ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai

        มีหนังสือหลายเล่มที่ซื้อมานานแล้วแต่จนแล้วจนรอดก็เคยได้อ่าน หากไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องให้ต้องอ่านบางทีหนังสือเล่มนั้นก็จะถูกเก็บไว้ในตู้หนังสือเป็นเวลานาน มีวารสารฉบับหนึ่งขอให้เขียนบทความเกี่ยวกับการศึกษาพระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 21 เพื่อพิมพ์ในวารสาร คิดอยู่หลายวันว่าจะเขียนอย่างไรดี จึงค้นหาหนังสือที่เคยมีเท่าที่จะหาได้ ก็พบหนังสือเล่มนี้ชื่อหนังสือว่า “ทักษะแห่งอนาคตการศึกษาในศตวรรษที่ 21” พอเล่มหนึ่งมาอีกหลายเล่มในกลุ่มเดียวกันก็ตามมา

        หนังสือเล่มนี้มีความหนาตั้ง 492 หน้า รวบรวมบทความของนักคิดไว้ถึง 14 เรื่อง พออ่านไปก็ได้แนวทางของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ว่าจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีคำที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเช่นสื่อสังคมออนไลน์ คราวด์ซอร์สซิ่ง ยูบิควิตัส เป็นต้น บางครั้งแม้จะใช้อยู่ประจำแต่ก็ไม่ค่อยได้ทราบคำจำกัดความ ปัจจุบันที่ทำเว็บไซต์ก็เป็นโปรแกรมประเภทโอเพ่นซอร์ส ไม่ต้องย่างยากเหมือนกับโปรแกรมรุ่นก่อนที่เวลาจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลก็ต้องเปลี่ยนทั้งหน้าเว็บ ต้องตกแต่งด้วยโปรแกรมแต่งภาพที่ยุ่งยาก แต่ปัจจุบันเพียงแต่มีข้อมูลตัวอักษรและภาพก็สามารถนำเสนอได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ที่ยากที่สุดอยู่ที่ข้อมูลคือจะนำเสนออะไรดีจึงจะเหมาะสมกับสังคมยุคปัจจุบัน เพราะหากพลาดพลั้งไปก็อาจจะกลายเป็นดาบที่พร้อมหันปลายดาบมาทิ่มแทงตัวเอง
        เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้แผ่ขยายกระจายไปทั่วทุกมุมโลก การศึกษาในยุคที่นักเรียนทุกวันนี้พกพาแท็บเล็ต โน็ตบุ๊ค แม้แต่โทรศัพท์มือถือที่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา หากสงสัยใคร่รู้เรื่องอะไรก็สามารถค้นหาข้อมูลได้จากโปรแกรมค้นหา ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถได้ข้อมูลที่อยากรู้ แม้แต่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาก็มีพระไตรปิฎกฉบับออนไลน์ มีเว็บไซต์ทางศาสนาอธิบายคำสอนทางศาสนาเผยแผ่ทางอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก หรือหากจะอยากฟังพระสงฆ์แสดงธรรมก็เพียงแต่เข้าไปยังยูทุบก็สามารถเลือกฟังและชมภาพได้ตามใจปรารถนา อยากรู้เรื่องอะไรก็ค้นหาได้ทันที แล้วอย่างนี้วัดและพระสงฆ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างไร เผยแผ่กับใคร เพราะเรื่องที่คนอยากรู้มีอยู่ในโลกออนไลน์ที่สามารถค้นหาได้ทุกที่ทุกเวลาอยู่แล้ว

