ไซเบอร์วนาราม.เน็ต

เว็บไซต์เพื่อพระพุทธศาสนา อารามหนึ่งบนโลกไซเบอร์

laithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithailaithai


            ปีพุทธศักราช 2436 ธรรมปาละได้เข้าร่วมประชุมในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา และได้พบสุภาพสตรีผู้เลื่อมใสพระพุทธศาสนาท่านหนึ่งคือนางแมรี่ ฟอสเตอร์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาโดยบริจาคเงินให้สมาคมเป็นจำนวนมาก
            ในปี 2439 พูห์เลอร์ ได้พบเสาหินพระเจ้าอโศกที่ลุมพินี(รุมมินเดย์) พบถ้อยคำจารึกมีใจความว่า “พระพุทธเจ้าศักยมุนีประสูติที่นี้” สองปีต่อมา พ.ศ. 2441 ได้พบโกศบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในสวนลุมพินีมีคำจารึกไว้ว่า “โกศบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าแห่ง สกุลศากยะ”
            วิหารแห่งแรกในอินเดียที่สร้างขึ้นในยุคแห่งการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาสมัยใหม่อยู่ที่กุสินาการ์ (กุสินารา) สร้างในปี พ.ศ. 2445 โดยการนำของพระมหาวีระสวามี                  นอกจากนั้นยังได้สร้างธัมมันกุรวิหารที่กัลกัตตา ซึ่งต่อมาได้ใช้เป็นสำนักงานใหญ่ของพุทธสมาคมที่เบงกอล
            ส่วนวิหารแห่งแรกที่พุทธสมาคมสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2463 คือศรีธัมมราชิกวิหารที่เมืองกัลกัตตา โดยมีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าค้นพบที่ปัตติโปรลูในอันตรประเทศบรรจุไว้ด้วย และศรีธัมมราชิกวิหารนี้เป็นสำนักงานใหญ่ของพุทธสมาคม เพื่อดำเนินการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย 

            เป็นอันว่าช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่อนาคาริกธรรมปาละ เดินทางเข้ามาอินเดีย ได้เริ่มต้นปลุกกระตุ้นความสนใจของชาวอินเดียต่อพระพุทธเจ้าศาสนา โดยใช้นโยบายป่าล้อมเมืองคือประกาศอุดมการณ์ในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาต่อนานาชาติ ทั้งประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาและประเทศที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาแต่ให้ความสนใจในหลักปรัชญาของพระพุทธศาสนา จนในที่สุดชาวอินเดียเอง ก็เริ่มให้ความสนใจในการศึกษาหลักการของพระพุทธศาสนา โดยมีชาวอินเดียเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุหลายรูปที่มีบทบาทสำคัญคือพระมหาวีระสวามี,พระโพธินันทะ พ.ศ.2457ทำการอุปสมบทบนเรือกลางแม่น้ำคงคา ใกล้เมือกัลกัตตา เพราะขณะนั้นอินเดียยังไม่มีการสมมุติสีมาอุโบสถขึ้นเลย มีพระภิกษุเข้าร่วมในพิธีอุปสมบทครั้งจากพม่า ศรีลังกา และจิตตกอง (ปัจจุบันเป็นเมืองๆ หนึ่งในประเทศบังคลาเทศ) ท่านอนาคาริกธรรมปาละก็ได้เข้าร่วมในพิธีกรรมครั้งสำคัญนี้ด้วย
            เมื่ออุปสมบทเสร็จ พระโพธินันทะ ได้เดินทางไปยังลัคเนาว์ได้ก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งอินเดียขึ้น เพื่อดำเนินการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับคืนมาสู่อินเดียอันเป็นถิ่นกำเนิดอีกครั้ง ที่ลัคเนาว์ได้มีชาวอินเดียเข้ามาอุปสมบทอีกเป็นจำนวนมาก ผลงานของพระโพธินันทะทำให้ชาวอินเดียส่วนหนึ่งได้หันกลับมานับถือพระพุทธศาสนาอีกครั้ง พระมหาวีระและพระโพธินันทะพระภิกษุชาวอินเดียทั้ง 2 รูป นับว่ามีบทบาทสำคัญสำหรับการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา เพราะความที่เป็นชาวอินเดีย ย่อมสามารถชักจูงชาวอินเดียได้ง่ายขึ้น 
            เราไม่อาจจะยืนยันได้ว่าพระพุทธศาสนาที่ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งนี้จะเป็นพระพุทธศาสนานิกายอะไร แต่ที่เริ่มต้นขึ้นจริงๆโดยอนาคาริกธรรมปาละนั้น เป็นนิกายจากศรีลังกา และพม่า ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท

            สิ่งที่สูญหายไปเกือบ 700 ปี เมื่อหวลกลับมามีบทบาทอีกครั้งย่อมมีความแตกต่างจากอดีตเป็นธรรมดา ส่วนพระพุทธศาสนาที่เจริญนอกถิ่นอินเดีย ก็ได้ให้ความสนใจในอุบัติการณ์นี้ด้วย ประเทศไทยอยู่ในยุคสมัยรัตนโกสินทร์แล้ว (พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสถาปนากรุงเทพเป็นเมืองหลวง เมื่อปีพุทธศักราช 2325) อนาคาริกธรรมปาละเดินทางไปอินเดียเมื่อปี พ.ศ. 2434 และเริ่มดำเนินการเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่เป็นระบบภายใต้การดำเนินการในรูปของสมาคม ดังนั้นคำว่าพุทธสมาคม จึงเป็นวิธีดำเนินการที่สามารถนำมาใช้ได้ในยุคสมัยที่อินเดียไม่มีพระภิกษุเหลืออยู่เลย เพราะสมาคมเป็นการรวมตัวของคณะบุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ไม่ได้แยกว่าเป็นพระภิกษุหรือฆราวาส                  
            จากวันที่โพธิสมาคมก่อตั้งมาจนถึงวันนี้เป็นเวลา 109 ปีแล้ว ภายใต้การริเริ่มของท่านอนาคาริกธรรมปาละ พระพุทธศาสนาที่ถูกลืมก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
            ต้องขอบคุณท่านอนาคาริกธรรมปาละอย่างยิ่งที่เสียสละชีวิตทั้งชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่ท่านก็ไม่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่ทำตัวเหมือนพระภิกษุ (ตำราบางเล่มบอกว่าท่านอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อ พ.ศ. 2474 ) 2 ปีก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตในปี 2476 ปล่อยภาระหน้าที่ที่ยังต้องดำเนินการต่อไปให้ภิกษุในยุคต่อมาดำเนินการ
            อุดมการณ์ของอนาคาริกธรรมปาละ จึงเป็นการจุดประกายแห่งการตื่นตัวของชาวพุทธ เพราะเมื่อมหาโพธิสมาคมเริ่มก่อตั้งขึ้น ก็ได้มีสมาคมและพุทธวิหารเกิดขึ้นในหลายส่วนของประเทศเช่นมหาโพธิสมาคมที่เมืองเดลี เมืองหลวงของอินเดีย(2482),เทวสังฆปาณีวิหาร ที่เมืองอัสสัม(2482),พุทธวิหารที่เมืองบังการ์ลอร์ (2483),เวฬุวันวิหาร อการตาลา (2489),มัทราทวิหาร (2490),พุทธสมาคมแห่งลาดักส์ (2480)พุทธสมาคมแห่งอัสสัม (2482),พุทธสมาคมแห่งหิมาลัย (2485)

            พุทธสมาคมเหล่านี้บริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการ แม้แต่มาหาโพธิพุทธสมาคมก็มีคณะกรรมการที่เป็นชาวพุทธและฮินดูคนละครึ่ง บางครั้งการลงมติที่ต้องอาศัยเสียงส่วนมากจึงมักจะมีปัญหา หากการดำเนินการนั้นไปกระทบกับความเชื่อของชาวฮินดูเข้า
            จากยุคแห่งการขุดค้นสถูปวิหารเจดีย์ของชาวตะวันตกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2293 เป็นต้นมา จนถึงยุคแห่งการก่อตั้งพุทธสมาคมและการสร้างวิหารเริ่มต้นในปี พ.ศ.2434 พระพุทธศาสนาที่ถูกลืมเลือนไปเป็นเวลายาวนานเกือบ 700 ปี ก็ได้กลับฟื้นคืนมายังมาตุภูมิอีกครั้ง โดยแรงผลักดันของท่านอนาคาริกธรรมปาละ ชาวศรีลังกา และเป็นที่น่าปีติอย่างยิ่งคือได้มีชาวอินเดียอุปสมบทเป็นพระภิกษุมากขึ้น และมีการสร้างวัด อาราม และวิหารเกือบทั่วประเทศอินเดีย

พระมหาบุญไทย   ปุญญมโน
เรียบเรียง
พิมพ์เผยแผ่ครั้งแรกในวารสาร "ปัญญา"
แก้ไขเพิ่มเติม 07/04/53


หนังสืออ้างอิง

D.C. Ahir, Buddhism in Modern India, Sri Satguru Publications,Delhi,1991.
Sukumar Dutt, Buddhist Monks and Monasteries of India, Motilal Banasidass,Delhi,1998.
อรุณ เฉตตีย์, อินเดียแผ่นดินมหัศจรรย์,โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2539.

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจ

กองธรรมสนามหลวง

กองบาลีสนามหลวง

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

กรมการศาสนา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บัณฑิตวิทยาลัย  มมร

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ(ธ)

เว็บไชต์นักศึกษาปริญญาเอก สาขาพุทธศาสน์ศึกษา มมร

 

วัดไทย

เว็บวัดในประเทศไทย

วัดไทยในต่างประเทศ

คณะสงฆ์ธรรมยุตUSA

 วัดป่าธรรมชาติ LA

พระคุ้มครอง

วัดธรรมยุตทั่วโลก

 

ส่วนราชการในประเทศไทย

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย

ส่วนราชการในประเทศไทย

กระทรวงในประเทศไทย

 

หนังสือพิมพ์ไทย

ไทยรัฐ
เดลินิวส์
มติชน
ผู้จัดการ
กรุงเทพธุรกิจ
คม ชัด ลึก
บ้านเมือง
ข่าวสด
ฐานเศรษฐกิจ
ประชาชาติธุรกิจ
สยามกีฬา
แนวหน้า
โพสต์ทูเดย์
ไทยโพสต์
สยามรัฐ
สยามธุรกิจ
บางกอกทูเดย์

 

ข่าวภาษาต่างประเทศ

ข่าว CNN

ข่าว BBC

Bangkok Post

The Nation

หนังสือพิมพภาษาต่างประเทศ

เมนูสมาชิก