม่มีรถราวิ่งเหมือนทุกวัน แต่กลับกลายเป็นที่พักของเหล่ามวลมหาประชาชนที่ร่วมกันปิดกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันก่อน วันนี้ยังคงปักหลักปิดสะพานไม่ให้รถผ่าน กรุงเทพกำลังป่วยเพราะมวลมหาประชาชนและรัฐบาลกำลังทำสงครามแห่งความคิด ส่วนใครจะผิดหรือถูกนั้นไม่ขอแสดงความคิดเห็น คงต้องปล่อยให้วันเวลาผ่านไปสักพักทุกอย่างคงสงบได้ เรื่องของอำนาจ ผลประโยชน์นั้นไม่เข้าใครออกใคร เรื่องการเมืองก็คงไม่มีใครยอมใคร แล้วอย่างนี้เมื่อไหร่จะสงบ
กลับถึงวัดวันนี้อยู่ผู้เดียวปล่อยให้ทุกอย่างอยู่ในความเงียบ ปิดโทรทัศน์ไม่รับรู้ข่าวสารใดๆ ติดตามข่าวสารมาหลายวันแล้วจิตใจวุ่นวาย ทุกวันนี้หาความเงียบสงัดยากลำบาก บนท้องฟ้ามีเสียงเครื่องบินผ่านไปผ่านมา ที่พื้นปฐพีเล่าก็มีเสียงแห่งความเพลิดเพลินล่อหลอกให้หลงใหล โทรทัศน์ วิทยุมีอยู่แทบทุกแห่ง โลกนี้ถูกความเพลิดเพลินผูกไว้ หาความสงบสงัดได้ยาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตอบคำถามของเทวดาดังที่แสดงไว้ในพันธนสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/187/47) ความว่า “ครั้งหนึ่งเทวดาได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ โลกมีอะไรหนอเป็นเครื่องผูกไว้ อะไรหนอเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละเสียได้ซึ่งอะไร จึงตัดเครื่องผูกได้หมด”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงตัดเครื่องผูกได้หมด”
พออยู่ในความสงัดกลับได้ยินเสียงที่ชัดเจน ในอดีตครูบาอาจารย์ทั้งหลายต่างก็อาศัยความสงัดเป็นอาวุธในการประกอบความเพียร ความสงัดเป็นอาวุธที่สำคัญอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าให้อาวุธไว้สามประการดังที่แสดงไว้ในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค(11/228/171) ความว่า “อาวุธสามอย่างคือ(1) สุตาวุธ อาวุธคือการฟัง (2) ปวิเวกาวุธ อาวุธคือความสงัด (3) ปัญญาวุธ อาวุธคือปัญญา”
ใช้สุตาวุธคือการฟังมามากแล้ว วันนี้ขอใช้ปวิเวกาวุธ คือความสงัดเพื่อสดับเสียงจากภายในรู้สึกสงบในท่ามกลางความสงัด บางครั้งเสียงดังทำให้เราได้ยินน้อย แต่ความเงียบทำให้เราได้ยินเสียงที่น่าอัศจรรย์ เป็นเสียงที่แม้จะยังไม่มีคำตอบ แต่ทำให้จิตใจสงบในท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย แม้จะยังมีทุกข์ก็บรรเทาเบาบางลงได้ ผู้มีทุกข์จึงมีความเพลิดเพลิน ดังที่มีแสดงไว้ในกกุธสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/271/69) พระผู้มีพระภาคตรัสแก่กกุธเทวบุตรว่า “ผู้มีทุกข์นั่นแหละ จึงมีความเพลิดเพลิน ผู้มีความเพลิดเพลินนั่นแหละ จึงมีทุกข์ ภิกษุย่อมเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลินไม่มีทุกข์ ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ผู้มีอายุ”
ในความวุ่นวายทางการเมืองที่ต่างฝ่ายก็มุ่งหวังเพื่อการเอาชนะกันนั้น จะหาความสงบจากที่ใด กรุงเทพมหานครจะถูกปิดอีกกี่วันไม่รู้ รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไรก็ยังไม่เห็นทาง ฝ่ายหนึ่งจะเลือกตั้ง อีกฝ่ายหนึ่งจะปฏิรูปเหมือนกำลังเดินบนเส้นขนานที่ไม่อาจจะมาบรรจบพบกันได้ ความวุ่นวายโกลาหล ความสับสน ความวิตกปรากฏแก่ประชาชนทุกหย่อมหญ้า ใครที่คิดมากอาจจะบ้าได้ง่ายๆ ในความสับสนวุ่นวายนั้นยังมีอาวุธที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาได้คือปัญญาวุธ ใช้ปัญญาค่อยๆคิดหาทางออกให้ประเทศ หากปล่อยให้ประเทศไม่มีทางออกอย่างนี้ อีกไม่นานคงหนีไม่พ้นการปฏิวัติอีกครั้ง
พระมหาบุญไทย ปุญญมโน
14/01/57