        สังคมโลกในศตวรรษที่21 การปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์เกิดขึ้นได้โดยที่ทั้งสองคนอาจจะไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน แต่สามารถเป็นเพื่อนกันได้ ดังที่ เดวิด ดับเบิลยู จอห์นสันและ โรเจอร์ ที จอนห์สัน ได้เขียนไว้ว่า “ในศตวรรษที่ 21 การสร้างมิตรภาพและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในเชิงบวกมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ดังเห็นได้จากความนิยมของเครือข่ายสังคม ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดมากขึ้นภายใต้สถานการณ์ 2 ลักษณะคือปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว และแบบออนไลน์  ความสัมพันธ์แบบออนไลน์มักเกิดจากเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ร่วมกัน ไม่ใช่เกิดขึ้นแบบไร้ทิศทางผู้คนอ่านบล็อคโดยมีวัตถุประสงค์ค้นหาผู้มีความสนใจคล้ายกันด้วยเหตุผลบางอย่างและร่วมเล่นเกมส์เพราะอยากสนุกและทดสอบฝีมือของตน สื่ออิเลคทรอนิกส์มอบโอกาสให้คนเพิ่มจำนวนความสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย  (เดวิด ดับเบิลยู จอห์นสันและ โรเจอร์ ที จอนห์สัน “การเรียนรู้แบบร่วมมือและการแก้ไขความขัดแย้งทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21”,  ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21,หน้า 320.) แม้จะอยู่กันคนละมุมโลกแต่ก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ สร้างสัมพันธภาพกันได้ในโลกเสมือนจริง
        อินเทอร์เน็ตจึงเป็นสื่อที่ทำให้ให้ผู้คนติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกรวดเร็วและง่ายดาย อินเทอร์เน็ตจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว แม้จะเต็มไปด้วยคุณประโยชน์แต่อีกด้านหนึ่งก็มีโทษแฝงมากับการข้อมูลข่าสารด้วย ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่า “ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์อย่างมหันต์ก็จริง ทำให้เราเปิดโลกกว้างไปสู่ที่ต่างๆ เข้าสู่ขุมความรู้ที่มีอยู่ตามแหล่งต่างๆทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย และยังทำให้เราติดต่อสื่อสารหรือใช้งานด้านอื่นๆได้อย่างสะดวกสบายเพียงแค่นั่งที่บ้านโดยไม่ต้องออกไปไหนนั้นก็จริง แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีโทษอย่างอนันต์ด้วยเช่นกัน หากเราไม่รู้จักที่จะใช้อย่างถูกวิธีหรือป้องกันตัวเองจากสิ่งแปลกปลอมที่มากับการใช้อินเทอร์เน็ต(ดาณุภา ไชพรธรรม,เทคโนโลยีดาบสองคม,กรุงเทพฯ; มายิก สำนักพิมพ์,2556,หน้า192)

        เทคโนโลยีจึงไม่ได้มีประโยชน์เพียงอย่างเดียวยังมีโทษมหันต์ที่แฝงเร้นมากับความเจริญ จึงเป็นเหมือนดาบสองคมที่หากไม่ระมัดระวังก็อาจจะถูกทิ่มแทงได้โดยไม่รู้ตัว
        มีผู้คนส่วนหนึ่งที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ไปทำร้ายผู้อื่นโดยการนำเสนอข่าวสารด้านลบหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่คนอื่น ซึ่งในโลกแห่งสื่อสังคมออนไลน์นั้นข่าวสารแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและขยายออกไปในวงกว้าง เพียงแค่ชั่วขณะเวลาไม่กี่นาทีข่าวนั้นก็เข้าถึงกลุ่มคนได้ทั่วโลก หากไม่พิจารณาข้อเท็จจริงหลงเชื่อข่าวสารที่ไม่มีมูลความจริงหรือข่าวสารที่เป็นเท็จ ผู้ที่ตกเป็นข่าวก็ถูกสังคมมองในด้านลบเรียบร้อยแล้ว 
        ในทางกลับกันหากต้องการนำเสนอข่าวสารด้านที่ดีมีประโยชน์อินเทอร์เน็ตก็เอื้อต่อการนำเสนอนั้น เพียงแค่ชั่วเวลาสั้นๆข่าวดีมีประโยชน์ก็แพร่กระจายขยายไปยังกลุ่มชนได้ในปริมาณที่มาก นั่นคือด้านดีของเทคโนโลยีและการสื่อสารของโลกในยุคแห่งศตวรรษที่ 21 

การศึกษาพระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 21


        เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กับเทคโนโลยีการสื่อสารมาบรรจบกันจนทำให้เกิดเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้น กลายเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างชาวโลกมีความสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการติดต่อผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตซึ่งปัจจุบันได้วิวัฒนาการมาเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา นักอ่านอาจจะกลายเป็นนักเขียน คนซื้ออาจจะกลายเป็นคนขาย  เพราะเมื่อกลุ่มคนในโลกเสมือนจริงของอินเทอร์เน็ตเริ่มรวมตัวกันโดยอาศัยโซเซียลเน็ตเวิร์ก หรือเครือข่ายสังคมสังคมออนไลน์ โลกก็เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารมากมายอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน รวมทั้งการสร้างสรรค์เว็บไซต์แบ่งปันความรู้และให้ความช่วยเหลือข้ามโลกในแบบที่ไม่น่าเป็นไปได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของกระบวนการคราวด์ซอร์สซิ่ง
        คำว่า “คราวด์ซอร์สซิ่ง (Crowdsourcing) หรือการถ่ายโอนงานให้มวลชน มีจุดเริ่มต้นจากความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟแวร์โอเพ่นซอร์ส การพัฒนาระบบปฏิบัติการลีนุกซ์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าชุมชนซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มีความชอบเหมือนๆกัน สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ (เจฟฟ์ ฮาวี,คราวด์วอร์ซซิ่ง:ล้านคลิกพลิโลก,แปลโดยสีนวน ฤกษ์สิรินุกูล,(กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มติชน,2554,หน้า 21)  
        เมื่ออินเทอร์เน็ตติดต่อกันได้ง่ายดาย จึงทำให้มีสังคมใหม่ที่เรียกว่า “เครือข่ายสังคมออนไลน์” โดยมีการปฏิสัมพันธ์กันผ่าน “สื่อสังคมออนไลน์”

        สื่อสังคมออนไลน์นั้นมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า “Social Media”      คำว่า “Social” หมายถึง สังคม ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงสังคมออนไลน์ ซึ่งมีขนาดใหม่มากในปัจจุบัน  คำว่า “Media” หมายถึง สื่อ ซึ่งก็คือ เนื้อหา เรื่องราว บทความ วีดีโอ เพลง รูปภาพ เป็นต้น เมื่อนำคำสองคำมารวมกันจึงเป็น “Social Media”  หมายถึง สื่อสังคมออนไลน์ที่มีการตอบสนองทางสังคมได้หลายทิศทาง โดยผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่บุคคลบนโลกนี้สามารถมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันได้ พื้นฐานการเกิด Social Media ก็มาจากความต้องการของมนุษย์หรือคนเราที่ต้องการติดต่อสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน จากเดิมเรามีเว็บในยุค 1.0 ซึ่งก็คือเว็บที่แสดงเนื้อหาอย่างเดียว บุคคลแต่ละคนไม่สามารถติดต่อหรือโต้ตอบกันได้ แต่เมื่อเทคโนโลยีเว็บพัฒนาเข้าสู่ยุค 2.0 ก็มีการพัฒนาเว็บไซต์ที่เรียกว่า web application ซึ่งก็คือเว็บไซต์มีแอพลิเคชันหรือโปรแกรมต่างๆ ที่มีการโต้ตอบกับผู้ใช้งานมากขึ้น ผู้ใช้งานแต่ละคนสามารถโต้ตอบกันได้ผ่านหน้าเว็บ (ธัญญวัฒน์ กาบคำ, “สังคมออนไลน์คืออะไร”)  สื่อสังคมออนไลน์จึงเป็นการสื่อสารที่ต้องติดต่อกันทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากที่สุดเว็บหนึ่งในปัจจุบันคือเฟซบุ๊ค
        ปัจจุบันมนุษย์ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่แม้เราจะปฏิเสธก็หนีไม่พ้น เช่นโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถติดต่อสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้ทุกเวลาที่เราต้องการ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตติดตั้งอุปกรณ์ให้ฟรีพร้อมทั้งมีของแถมและสิทธิประโยชน์อีกมากมาย ที่แม้แต่ผู้ใช้บริการคาดคิดไม่ถึง ชีวิตของมนุษย์ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ จึงแทบจะขาดเทคโนโลยีไม่ได้ การดำเนินชีวิตประจำจึงต้องพึ่งความเจริญของเทคโนโลยีอย่างยากเกินกว่าจะหนีพ้น นิโคลัส นีโกรพอนเต้ (Nicholas Negroponte) ได้เสนอไว้ว่า “ในอนาคตการใช้คอมพิวเตอร์ มิใช่เรื่องของเครื่องคอมพิวเตอร์อีกต่อไป แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนกลางขนาดยักษ์ ซึ่งเรียกกันว่าเมนเฟรม ถูกคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเข้าแทนที่ไปแทบจะหมดแล้ว เราได้เห็นคอมพิวเตอร์เคลื่อนย้ายออกจากห้องขนาดยักษ์ ที่ติดเครื่องปรับอากาศเข้าไปยังตู้เก็บของ แล้วต่อไปบนโต๊ะและเดี๋ยวนี้อยู่บนหน้าตักในกระเป๋าของเราด้วย แต่นี่ก็ยังไม่ใช่ที่สิ้นสุด”(นิโคลัส นีโกรพอนเต้, ชีวิตยุคดิจิตอล, แปลโดยจำนง วัฒนเกส, (กรุงเทพมหานคร : นำอักษรการพิมพ์, 2540), หน้า 20)  เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าและมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน มนุษย์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเทคโนโลยีอย่างหนีไม่พ้น แม้แต่ในวัดในพระพุทธศาสนา เทคโนโลยีก็ทะลุผ่านกำแพงวัดเข้ามาแล้ว

        ทักษะการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ในปี ค.ศ. 2005 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับทักษะแห่งสตวรรษที่ 21 ไว้สามประการดังนี้(1) ความสามารถประเภทที่ 1 การใช้เครื่องมืออย่างมีปฏิสัมพันธ์ รู้จักใช้ภาษา สัญลักษณ์ และเนื้อหาข้อความอย่างมีปฏิสัมพันธ์ ใช้ความรู้และข้อมูลข่าวสารอย่างมีปฏิสัมพันธ์ ใช้เทคโนโลยีอย่างมีปฏิสัมพันธ์ (2) ความสามารถประเภทที่ 2 ปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่หลากหลาย มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ให้ความร่วมมือและทำงานเป็นทีม จัดการและแก้ไขความขัดแย้ง (3) ความสามารถประเภทที่ 3 การปฏิบัติโดยอิสระ คำนึงถึงภาพรวม วางแผนชีวิตและดำเนินตามโครงการส่วนตัวที่วางไว้ ปกป้องและยืนยันสิทธิ ผลประโยชน์ ข้อจำกัด และความต้องการ คริส ดีดี้ “การเปรียบเทียบกรอบความคิดสำหรับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21”,  ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21 หน้า 320)
        ในยุคที่ผู้คนติดต่อสื่อสารกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ กลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ จนกลายเป็นอีกสังคมหนึ่งในโลกเสมือนจริง ทุกคนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้โดยไร้ขีดจำกัด โดยมีอุปกรณ์ที่สามารถใช้ติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตพกพาติดตัวไปได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้นการใช้อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์จึงไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกาลเวลาอีกต่อไป
        พระพุทธศาสนาอยู่ในสังคมโลกมานานหลายศตวรรษ ผ่านกาลเวลาที่มีความเจริญมาได้จนถึงทุกวันนี้เพราะการเผยแผ่ที่ประยุกต์เข้ากับสังคมที่มีความหลากหลายแตกต่างกันได้ ในยุคปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปมาก พระพุทธศาสนาหากดูผิวเผินจะขัดแย้งกับกระแสของเทคโนโลยี เพราะเป็นลักษณะสังคมแบบทุนนิยมซึ่งมีความโลภเป็นหลัก แต่หากดูอีกด้านหนึ่งความเจริญทางเทคโนโลยีมิใช่ความเลวร้าย อยู่ที่ผู้ใช้ต่างหาก ถ้าผู้ใช้มีภูมิต้านทานทางจิตที่มั่นคงแล้ว เทคโนโลยีก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้พระพุทธศาสนากระจายไปยังกลุ่มชนได้อีกมาก  มีงานวิจัยเรื่องการสื่อสารยุคใหม่กับความเห็นของผู้บริโภคระบุว่าผู้บริโภคในยุคปีพุทธศักราช 2551 ให้ความสนใจในสามจอคือจอโทรทัศน์ จอโทรศัพท์มือถือและจอคอมพิวเตอร์(ศรีศักดิ์  จามรมาน(ศ.ดร.),อินเทอร์เน็ตนักล่าอาณานิคมโลก,กรุงเทพฯ:ฐานบุคส์ 2551,หน้า  68)

        แนวโน้มในอนาคตพระพุทธศาสนาก็ควรใช้ช่องทางเผยแผ่ให้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์เต็มรูปแบบแล้ว  เราสามารถนำพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในสังคมออนไลน์ได้ดังต่อไปนี้
         1.การมีหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ทุกเวลา เพียงแต่มีอุปกรณ์การเชื่อมต่อกับเครือข่ายเช่นคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือเป็นต้น จึงเป็นโจทย์อย่างหนึ่งขององค์กรสงฆ์ว่าจะทำอย่างไรให้หลักธรรมของพระพุทธศาสนามีการเคลื่อนไหวอยู่ในระบบเครือข่ายได้ตลอดเวลา อาจจะเป็นเสียงริงโทน ข้อความผ่านผ่านมือ คำคมสุภาษิตของพระพุทธศาสนาง่าย ๆเช่น พุทธัง  สรณัง คัจฉามิ, นโม พุทธายะ, อิติปิโส ภควา อรหังสัมมา สัมพุทธโธ เป็นต้น หรือจะเป็นพุทธสุภาษิตเช่น อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน, อตฺตา  หเว  ชิตํ  เสยฺโย ชนะตนนั่นแหละเป็นดี,อกตํ  ทุกฺกฏํ  เสยฺโย  ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า,กลฺยาณการี  กลฺยาณํ  ปาปการี  จ  ปาปกํ  ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว,กมฺมุนา  วตฺตตี  โลโก  สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เป็นต้น
        2.ทุกคนกำลังศึกษาพระพุทธศาสนาโดยที่ผู้ศึกษาไม่รู้สึกตัวว่ากำลังศึกษา คำสอนของพระพุทธศาสนามีส่วนสำคัญอยู่สองระดับคือระดับโลกียะคือชาวบ้านทั่วไปก็ศึกษาได้และระดับโลกุตตระเป็นธรรมะขั้นสูงเพื่อการหลุดพ้น พระสงฆ์สามารถนำเสนอหลักธรรมง่ายๆที่ทุกคนรับรู้ได้โดยไม่มีความรู้สึกว่ากำลังศึกษาพระพุทธศาสนาเช่น ทุกคนเป็นเศรษฐีได้ “ถ้าขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง” ซึ่งมาจากภาษาบาลีในอังฺคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต  (23/144/289) ความว่า อุฏฺฐาตา กมฺมเธยฺเยสุ         อปฺปมตฺโต วิธานวา             
                 สมํ กปฺเปติ ชีวิตํ           สมฺภตํ อนุรกฺขติ   

        พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยแปลความหมายไว้ว่า “คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสมเลี้ยงชีพพอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้”  ถ้านำเสนอทั้งภาษาบาลีและคำแปลภาษาไทยจะเป็นเนื้อหาที่ยาก แต่เมื่อนำมาย่อความก็จะเป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย จนผู้รับสารไม่รู้สึกว่ากำลังศึกษาพระพุทธศาสนา

        อีกตัวอย่างหนึ่งสาเหตุแห่งความสุขได้แก่ “ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เพียรฆ่ากิเลส ไม่สร้างเหตุแห่งความประมาท ปราศจากความตระหนี่” ซึ่งเป็นคำสอนที่มาจากภาษาบาลีในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค (15/265/75)ว่า “นาญญตฺร โพชฺฌงฺคตปสา  นาญญตฺตร อินฺทริสํวรา   นาญญตร  สพฺพนิสฺสคฺคา โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ  หากแปลเป็นภาษาไทยตามตัวอักษรก็จะแปลได้ว่า “นอกจากปัญญาและความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์  นอกจากความสละวางโดยประการทั้งปวง เรายังไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย” แต่เมื่อนำเสนอเป็นคำง่ายๆคนทั่วไปอาจจะไม่คิดว่าตนเองกำลังศึกษาคำสอนของพระพุทธศาสนาอยู่ อาจคิดว่าเป็นเพียงคำที่นักปราชญ์คนใดคนหนึ่งคิดขึ้นเป็นต้น
        3.การให้บริการที่สามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทั้งสถานที่อุปกรณ์ และปัจจัยทางกายภาพอื่นๆ เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่ในสื่อสู่สังคมออนไลน์ หลักคำสอนก็ต้องสามารถเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมเช่นการเทศน์ การบรรยายธรรมเป็นต้น แต่ต้องประยุกต์ให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นมีการแสดงธรรมในโรงภาพยนตร์ มีการปาฐกถาธรรมทางอินเทอร์เน็ต มีการส่งข้อความเสียงทางโทรศัพท์มือถือ มีการเผยแผ่คำสอนผ่านสื่อสังคมออนไลน์เช่นเฟสบุ๊ค เป็นต้น เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป การเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้เหมาสมและตามทันความเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ก็จะทำให้กลายเป็นเครือข่ายสังคมพระพุทธศาสนา โดยไม่ได้กระทบต่อหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด เพราะผู้รับสารสามารถเลือกรับสารได้ตามความสะดวกของผู้รับสารเอง หรือหากมีข้อสงสัยในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาก็สามารถใช้โทรศัพท์มือถือเปิดดูทางเว็บไซต์ทางพระพุทธศาสนาซึ่งในอนาคตควรมีหลายภาษาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้อย่างทั่วถึง หากยังคิดว่าพระไตรปิฎกยังเป็นหลักคำสอนที่ยากแก่การทำความเข้าใจ องค์กรสงฆ์หรือคณะสงฆ์ก็ต้องหาทางปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภาษาให้ทันสมัยเหมาะแก่ยุคสมัยซึ่งการปรับปรุงมิได้ทำให้หลักธรรมดั้งเดิมมีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ภาษาที่เหมาะกับคนในสื่อสังคมออนไลน์ควรเป็นข้อความที่สั้น กระชับ ง่ายเข้าใจได้ทันที ภาษาพระพุทธศาสนาสามารถทำให้ง่ายได้เช่น “ทำดีไม่ต้องเดี๋ยว” ซึ่งก็มาจากภาษาบาลีในภัทเทกรัตตสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณษสก์ (14/527/348)ความว่า  “อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ” ภาษาแปลตามพระไตรปิฎกฉบับภาไทยแปลว่า “พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ” ซึ่งถูกต้องตามลักษณะการถอดความจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย แต่อาจจะไม่คุ้นหูกับคนในยุคนี้ แต่ถ้านำมาปรับปรุงแปลใหม่จะทำให้ติดปากคนได้ง่าย การประยุกต์มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงมิใช่การทำให้คำสอนเป็นสัทธรรมปฏิรูปแต่ประการใด เพียงแต่ทำให้เหมาะสมกับยุคสมัยเท่านั้น
 


บทสรุป

        สิ่งหนึ่งที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการติดต่อสื่อสารของโลกในศตวรรษที่ 2 คือเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย (Mobility Technology) ปัจจุบันเป็นคำที่ใช้แทนเทคโนโลยี 3G สามารถรับส่งข้อมูลในความเร็วสูง ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้ อย่างรวดเร็ว และ มีรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น เมื่อนำเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระบบ 3G และ 4G ที่นำมาใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ปัจจุบันได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่มากกว่าเครื่องโทรศัพท์สามารถใช้ฟังเพลง ถ่ายภาพ รับส่งข้อมูลและภาพได้ ทำให้มีการทำงานที่คล่องตัวรวดเร็ว ในที่สุดก็จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เกือบทุกคนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
        หากนำหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเผยแผ่ทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางและมีกฎระเบียบที่ชัดเจน  ก็จะทำให้มีการเผยแผ่พระพุทธศึกษาสามารถมีอยู่ในทุกที่ ทุกเวลา ทุกคนสามารถศึกษาพระพุทธศาสนาได้ทางอินเทอร์เน็ตในรูปแบบของ E-learning หรือการเรียนแบบออนไลน์  M-Learning หรือ Mobile-Learning เป็นการเรียนผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นต้นซึ่งสามารถศึกษาได้ตลอดเวลาที่มีมือถือในมือและเข้าระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้  นอกจากนั้นคณะสงฆ์สามารถถ่ายทอดสดการแสดงธรรม การปะชุมองค์กรทางพระพุทธศาสนาไปทั่วโลก มีเว็บไชต์ทางพระพุทธศาสนาแพร่กระจายมากยิ่งขึ้น  มีองค์กรของคณะสงฆ์ไทยดูแลการใช้อินเทอร์เน็ต และมีระบบเครือข่ายของคณะสงฆ์ไทยและจะกลายเป็นเครือข่ายสังคมพระพุทธศาสนาออนไลน์ ที่สามารถศึกษาได้ทุกหนทุกแห่งและตลอดเวลา มีการส่งข้อความติดต่อสื่อสารกันได้ มีการถ่ายโอนข้อมูลแลกเปลี่ยนกันได้โดยไม่จำกัดด้วยกาล เวลาและสถานที่
        เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งมีเครือข่ายสังคมออนไลน์(Social Network) จำนวนมาก มีคราวด์ซอร์สซิ่ง (Crowdsourcing) ที่สามารถถ่ายโอนแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างง่ายดาย มีโปรแกรมประเภทโอเพ่นซอร์สให้เลือกสรรมากมาย ในขณะที่พระพุทธศาสนามีแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติขนาดใหญ่คือพระไตรปิฎกและหนังสือตำราจำนวนมากที่พร้อมจะนำเสนอสู่โลกเสมือนจริงโดยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อทุกคนสามารถศึกษาเรียนรู้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาได้ในทุกที่ทุกเวลาโดยไม่จำกัดด้วยกาลและสถานที่ ในเวลาไม่นานก็จะกลายเป็นเครือข่ายสังคมพระพุทธศาสนา ที่ทุกคนสามารถศึกษาพระพุทธศาสนาได้โดยไม่จำกัดกาลเวลาและสถานที่ พระสงฆ์ส่วนหนึ่งก็ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาทางสื่อสังคมออนไลน์พระสงฆ์อีกส่วนหนึ่งก็ยังคงทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนากับกลุ่มชนที่ยังนิยมไปวัด

        การศึกษาพระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 21 จึงไม่ได้จำกัดรูปแบบในการศึกษาเหมือนในอดีตที่หากต้องการศึกษาพระพุทธศาสนาต้องไปที่วัด แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป มีผู้คนจำนวนหนึ่งไม่อยากเข้าวัดแต่อยากศึกษาพระพุทธศาสนาก็สามารถอาศัยความเจริญของเทคโนโลยี ศึกษาจากสื่อสังคมออนไลน์ มีการรวมกลุ่มชาวพุทธ ขยายกลุ่มถ่ายโอนแลกเปลี่ยนข้อมูลในกลุ่มที่มีความสนใจและศึกษาฝนเรื่องเดียวกัน เมื่อนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเผยแผ่โดยอาศัยช่องทางของเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยใช้ประยุกต์หลักธรรมที่เข้าใจง่าย อาจจะใช้คำใหม่มาอธิบายหลักธรรม ผู้ที่ศึกษาก็สามารถเข้าใจได้ หากต้องการปฏิบัติธรรมขั้นสูงก็สามารถศึกษาจากพระสงฆ์ในวัดต่างๆได้  พระสงฆ์ก็จะได้ทำการเผยแผ่ทั้งกับกลุ่มคนในสังคมออนไลน์ และเผยแผ่กับกลุ่มคนที่ต้องการศึกษาค้นคว้าในระดับที่สูงขึ้น คำสอนของพระพุทธศาสนาก็จะเคลื่อนตัวไปพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี  หลักธรรมดั้งเดิมที่ถูกต้องตรวจสอบได้ก็ยังคงอยู่ในพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆ การศึกษาพระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 21 เพียงแต่มีการประยุกต์หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาให้เข้ากับยุคสมัย หลักการเก่าก็คงไว้ เมื่อมีของใหม่ ก็ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์
        การศึกษาในศตวรรตที่ 21 ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทางสื่อสังคมออนไลน์ได้ตลอดเวลา หากมีการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนาได้ทุกหนทุกแห่ง ซึ่งปัจจุบันกระจายไปแทบทุกมุมโลกสามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำกัดด้วยเงื่อนไขของกาลเวลาหรือสถานที่ สอดคล้องกับพระธรรมคุณข้อหนึ่งในมหานามสูตร อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต (22/281/318) คำหนึ่งว่า “อกาลิโก”  หมายถึงไม่ประกอบด้วยกาลคือไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา บรรลุได้ทันที บรรลุเมื่อใดเห็น ผลได้ทันที เป็นจริงอยู่อย่างไรก็เป็นอย่างนั้นไม่จำกัดด้วยกาล หากนำมาใช้ในการศึกษาก็จะกลายเป็นว่ามีการศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนาโดยไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลาอีกต่อไป ในโลกอนาคตผู้ที่มีความรู้ การเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงจะทำให้มีโอกาสอยู่รอดในสังคมได้อย่างรู้เท่าทัน
                                                        

 


พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน

24/08/56 


บรรณานุกรม

กรมการศาสนา.พระไตรปิฎกภาษาบาลี.กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์กรมการศาสนา, 2514.
คริส ดีดี้ “การเปรียบเทียบกรอบความคิดสำหรับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21”,  ทักษะแห่งอนาคตใหม่           การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21, แปลโดย วรพจน์ วงศฺกิจรุ่งเรืองและอธิป จิตตฤกษ์,กรุงเทพฯ: Open world,2554.
เจฟฟ์ ฮาวี.คราวด์วอร์ซซิ่ง:ล้านคลิกพลิโลก.แปลโดยสีนวน ฤกษ์สิรินุกูล. กรุงเทพฯ:

       สำนักพิมพ์มติชน,2554. ดาณุภา ไชพรธรรม.เทคโนโลยีดาบสองคม.กรุงเทพฯ: มายิก

       สำนักพิมพ์,2556.
เดวิด ดับเบิลยู จอห์นสันและ โรเจอร์ ที จอนห์สัน “การเรียนรู้แบบร่วมมือและการแก้ไขความขัดแย้ง  

        ทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21”, ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21.

        แปลโดย วรพจน์ วงศฺ กิจรุ่งเรืองและอธิป จิตตฤกษ์,กรุงเทพฯ: Open world,2554, หน้า 320.
นิโคลัส นีโกรพอนเต้, ชีวิตยุคดิจิตอล, แปลโดยจำนง วัฒนเกส. กรุงเทพมหานคร :

         นำอักษรการพิมพ์, 2540.
ศรีศักดิ์  จามรมาน(ศ.ดร.).อินเทอร์เน็ตนักล่าอาณานิคมโลก.กรุงเทพฯ:ฐานบุคส์ 2551.
     ห้างหุ้นส่วนมุทเทอร์ อูนด์ โซน,พระไตรปิฎกฉบับซีดีรอม.
ธัญญวัฒน์ กาบคำ, “สังคมออนไลน์คืออะไร”,17 สิงหาคม 2556,  <http://krunum.wordpress.com/2010/06/02/social-network/> (17/08/2013).

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก