ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

            ปีมะเมียซึ่งมีสัญลักษณ์แทนปีคือม้า จึงมีผู้นิยมเรียกปีพุทธศักราช 2557 ว่า  “ปีม้า” ปีม้าพึ่งก้าวย่างเข้ามาได้เป็นวันที่สามแล้ว มาพิจารณาตนว่าปีก่อนทำอะไรไปบ้าง มีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตบ้าง เพราะมีคติประจำปีอยู่อย่างหนึ่งพอถึงสิ้นปีว่า “ทบทวนความหลัง เฝ้าระวังความผิด พยายามดูจิตของตน” ในปีม้านี้หากได้ม้าดีให้ขับขี่ก็สามารถขี่ม้าชมนครได้อย่างเพลิดเพลิน แต่ถ้าได้ม้าไม่ดีแม้ขับขี่ก็ไม่สำราญ โบราณว่า "ต้องเลือกม้าดีๆมาข้ามขี่ อย่าเลือกม้าผีๆมีขี่ข้าม"
         ในรอบปีที่ผ่านมาทำอะไรไปบ้าง งานไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เขียนบทความได้ร้อยกว่าเรื่อง นวนิยายที่เริ่มต้นตั้งแต่ต้นปีก็เขียนได้เพียงสามบท ยังเขียนต่อไม่ได้ ส่วนงานที่ทำประจำยังคงดำเนินต่อไป แม้จะเปลี่ยนลักษณะของงานไปบ้าง แต่งานหลักยังคงเป็นการสอนหนังสือซึ่งไม่ยุ่งยากอะไร เพราะบางวิชาสอนมานานจนแทบจะจดจำได้หมดทุกบททุกตอนแล้ว มีบ้างที่เป็นวิชาใหม่ที่จะต้องเตรียมการสอน โดยสรุปในส่วนของงานยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เวลาเปลี่ยนแต่งานยังคงเดิม
            เรื่องของความผิดไม่น่าจะมีอะไรพลาด เพราะพยายามเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลาพลั้งเผลอไม่ได้ ถึงหากบางครั้งจะขาดสติระลึกไม่ได้บ้างแต่ก็มีน้อยมาก สติยังดีอยู่ แต่สตางค์ไม่ค่อยมี สติกับสตางค์มักจะเดินสวนทางกัน  คนมีสติมักจะมีสตางค์ ส่วนคนขาดสติมัดจะขาดสตางค์ หากใช้สติไปหาสตางค์ได้ สตางค์ก็มีสติก็มา แต่คนส่วนหนึ่งมักจะใช้สตางค์โดยขาดสติจึงเป็นหนี้โดยไม่ทันรู้ตัว
            เรื่องของจิตนั้นยากแท้จะเข้าใจให้แจ่มแจ้งได้  เพราะจิตมีนิวรณ์อันหมายถึงสิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม  ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี อกุศลธรรมที่ทำจิตให้เศร้าหมองและทำปัญญาให้อ่อนกำลัง  ดังที่แสดงไว้ในอาวรณสูตร นิวรณวรรค (22/51/64)  ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ห้าประการนี้ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล  ห้าประการเป็นไฉน คือ (1)นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือกามฉันทะ(2) นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือพยาบาท (3) นิวรณ์เครื่องกางกั้นคือถิ่นมิทธะ (4) นิวรณ์เครื่องกางกั้นคือ อุทธัจจกุกกุจะ (5) นิวรณ์เครื่องกางกั้นคือวิจิกิจฉา 
            ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้นห้าประการนี้แล ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่ละนิวรณ์เครื่องกางกั้นห้าประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้วจักรู้จักประโยชน์ของตน ประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลัง ทุรพล ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดสิ่งที่จะพัดไปได้ บุรุษพึงเปิดปากเหมืองแห่งแม่น้ำนั้นทั้งสองข้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสน้ำในท่ามกลางแห่งแม่น้ำนั้น ก็ซัด ส่าย ไหลผิดทาง ไม่พึงไหลไปสู่ที่ไกล ไม่มีกระแสเชี่ยว ไม่พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ฉันใด  
            ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันแลหนอไม่ละนิวรณ์ เครื่องกางกั้นห้าประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้วจักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาอันไม่มีกำลัง ทุรพล ข้อนั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุนั้นละนิวรณ์ เครื่องกางกั้นห้าประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาอันมีกำลัง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขาไปสู่ที่ไกล พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้  บุรุษพึงปิดปากเหมืองแห่งแม่น้ำนั้นทั้งสองข้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสน้ำในท่ามกลางแม่น้ำนั้น ก็จักไม่ซัด ไม่ส่ายไหลไม่ผิดทาง พึงไหลไปสู่ที่ไกลได้ มีกระแสเชี่ยว และพัดในสิ่งที่พอพัดไปได้ ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันแลหนอ ละนิวรณ์เครื่องกางกั้นห้าประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาอันมีกำลัง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ 
 
            เครื่องกางกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีของสรรพสัตว์ทั้งหลาย     มีห้าประการภาษาบาลีใช้คำว่า “นิวรณ” แปลว่าห้าม กีดกัน ปฏิเสธ ว่าโดยสรุปได้แก่
            1. กามฉันทะ หมายถึงความพอใจในกาม ความต้องการกามคุณ 
            2. พยาบาท หมายถึงความคิดร้าย ความขัดเคืองแค้นใจ 
            3. ถีนมิทธะหมายถึง ความหดหู่และเซื่องซึม 
            4. อุทธัจจกุกกุจจะ หมายถึงความฟุ้งซ่านและร้อนใจ ความกระวนกระวายกลุ้มกังวล 
            5. วิจิกิจฉา หมายถึงความลังเลสงสัย
            ผู้ใดที่จิตถูกครอบงำด้วยเครื่องกางกั้นทั้งห้าประการก็ยากที่จะบรรลุความดี และทำให้ปัญญามืดบอดอ่อนกำลังลง พระพระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบผู้ที่ถูกนิวรณ์ครอบงำไว้หลายประการ ดังที่แสดงแก่พระเจ้าอชาตศัตรูในสามัญญผลสูตรทีฆนิกาย สีลขันธวรรค (9/126/82) ความว่า “ ดูกรมหาบพิตร ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ห้า ประการเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตนเหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ห้าประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทยแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม ฉันนั้นแล”
 
 
 
            ในจิตตวรรค ขุททกนิกาย ธรรมบท(25/13/15) พระพุทธองค์ได้เปรียบเทียบร่างกายเหมือนกับหม้อ เปรียบเหมือนกับนคร ดังข้อความว่า “กุลบุตรทราบกายนี้ว่าเปรียญด้วยหม้อแล้ว  พึงกั้นจิตนี้ให้ เปรียบเหมือนนคร พึงรบมารด้วยอาวุธคือปัญญา อนึ่งพึงรักษาตรุณวิปัสสนาที่ตนชนะแล้ว และไม่พึงห่วงใย กายนี้อันบุคคลทิ้งแล้วมีวิญญาณปราศแล้วไม่นานหนอจักนอนทับแผ่นดิน ประดุจท่อนไม้ไม่มีประโยชน์”
            แปลมาจากภาษาบาลีว่า  “กุมฺภูปมํ กายมิทํ วิทิตฺวา  
                                                นครูปมํ จิตฺตมิทํ ถเกตฺวา  
                                                โยเธถ  มารํ ปญฺาวุเธน  
                                                 ชิตญฺจ รกฺเข อนิเวสิโน  สิยา ฯ                                               
                                    อจิรํ วตยํ กาโย           ปฐวึ อธิเสสฺสติ 
                                ฉุฑฺโฑ   อเปตวิญฺาโณ     นิรตฺถํว กลิงฺครํ ฯ  
            ร่างกายเปรียบเหมือนหม้อในคำว่า “กมฺภูปมํ” มีคำอธิบายในอรรถกถาว่า “รู้จักกายนี้คือ
ที่นับว่าประชุมแห่งอาการมีผมเป็นอาทิ   ซึ่งชื่อว่าเปรียบด้วยหม้อ คือเช่นกับภาชนะดิน  เพราะอรรถว่าไม่มีกำลังและทรามกำลัง  เพราะอรรถว่าเป็นไปชั่วกาล  ด้วยความเป็นกายไม่ยั่งยืน” หม้อดินอยู่ได้ไม่นานก็แตกสลายไปฉันใด อัตภาพร่างกายของมนุษย์ก็ฉันนั้นไม่นานก็ต้องแตกสลายไปเฉกเช่นเดียวกัน 
 
 
            ในคำว่า  “นครูปมํ” ร่างกายเปรียบเหมือนนคร มีคำอธิบายไว้ในอรรถกถาว่า “ธรรมดานครมีคูลึก   แวดล้อมด้วยกำแพง  ประกอบด้วยประตูและป้อม  ย่อมชื่อว่ามั่นคงภายนอก   ถึงพร้อมด้วยถนนสี่แพ่งมีร้านตลาดในระหว่าง  ชื่อว่าจัดแจงดีภายใน  พวกโจรภายนอกมาสู่นครนั้นด้วยความคิดว่า  “พวกเราจักปล้นนคร  ก็ไม่อาจเข้าไปได้ ย่อมเป็นดังว่ากระทบภูเขา  กระท้อนกลับไปฉันใด    
            กุลบุตรผู้บัณฑิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน กั้นวิปัสสนาจิตของตน ทำให้มั่นคง  คือให้เป็นเช่นกับนคร ห้ามกิเลสที่มรรคนั้นๆ พึงฆ่า  ด้วยอาวุธคือปัญญา อันสำเร็จแล้วด้วยวิปัสสนา และสำเร็จแล้วด้วยอริยมรรค   ชื่อว่าพึงรบ  คือพึงประหารกิเลสมารนั้น ดุจนักรบยืนอยู่ในนคร รบหมู่โจรด้วยอาวุธมีประการต่าง ๆ   มีอาวุธมีคมข้างเดียวเป็นต้นฉะนั้น”
            กายนครนี้มีความสลับซับซ้อน มีถนนหนทางอันเป็นแดนรับรู้ข่าวสารหรือทางที่จะรับรู้อารมณ์ที่เรียกว่าอายตนะภายในคือ จักขุทวาร(ตา) โสตทวาร(หู) ฆานทวาร(จมูก) ชิวหาทวาร(ลิ้น) กายทวาร (กาย) และมโนทวาร(ใจ) ในแต่ละวันไม่รู้ว่าจะต้องพบเห็นได้ยินได้ฟัง สัมผัสรับรู้กับเรื่องอะไรมาบ้าง หากไม่พิจารณาให้ดีอาจเผลอใจเดินผิดเส้นทาง จึงต้องใช้ปัญญาค่อยๆพิจารณาว่ากายนครนี้มีจุดอ่อนตรงไหนบ้างควรที่จะเสริมหรือป้องกันตรงทวารใด เพื่อที่จะได้มีความมั่นคงแข็งแรงพร้อมที่จะป้องกันต้านทานกับภยันตรายทั้งหลายที่กรายใกล้เข้ามาทุกขณะ
            เริ่มต้นปีมะเมียหรือปีม้าเมื่อได้ทบทวนความหลัง คอยระวังความผิด และเฝ้าตรวจดูจิตของตน แล้ว เหมือนชีวิตกำลังเริ่มต้นใหม่โดยมีพาหนะอันเป็นสัญลักษณ์ของปีคือม้า ได้ขี่ม้าชมนครคือกายนี้ ด้วยความระมัดระวัง อัตภาพร่างกายต้องพร้อมที่จะควบขับอัสดรให้มุ่งไปข้างหน้าทั้งในนครภายนอกและในนครภายในด้วยจิตใจที่เตรียมพร้อม
 
 
พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน
03/01/57
 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก